ส่งเสริมคนดีให้ได้ปกครองบ้านเมือง

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

Sunday, 25 December 2011

รายงาน: ตามหานิยาม ‘นักโทษการเมือง’ และเสียงสะท้อนจากห้องขัง

ที่มา ประชาไท

“คุกการเมือง” ที่โรงเรียนพลตำรวจบางเขน เป็นอันเลื่อนจากกำหนดเดิม 21 ธ.ค.54 ออกไปโดยยังไม่มีกำหนดใหม่แน่ชัด เพราะสถานที่ยังปรับปรุงไม่เสร็จ และรัฐบาลกำลังเร่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาคุณสมบัติผู้ต้องขังว่าใครเข้าข่าย ถูกย้าย หลังนิยาม “นักโทษการเมือง” ถูกทักถามอย่างหนัก เบื้องหลังของคำถามคือความกลัวว่าจะเป็นการเตรียมสถานที่ไว้ให้ “ทักษิณ ชินวัตร”

คนต้นคิดอย่าง คอป.เองก็ไม่ได้นิยามคำนี้ไว้ คณิต ณ นคร ประธาน คอป.ออกมาให้สัมภาษณ์ว่าประเทศไทย “ไม่มี” นักโทษการเมืองแล้วในยุคนี้ แต่ยังยืนยันให้มีการแยกคุมขัง

“ผู้ต้องหาและจำเลยมิใช่เป็นผู้ร้ายหรืออาชญากรดังเช่นในคดีอาญาตามปกติ แต่เป็นผู้ที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดอันมีมูลเหตุทางการเมือง หากไม่ได้รับการปล่อยชั่วคราว รัฐบาลสมควรจัดหาสถานที่ในการควบคุมที่เหมาะสมที่มิใช่เรือนจำปกติเป็นสถาน ที่ควบคุมผู้ต้องหาและจำเลย ดังเช่นที่เคยใช้กับนักโทษทางการเมืองในอดีต” ตอนหนึ่งในข้อเสนอครั้งที่ 2 ของคอป. ซึ่ง หมายรวมไปถึงคดี มาตรา 112 ด้วย

ในที่สุดข้อเสนอนี้ก็ถูกนำมาปรับใช้ หลังจาก คอป.พูดถึงเรื่องนี้ครั้งแรกเมื่อเดือนสิงหาคม 54 และออกรายงานฉบับที่ 2 ย้ำเรื่องนี้อีกครั้ง พร้อมมอบภาระให้รัฐบาลเป็นผู้จำแนกแจกแจงเอาเอง


ตามหานิยาม “นักโทษการเมือง”

หน่วยงานที่ทำเรื่อง “นักโทษการเมือง” มายาวนานที่สุด หนีไม่พ้นองค์กรนิรโทษกรรมสากล หรือ เอไอ (AI:Amnesty international)

เบนจามิน ซาวากกี้ (Benjamin Zawacki) นักวิจัยของเอไอ ให้ความเห็นว่า

โดยปรกติแล้วแอมเนสตี้ไม่ได้เรียกร้องให้มีการแยกกันระหว่างนักโทษการเมืองจากนักโทษอื่นๆ ในแง่ของนโยบาย

อย่างไรก็ตาม อาจมีในบางกรณีที่แอมเนสตี้อาจจะเรียกร้องให้มีการแยกการคุมขังนักโทษ รวมถึงนักโทษการเมืองด้วยเหตุผลอื่นๆ คือ นักโทษที่อยู่ในระหว่างรอการพิจารณาคดีควรแยกออกจากนักโทษที่ถูกตัดสินแล้ว (ขึ้นอยู่กับระบอบการปกครองในที่ต่างๆ) ตามกฎมาตรฐานเบื้องต้นในการปฏิบัติต่อนักโทษ ซึ่งข้อเรียกร้องดังกล่าวดูจากสถานะการถูกตัดสินของนักโทษ ซึ่งมีผลกับนักโทษที่ยังไม่ถูกตัดสินทุกคนรวมถึงนักโทษการเมืองด้วย

เช่นเดียวกัน หากว่านักโทษการเมืองตกอยู่ในความเสี่ยงจากนักโทษคนอื่นๆ แอมเนสตี้ก็จะเรียกร้องให้เขาถูกแยกคุมขัง โดยให้เหตุผลว่าเจ้าหน้าที่จำเป็นต้องมีหน้าที่ในการปกป้องนักโทษจากภัย อันตรายโดยบุคคลที่สาม เช่นเดียวกัน นี่ก็ไม่ได้มีผลเฉพาะกับนักโทษการเมืองเท่านั้น แต่ยังเกี่ยวกับนักโทษไม่ว่าใครก็ตาม

ส่วนในกรณีของประเทศไทย แอมเนสตี้สนับสนุนข้อเสนอแนะของคอป. ตราบใดที่เกี่ยวข้องกับนักโทษที่อยู่ในระหว่างการรอพิจารณา และนักโทษที่เสียงต่ออันตรายจากนักโทษคนอื่นๆ

หากเราค้นในเว็บไซต์ของเอไอจะ พบว่า เอไอให้นิยามคำว่านักโทษการเมืองว่าเป็นนักโทษที่มีองค์ประกอบของความเป็น การเมือง ไม่ว่าจะเป็นแรงจูงใจของการกระทำของนักโทษ การกระทำ หรือแรงจูงใจของเจ้าหน้าที่รัฐ โดยคำว่าความเป็นการเมืองนั้นหมายถึงแง่มุมของมนุษย์ที่เกี่ยวข้องกับ “การเมือง” เอไอมีจุดยืนเรียกร้องให้นักโทษการเมืองต้องได้รับการพิจารณาคดีและไต่สวน อย่างยุติธรรมภายในเวลาที่เหมาะสม แต่ไม่ได้หมายถึงว่านักโทษการเมืองเหล่านี้ได้รับสถานะพิเศษหรือควรได้รับ การปล่อยตัว

นักโทษการเมือง รวมถึงนักโทษมโนธรรมสำนึก (Prisoners of Conscience) หมายถึงนักโทษที่คัดค้านหรือต่อต้านระบบการเมืองทั้งระบบ หรือนักโทษที่ทำงานอยู่ในกรอบของกฎหมายหรือระบบการเมืองของประเทศนั้นๆ และต้องไม่ใช้ความรุนแรง นักโทษประเภทนี้เป็นประเภทเดียวที่เอไอเรียกร้องให้ปล่อยตัวโดยทันที ซึ่งในประเทศไทยเอไอระบุไว้เพียงรายเดียวคือ ผู้ต้องหาหมิ่นฯ ชาวจังหวัดระยอง จากการโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ค

ตัวอย่างนักโทษการเมืองที่เอไอให้ไว้ เช่น

· บุคคลที่ถูกกล่าวหาหรือตัดสินจากคดีทางอาญาที่มีแรงจูงใจทางการเมือง เช่นการฆาตกรรมหรือการปล้นที่เป็นไปเพื่อสนับสนุนจุดประสงค์กลุ่มฝ่ายค้าน ทางการเมือง

· บุคคลที่ถูกกล่าวหาหรือถูกตัดสินจากคดีอาญาในบริบททางการเมือง เช่น ที่การประท้วงของกลุ่มสหภาพปรงงานหรือชาวนา

· สมาชิกของกลุ่มติดอาวุธที่ถูกดำเนินคดีด้วยข้อหากบฏหรือเป็นภัยต่อสังคม (คดีความมั่นคง)

พิภพ อุดมอิทธพงศ์ นักกิจกรรมจากกลุ่ม Article 112 ให้ความเห็นว่า

คำว่า “นักโทษการเมือง” เป็นคำทีเป็นปัญหาเนื่องจากไม่มีนิยามที่ชัดเจน แม้แต่ในทางสากล ทำให้การนิยามหลายครั้งยังลักลั่น อย่าง ดา ตอร์ปิโด จะนับเป็นนักโทษทางความคิดหรือนักโทษการเมืองหรือไม่ หากนับนักโทษคดีหมิ่นฯ บางรายเป็นนักโทษทางความคิด องค์กรที่ทำงานเกี่ยวกับพม่าก็จะนับว่าฝ่ายค้านทั้งหมดที่อยู่ในเรือนจำคือ นักโทษการเมือง

สำหรับความเห็นส่วนตัว พิภพ คิดว่า คนที่แสดงความเห็นในทางต่อต้านรัฐบาลแล้วถูกจับควรนับเป็นนักโทษการเมือง แต่โดยทางสากลแล้ว แม้แต่ยูเอ็นก็ไม่ได้จำแนกให้มีข้อปฏิบัติเป็นพิเศษ แต่มีข้อปฏิบัติพื้นฐานสำหรับนักโทษทุกคน ดังนั้นโดยหลักการเขาจึงไม่เห็นด้วยที่จะมีการปฏิบัติที่แตกต่าง แต่ควรพัฒนาหลักปฏิบัติขั้นต่ำสำหรับนักโทษในเรือนจำทั้งหมด และยังเห็นว่าการพยายามจำแนกนักโทษการเมืองเป็นการแก้ปัญหาแบบไทย ไม่ได้แค่ที่ระบบ นอกจากนี้ยังไม่มีความเชื่อมั่นว่าจะสามารถรวมนักโทษคดีหมิ่นพระบรมเดชานุ ภาพเป็นนักโทษทางการเมืองได้ หากต้องจัดทำหลักการเป็นกฎหมายก็เชื่อว่ากฤษฎีกาจะไม่ยอมผ่านแน่นอน และเชื่อว่า คอป.เสนอโดยที่รู้อยู่แล้วว่าปัญหานี้อย่างไรก็ไม่สามารถแก้ได้ทะลุ

“แต่เฉพาะหน้าผมก็เห็นใจ คนที่ติดคุกมันก็แย่ แต่โดยหลักการแล้วการจำแนกเช่นนี้ไม่ได้แก้ปัญหาระยะยาว”

ไทเรล ฮาเบอร์คอร์น (Tyrell Haberkorn) นักวิจัยประจำภาควิชาการการเปลี่ยนแปลงสังคมและการเมือง มหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย ซึ่งเข้ามาทำวิจัยในประเทศไทยเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ความรุนแรงของรัฐ ตั้งแต่ 2475 จนถึงปัจจุบัน ให้ความเห็นว่า

เห็นด้วยกับข้อเสนอของ คอป. และการจัดการแยกการคุมขังคดีที่เกี่ยวพันกับการเมือง และเห็นว่านักโทษการเมืองควรมีนิยามครอบคลุมคนที่ถูกดำเนินคดีอาญาธรรมดา เนื่องจากการมีความเห็นที่แตกต่าง และกระบวนการยุติธรรมถูกทำให้เป็นการเมืองในกรณีดังกล่าว ซึ่งจะเห็นได้ชัดในคดีเกี่ยวกับความผิดในมาตรา 112 หรือแม้แต่คดีเกี่ยวกับ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เนื่องจากตัวพ.ร.ก.ฉุกเฉินเองก็มีปัญหาความชอบธรรม และจำกัดสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของพลเมือง

สำหรับทางออกนั้น ไทเรลเห็นว่า กระบวนการยุติธรรมควรมีความโปร่งใสและเปิดให้ตรวจสอบ แต่การแก้ปัญหาที่ยากยิ่งกว่าคือ “อุดมการณ์” ซึ่งนักโทษจำนวนมากเมื่อมีอุดมการณ์แตกต่างจากคนส่วนใหญ่แล้วก็จะถูกมองว่า ไม่เป็นมนุษย์ อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ปัญหาที่เกิดขึ้นในประเทศไทยก็เป็นกระแสทั่วโลก แม้แต่ประเทศเสรีอย่างอเมริกาก็มีความพยายามผลักดันกฎหมายฉบับใหม่ที่จะให้ คุมขังผู้ต้องหาเกี่ยวกับคดีก่อการร้ายอย่างไม่จำกัดเวลา

เสียงจากเรือนจำ

กว่าที่ คอป.จะนำเสนอข้อเสนอแยกที่คุมขังเวลาก็ล่วงเลยมากว่าปี ผู้ต้องหาจำนวนมากที่โดนคดีพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ซึ่งเป็นกลุ่มที่ คอป.ระบุถึงอย่างชัดเจนล้วนอยู่ในเรือนจำมาจนเต็มเวลาและได้ออกจากเรือนจำไป เป็นจำนวนมากแล้ว รวมถึงส่วนที่โทษยังเหลืออยู่เล็กน้อยและได้รับการอภัยโทษไปเมื่อวันเฉลิม พระชนมพรรษา อย่างไรก็ตาม ยังคงมีผู้ต้องขังอีกจำนวนหนึ่งถูกคุมขังอยู่ระหว่างสู้คดี หรือแม้แต่คดีถึงที่สุดแล้วแต่ไม่ได้รับอภัยโทษเพราะมีโทษสูง

ธันฐวุฒิ (ขอสงวนนามสกุล) ผู้ออกแบบเว็บ นปช.ยูเอสเอ ที่ต้องโทษคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และถูกตัดสินจำคุก 13 ปี เขาถูกขังมาตั้งแต่ชั้นสอบสวน ต่อสู้คดี พิพากษา กระทั่งชั้นศาลอุทธรณ์เกือบ 2 ปี โดยไม่ได้รับกาประกันตัว ธันย์ฐวุฒิ เป็นผู้หนึ่งที่เรียกร้องให้มีการแยกการคุมขังตั้งแต่ช่วงแรกที่เข้าไปอยู่ ในเรือนจำใหม่ๆ รวมทั้งการปรับปรุงสภาพความเป็นอยู่ของผู้ต้องขังโดยทั่วไป เนื่องจากพบสภาพผู้ต้องขังล้นเกิน อีกทั้งยังมีการทำร้ายร่างกายผู้ต้องขังคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ

นอกจากนี้เขายังระบุอีกว่าผู้ต้องขังจากเหตุเกี่ยวเนื่องกับการเมืองทั้ง หมดไม่ได้รับความช่วยเหลือจากพรรคการเมืองและกลุ่มการเมืองที่พวกเขาร่วม ต่อสู้เท่าที่ควร ทำให้ต้องใช้ชีวิตในเรือนจำอย่างยากลำบากเนื่องจากส่วนใหญ่เป็นคนจน คนชั้นล่างของสังคมที่เข้ามาร่วมขบวนการต่อสู้ทางการเมืองครั้งนี้

ขณะที่ญาติของผู้ต้องขังในต่างจังหวัดบางส่วนอาจจะมีมุมมองที่ต่างออกไป เพราะหากสามี พ่อ ลูกชาย ของพวกเขาเข้ามาอยู่ที่คุมขังแห่งใหม่ในกรุงเทพฯ จะยิ่งเป็นอุปสรรคต่อการเดินทางมาเยี่ยมมากกว่าเดิม

(สำหรับผู้สนใจสถานการณ์ในเรือนจำ เตรียมพบกับจดหมายของผู้ต้องขังเล่าเรื่องชีวิตในเรือนจำ และคู่มือปฏิบัติสำหรับผู้เข้าเยี่ยม เร็วๆ นี้)