ส่งเสริมคนดีให้ได้ปกครองบ้านเมือง

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

Sunday, 25 December 2011

เนติบัณฑิตสภาอเมริกาลงใต้ สอบคดีมั่นคงพบถูกซ้อมเพียบ

ที่มา ประชาไท

เมื่อเวลา 09.00 น.วันที่ 24 ธ.ค. 54 ที่ห้องจะบังติกอ โรงแรม ซีเอส ปัตตานี มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมจัดเสวนานำเสนอผลการศึกษา ข้อมูลสถิติคดีและข้อค้นพบในคดีความมั่นคงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โครงการตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของคดีความมั่นคงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (Case Audit) สนับสนุนโดยเนติบัณฑิตสภาแห่งอเมริกา (America Bar Association Rule of Law : ABA ) มีผู้เข้าร่วมประมาณ 50 คน

ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้เข้าร่วมวิพากษ์ผลการศึกษา เพื่อปรับปรุงเป็นงานวิจัยที่สมบูรณ์ และสามารถนำไปผลักดันในเชิงนโยบายและเผยแพร่ต่อสาธารณะต่อไป

นายอนุกูล อาแวปูเตะ ประธานศูนย์ทนายความมุสลิมจังหวัดปัตตานี นำเสนอผลการศึกษาข้อมูลสถิติคดีและข้อค้นพบในคดีความมั่นคงในจังหวัดชายแดน ภาคใต้ว่า ผลการศึกพบว่า มีการนำตัวบุคคลเข้าสู่กระบวนการซักถามภายใต้กฎอัยการศึกใน 100 คดี มีผู้ถูกทำร้ายร่างกาย 33 คดี เจ้าหน้าที่ใช้วาจาที่ไม่สุภาพระหว่างซักถาม 35 คดี ถูกเจ้าหน้าที่ข่มขู่ 25 คดี

นายอนุกูล นำเสนอต่อไปว่า ส่วนในการควบคุมตัวตามพระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน) มีผู้ถูกควบคุมตัวถูกทำร้ายร่างกาย 16 กรณี และเจ้าหน้าที่ใช้ถ้อยคำไม่สุภาพระหว่างควบคุมตัวหรือถูกขู่เข็ญ 12 กรณี

นายอนุกูล นำเสนออีกว่า ในการจับกุมผู้ต้องหาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ป.วิอาญา) ปรากฏว่า มีผู้ต้องหาถูกทำร้ายร่างกายด้วยถึง 23 คดี เจ้าหน้าที่ใช้วาจาไม่สุภาพระหว่างถูกจับกุม 12 คดี และถูกขู่เข็ญ 13 คดี

นายอนุกูล กล่าวว่า จากสถิติพบการทำร้ายร่างกายระหว่างการควบคุมตัวภายกฎอัยการศึกมากที่สุด แต่สิ่งที่ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายกังวลอย่างมาก คือการทำร้ายร่างกายระหว่างการสอบปากคำในชั้นประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความ อาญา

นางสาวเยาวลักษ์ อนุพันธ์ ผู้อำนวยการโครงการ เนติบัณฑิตสภาแห่งอเมริกา ประจำประเทศไทย กล่าวว่า หัวใจสำคัญของ โครงการ Case Audit เป็นการตรวจสอบคดีที่ศาลชั้นต้นพิพากษาแล้วระหว่างต้นปี 2553 ถึงต้นปี 2554 จำนวน 100 คดี โดยการนำสำนวนคดีมาตรวจสอบ ความชอบธรรมของเจ้าหน้าในการปฏิบัติงานทุกขั้น ตอนตั้งแต่การใช้อำนาจตามกฎอัยการศึก พ.ร.ก.ฉุกเฉินและ ป.วิอาญา มาทำเป็นฐานข้อมูลทางด้านคดีอย่างเป็นระบบ เรียกว่า แบบฟอร์มบันทึกข้อมูลทางคดี หรือ check list

นางสาวเยาวลักษ์ กล่าวอีกว่า ขณะนี้ได้จัดทำแบบฟอร์มบันทึกข้อมูลทางคดีอย่างเป็นระบบและมีฐานข้อมูลแล้ว สามารถที่จะให้นักวิชาการด้านกฎหมายหรือผู้สนใจมาศึกษาในเรื่องกระบวนการ ยุติธรรม เพื่อให้เห็นจุดอ่อนและจุดแข็งของกระบวนการยุติธรรม

“สิ่งสำคัญที่สุด คือ เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมต้องมาศึกษาดูว่า การดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรมที่ผ่านมา มีปัญหาตรงไหน และต้องแก้ไขปรับปรุงต่อไปอย่างไร” นางสาวเยาวลักษ์ กล่าว