13 ธ.ค.54 ที่ศาลอาญา รัชดา ห้องพิจารณาคดี 803 ผู้พิพากษาอ่านคำพิพากษาคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.2317/ 2553 คดีระหว่าง พนักงานอัยการ โจทก์ กับ นายบัณฑิต สิทธิทุม จำเลย ในข้อหาร่วมกันก่อการร้าย ,สนับสนุนแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติในการก่อการร้าย, ร่วมกันปลอมแผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์, ร่วมกันใช้หรือครอบครองป้ายทะเบียนรถยนต์อันเป็นเอกสารราชการ, ร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้รับอันตรายสาหัส, ร่วมกันทำให้เสียทรัพย์, ร่วมกันมีและครอบครองอาวุธปืน วัตถุระเบิด ตาม พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุ4ปืน พ.ศ.2490,พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องยุทธภัณฑ์ฯ
ทั้งนี้ คดีนี้เป็นกรณีที่มีข่าวคนร้ายใช้อาวุธอาร์พีจีหวังยิงใส่กระทรวงกลาโหมแต่ พลาดเป้าถูกสายไฟและไปตกบริเวณถนนอัษฎางค์เมื่อวันที่ 20 มี.ค.2553
โดยศาลตัดสินว่า แผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์ตามฟ้องเป็นของปลอม แต่จำเลยไม่มีความผิดฐานร่วมกันปลอมแผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์ เนื่องจากในความผิดฐานนี้ โจทก์มีเพียงพยานที่มาเบิกความว่ามีชายไม่ทราบชื่อมาว่าจ้างให้ทำแผ่นป้าย ทะเบียนรถยนต์ จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยเป็นผู้ทำปลอมเอกสารแผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์ จึงพิพากษายกฟ้องฐานปลอมแผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์
นอกจากนี้แล้ว ศาลก็ได้วินิจฉัยว่า จำเลยเป็นผู้ใช้หรือครอบครองแผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์ปลอม ในวันที่ 20 มีนาคม 2553 เนื่องจากในวันที่ 20 มีนาคม 2553 ซึ่งเป็นวันเกิดเหตุนั้น โจทก์มีพยานเป็นผู้หญิงสองคน มาเบิกความว่า ในวันที่ เกิดเหตุ( 20 มีนาคม 2553) พยานโจทก์ทั้งสองคน อยู่ในซอยแพร่งนรา เห็นรถยนต์ตามคำฟ้อง มีชาย 2 คนนั่งรถยนต์มา และจำเลยได้ลงมาพูดคุยกับพยาน จึงเชื่อว่า พยานของโจทก์ทั้งสองปากเบิกความตามจริงไม่มีสาเหตุโกรธเคืองกันมาก่อน กอปรกับ หลังเกิดเหตุ 3 วัน พยาน 2 คน นี้ได้ไปชี้ภาพถ่ายจำเลย ได้แม่นจำ โดยมีการชี้ภาพถ่ายว่า เป็นจำเลยที่ขับรถเข้ามาในซอยด้วยความรวดเร็ว จึงเชื่อว่าเป็นจำเลย
ศาลได้วินิจฉัยว่า รถยนต์คันเกิดเหตุมีลายนิ้วมือแฝง ซึ่งตรวจเก็บจากประตูรถด้านซ้ายคนขับตรงกับลายนิ้วมือของบุคคลคนเดียวกัน อีกทั้งสารพันธุกรรมซึ่งตรวจพบอยู่พื้นที่ทางเท้ามีรูปแบบสารพันธุกรรมของ จำเลยปะปนอยู่ด้วย ศาลจึงเชื่อว่านักนิติวิทยาศาสตร์ที่เป็นพยานโจทก์มาเบิกความเป็นพนักงานของ รัฐ ไม่มีสาเหตุโกรธเคืองกันมาก่อน และเป็นหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ซึ่งหักล้างได้ยาก กอปรกับจำเลยรับว่าเป็นคนซื้อซิมการ์ด ซึ่งเป็นหมายเลขซิมการ์ดที่หล่นอยู่ในรถยนต์คันเกิดเหตุ จึงรับฟังได้ว่าจำเลยกับพวกเป็นผู้ครอบครองและใช้รถยนต์ตามฟ้อง จำเลยจึงมีความผิดฐานร่วมกันใช้แผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์ปลอมซึ่งเป็นเอกสาร ราชการ จำเลยจึงมีความผิดฐานร่วมกันใช้เอกสารราชการปลอม
ประเด็นต่อมาศาลได้วินิจฉัยว่า จำเลยร่วมกันยิงปืนในเมืองไปยังกระทรวงกลาโหม จนเป็นเหตุให้นายศักดิ์ หาญสงคราม ได้รับอันตรายแก่กาย และเป็นเหตุทำให้ทรัพย์ของบริษัททีโอทีฯ ได้รับความเสียหาย เนื่องจากโจทก์มี เจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นพยานว่า ได้ตรวจสอบกล้องวงจรปิด ซีซีทีวี เมื่อเวลา 22.18 น.ของวันที่ 20 มีนาคม 2553 พบมีรถยนต์เลี้ยวเข้าซอยที่เกิดเหตุ และพบเปลวเพลิง เหตุระเบิดเกิดขึ้นน่าจะเชื่อว่าเกี่ยวข้องกับรถที่เลี้ยวเข้าในซอยที่เกิด เหตุ และโจทก์มีพยานซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจพบ เครื่องยิงจรวดอาร์พีจี จำนวน 1 กระบอก ซึ่งมีรัศมีในการยิงระยะไกล 800 เมตร พยานที่เบิกความล้วนเป็นเจ้าพนักงานรัฐไม่มีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อน เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยเป็นผู้ครอบครองรถยนต์ในขณะเกิดเหตุ และพบรถยนต์ตามฟ้องทิ้งไว้มีกุญแจเสียบคาทิ้งไว้ และเป็นรถยนต์ที่เลี้ยวเข้าซอยเกิดเหตุ จำเลยกับพวกจึงมีความผิดฐานร่วมกันใช้เครื่องยิงจรวดอาร์พีจี 2 โดยมีความมุ่งหมายที่จะยิงไปที่กระทรวงกลาโหม จึงมีความผิดฐานร่วมกันกระทำให้เกิดระเบิดจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กาย ซึ่งเหตุระเบิดนั้นทำให้นายศักดิ์ หาญสงครามได้รับอันตรายแก่กาย จำเลยจึงมีความผิดฐานร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้อื่น เป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กาย และการยิง อาร์พีจี 2 นั้นเป็นเหตุให้สายเคเบิ้ล โทรศัพท์ของบมจ.ทีโอทีได้รับความเสียหาย จำเลยจึงมีความผิดฐานร่วมกันทำให้เสียทรัพย์
นอกจากนี้แล้ว ศาลได้วินิจฉัยว่า เมื่อฟังข้อเท็จจริงได้ว่าจำเลยเป็นผู้ครอบครองรถขณะเกิดเหตุ ขณะเกิดเหตุมีการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ และรัฐบาลได้ประกาศพ.ร.ก. เนื่องจากสถานการณ์บ้านเมืองมีความไม่สงบ โดยนปช.เริ่มชุมนุมเมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2553 และนปช.ทำการปิดถนน ทำให้ประชาชนเกิดความไม่สงบ การกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำความผิดฐานร่วมกันก่อการร้ายตามมาตรา 135/1 (1),มาตรา 83
คดีนี้ถือเป็นคดีร่วมกันก่อการร้ายคดีแรกที่ศาลตัดสินลงโทษ แต่ทั้งนี้ ศาลได้ยกฟ้องจำเลยข้อหา ฐานสนับสนุนการก่อการร้าย เนื่องจากมีพยานโจทก์เพียงปากเดียวมาเบิกความว่าจำเลยเป็นผู้ขับรถให้แก่นาง จุรีรัตน์ สินธุไพร ซึ่งเป็นแกนนำ นปช. แต่โจทก์ก็ไม่มีพยานอื่นใดมาเบิกความว่า กลุ่มแนวร่วมนปช.เป็นกลุ่มก่อการร้าย จึงไม่มีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนการ กลุ่มนปช.ในการกระทำการก่อการร้าย
นอกจากนี้แล้ว ในรถคันเกิดเหตุมีการตรวจรถยนต์พบ เครื่องยิงจรวด อาร์พีจี 2 ,ระเบิดสังหาร,ปืนกล จึงพิพากษาว่าจำเลยร่วมกันมี ปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิดไว้ในความครอบครอง ลูกระเบิดไว้ในความครอบครอง
การกระทำของจำเลยเป็นความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ศาลจึงพิพากษาลงโทษจำเลยฐานร่วมกันใช้เอกสารราชการปลอม (แผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์ปลอม) จำคุก 2 ปี ฐานร่วมกันก่อการร้ายตามมาตรา 135/1(1) จำคุก 20 ปี ,ฐานร่วมกันใช้และครอบครองเครื่องยิงจรวดจำคุก 5 ปี,ฐานร่วมกันมีวัตถุระเบิด จำคุก 5 ปี ,ฐานร่วมกันมีอาวุธปืนกลมือ จำคุก 5 ปี ,ฐานร่วมกันพกพาอาวุธปืนไปในเมืองหมู่บ้านโดยไม่มีเหตุอันควร จำคุก 1 ปี ตามพ.ร.บ.อาวุธปืนฯ พ.ศ. 2490 แต่ยกฟ้องความผิดตามพ.ร.บ.ควบคุมยุทธภัณฑ์ พ.ศ.2530และสนับสนุนนปช.ในการก่อการร้าย รวมจำคุก 38 ปี
ในการอ่านคำตัดสินในวันนี้ ทางจำเลยมีเพียง ทนายความจำเลย และญาติของจำเลยมาร่วมฟังคำตัดสินเท่านั้น แต่ไม่มีแกนนำนปช.หรือผู้ใดเข้าร่วมฟังด้วย
หลังจากทราบคำพิพากษานายบัณฑิต สิทธิทุมได้กล่าวว่า วันนี้ ขณะที่ศาลได้ตัดสินคดีเขา เขาอยู่ในห้องพิจารณาเดียวกับกับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เขาอยากให้ศาลตัดสินให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ติดคุก ในข้อหา สั่งฆ่าประชาชน และเขารู้สึกไม่ได้รับความยุติธรรมอย่างยิ่ง พร้อมทั้งยืนยันว่าเขาคือแพะ
นายจันทร์ เขาน้อย ทนายความของนายบัณฑิต สิทธิทุม ได้เปิดเผยหลังจากที่ศาลมีคำพิพากษาว่า คดีนี้ อัยการกล่าวฟ้องว่า จำเลยได้ร่วมกันกับผู้อื่นในการกระทำความผิดต่างๆ แต่ปรากฏว่า จากการสืบพยานไม่ปรากฏเลยว่า จำเลยร่วมกันกับใคร อีกทั้งก่อนหน้านี้ นายโก้ หรือศุภณัฐ หุลเวช ซึ่งเป็นคนถูกจับได้ก่อนหน้าจำเลยในข้อหาว่ายิงอาร์พีจีใส่กระทรวงกลาโหม แต่ปรากฏในเวลาต่อมาว่าเจ้าหน้าที่ได้ปล่อยตัวนาย โก้ หรือศุภณัฐ ไป นอกจากนี้แล้ว ศาลไม่ได้หยิบยกเอาประเด็นที่ว่าพยานโจทก์ที่เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจเบิกความ ยอมรับว่า พยานโจทก์ที่เป็นหญิงสาวสองคนซึ่งเป็นบุคคลที่ยืนยันว่าจำหน้าจำเลยได้เป็น หญิงบริการมาวินิจฉัยถึงความน่าเชื่อถือและน้ำหนัก อีกทั้งศาลไม่ได้หยิบยกเอาประเด็นที่ทางทนายจำเลยคัดค้านว่า ขณะที่ทำการสืบพยานโจทก์ ปรากฏว่า พยานโจทก์ที่จะเบิกความบางคนนั้นได้นั่งฟังพยานโจทก์บางคนเบิกความด้วยและ ได้เข้าเบิกความต่อในภายหลัง ซึ่งเป็นการผิดระเบียบวิธีพิจารณาความอาญาในข้อที่ว่า ห้ามไม่ให้พยานเบิกความต่อหน้าพยานอื่นที่จะเบิกความภายหลัง
ทนายความระบุว่าจะอุทธรณ์คำพิพากษา ภายใน 30 วัน โดยมีข้ออุทธรณ์ที่สำคัญว่า จำเลยเป็นผู้ครอบครองรถยนต์ในวันเกิดเหตุหรือไม่ และอยากให้มีคนมาช่วยจำเลยในเรื่องการประกันตัว
หมายเหตุ ประชาไทขออภัย มีการแก้ไขความผิดพลาดของวันที่ (14 ธ.ค.54)