ชาวตูนีเซียนับหมื่นมารวมตัวเฉลิมฉลองกันที่จัตุรัสในกลางเมืองซีดี บูวซิด เมื่อที่เป็นจุดเริ่มต้นของการปฏิวัติตูนีเซียเมื่อปีที่ผ่านมา รวมถึงมีการเปิดตัวอนุสาวรีย์ โมฮาเม็ด บูวอาซีซี ผู้จุดไฟเผาตัวเองจนกลายเป็นชนวนของการลุกฮือ
18 ธ.ค. 2011 - ประชาชนชาวตูนีเซียหลายหมื่นคนมารวมตัวกันที่จัตุรัสใจกลางเมืองของเมืองซี ดี บูวซิด เพื่อเฉลิมฉลองครบรอบ 1 ปีการปฏิวัติตูนีเซีย ในสถานที่เดียวกับที่เป็นจุดเริ่มต้นของการลุกฮือของประชาชนจนทำให้เกิดการ เปลี่ยนแปลงในโลกอาหรับตามมา
โดยเมื่อวันเสาร์ (17) ที่ผ่านมา มีพิธีการเปิดตัวรูปปั้นอนุสาวรีย์ของโมฮาเม็ด บูวอาซีซี ผู้ที่เผาตัวเองจนกลายเป็นจุดเริ่มต้นให้เกิดการปฏิวัติตูนีเซียตามมา ซึ่งในพิธีการนี้มีประธานาธิบดีคนใหม่ของตูนีเซีย มอนเซฟ มาร์ซูวคี เข้าร่วมด้วย
ชนวนสำคัญที่ทำให้เกิดการปฏิวัติ "ดอกไม้บานในอาหรับ" คือตอนที่บูวอาซีซี นักศึกษาที่เพิ่งเรียนจบจากมหาวิทยาลัยแต่ไม่มีงานทำจุดไฟเผาตัวเองด้วยความ สิ้นหวัง ในขณะที่ตำรวจกำลังยึดรถเข็นขายผักผลไม้ของเขาเนื่องจากไม่ได้รับการจด ทะเบียน บูวอาซีซีเสียชีวิตในเวลาต่อมาที่โรงพยาบาล
ความตายของบูวอาซีซี ช่วยทำให้ความคัยแค้นที่คุกรุ่งอยู่ปะทุขึ้น จากความไม่พอใจเรื่องความยากจน การไม่มีงานทำ ปัญหาทุจริต และการกดขี่เอารัดเอาเปรียบ กระทั่งเกิดการประท้วงขึ้นทั่วตูนีเซีย ทำให้ประธานาธิบดี ซีเน อัล-อบีดีน เบน อาลี ต้องหนีออกจากประเทศในอีกไม่ถึงเดือนต่อมา
การปฏิวัติในตูนีเซียได้กลายเป็นแรงบันดาลใจให้กับประเทศอื่นๆ ในอาหรับลุกขึ้นต่อต้านการปกครองแบบเผด็จการที่ฝังรากในประเทศของตน
ในอียิปต์และลิเบียสามารถโค่นล้มอำนาจเผด็จการได้สำเร็จ ขณะที่ผู้นำเยเมนตอนนี้ก็ยอมถอยให้กับกลุ่มปฏิรูปถ่ายโอนอำนาจ ขณะที่ผู้นำซีเรียก็เจอการต่อต้านด้วยกำลังที่ขยายตัวเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ
การเฉลิมฉลอง
สำนักข่าวอัลจาซีร่ารายงานบรรยากาศการเฉลิมฉลองในเมืองซีดี บูวซิด ว่า มีประชาชนหลายหมื่นคนชุมนุมกันอย่างครื้นเครงที่จัตุรัสกลางเมือง พวกเขาเต้นรำไปตามจังหวะเพลงที่ได้รับความนิยมแม้อากาศจะหนาว ตามท้องถนนมีการประดับธงและรูปถ่ายของชาวตูนีเซียที่ถูกสังหารในช่วงที่มี การลุกฮือ
"มันเป็นวันแห่งความรื่นเริง ซีดี บูวซิด ถูกละเลยมานาน และวันนี้มันจะกลายเป็นเมืองหลวงของโลก" ชายหนุ่มที่ชื่ออีหมาดกล่าว "เมื่อวันที่ 17 ธ.ค. ของปีที่แล้ว โลกอาหรับได้เปิดหน้าประวัติศาสตร์ใหม่ นี้ถือเป็นความภาคภูมิใจ"
การเฉลิมฉลองจะมีไปจนถึงสุดสัปดาห์นี้โดยมีคนมีชื่อเสียงระดับนานาชาติ หลายคนเตรียมตัวเข้าร่วมด้วย หนึ่งในนั้นมี ทาวากุล คาร์มาน นักกิจกรรมต่อต้านรัฐบาลชาวเยเมนผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ
อย่างไรก็ตามบรรยากาศสนุกสนานของเมืองซีดี บูวซิด ดูจะยังสนุกได้ไม่เต็มที่ เมื่อพวกเขาต้องเตือนตัวเองว่า การเปลี่ยนแปลงทางประชาธิปไตยในตูนีเซียยังไม่สามารถแก้ปัญหาความยากจนและ ปัญหาการว่างงานได้ในขณะนี้ โดยที่ปัญหาเรื่องเนยและขนมปังก็เคยเป็นชนวนนำไปสู่การประท้วงของชาวตูนี เซียมาก่อน
ทางด้าน มานูวเบีย บูวอาซีซี มารดาของโมฮัมเม็ดผู้จุดไฟเผาตัวเอง ก็กล่าวเน้นย้ำในเรื่องที่หลายคนยังกังวลอยู่ โดยขอให้รัฐบาลตูนีเซียเดินรอยตามแนวทางปฏิวัติ ทำให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นโดยเฉพาะในหมู่คนหนุ่มสาว
"ลูกของฉันจุดไฟเผาตัวเองเพื่อให้ตูนีเซียและโลกอาหรับมีเสรีภาพ ... ฉันอยากร้องขอให้เจ้าหน้าที่รัฐให้ความสนใจกับพื้นที่ยากจนและสร้างงานให้ กับคนหนุ่มสาว" มานูวเบียกล่าว
คืนศักดิ์ศรีให้พวกเรา
มอนเซฟ มาร์ซูวคี ประธานาธิบดีคนใหม่ล่าสุดของตูนีเซีย ได้กล่าวสดุดีชาวตูนีเซียทุกคนที่ปฏิวัติต่อต้าน เบน อาลี รวมถึงคนที่ได้สละชีวิตไปในการนี้ด้วย
"เมืองซีดี บูวซิด ซึ่งเป็นเมืองที่ถูกละเลยให้เป็นชายขอบ ได้นำเกียรติยศศักดิ์ศรีของชาวตูนีเซียกลับคืนมา" มอนเซฟกล่าว "พวกเราสัญญาว่าจะช่วยฟื้นฟู นำความปิติสุขในชีวิตกลับคืนมาสู่พื้นที่เหล่านี้"
การปฏิวัติตูนีเซียนำประเทศไปสู่ความเป็นเสรีประชาธิปไตยเป็นครั้งแรกนับ ตั้งแต่เป็นเอกราชจากฝรั่งเศสในปี 1956 แต่ในตอนนี้ยังไม่ทำให้ปัญหาความยากจนและการว่างงานจำนวนมากหมดลง ขณะเดียวกันการปฏิวัติก็ทำให้เศรษฐกิจถดถอยเนื่องจากทำให้นักท่องเที่ยวบาง ส่วนหวาดกลัวและนักลงทุนต่างชาติไม่กล้ามาลงทุน
ความไม่พอใจในเรื่องนี้ทำให้เกิดการจลาจลขึ้นในหลายช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้ประท้วงในคราวนี้ได้ขุดไฟเผาอาคารของรัฐและปะทะกับเจ้าหน้าที่รักษาความ สงบ
"การสดุดีเมืองซีดี บูวซิด เป็นเรื่องดี แต่พวกเราต้องการมีงาน เพียงแค่มีงานทำเท่านั้นถึงจะทำให้ศักดิ์ศรีของพวกเรากลับคืนมาได้ ประชาชนที่นี่ต้องการขนมปัง ไม่ใช่เครื่องดนตรีที่ให้ความบันเทิงกับตัวเอง" นาบิลา อบีดี นักศึกษาจบใหม่ที่ยังไม่มีงานทำกล่าวกับผู้สื่อข่าว
"รัฐบาลใหม่ต้องเข้าใจสิ่งที่พวกเราต้องการจะสื่อและดูแลให้คุณภาพชีวิต ของพวกเราดีขึ้น ถ้าไม่เช่นนั้นการปฏิวัติก็จะกลับมาอีก" แมนเซอร์ อมามูว ชาวเมืองอีกรายหนึ่งกล่าว
การเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) ในตูนีเซียลดลงร้อยละ 0.2 ในปี 2011 จากร้อยละ 3 ในปี 2010 ช่วงที่เบน อาลี ยังปกครองประเทศ อย่างไรก็ตามเจ้าหน้าที่คาดการว่าการเติบโตจะเพิ่มสูงขึ้นเป็นร้อยละ 4.5 ในปี 2012
ทางด้านธนาคารกลางระบุว่าจำนวนการว่างงานที่มีอยู่ร้อยละ 13 ในช่วงปลายปี 2010 ในตอนนี้เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 18.3
ที่มา
Tunisian town marks anniversary of revolution, Aljazeera, 18-12-2011
http://www.aljazeera.com/news/africa/2011/12/201112171770581686.html