หนึ่งในปัญหาสำคัญสืบเนื่องจากการมีมาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา คือการเซ็นเซอร์ข้อมูลต่างเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์โดยสื่อกระแสหลักและสังคม ไทย ซึ่งเป็นสิ่งที่สื่อกระแสหลักเองไม่กล้าออกมายอมรับ หรือทักท้วงใดๆ ดูเหมือนสื่อกระแสหลักส่วนใหญ่ไม่รู้สึกเดือดเนื้อร้อนใจกับการเซ็นเซอร์ตน เอง และการไม่ยอมรับว่า มีการปิดหูปิดตา ยัดเยียดข้อมูลด้านเดียวขนานใหญ่ เป็นเวลาหลายสิบปีแล้ว
ข่าวและบทความวิเคราะห์เชิงเท่าทันจำนวนมาก ที่เขียนโดยสื่อต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นสำนักข่าวใหญ่ๆ เช่น เอพี เอเอฟพี รอยเตอร์ หรือหนังสือพิมพ์อย่างเช่น เดอะนิวยอร์กไทมส์ เดอะการ์เดียน เดอะบอสตันโกลบ ฯลฯ ส่วนใหญ่จะไม่ได้รับการแปลและนำเสนอต่อประชาชนคนไทยเลย แม้แต่นิดเดียว ในขณะเดียวกัน สื่อกระแสหลักกลับผลิตและป้อนข้อมูลด้านเดียวเกี่ยวกับสถาบันเกือบทั้งหมด ด้วยปริมาณและความถี่ที่ดูเหมือนจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ตามการเพิ่มขึ้นของความรู้สึกไม่มั่นคงต่ออนาคตของสถาบันฯ
นักข่าว นักวิชาการ และนักคิดที่เห็นต่างเกี่ยวกับสถาบันฯ มักไม่มีพื้นที่ในสื่อกระแสหลัก ยกตัวอย่างเช่น งานเขียนของนักประวัติศาสตร์ อาจารย์สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ซึ่งสื่อกระแสหลักไม่สนใจที่จะลงตีพิมพ์ ถึงแม้บทความทั้งหมด น่าจะไม่เข้าข่ายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ แต่สื่อก็ไม่กล้าที่จะลงข้อเขียนเหล่านั้น ล่าสุด อ.สมศักดิ์ได้เรียกร้องให้ตนเองมีโอกาสได้รับเชิญไปออกรายการ “ตอบโจทย์” ของนายภิญโญ ไตรสุริยธรรมา ทางช่องไทยพีบีเอสบ้าง เพื่อถกเรื่องมาตรา 112 ในแง่นี้คนอย่าง อ.สมศักดิ์ ถูกทำเสมือนไม่มีตัวตนและไร้บทบาทในฐานะปัญญาชนสาธารณะ
การเซ็นเซอร์ด้านอื่นๆ รวมถึงการที่นิตยสารอย่างดิ อิโคโนมิสท์ มีอาการ “ผลุบๆ โผล่ๆ” หาซื้อไม่ได้ในราชอาณาจักรไทย ทุกครั้งที่มีข่าวเชิงเท่าทัน วิพากษ์สถาบันกษัตริย์ไทย อีกด้านได้แก่ แรงกดดันอย่างเงียบๆ ไม่ให้มีการจัดเวทีวิชาการถกเรื่อง มาตรา 112 อย่างเช่น ล่าสุด มหาวิทยาลัยชั้นนำของไทยแห่งหนึ่ง ได้รับแรงกดดันจากหน่วยงานความมั่นคงแห่งชาติ ไม่ให้จัดเวทีวิชาการนานาชาติเรื่อง เสรีภาพในการแสดงออก เมื่อต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา
หากปัจจัยเหล่านี้ยังเป็นการปิดหูปิดตาไม่เพียงพอ มาตรา 112 ก็มีมาตรการทำโทษอย่างชัดเจนต่อผู้ที่พยายามเสนอข้อมูลต่าง ที่อาจไม่ใช่การแสดงอาการดูหมิ่น อาฆาต มาดร้าย อย่างเช่น กรณีการตัดสินจำคุก นายโจ กอร์ดอน เมื่อวันที่ 8 ธันวาคมที่ผ่านมา เพียงเพราะนายโจ แปลหนังสือ เดอะคิงเนเวอร์สไมล์ (The King Never Smiles) และเผยแพร่ลิงก์สู่เนื้อหาคำแปลนั้น ผู้เขียนได้รับการสอบถามจากผู้จงรักภักดีคนหนึ่งทางทวิตเตอร์ว่า เขาจะหาอ่านหนังสือเล่มนี้ ฉบับแปล ได้ที่ไหน และอย่างไร และผู้เขียนก็ตอบไปว่า คงบอกอะไรไม่ได้ เพราะการแจ้งข้อมูลอาจจะเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ภายใต้ มาตรา 112 พร้อมทั้งสำทับไปว่า นี่แหละคือปัญหาของมาตรา 112 กับการเซ็นเซอร์การรับรู้ของสังคม ซึ่งทำให้ประชาชนไม่มีทางเลือก ไม่มีสิทธิเข้าถึงข้อมูลต่างอย่างถูกต้องตามกฎหมาย
อีกตัวอย่างของการลงโทษผู้ที่ไม่ยอมเซ็นเซอร์ตนเองได้แก่ การจับกุมคนเสื้อแดงคนหนึ่งที่เร่ขายวีซีดีสารคดีสถาบันกษัตริย์และการสืบ ราชสมบัติของราชวงศ์ไทย จัดทำโดย สำนักข่าว Australian Broadcasting Corporation ซึ่งได้ถูกเผยแพร่ออกอากาศอย่างเป็นปกติธรรมดา ทั่วประเทศออสเตรเลียในปี 2553
สื่อกระแสหลักมีแรงกดดันอีกด้าน ที่ทำให้ไม่เสนอข่าวที่เท่าทันต่อสถาบันกษัตริย์ อันได้แก่ แรงกดดันทางการเมืองและกลไกตลาด หากเครือหนังสือพิมพ์และทีวีใหญ่ เสนอข่าวเชิงเท่าทัน ถึงแม้จะไม่เป็นการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ก็อาจถูกพวกคลั่งเจ้ามองว่ามีเจตนาล้มเจ้า ขู่ บอยคอต และอาจกระทบถึงราคาหุ้น และธุรกิจของสื่อนั้นอย่างรุนแรงได้ การขู่เช่นนี้เกิดขึ้นล่าสุดโดย นายแพทย์ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ ที่ออกมาเขียนในเฟซบุ๊กของตัวเอง "ผมขอเรียกร้องให้พวกเราแบนสินค้าแกรมมี่ทุกชนิด เพราะสนับสนุนคนอย่างภิญโญ ที่สนับสนุนการยกเลิกมาตรา 112"
ส่วนสื่อนอกกระแสที่นำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับสถาบันเชิงเท่าทันอย่างเว็บ ข่าวประชาไท หรือนิตยสารฟ้าเดียวกันนั้น ทั้งสององค์กรแทบจะเรียกได้ว่า อยู่นอกระบบการตลาดปกติ เป็นองค์กรชายขอบ ไม่สามารถพึ่งพาโฆษณาจากบริษัทเอกชนทั่วไปได้ และต้องพึ่งรายได้จากการอุดหนุนของสาธารณะและมูลนิธิทั้งในและต่างประเทศใน กรณีของประชาไท
การเซ็นเซอร์ยังมิได้ยุติแค่นั้น บุคคลสาธารณะคนใดก็ตาม ที่ออกมาแสดงความไม่เห็นด้วยกับมาตรา 112 ก็มักจะถูกกล่าวหาว่า เป็นพวกล้มเจ้า หรือเป็นพวกรับเงิน อดีตนายกทักษิณ ชินวัตร ในบางกรณีอาจถูกแจ้งความด้วยซ้ำไป เช่น กรณีล่าสุด ที่มีการฟ้องร้องผู้ใช้นามปากกาว่า นักปรัชญาชายขอบ ซึ่งเขียนข้อเสนอในการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ลงในพื้นที่แสดงความเห็นท้ายบท ความของอ.สมศักดิ์ ในเว็บประชาไท
การปิดหูปิดตาทั้งหมดนี้ นำไปสู่คำถามที่ว่า เวลาสังคมมีปัญหา เราจะพูดกันได้อย่างไร แล้วหากคิดพูดอย่างเท่าทันในที่สาธารณะ และวิพากษ์สถาบันกษัตริย์ไม่ได้ วุฒิภาวะสังคมจะเหลืออะไร ในเมื่อสังคมต้องอยู่กับข้อมูลด้านเดียวตลอดเวลา และยังไม่รวมถึงการทวงถามเรื่องสิทธิเสรีภาพ ภายใต้สังคมที่มักหลอกตนเองว่า เป็นประชาธิปไตย
ปล. จากการพูดคุยแลกเปลี่ยนกับ ทวีพร คุ้มเมธา เธอได้ตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติมเรื่อง ม.112 ว่า ที่ผ่านมา มีรอยัลลิสท์จำนวนหนึ่งพยายามเบี่ยงเบนประเด็นปัญหาของ ม.112 ว่าตัวกฎหมายเองนั้นไม่เป็นปัญหา แต่เป็นปัญหาที่การถูกนำมาใช้เพื่อ "กลั่นแกล้งทางการเมือง" เป็นหลัก และการที่ ม.112 ถูกใช้ปิดกั้นความเห็นต่างเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์นั้นไม่เป็นปัญหาใดๆ (เพราะคนไทยคิดเหมือนกันเรื่องสถาบันฯ) ทวีพรวิเคราะห์ว่า การพยายามโปรโมทเรื่อง ม.112 ในแบบดังกล่าว เป็นการเบี่ยงเบนประเด็นว่า 1. มีคนไทยที่มีความเห็นต่างเรื่องสถาบันอยู่จริง 2. ม.112 ถูกใช้เพื่อกดทับความเห็นต่างต่อสถาบันจริงๆ ดังจะเห็นได้จากประเด็นมากมายที่เราไม่สามารถพูดกันได้อย่างตรงไปตรงมา เช่น รัฐประหาร 19 กันยา 2549 และเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 และคนที่พูดความเห็นต่างเรื่องสถาบันฯ ก็ถูกจับ ถูกดำเนินคดีจริงๆ ส่วนการ “กลั่นแกล้งทางการเมือง” น่าจะเป็นส่วนน้อยมากๆ (ลองนึกตัวอย่างได้ชัดๆ 1 คดี เช่น คดีสนธิ ลิ้มทองกุล) จากคดีทั้งหมด และยังไม่รวมเว็บไซต์ “หมิ่น” หรือวิพากษ์สถาบันที่ถูกบล็อคอีกจำนวนมาก
ทวีพรมองว่าการเบี่ยงเบนประเด็นของรอยัลลิสท์ว่า ปัญหาของ ม.112 คือ การถูกใช้เพื่อกลั่นแกล้งทางการเมือง เป็นวิธีการทางจิตวิทยา เพื่อหลีกเลี่ยงการยอมรับความจริงว่ามีคนเห็นต่างเรื่องสถาบัน และหลีกเลี่ยงที่จะพูดว่า ม.112 มีปัญหาจริงและควรถูกปรับปรุงแก้ไข เพื่อที่จะได้คงไว้ซึ่งกฎหมายนี้ต่อไป