ส่งเสริมคนดีให้ได้ปกครองบ้านเมือง

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

Saturday, 26 November 2011

ผู้ประท้วงอียิปต์ไม่ยอมรับ นายกฯ ใหม่ที่สภาทหารแต่งตั้ง

ที่มา ประชาไท

กองทัพอียิปต์ออกมากล่าวแสดงความเสียใจและขอขมาผู้ที่เสียชีวิต แต่ก็ยังขอให้ "พลเรือนผู้น่าภาคภูมิ" ช่วยจับตาผู้ชุมนุมไม่ให้บุกรุกที่ทำการกระทรวงมหาดไทย มีการแต่งตั้งนายกฯ คนใหม่โดยสภาทหาร แต่ก็ยังไม่ได้รับการยอมรับจากกลุ่มผู้ชุมนุม ด้านอัลจาซีร่าทำแบบสำรวจความเชื่อใจในกองทัพ พบว่าครึ่งหนึ่งของผู้ทำแบบสำรวจไม่เชื่อใจกองทัพ

เมื่อวันที่ 25 พ.ย. 2011 สื่อรัฐบาลอียิปต์รายงานว่าสภาทหารได้แต่งตั้งให้คามาล เอล กันซูรี เป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของอียิปต์ ขณะที่มวลชนจำนวนมากยังคงออกมาชุมนุมประท้วงที่เรียกว่า "วันศุกร์แห่งโอกาสสุดท้าย"

กันซูรีเป็นนักเศรษฐศาสตร์ ผู้ที่เคยรับตำแหน่งนายกฯ มาก่อนในช่วงสมัยอดีตประธานาธิบดีมูบารัคระหว่างปี 1996-1999

หลังจากที่มีการประท้วงขับไล่มูบารัคในช่วงต้นปีที่ผ่านมา กันซูรีกล่าวให้สัมภาษณ์ทางโทรทัศน์ด้วยท่าทีแบบตีตัวออกห่างมูบารัค ทำให้นักกิจกรรมหลายคนแนะนำว่าเขาควรลงสมัครเลือกตั้งประธานาธิบดีในสมัยต่อไป

แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อสื่อเอกชนรายงานเรื่องการแต่งตั้งเขาในคืนวัน 24 พ.ย. ที่ผ่านมา ผู้ชุมนุมในจัตุรัสทาห์เรียที่ทราบข่าวก็พากันโห่ร้องอย่างโกรธแค้นว่า "พวกเราไม่ต้องการเขา"

และหลังจากที่ทางการประกาศแต่งตั้งกันซูรีอย่างเป็นทางการแล้ว อิหม่ามท่านหนึ่งก็นำมวลชนผู้นับถือศาสนาในจัตุรัสทาห์เรียสวดภาวนา เรียกร้องให้ สภาคณะทหารสูงสุดของอียิปต์ (Supreme Council of the Armed Forces) มอบอำนาจให้กับ "รัฐบาลผู้กอบกู้ชาติ"

ชีค มาซฮาร์ ชาฮิน กล่าวว่าผู้ปรัท้วงจะยังคงปักหลักชุมนุมอยู่ที่จัตุรัสจนหว่าข้อเรียกร้องจะได้รับการตอบสนอง

สภาทหารขอโทษผู้เสียชีวิตในเหตุรุนแรง

ตั้งแต่วันที่ 19 พ.ย. เป็นต้นมาจัตุรัสทาห์เรียก็กลายเป็นพื้นที่ปะทะกันระหว่างฝ่ายเจ้าหน้าที่และฝ่ายผู้ประท้วง จนกระทั่งสงบลงในวันที่ 24 พ.ย. ที่ผ่านมา รวมแล้วมีผู้เสียชีวิตจากเหตุปะทะทั้งนกรุงไคโรและเมืองอื่นๆ ของอียิปต์ 41 ราย มีผู้ได้รับบาดเจ็บอีก 3,200 ราย

ซึ่งจากเหตุการณ์นี้ทางสภาทหารก็ได้ออกมาขอโทษการสูญเสียของผู้ชุมนุมและสัญญาว่าจะยังคงจัดการเลือกตั้งส.ส. ตามเวลาที่กำหนดคือวันที่ 28 พ.ย. แม้จะมีนักกิจกรรมและพรรคการเมืองบางส่วนเรียกร้องให้มีการเลื่อนออกไป

แถลงการของสภาทหารในเฟสบุ๊คระบุว่า พวกเขาได้ "แสดงความเสียใจและขอขมาอย่างสุดซึ้งต่อความตายของเหล่าผู้พลีชีพซึ่งเป็นลูกหลานผู้ภักดีของอียิปต์ในเหตุการณ์ที่จัตุรัสทาห์เรียในช่วงที่ผ่านมา"

อย่างไรก็ตาม ทางสภาทหารของอียิปต์ก็ได้เรียกร้องให้ "พลเรือนผู้น่าภาคภูมิ" ออกมาปกป้องจัตุรัส โดยแยกผู้ชุมนุมออกจากตำรวจปราบจลาจลของที่ทำการกระทรวงมหาดไทย และจับตัวผู้ที่ดูน่าสงสัย ซึ่งบางคนเริ่มเป็นห่วงมากขึ้นว่า คำประกาศนี้ยิ่งเปรียบเสมือนเป็นการออกใบอนุญาตให้ใช้ความรุนแรงบนท้องถนนมากขึ้น

นอกจากนี้แล้วทางทหารยังได้ย้ำว่าจะมีการวางกำลังตรวจตราตามท้องถนนมากขึ้น เพื่อช่วยเหลือตำรวจในการรักษาความปลอดภัยช่วงที่มีการเลือกตั้ง และมีการตั้งกำแพงคอนกรีตสูงสองเมตรเป็นแนวกั้นตามถนนโมฮัมเมด มาห์มูด ซึ่งถนนดังกล่าวเป็นถนนที่นำไปสู่ที่ทำการกระทรวงมหาดไทย ซึ่งเป็นจุดที่มีการปะทะกันอย่างรุนแรงระหว่างผู้ประท้วงและเจ้าหน้าที่

ทางผุ้นำกองทัพกล่าวอีกว่าพวกเขาจะถ่ายโอนอำนาจมาสู่ประชาชน แต่กระบวนการเช่นนี้ไม่ควรเร่งรีบเนื่องจากจะทำให้เกิดความโกลาหล

ขณะที่สหรัฐฯ ซึ่งก่อนหน้านี้คอยสนับสนุนกองทัพของอียิปต์มายาวนาน ได้เรียกร้องให้ผู้นำกองทัพอียิปต์ลงจากอำนาจให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้และมอบอำนาจที่แท้จริงให้แก่รัฐสภาใหม่โดยทันที

"การถ่านโอนอำนาจมาสู่รัฐบาลพลเรือนควรดำเนินการให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยดำเนินการอย่างเป็นธรรม และในเชิงครอบคลุมอันจะตอบสนองต่อความต้องการโดยชอบธรรมของประชาชนชาวอียิปต์" เจย์ คาร์นี่ โฆษกทำเนียบขาวกล่าวในแถลงการณ์ โดยยังได้บอกอีกว่าทางสหรัฐฯ เชื่อมั่นว่ารัฐบาลใหม่ของอียิปต์ควรจะได้รับอำนาจการปกครองอย่างแท้จริงโดยทันที

ผลสำรวจระบุ ครึ่งหนึ่งไม่เชื่อในตัวกองทัพ

เมื่อวันที่ 25 พ.ย. สำนักข่าวอัลจาซีร่าได้รายงานผลสำรวจ Al Jazeera's Vote Compass ซึ่งระบุว่า ราวร้อยละ 51 ของผู้ทำแบบสำรวจไม่เชื่อในตัวกองทัพ ขณะที่อีกราวร้อยละ 40 บอกว่าพวกตนอยากให้กองทัพแทรกแซงทางการเมืองเพื่อรักษาระเบียบ

ผลสำรวจ Vote Compass ยังแสดงให้เห้นว่า ความเชื่อต่อกลุ่มธุรกิจ ตำรวจ และสื่อของรัฐก็แบ่งเป็นสองข้างในจำนวนคล้ายๆ กัน โดยร้อยละ 60 ของผู้ทำแบบสำรวจระบุว่าตนไม่เชื่อในสื่อของรัฐบาลอียิปต์

ทางฝ่ายศาลของอียิปต์ได้ยังได้รับคะแนนความน่าเชื่อถืออยู่มากจากผลสำรวจ โดยราวร้อยละ 80 ของผู้ทำแบบสำรวจระบุว่าตนเชื่อมั่นใจศาลของอียิปต์ ขณะที่ราวร้อยละ 63 ระบุว่าตนเชื่อมั่นในสื่อเอกชนของอียิปต์

ความเห็นด้านความน่าเชื่อถือต่อกองทัพยังแตกต่างกันตามกลุ่มผู้นิยมพรรคการเมืองอีกด้วย โดยร้อยละ 56 ของผู้ที่สนับสนุนพรรค Wafd ระบุว่าพวกตนสนับสนุนการแทรกแซงทางการเมืองของกองทัพ ซึ่งพรรค Wafd เป็นพรรคการเมืองอนุรักษ์นิยมที่ถูกกล่าวหาว่าทำงานใกล้ชิดกับอดีตประธานาธิบดีมูบารัค

ขณะที่มีผู้สนับสนุนพรรค Freedom and Justice ของกลุ่มภราดรภาพมุสลิมเพียงร้อยละ 36 เท่านั้นที่สนับสนุนการแทรกแซงของทหาร

อัลจาซีร่าเปิดเผยว่าในตอนนี้มีคนมากกว่า 43,000 คนแล้วที่ใช้เครื่องมือ Vote Compass ซึ่งเป็นเครื่องมือช่วยให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งในอียิปต์ค้นหาว่าพรรคการเมืองใดเหมาะสมกับทัศนคติของตน

ผู้ตอบแบบสำรวจส่วนใหญ่เป็นประชาชนที่อาศัยอยู่ในเขตเมือง ซึ่งเป็นที่อยู่ของคนส่วนมากในอียิปต์ โดยหนึ่งในสามของผุ้ทำแบบสำรวจมาจากกรุงไคโร อีกร้อยละ 14 มาจากอเล็กซานเตรีย เมืองที่ใหญ่เป็นอันดับสองของอียิปต์ นอกจากนี้ยังมีอย่างน้อย 500 คนที่มาจากเมืองกีซา แมนซูรา และทันทา


ที่มา:

Crowds swell in Cairo as new PM appointed, Aljazeera, 25-11-2011
http://www.aljazeera.com/news/middleeast/2011/11/2011112510285039729.html

Survey shows declining trust in Egyptian army, Aljazeera, 25-11-2011
http://www.aljazeera.com/news/middleeast/2011/11/2011112583623231904.html