ส่งเสริมคนดีให้ได้ปกครองบ้านเมือง

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

Wednesday, 30 November 2011

มายาคติและข้อสงสัยในการยกเลิกราชการส่วนภูมิภาค

ที่มา Thai E-News


โดย ชำนาญ จันทร์เรือง

อนุสนธิการยกร่าง พรบ.ระเบียบบริหารราชการเชียงใหม่มหานครฯฉบับประชาชน เมื่อเดือนมกราคม๒๕๕๔ ที่ผ่านมา

โดยจะเสนอเข้าสู่สภาประมาณกลางปีหน้า ซึ่งเสนอให้เชียงใหม่มีการบริหารราชการเฉพาะราชการส่วนกลางกับราชการส่วน ท้องถิ่นเท่านั้น โดยยกเลิกราชการส่วนภูมิภาคเสีย

กอปรกับอดีตคณะกรรมการปฏิรูป ซึ่งมีอดีตนายกฯอานันท์ ปันยารชุนเป็นประธานฯได้เสนอเรื่องการปฏิรูปโครงสร้างอำนาจ เมื่อวันที่ ๑๘ เมษายน ที่ผ่านมา ก็ได้เสนอให้มีการยกเลิกการบริหารราชการส่วนภูมิภาคเช่นกัน แต่มิได้กำหนดระยะเวลาของการดำเนินการไว้

ปฏิกิริยาที่มีต่อปรากฏการณ์ครั้งนี้มีทั้งการตอบรับและการต่อต้าน

ปรากฏการณ์ตอบรับมีการกระจายไปทั่วประเทศ ประชาชนจังหวัดต่างๆถึง ๔๕ จังหวัดประกาศตัวเป็นแนวร่วมโดยให้เชียงใหม่เป็นจังหวัดที่นำร่องไปก่อน บางจังหวัดถึงกับทำป้าย ทำเสื้อยืด เสื้อแจ็กเก็ตหรือแม้กระทั่งการขึ้นป้ายขอจัดการตัวเอง โดยเฉพาะในจังหวัดเชียงใหม่เองมีการรณรงค์จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นต่อร่าง พรบ.ฯในพื้นที่ทั้ง ๒๕ อำเภอกันอย่างคึกคัก

แน่นอนว่าเรื่องใหญ่ๆเช่นนี้ ย่อมมีทั้งคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยเพราะความเข้าใจว่าอาจจะกระทบต่อ สถานภาพของตนเองหรือกังวลในผลที่จะตามมาเพราะความไม่ไว้วางใจในคุณภาพของคน ไทยกันเอง

ซึ่งในเรื่องของความเห็นนั้นเป็นธรรมดาที่อาจะเห็นแตกต่างกันได้ แต่เมื่อได้พูดคุยและทำความเข้าใจกันแล้ว หากไม่มีอคติจนเกินไปนักก็ย่อมที่จะเห็นด้วยต่อการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้

มายาคติและข้อสงสัย

๑)เป็นการแบ่งแยกรัฐ

ไม่จริง เพราะแม้จะไม่มีราชการส่วนภูมิภาค รัฐก็ยังคงเป็นรัฐเดี่ยวเหมือน เช่น ญี่ปุ่น เป็นต้น อีกทั้งยังมีสถาบันกษัตริย์เป็นประมุขเช่นเดียวกันกับไทย และท้องถิ่นจะไม่ทำอยู่ ๔ เรื่อง คือ การทหาร การต่างประเทศ ระบบเงินตรา และ ศาล

๒)กระทบต่อความมั่นคง

ไม่จริง เพราะแม้แต่เกาหลีใต้ซึ่งไม่มีราชการส่วนภูมิภาคและยังอยู่ในสภาวะประกาศ สงครามกับเกาหลีเหนืออยู่เลย ก็ไม่ได้มีปัญหาในเรื่องนี้แต่อย่างใด

๓)รายได้ท้องถิ่นยังไม่เพียงพอ

ก็แน่นอนสิครับ เพราะปัจจุบันเปิดโอกาสให้ท้องถิ่นเก็บภาษีได้จิ๊บจ๊อย เช่น ภาษีป้าย ภาษีบำรุงท้องที่ ภาษีโรงเรือน ภาษีล้อเลื่อน ฯลฯ แล้วจะเอารายได้ที่ไหนมาเพียงพอ แต่ร่าง พรบ.ฯนี้กำหนดให้รายได้ที่เกิดขึ้นในท้องถิ่นทั้งหมดจะถูกจัดเก็บโดยท้อง ถิ่น แล้วจัดส่งไปส่วนกลาง ๓๐ เปอร์เซ็นต์ เอาไว้ใช้ในท้องถิ่น ๗๐ เปอร์เซ็นต์ ซึ่ง ๓๐ เปอร์เซ็นต์นั้นก็จะไปช่วยเหลือที่อื่นที่ยากจน เช่น ญี่ปุ่นก็ส่งไปให้ฮอกไกโดหรือโอกินาวา เป็นต้น

๔)อบจ./อบต./เทศบาลจะมีอยู่หรือไม่

ในร่าง พรบ.ฯนี้กำหนดไว้ให้มีการปกครองท้องใน ๒ ระดับ คือ ระดับเป็นชียงใหม่มหานคร ส่วนระดับล่างเป็นเทศบาล ซึ่งแตกต่างจากกรุงเทพมหานครเป็นการปกครองท้องถิ่นระดับเดียวโดยรวมศูนย์ อยู่ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานครที่เดียว แต่ในรูปแบบใหม่นี้ อบจ.หรือองค์การบริหารส่วนจังหวัดจะหายไปกรณีของเชียงใหม่ก็จะมีเชียงใหม่ มหานครเข้ามาแทน ซึ่งเป็นการปกครองท้องถิ่นในระดับบน ส่วนในระดับล่างก็เป็นเทศบาลเหมือนกันหมดไม่มีการแยกเป็นเทศบาลหรือ อบต.เพราะปัจจุบันบางตำบลมีทั้งเทศบาลและอบต.อยู่ในตำบลเดียวกัน ความสัมพันธ์ระหว่างระบนกับระดับล่างเป็นไปในลักษณะแบ่งหน้าที่กันทำ มิใช่การบังคับบัญชา

๕)จะเอาข้าราชส่วนภูมิภาคไปไว้ไหน/นายอำเภอยังมีอยู่หรือไม่

ผู้ว่าราชการจังหวัดมาจากการเลือกตั้งมีวาระ ๔ ปี ผู้ว่าราชการจังหวัดเดิมและข้าราชการส่วนภูมิภาคก็มีทางเลือกว่าจะกลับไป สังกัดกระทรวง ทบวง กรมที่ส่วนกลางก็ได้ หรือเลือกจะอยู่ในพื้นที่ก็สังกัดเชียงใหม่มหานคร เป็นข้าราชการส่วนท้องถิ่น

ส่วนนายอำเภอที่มาจากการแต่งตั้งจากกรมการปกครองก็จะหมดไป มีผู้อำนวยการเขตซึ่งเป็นข้าราชการสังกัดเชียงใหม่มหานครทำหน้าที่เป็นผู้ ประสานงาน มิใช่เป็นเช่นผู้อำนวยการเขตแบบ กทม.ที่มีอำนาจล้นเหลือเช่นในปัจจุบัน

๖)เขตพื้นที่อำเภอ ตำบล หมู่บ้าน จะหายไป

ไม่จริง เขตการปกครองยังเหมือนเดิม แต่จะเรียกเป็น เขต แขวง แทน

๗)กำนันผู้ใหญ่บ้านยังคงมีอยู่หรือไม่ หากยังคงมีอยู่จะมีบทบาทอะไร

ยังคงมีอยู่ดังเช่นกรุงเทพมหานคร แต่บทบาทในด้านการพัฒนาจะหมดไปเพราะเป็นหน้าที่ของท้องถิ่นซึ่งมีงบประมาณ เป็นของตนเอง แต่กำนันผู้ใหญ่บ้านจะมีบทบาทเพิ่มขึ้นในด้านการรักษาความสงบเรียบร้อยใน ฐานะหัวหน้าฝ่ายรักษาความสงบเรียบของตำบลและหมู่บ้านตามกรณี มีอำนาจจับกุมคุมขังตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

๘)ประชาชนยังไม่พร้อม ยังไม่มีการศึกษาที่ดีพอ

ไม่จริง เพราะคำกล่าวที่ว่า “ประชาชนเป็นอย่างไร ผู้แทนเป็นอย่างนั้น” จะเห็นได้จากผู้แทนของคนกรุงเทพยังชกต่อยกันในสภาแต่ผู้แทนของคนจังหวัดอื่น ยังไม่ปรากฏ และในตำบลหมู่บ้าน ตลาดสด เดี๋ยวนี้ชาวบ้านร้านค้าเขาไม่คุยกันแล้วเรื่องละครน้ำเน่า ถึงคุยก็คุยน้อย แต่คุยเรื่องการเมืองกันทั้งนั้น ที่สำคัญเป็นการเมืองนอกสื่อกระแสหลักเสียด้วยสิ

๙)นักเลงครองเมือง

ไม่จริง ตัวอย่างผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครแต่ละคนก็ไม่เห็นขี้เหร่สักคน(ถึงแม้ว่า จะมีคนขี้เหร่สมัครแต่ก็ไม่เคยได้รับการเลือกตั้ง) ที่สำคัญก็คือผู้ว่าราชการจังหวัดในปัจจุบันแต่ละคนล้วนแล้วมาจากการแต่ง ตั้งซึ่งในบางยุคถึงกับมี “แก๊งแต่งตั้ง”ซึ่งเข้าใจง่ายก็คือถูกแต่งตั้งมาจากนักเลงนั้นเอง แต่อย่างไรก็ตามแม้ว่าจะได้ผู้ว่าฯเป็นนักเลง อย่างน้อยก็ประชาชนเลือกตั้งเข้ามาด้วยมือของเขาเอง ไม่ได้ลอยมาจากไหนก็ไม่รู้เช่นในปัจจุบัน ถ้าเปรียบเทียบแล้วผู้ว่าฯที่มาจากการเลือกตั้งย่อมพบง่ายเข้าใจง่ายและต้อง เอาใจประชาชนที่เลือกเขาเข้ามา มิใช่คอยเอาใจเจ้านายที่ส่วนกลางที่เป็นคนแต่งตั้งเขา

๑๐)ซื้อเสียงขายเสียง

อาจจะจริง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าปัจจุบันนี้จะดีกว่า และก็มิใช่ว่าใครมีเงินมากกว่าแต่มิได้ทำคุณงามความดีอะไรเลย หิ้วกระเป๋าบรรจุเงินไปแล้วจะได้รับเลือกตั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่เขาจะต้องกุมชะตาชีวิตประจำวันเขาอย่างใกล้ชิด ที่สำคัญจะซื้อคนทั้งจังหวัดไหวหรือ

๑๑)ทุจริตคอรัปชัน/เปลี่ยนโอนอำนาจจากอำมาตย์ใหญ่ไปสู่อำมาตย์เล็ก

ร่าง พรบ.ฯนี้กำหนดให้มีสภาพลเมืองหรือลูกขุนพลเมือง(Civil Juries)คอยถ่วงดุลและตรวจสอบการทำงานของทั้งฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ แล้วชี้มูลหรือส่งฟ้องศาล ซึ่ง กทม.ไม่มีเช่นนี้ ฉะนั้น จึงมิใช่การถ่ายโอนอำนาจจากอำมาตย์ใหญ่ไปสู่อำมาตย์เล็ก

เพราะปัจจุบันนี้ท้องถิ่นต่างๆก็ทำตัวเป็นอำมาตย์เล็กอยู่แล้วดังจะเห็นได้ จากการขออนุมัติ อนุญาตต่าง ต้องเสียเบี้ยไบ้รายทางตลอด แต่เมื่อเรามีสภาพลเมืองหรือลูกขุนพลเมืองคอยตรวจสอบแล้ว สภาพเช่นนี้จะดีขึ้นกว่าปัจจุบันอย่างแน่นอน อีกทั้ง สตง., ปปช., ฯลฯ ก็ยังคงมีเหมือนเดิม

๑๒)ผิดกฎหมาย

ไม่จริง เพราะเป็นการใช้สิทธิที่มีรัฐธรรมนูญมาตรา ๒๘๑ ถึงมาตรา ๒๙๐ รองรับไว้

โลกหมุนไปข้างหน้า นานาอารยประเทศ ไม่ว่าญี่ปุ่น เกาหลี อังกฤษ อเมริกา ฯลฯ ล้วนแล้วแต่ไม่มีราชการส่วนภูมิภาค หากใครยังฝืนทวนกระแสโลก ก็ย่อมจะถูกกระแสแห่งโลกาภิวัตน์กวาดตกเวทีไปอย่างช่วยไม่ได้

----------------