ส่งเสริมคนดีให้ได้ปกครองบ้านเมือง

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

Wednesday, 30 November 2011

อดีตผู้นำไอวอรีโคสต์ถูกจับและดำเนินคดีในศาลอาญาระหว่างประเทศ

ที่มา ประชาไท

เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2554 อดีตประธานาธิบดีไอวอรีโคสต์ นายโลรองต์ บากโบ (Laurent Gbagbo) กลายเป็นอดีตผู้นำประเทศคนแรกที่ถูกจับตัวส่งไปดำเนินคดีที่ศาลอาญาระหว่าง ประเทศ ณ กรุงเฮก เขาถูกจับตัวและกักบริเวณไว้ในบ้านตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา แม้ว่าไอวอรีโคสต์จะยังไม่ให้สัตยาบันธรรมนูญกรุงโรม

ข้อกล่าวหาต่อเขาประกอบด้วยเรื่องอาชญากรรมต่อมนุษยชาติและอาชญากรรมสงคราม โดยพนักงานอัยการของศาลระบุว่ามีประชาชนอย่างน้อย 3,000 คนเสียชีวิต 72 คนหายตัวไป และอีก 520 คนที่ถูกจับกุมและควบคุมตัวโดยพลการ ตั้งแต่วันที่ 28 พฤศจิกายน 2553 ที่มีการเลือกตั้งทั่วไป

แม้ว่านายบากโบจะแพ้การเลือกตั้งดังกล่าว แต่เขากลับไม่ยอมลงจากอำนาจ เป็นเหตุให้เกิดความรุนแรงที่ทำให้คนเสียชีวิตและบาดเจ็บ รวมทั้งสูญหายจำนวนมาก

นายบากโบนับเป็นอดีตผู้นำประเทศคนแรกที่ถูกหมายจับของศาลอาญาระหว่าง ประเทศที่ถูกจับกุมตัวเพื่อมาดำเนินคดี ก่อนหน้านี้ศาลก็เคยออกหมายจับประธานาธิบดีโอมาร์ อัล บาเชียร์ (Omar al-Bashir) ประธานาธิบดีของซูดาน และนายโมฮัมมา กัดดาฟี (Moammar Gadhafi) อดีตผู้นำประเทศลิเบียในข้อหาที่คล้ายคลึงกัน เพียงแต่คนแรกยังจับตัวไม่ได้ ส่วนคนที่สองเสียชีวิตไปก่อนจะถูกนำตัวขึ้นสู่ศาล

ที่น่าสนใจก็คือ เช่นเดียวกับประเทศไทย ไอวอรีโคสต์ได้ลงนามในธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศในปี 2541 (Rome Statute of the International Criminal Court) แต่ที่ผ่านมาทั้งสองประเทศยังไม่ได้ให้สัตยาบันรับรองธรรมนูญดังกล่าว

แต่ที่ต่างจากประเทศไทยคือ ในปี 2546 รัฐบาลไอวอรีโคสต์ได้ประกาศยอมรับเขตอำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศ ทั้งนี้โดยเป็นไปตามมาตรา 12(3) ของธรรมนูญกรุงโรม* ทำให้เกิดความหวังในขณะนั้นว่าจะมีการให้สัตยาบัน แต่รัฐบาลไอวอรีโคสต์ก็ยังไม่ให้สัตยาบันเสียที

แต่ผลจากการประกาศรับรองเขตอำนาจศาลของไอวอรีโคสต์ เป็นเหตุให้มีการฟ้องคดีต่ออดีตประธานาธิบดีกาโบในครั้งนี้ และเป็นเหตุนำไปสู่การออกหมายจับและมีการส่งตัวเพื่อเข้ารับการไต่สวนที่ กรุงเฮก ทั้ง ๆ ที่กำลังจะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นในอีกหนึ่งสัปดาห์ข้างหน้านี้เอง

ในกรณีของประเทศไทย หากต้องการให้ผู้นำซึ่งรับผิดชอบต่อการสังหารประชาชนในการปราบปรามการชุมนุม เมื่อปี 2553 ไปดำเนินคดีที่ศาลอาญาระหว่างประเทศที่กรุงเฮก แม้ว่าประเทศไทยจะยังไม่ให้สัตยาบันรับรองธรรมนูญกรุงโรม แต่ถ้ารัฐบาลไทยประกาศยอมรับเขตอำนาจศาลตามมาตรา 12(3) ของกรุงโรม ก็จะเพิ่มโอกาสที่จะใช้กลไกศาลอาญาระหว่างประเทศจับกุมตัวและดำเนินคดีต่อ อดีตผู้นำประเทศที่มีส่วนร่วมในเหตุการณ์ดังกล่าวได้

*มาตรา 12 ของธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ ระบุถึงเงื่อนไขเบื้องต้นในการใช้เขตอำนาจศาลดังนี้

ข้อ 3 ในกรณีที่รัฐใด ๆ ไม่ได้เป็นภาคีต่อธรรมนูญกรุงโรมตามข้อกำหนดในย่อหน้า 2 รัฐดังกล่าวก็อาจยอมรับการปฏิบัติตามเขตอำนาจศาลของศาลอาญาระหว่างประเทศตาม ความผิดที่มีขึ้นได้ ทั้งนี้โดยการแจ้งความจำนงต่อนายทะเบียนของศาล...