ส่งเสริมคนดีให้ได้ปกครองบ้านเมือง

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

Friday, 25 November 2011

คำถามตัวโตๆต่อรัฐบาลนี้(3):เมื่อไรผู้ก่อการร้ายยึดสนามบินจะติดคุกซะที นี่คือ"การแก้ไขไม่ใช่แก้แค้น"

ที่มา Thai E-News

แก้ไขไม่แก้แค้น-แต่ ผ่านไป 3 เดือนยังไร้สัญญาณการแก้ไขสิ่งผิดให้เป็นถูก กลไกกระบวนการยุติธรรมยังเกียร์ว่างเหมือนตลอด 3 ปีที่ผ่านมา คดีผู้ก่อการร้ายพันธมิตร ซึ่งมีพฤติการณ์ก่อการร้ายสากลยังไม่ถึงศาล หลังจากตำรวจดองเค็ม 2 ปีครึ่ง อัยการดองต่ออีกครึ่งปี ขณะที่เสื้อแดงจับปุ๊บขังปั๊บไม่ให้ประกันรวบรัดฉับไวได้มาตรฐาน 2 ระดับ แต่ไม่ประทับใจ



โดย ทีมข่าวไทยอีนิวส์
25 พฤศจิกายน 2554

เวลา 5 โมงเย็นวันนี้ จะครบกำหนด 3 ปี หรือ 1,000 กับอีก 95 วัน ที่พันธมิตรฯยึดสนามบินสุวรรณภูมิเมื่อ 25 พฤศจิกายน 2551 ยังไม่มีใครต้องติดคุก

ทั้งที่มีข้อหาอุกฉกรรจ์ก่อการร้าย โทษถึงประหารชีวิต เพราะไปโดนดองเค็มอยู่กับตำรวจ 2 ปีครึ่ง

เรื่องมาถึงมืออัยการเมื่อ 11 พฤษภาคมที่ผ่านมา จนบัดนี้ผ่านไปอีก 6 เดือน รวมครบ 3 ขวบปี อัยการสั่งเลื่อนคดีครั้งแล้วหนเล่า เรื่องยังไม่ถึงศาล

คำถามตัวโตๆต่อกระบวนการยุติธรรมไทยก็คือว่า เมื่อไหร่อัยการจะสั่งฟ้อง เมื่อไหร่ศาลจะได้พิจารณาคดี เมื่อไหร่คดีจะสิ้นสุด..เมื่อไหร่ผู้ก่อการร้ายยึดสนามบินจะติดคุก

คำถามตัวโตๆต่อมาก็คือว่า ทำไมคดีก่อการร้ายของเสื้อแดงไม่ต้องรออะไร ติดคุกไปนานแล้ว และไม่ยอมให้ประกันตัวสู้คดี

หากคำตอบมีอยู่ว่าโทษก่อการร้ายหนัก กลัวให้ประกันตัวแล้วจะหลบหนี

คำถามตัวโตๆมีว่า แล้วทำไมข้อหาก่อการร้ายของเสื้อเหลืองถึงไม่ต้องติดคุก ถึงไม่กลัวหลบหนี

คำถามตัวโตๆที่ทิ่มเข้าไปใจกลางปัญหานี้คือ เพราะมีรัฐซ้อนรัฐคอยคุ้มกะลาหัวผู้ก่อการร้ายเส้นใหญ่แก๊งค์นี้อยู่หรือ? หากใช่ก็ต้องลากคอรัฐซ้อนรัฐนั้นมาเข้าคุกฐานสมคบคิดด้วย

หากไม่มีรัฐซ้อนรัฐคุ้มกะลาหัว คำถามตัวโตๆมีต่อไปว่า รัฐบาลนี้ทำไมเพิกเฉย ไม่ต่างอะไรเลยกับ 2 ปีครึ่งของรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ หรือรัฐบาลนี้เป็นแค่รัฐบาลเป็ดง่อย ไร้น้ำยา ไม่มีอำนาจ ทั้งที่ประชาชนไทย 15.7 ล้านเสียงมอบอำนาจมาให้เต็มเปี่ยมแล้ว

รัฐบาลอภิสิทธิ์ดองคดีนี้ไว้ 2 ปีครึ่ง นี่คือโอกาสในการแก้ไขสิ่งผิดให้เป็นถูกโดยรัฐบาลนี้ มันไม่ใช่การแก้แค้น...

คำถามตัวโดๆมีอยู่ว่า จะเอาจริงซะทีหรือยัง? เมื่อไร?!!!
ครบ 3 ปีพันธมิตรยึดสนามบิน ในวันที่ 25 พฤศจิกายน 2554 คดียังไม่ถึงศาล แก๊งอันธพาลการเมือง แนวคิดทัศนะล้าหลังปฏิกริยาขวาจัดฟาสซิสม์ เริ่มออกมาป่วนเมืองขับไล่โค่นล้มรัฐบาลจากการเลือกตั้งของประชาชนอีกแล้ว

เส้นทางดองคดีมาราธอน 3 ปี


2551

-ค่ำวันที่ 25 พฤศจิกายน 2551 พันธมิตรยึดสนามบินสุวรรณภูมิ ในเวลา 21.57 น. วันที่ 25 พฤศจิกายน 2551 กลุ่มพันธมิตรฯ ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 26/2551 สั่งปิดสนามบินสุวรรณภูมิ ข้อความตอนหนึ่งระบุว่า

“พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย จึงมีความจำเป็นที่จะต้องยกระดับการชุมนุม และเพิ่มมาตรการอารยะขัดขืน โดยการปิดสนามบินสุวรรณภูมิ เพื่อยื่นคำขาดผ่านพี่น้องประชาชนทั่วประเทศและทั่วโลกไปยังนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ และคณะรัฐบาลให้ลาออกจากตำแหน่งโดยทันทีและไม่มีเงื่อนไข”

-รัฐบาลได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินสั่งการให้ตำรวจและทหารเข้ายึดสนามบินคืน แต่ได้รับการเพิกเฉย และแม้ศาลจะสั่งให้ออกจากสนามบิน พันธมิตรก็เพิกเฉย เป็นที่รับรู้ว่ามีผู้ยิ่งใหญ่ในประเทศหนุนหลังคุ้มครอง เพียงแต่พูดกันไม่ได้

มีผู้ตกค้างในสนามบินและได้รับความเดือดร้อนราว 600,000คน ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินความเสียหายไม่น้อยกว่า 200,000ล้านบาท ไม่รวมเสียภาพพจน์

-3ธ.ค.51 หลังศาลยุบพรรคพลังประชาชน และพรรคร่วมรัฐบาลอีก2พรรคแบบฉุกละหุกในวันที่ 2 ธ.ค. มีผลให้รัฐบาลสมชายล่มสลายลง พันธมิตรประกาศชัยชนะ และพล.ต.จำลอง ศรีเมือง ทำพิธีส่งมอบสนามบินคืน โดยไม่ถูกดำเนินคดี หรือจับกุมใดๆ

2552

-13 มกราคม 2552 พล.ต.อ.จงรัก จุฑานนท์ รองผบ.ตร.ผู้รับผิดชอบเผยคดีคนแรกเผยคดีคืบหน้า 70 %

-18 กุมภาพันธ์ 2552 รัฐบาลย้ายตำรวจที่คุมคดียึดสนามบินเข้ากรุ พล.ต.อ.จงรักพ้นหน้าที่ในการคุมคดี สุเทพ เทือกฯเข้าคุมเอง

-20 กุมภาพันธ์ 2552 พล.ต.ท.ฉลอง สนใจผบช.ภาค1 หัวหน้าคดีคนที่2เผยคดีคืบหน้า80%

-21 เมษายน 2552 พล.ต.ท.ฉลองเผยคืบหน้า95%แล้ว เหตุที่ช้าเพราะเป็นคดีก่อการร้ายโทษถึงประหารชีวิต

-27 เมษายน 2552 เปลี่ยนตัวหัวหน้าชุดคุมคดีคนที่3 มาเป็นพล.ต.ท.วุฒิ พัวเวส

- 4 กรกฎาคม 2552 พล.ต.ท.วุฒิ ตั้งข้อหาก่อการร้ายกับพันธมิตรและออกหมายเรียกครั้งแรก

-16 กรกฎาคม 2552 พันธมิตรนอกจากจะไม่ไปมอบตัวตามหมายเรียก ยังยกพวกไปชุมนุมที่สโมสรตำรวจ ไม่ขอรับข้อหา และให้เปลี่ยนข้อหา ซึ่งพล.ต.ท.วุฒิขึ้นเวทีบอกว่า พันธมิตรเป็นผู้ก่อการดี

- 9 กันยายน 2552 เปลี่ยนตัวหัวหน้าชุดคุมคดีอีกครั้งเป็นคนที่4 มาเป็นพล.ต.ท.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผช.ผบ.ตร. ซึ่งเป็นคนสายเนวิน ชิดชอบ โดยระบุจะออกหมายเรียกครั้งที่ 2 ก่อน ยังไม่ออกหมายจับ

2553

-26ส.ค.53 ผู้ต้องหาเข้ามอบตัวคดียึดสนามบิน 69 ราย และได้ประกันตัวสู้คดี พร้อมขู่เอาเรื่องพล.ต.ท.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ส่วนอีก 45 รายไม่มามอบตัว ตำรวจได้ขอศาลออกหมายจับ ศาลอาญามีคำสั่งไม่อนุมัติหมายจับ โดยให้เหตุผลว่าหลักฐานไม่ชัดเจน และผู้ต้องหาไม่มีพฤติกรรมหลบหนี

-3พ.ย.53 ผบ.ตร.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี เผยภายใน 1 สัปดาห์จะส่งฟ้อง แล้วก็เงียบ

19พ.ย.53 เรื่องกลับไปตั้งต้นที่ พล.ต.ท.สมยศ ประชุมสรุปคดีเมื่อเวลา 10.00 น.มีความเห็นสรุปเห็นควรสั่งฟ้องผู้ถูกกล่าวหาจำนวน 114 คน ข้อหาก่อการร้าย ซึ่งพนักงานสอบสวนจะทำความเห็นเสนอ ผบ.ตร. เพื่อให้ ผบ.ตร.ดำเนินการสั่งคดีว่าจะสั่งฟ้องหรือไม่สั่งฟ้องผู้ถูกกล่าวหา

-25 พ.ย.2553 ครบ 2 ปียึดสนามบิน พันธมิตรจัดชุมนุมใหญ่หน้ารัฐสภา อ้างว่าเพื่อต่อต้านไม่ให้รัฐบาลแก้ไขรัฐธรรมนูญเผด็จการฉบับพ.ศ.2550

2554

-26 มี.ค.54 ศาลแพ่งตัดสินคดี 13 แกนนํา และแนวร่วมพันธมิตรฯยึดสนามบิน สั่งให้ชดใช้เงิน 522 ล้านบาท

-3ก.ค.54 พันธมิตรรณรงค์ให้ประชาชนโหวตโนในการเลือกตั้ง มีผู้ลงคะแนนตามไม่ถึง 1 ล้านเสียง ขณะที่พรรคเพื่อไทยชนะเลือกตั้งด้วยคะแนน 15.7 ล้านเสียง

-11 พ.ค.54 ตำรวจส่งสำนวนให้อัยการสั่งฟ้องคดียึดสนามบินในข้อหาก่อการร้าย 15 คน คือ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง นายสนธิ ลิ้มทองกุล นายพิภพ ธงไชย นายสมศักดิ์ โกศัยสุข นายสุริยะใส กตะศิลา นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ นายนรัณยู หรือศรัณยู วงษ์กระจ่าง นายศิริชัย ไม้งาม นายสำราญ รอดเพชร นางมาลีรัตน์ แก้วก่า เรือตรีแซมดิน เลิศบุศย์ พ.ต.ท.สันธนะ ประยูรรัตน์ นายชนะ ผาสุกสกุล นายสุรวิชช์ วีรวรรณ และนายรัชต์ชยุตม์ หรือ อมรเทพ หรืออมร ศิริโยธินภักดี หรืออมรรัตนานนท์

จากนั้นอัยการได้เลื่อนสั่งคดีมาเรื่อยๆ ไม่ต่ำกว่า 10 ครั้ง โดยอ้างว่าสำนวนยังแล้วเสร็จ ล่าสุดนัดฟังคำสั่งเมื่อ 20 ตุลาคม 54 และข่าวเงียบหายไปเพราะโดนกระแสข่าวน้ำท่วมกลบ


-22 ก.ค.54 นายกษิต ภิรมย์ อดีตรมว.ต่างประเทศ เดินทางเข้ารายงานกองปราบฯ เพื่อนำตัวส่งอัยการ หลังจากพนักงานสอบสวนคดีกลุ่มพันธมิตรชุมนุมปิดสนามได้สรุปสำนวนมีความเห็น สั่งฟ้องนายกษิต แต่ไม่มีข้อหาก่อการร้าย

-15 ส.ค.54 องค์กรสิทธิมนุษยชนฮิวแมนไรต์ว็อชท์ ส่งหนังสือถึงนายกฯยิ่งลักษณ์หลายประเด็น รวมทั้งตอนหนึ่งระบุว่า
จน ถึงขณะนี้ ยังไม่มีความสำเร็จในการสอบสวนอย่างจริงจังเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน และการกระทำความผิดทางอาญาของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) หรือที่รู้จักกันในชื่อ “เสื้อเหลือง” ซึ่งเกิดขึ้นระหว่างการชุมนุมประท้วงเมื่อปี 2551 การดำเนินคดีกับแกนนำ และสมาชิกของ พธม. มีความล่าช้า โดยหลายคดียังไม่มีการไต่สวนในศาล

4 ก.ย.54 กองปราบฯจับนายไชยพร เกิดมงคล อายุ 59 ปี หรือ จุ๋ม ด่านเกวียน หางแถวพธม.ขังคุกเป็นรายแรก

7ก.ย.54 จับปราโมทย์ นาครทรรพ นักวิชาการพธม.แต่ไม่มีข้อหาก่อการร้าย และให้ประกันกลับบ้าน

21 พ.ย.54 พันธมิืตรชุมนุมที่บ้านนายสนธิ ลิ้ม โดยจำลอง ศรีเมือง หัวหน้าแก๊งเบอร์2ประกาศจะขับไล่รัฐบาลนี้ รัฐบาลที่คนไทย15.7ล้านเสียงเลือกมา

สำหรับคดีก่อการร้ายยึดสนามบิน หลังจากตำรวจสรุปสำนวนส่งอัยการเมื่อ 11 พ.ค.54แล้ว จากนั้นอัยการได้เลื่อนสั่งคดีมาเรื่อยๆไม่ต่ำกว่า 10 ครั้ง โดยอ้างว่าสำนวนยังไม่แล้วเสร็จ ล่าสุดนัดฟังคำสั่งเมื่อ 20 ตุลาคม 54 ที่ผ่านมา และข่าวเงียบหายไปเพราะโดนกระแสข่าวน้ำท่วมกลบ

สรุปว่าผ่านไปครบ 3 ปีคดียังไม่ถึงศาล แหม!ทำเข้าไปได้ สวัสดีประเทศไทย!

*********
หลักแถVSหลักฐาน มัดคอโจรก่อการร้ายยึดสนามบินกุดหัวประหารชีวิต "เว่อร์VSไม่เวอร์"






โดย ทีมข่าวไทยอีนิวส์
เผยแพร่ครั้งแรก 10 กรกฎาคม 2552


ไทยอีนิวส์ทำแบบถามvsตอบว่า คดีก่อการร้ายกรณียึดสนามบิน "เว่อร์เกินไป"ตามที่พันธมิตรยกขึ้นมาต่อสู้ จริงเท็จแค่ไหน? เพื่อให้สาธารชนได้พิจารณาอย่างถ่องแท้

Q-การตั้งข้อหาแกนนำพันธมิตรยึดสนามบินก่อการร้ายนั้นถือว่าเว่อร์เกินไป

A-เรื่องนี้ไม่ใช่ประเด็นเว่อร์เกินไปหรือไม่ แต่เป็นเรื่องฐานความผิดที่มีหลักฐาน และมีกฎหมายเอาโทษถึงประหารชีวิต ดังนี้

-จะเห็นว่าการแจ้งข้อหาแกนนำพันธมิตรแบ่งเป็น2คดี คดีแรกกรณียึดสนามบินดอนเมือง ซึ่งไม่มีการแจ้งข้อหาก่อการร้าย เป็นแค่ข้อหาบุกรุก เพราะดอนเมืองเป็นสนามบินภายในประเทศ แต่อีกคดีคือสุวรรณภูมิมีข้อหาก่อการร้าย เพราะเป็นสนามบินสากล มีชาวต่างชาติได้รับผลกระทบ ที่สำคัญมีกฎหมายระหว่างประเทศบังคับไว้

-กฎหมายสากลนี้คือพิธีสารข้อตกลงมอนทรีออล ที่มีนานาชาติลงนามรับรอง ไทยลงนามรับรองไว้เมื่อ14พ.ค.2539 ความสำคัญตอนหนึ่งระบุว่า"บุคคลหนึ่งบุคคลใดกระทำความผิด ทำให้การบริการของท่าอากาศยานซึ่งให้บริการการบินพลเรือนระหว่างประเทศ หยุดชะงักลง หากการกระทำนั้นเป็นอันตรายหรือน่าจะเป็นอันตราย ต่อความปลอดภัย ณ ท่าอากาศยานนั้น" เป็นการกระทำผิดตามพิธีสารเพื่อการปราบปรามการกระทำรุนแรงอันมิชอบด้วย กฎหมาย ณ ท่าอากาศยานสากลฉบับนี้

-กฎหมายที่ออกมารองรับพิธีสารฉบับนี้-เมื่อไทยลงนามแล้วก็ ได้มาออกกฎหมายพระราชบัญญัติ ว่าด้วยความผิดบางประการต่อการเดินอากาศ พ.ศ. 2521 (แก้ไขเพิ่มเติมพ.ศ.2538)มีใจความสำคัญว่า "ผู้ใดทำให้การให้บริการของท่าอากาศยานหยุดชะงักลง ทั้งนี้ โดยใช้กลอุปกรณ์ วัตถุ หรืออาวุธใด ๆ และการกระทำนั้นเป็นอันตรายหรือน่าจะเป็นอันตรายต่อความปลอดภัยของท่าอากาศยานนั้น ต้องระวางโทษประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี"

-ส่วนประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 135/1เขียนไว้ว่า ผู้ใดกระทำการอันเป็นความผิดอาญาเกี่ยวกับการก่อการร้าย ดัง ต่อไปนี้ (2) กระทำการใดอันก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่ ระบบการขนส่งสาธารณะ ระบบโทรคมนาคม หรือโครงสร้างพื้นฐานอันเป็นประโยชน์สาธารณะ

ถ้าการกระทำนั้นได้กระทำโดยมีความมุ่งหมายเพื่อขู่เข็ญหรือบังคับรัฐบาลไทย รัฐบาลต่างประเทศ หรือองค์การระหว่างประเทศ ให้กระทำหรือไม่กระทำการใดอันจะก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรง หรือเพื่อสร้างความปั่นป่วนเพื่อให้เกิดความหวาดกลัวในหมู่ประชาชน ผู้นั้นกระทำความผิดฐานก่อการร้าย ต้องระวางโทษประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่สามปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่หกหมื่นบาทถึงหนึ่งล้านบาท


เมื่อเป็นดังนี้โจรก่อการร้ายพันธมิตรจะกล่าวอ้างลอยๆว่า"เว่อร์เกินไป"ได้อยู่หรือ?


Q-แต่ก็ยังเว่อร์เกินกว่าเหตุ

A-จะว่าเกินกว่าเหตุได้อย่างไร เพราะการก่อการร้ายดังกล่าวมีผลให้ผู้โดยสารต่างชาติตกค้างอยู่ในไทยนานนับ สัปดาห์กว่า 4 แสนคน รวมทั้งมกุฎราชกุมารราชอาณาจักรเดนมาร์คที่มาเยือนไทยเป็นอาคันตุกะส่วน พระองค์ของในหลวง ในช่วงนั้นก็ต้องตกค้าง มีคนที่เดินทางเข้าประเทศไม่ได้หลายแสนคน

-ธนาคารแห่งประเทศไทยรายงานประเทศชาติเสียหายด้านต่างๆ ทั้งทางตรงและทางอ้อม 270,000 ล้านบาท

-หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น การท่าอากาศยานฯ การบินไทย สายการบินต่างชาติได้เรียกร้องขอให้รัฐบาลชดเชยความเสียหายให้มากกว่า 19,000 ล้านบาท ที่เป็นผลเสียหายโดยตรง

-โจรก่อการร้ายพันธมิตรยึดเครื่องบินโดยสารต่างชาติไว้ช่วงเกิดเหตุการณ์ กว่า 88 ลำ จนทูตชาติมหาอำนาจ 6 ชาติ คือสหรัฐ สหภาพยุโรป เป็นต้นเข้ายื่นโนติสกับกระทรวงการต่างประเทศขอให้ยุติและอย่าให้เกิด เหตุการณ์แบบนี้อีก ทำให้ไทยเสี่ยงต่อการถูกมหาอำนาจแทรกแซงอธิปไตย

-โจรก่อการร้ายพันธมิตรได้กลุ้มรุมทำร้ายคนสาหัสปางตายในเหตุการณ์นี้ และขัดขวางทำร้ายพนักงานรักษาความปลอดภัยสนามบินด้วย

แล้วอะไรคือสิ่งที่โจรก่อการร้ายพันธมิตรเห็นว่าไม่ได้"เกินกว่าเหตุ"กรุณาอธิบายมาด้วย

Q-กษิตแค่ขึ้นเวทีเฉยๆทำไมโดนข้อหาก่อการร้ายด้วย

A-แถแบบนี้หากไม่รู้กฎหมายก็น่าเห็นใจ แต่ส่วนใหญ่นั้นรู้แต่แกล้งไม่รู้ กฎหมายพ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดบางประการต่อการเดินอากาศ พ.ศ. 2521 (แก้ไขเพิ่มเติมพ.ศ.2538)มาตรา 11(2)เขียนไว้ดังนี้"ผู้ใดเป็นผู้สนับสนุนในการกระทำความผิดตาม มาตรา 5 มาตรา 6 หรือมาตรา 6 ทวิ ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับตัวการ" พูดง่ายๆคือผู้ใดสนับสนุนให้โจรก่อการร้ายพันธมิตรไปยึดสนามบิน จนทำให้การบริการท่าอากาศยานสากลสุวรรณภูมิหยุดชะงักลง ก็ต้องผิดและโทษถึงประหารเหมือนตัวการ

คำถามคือนายกษิตไปที่สุวรรณภูมิในตอนยึดสนามบินแค่ไปกินข้าวฟรี ฟังดนตรีไพเราะแล้วกลับบ้านหรือไม่ ความจริงนายกษิตไปสนับสนุนการกระทำความผิด ขึ้นพูดให้การสนับสนุนบนเวทีหลักฐานก็มี ยังจะมาเถียงอีกว่า"ผมทำผิดตรงไหน!"

Q-พันธมิตรไม่ได้ปิดสนามบิน ผอ.สุวรรณภูมิเป็นคนปิดเอง

A-จะพูดจะแถอย่างไรก็ได้ แต่ดูหลักฐานนี่ก่อน

-หลังเข้ายึดสนามบินไว้ได้แล้วเมื่อค่ำวันที่25พ.ย.2551นั้น พันธมิตร ได้ออกแถลงการณ์ในเวลา21.57น.วันนั้น เป็นแถลงการณ์ฉบับที่ 26/2551 พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ความสำคัญตอนหนึ่งคือ"พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย จึงมีความจำเป็นที่จะต้องยกระดับการชุมนุม และเพิ่มมาตรการอารยะขัดขืนโดยการปิดสนามบินสุวรรณภูมิ เพื่อ ยื่นคำขาดผ่านพี่น้องประชาชนทั่วประเทศและทั่วโลกไปยังนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ และคณะรัฐบาลให้ลาออกจากตำแหน่งโดยทันทีและไม่มีเงื่อนไข

-เมื่อยึดไว้จนกดดันให้ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินยุบ3พรรคการเมืองร่วมรัฐบาลในวันที่2ธ.ค.2551ทำให้รัฐบาลนายสมชายสิ้นสภาพลง ต่อมาวันรุ่งขึ้นเวลา09.20น.พลตรีจำลอง ศรีเมือง เป็นผู้แทนพันธมิตรทำพิธีส่งมอบสนามบินคืนแก่นายวุฒิพันธ์ วิชัยรัตน์ ประธานบอร์ดการท่าอากาศยานต่อหน้าพระบรมฉายาลักษณ์

วิญญูชนหรือสามัญชนที่มีสามัญสำนึกย่อมพิจารณาเป็นไปอย่างอื่นไม่ได้ว่า หากพันธมิตรไม่ได้เป็นคนยึดแล้วไปออกแถลงการณ์ปิดสุวรรณภูมิทำไม และหากไม่ได้ยึดเอาไว้ จะไปทำพิธีส่งมอบคืนทำไม?

***********
เรื่องเกี่ยวเนื่อง:

-ซีรีส์ชุดคำถามตัวโตๆต่อรัฐบาลนี้:คำถามแรกพวกคุณมีหัวใจไหม?ทำไมเพิกเฉยกับคนเสื้อแดงที่่ติดคุก

คำถามตัวโตๆต่อรัฐบาลนี้(2):เมื่อไรจะเอาคนสั่งฆ่าไปขังคุก มันลำบากตรงไหนกับการให้สัตยาบันICC?