ส่งเสริมคนดีให้ได้ปกครองบ้านเมือง

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

Thursday, 13 October 2011

กองปราบไม่ฟ้อง"พสิษฐ์"กรณีแพร่คลิป ตลก.ศาล รธน.หารือคดียุบ ปชป.

ที่มา ประชาไท

กองปราบสั่งไม่ฟ้อง "พสิษฐ์ ศักดาณรงค์" กรณีแพร่คลิปที่แอบถ่ายในห้องประชุมตุลาการ รธน. คดียุบพรรค ปชป. ชี้ไม่เข้าข่ายผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ โดยโยนให้อัยการสูงสุดชี้ขาดฟ้อง-ไม่ฟ้อง

สำนักข่าวไทย รายงาน วานนี้ (12 ต.ค.) ว่าที่สำนักงานอัยการสูงสุด ถ.รัชดาภิเษก เมื่อช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา พนักงานสอบสวนกองปราบปรามโดย พ.ต.อ.นัยวัฒน์ ผะเดิมชิต รอง ผบก.ป. ได้นำสำนวนพร้อมความเห็นสมควรสั่งไม่ฟ้องนายพสิษฐ์ ศักดาณรงค์ อายุ 40 ปี อดีตเลขานุการส่วนตัวประธานศาลรัฐธรรมนูญ และ น.ส.ชุติมา หรือพิมพ์พิจญ์ แสนสินรังสี อายุ 29 ปี เจ้าหน้าที่ระดับ 3 หน้าห้องประธานศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ต้องหาคดี เป็นเจ้าพนักงานร่วมกันล่วงรู้ความลับในราชการ เปิดเผยความลับโดยประการให้เกิดความเสียหายตามกฎหมายอาญามาตรา 164 และความผิดฐานร่วมกันเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลอันเป็นเท็จ โดยประการน่าจะเกิดความเสียหายตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 เสนอให้พนักงานอัยการพิจารณา

จากกรณีที่เลขาธิการศาลรัฐธรรมนูญเข้าแจ้งความต่อพนักงานสอบสวน กก. 1 ป. กล่าวหาว่า นายพสิษฐ์ และพวกแอบนำกล้องเว็บแคมไปซ่อนในห้องประชุมตุลาการรัฐธรรมนูญ แล้วบันทึกภาพขณะตุลาการกำลังหารือกันในคดียุบพรรคประชาธิปัตย์ เป็นคลิปวิดีโอรวม 5 คลิป และมีการเผยแพร่ในระบบอินเทอร์เน็ต ในช่องทาง “ยูทูบ” ซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนสัญชาติสหรัฐ โดยผู้กระทำเจตนาให้มีการเผยแพร่ข้อมูลลับทางเครือข่ายดังกล่าวทั่วโลก และมีการเปิดรับข้อมูลข่าวสารในต่างประเทศ

อย่างไรก็ตาม เมื่อพนักงานสอบสวนสอบสวนเสร็จสิ้นแล้ว และผู้ต้องหาอยู่ในความควบคุมของพนักงานสอบสวน แต่ได้การประกันตัวออกไป จึงส่งเฉพาะสำนวนการสอบสวนให้อัยการตามกฎหมาย ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 142 โดยกำหนดให้อัยการสูงสุด เป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ และทำความเห็นชี้ขาดว่าจะมีความเห็นสั่งฟ้องผู้ต้องหาหรือไม่

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับการพิจารณาของพนักงานสอบสวนนั้นมีหลายประเด็นคือ ผู้ต้องหาเป็นเจ้าพนักงานต้องรับผิดตามมาตรา 164 หรือไม่ เห็นว่าความผิดตามกฎหมายนี้ผู้กระทำต้องเป็นเจ้าพนักงาน แม้นายพสิษฐ์ กับพวกเป็นบุคคลทั่วไป แต่เมื่อประธานศาลรัฐธรรมนูญแต่งตั้งให้เป็นเลขานุการ จึงเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมาย

2. มีการกระทำผิดหรือไม่ เห็นว่าคลิปที่เผยแพร่มี 5 รายการ คลิปแรกเป็นภาพบุคคลระดับสูง คลิปที่สอง เป็นภาพทนายความของพรรคการเมืองหนึ่งไปพบบุคคลหนึ่ง และพูดคุยกันเรื่องยุบพรรคประชาธิปัตย์ คลิปที่ 3 เป็นภาพตุลาการศาลรัฐธรรมนูญกำลังพูดคุยกันเรื่องยุบพรรคการเมือง โดยน่าเชื่อว่าภาพถูกบันทึกมาจากเก้าอี้ของนายพสิษฐ์ คลิปที่ 4 เป็นการสนทนาต่อเนื่องกับคลิปที่ 3 และมีการพูดว่า “เพื่อป้องกันการครหา ให้ดึงนายอภิชาต สุขัคคานนท์ ประธาน กกต.มาร่วมรับผิดชอบด้วย” คลิปที่ 5 เป็นการสนทนาของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ พูดคุยกันเรื่องให้ความช่วยเหลือ ส.ส.คนหนึ่ง

ทั้งนี้ พนักงานสอบสวนพิจารณาแล้วเห็นว่า ไม่มีพยานปากใดเห็นผู้ต้องหาเป็นผู้นำกล้องไปซ่อนในห้องประชุม หรือบันทึกภาพ ไม่มีใครเห็นว่าผู้ต้องหานำคลิปเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์แล้วเผยแพร่ทางยูทูบ มีแต่ผู้ใช้ยูสเซอร์เนมว่า “โอ้ มายก็อด 3009” โดยไม่ระบุอีเมลแอดเดรส จึงไม่เข้าองค์ประกอบความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ นอกจากนี้ พนักงานสอบสวนได้พยายามขอตรวจสอบข้อมูลจากบริษัท ยูทูบฯ ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของบริษัทกูเกิล สัญชาติสหรัฐ ก็ได้รับแจ้งกลับมาว่า คดีลักษณะดังกล่าวไม่ตรงกับความผิดในสหรัฐ จึงไม่อาจสนับสนุนข้อมูลให้ได้

พนักงานสอบสวนจึงยุติการสอบสวน พร้อมทำความเห็นเสนออัยการสมควร “สั่งไม่ฟ้อง” ผู้ต้องหาทั้งสอง และปล่อยผู้ต้องหาไปตามกฎมาย ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 143 โดยระหว่างนี้คดีอยู่ระหว่างการกลั่นกรองของคณะทำงานอัยการสูงสุด คาดว่าจะเสนอความเห็นต่อนายจุลสิงห์ วสันตสิงห์ อัยการสูงสุด พิจารณาชี้ขาดได้ในสัปดาห์หน้า