โดย สรกล อดุลยานนท์
รัฐบาล "ยิ่งลักษณ์" ก็คงเหมือนกับคนนครสวรรค์หรืออยุธยา
อยู่ดีๆ น้ำก็ทะลักเข้ามาอย่างไม่รู้เนื้อรู้ตัว
ช่วงต้นๆ ก็แทบจมน้ำ บริหารจัดการแบบลองผิดลองถูก
ประชุมทีไรก็ยก "บางระกำโมเดล" และท่องคาถา "2P 2R" ตลอด
"บูรณาการ" เฉพาะคำพูด แต่การกระทำกลับสะเปะสะปะ
จนเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว "ยิ่งลักษณ์" เริ่มตั้งหลักได้
ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) ที่ท่าอากาศยานดอนเมือง กลายเป็น "จุดเริ่มต้น" การรุกแก้ปัญหาของรัฐบาลยิ่งลักษณ์
หลังจากตั้ง "รับ" มายาวนาน
รวมทั้งการปรับ "ช่อง 11" ให้กลายเป็นศูนย์กลางการประชาสัมพันธ์ทำให้การสื่อสารกับประชาชนดีขึ้น
1 สัปดาห์ที่ผ่านมา คนไทยมีความหวังมากกว่า 1 เดือนก่อน
อย่างน้อยก็รู้ว่าชะตาชีวิตของเขาจะเป็นอย่างไร
น้ำท่วมใหญ่คราวนี้ หนักหนาสาหัสจริงๆ ครับ
การปรับแผนตั้ง ศปภ.ครั้งนี้ ทำให้เห็นการ "บูรณาการ" หน่วยงานต่างๆ อย่างแท้จริง
รัฐบาลดึง "กองทัพ" ให้เข้ามาช่วยอย่างเต็มที่มากขึ้น
มอบหมายคนรับผิดชอบแต่ละจุดอย่างชัดเจน
ข้อมูลต่างๆ ก็อธิบายได้อย่างเป็นระบบมากขึ้น
แต่ที่ยังขาดหายไปของการ "บูรณาการ" ครั้งนี้ ก็คือ การประสานภาคเอกชนให้เข้ามาช่วยเหลือ
อย่าง เรื่องเสริมคันกั้นน้ำ ถ้ารัฐบาลประสานไปยังบริษัทวัสดุก่อสร้างขนาดใหญ่ อย่าง ปูนซิเมนต์ไทย หรือบริษัทก่อสร้างขนาดใหญ่ อย่าง ซิโนไทย หรือ ช.การช่าง ฯลฯ
หรือ ไปคุยกับกลุ่มบ้านพฤกษา ที่มีโรงงานผลิตผนังสำเร็จรูปอยู่แล้ว
ทุกอย่างน่าจะเร็วกว่านี้
ขอเพียงแค่รัฐบาลเอ่ยปาก เชื่อว่าภาคเอกชนพร้อมให้ความร่วมมือ
เพราะนี่คือ ปัญหาของคนทั้งประเทศ
ไม่ใช่ปัญหาของใครคนใดคนหนึ่ง
ลองนัดประชุมสักครั้งหนึ่ง เชิญบริษัทยักษ์ใหญ่ทั้งหลายมาคุยกัน และขอความช่วยเหลือ
บางทีเราอาจเห็น "น้ำใจ" ของภาคเอกชนมากกว่าที่เราคิด
เราอาจเห็น "ซีพี-ปูนซิเมนต์ไทย-ปตท.-แบงก์กรุงเทพ-สหพัฒน์-เบียร์ช้าง-เบียร์สิงห์-เอไอเอส" แย่งกันรับผิดชอบรายละจังหวัดก็ได้
อย่าลืมว่า "เอกชน" นอกจากมี "เงิน-คน" และ "สิ่งของ" แล้ว
สิ่งหนึ่งที่ภาคเอกชนเหนือกว่ารัฐบาล ก็คือ การตัดสินใจที่รวดเร็วและระบบบริหารที่มีประสิทธิภาพ
วันนี้ ผมเห็นภาคเอกชนใหญ่หลายแห่งลงมาช่วยเหลืออย่างจริงจัง
ไม่ว่าจะเป็น "ซีพี-ปตท.-เบียร์สิงห์" หรือ "ตัน ภาสกรนที"
แต่น่าแปลกที่บริษัทที่มีกำไรเป็นพันล้าน หรือหมื่นล้านต่อปีหลายบริษัทไม่ขยับตัวเลย
ลองเข้าไปดูข้อมูลบริษัทในตลาดหลักทรัพย์สิครับ
บริษัทไหนที่กำไรเป็นพันหรือหมื่นล้าน
และบริษัทเหล่านี้ได้ลงแรงหรือลงเงินช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมบ้าง
ดูแล้วจำไว้
นอก จากนั้นสิ่งหนึ่งที่อยากเห็นสมาคมธนาคารไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หอการค้าไทย เพิ่มวาระเรื่องช่วยเหลือชาวบ้านเข้าที่ประชุมบ้าง
นอกเหนือจากวาระเรื่องขอความช่วยเหลือจากภาครัฐ
คนที่อยู่ยอดพีระมิดของสังคมไทยต้องตั้งคำถามกับตัวเองมากๆ ในสถานการณ์เช่นนี้
ธรรมชาติของ "น้ำ" นั้นไหลจาก "ที่สูง" ลงสู่ "ที่ต่ำ"
"น้ำใจ" ก็น่าจะเป็นเช่นเดียวกัน
...ไม่ใช่หรือ ???