ส่งเสริมคนดีให้ได้ปกครองบ้านเมือง

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

Sunday, 16 October 2011

"แม้ว"ชิงพื้นที่ แก้วิกฤตน้ำท่วม

ที่มา ข่าวสด



สถานการณ์น้ำท่วมใหญ่เข้าสู่ช่วงไฮไลต์

น้ำเหนือก้อนมหึมาจู่โจมฝ่าด่านนครสวรรค์ เคลื่อนขบวนทะลุทะลวงผ่านชัยนาท ลพบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง สุพรรณบุรี เข้าพระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี

สร้างความเสียหายตามรายทางให้กับบ้านเรือนประชาชน พื้นที่เศรษฐกิจ โรงงานอุตสาหกรรมเสียหายไปแล้วไม่ต่ำกว่าแสนล้านบาท

ก่อนทะลักเข้าโอบล้อมกรุงเทพฯ ด้วยปริมาณน้ำกว่า 8,000 ล้านลูกบาศก์เมตร

ในจังหวะ"ดาบสอง"น้ำทะเลหนุนสูงไปจนถึงวันที่ 18 ต.ค. ทั้งยังต้องรอลุ้นต่อถึง"ดาบสาม"กับปริมาณน้ำฝนที่ถล่มลงมาไม่หยุดหย่อน

น้ำเหนือ น้ำหนุน น้ำฝน ทั้ง 3 อย่างนี้คือเงื่อนไขสำคัญที่มาบรรจบกันโดยมิได้นัดหมาย ทำให้กรุงเทพฯ ยังหนีไม่พ้นภาวะลูกผีลูกคน ต้องลุ้นระทึกกันชนิดนาทีต่อนาที

แต่กระนั้นก็ตาม ข้อมูลล่าสุดชี้ว่า โอกาสที่กทม.จะรอดพ้นไปได้มีค่อนข้างมาก

ข้อมูลจากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา

จังหวัดที่ได้รับผลกระทบอุทกภัยในภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคกลาง รวม 61 จังหวัด มีผู้เสียชีวิตแล้วกว่า 280 ราย เดือดร้อนเกิน 2.4 ล้านครัวเรือน หรือเกือบ 8.3 ล้านคน

ด้วยตัวเลขที่ปรากฏจึงไม่แปลกหากน้ำท่วมครั้งนี้จะได้รับการจดบันทึกให้เป็นภัยพิบัติทางธรรมชาติครั้งสาหัสสากรรจ์ที่สุดในรอบ 50 ปี

ซัดกระหน่ำ"รัฐบาลยิ่งลักษณ์"ที่มีอายุประสบการณ์บริหารประเทศแค่เดือนเศษจนโซซัดโซเซในช่วงแรก

แต่ก็เป็นอะไรที่"ตั้งหลักได้เร็ว"กับการตั้งศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ ประสบอุทกภัย หรือศปภ. มอบหมายให้พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รมว.ยุติธรรมเป็น"พ่องาน"ในฐานะผอ.ศูนย์ฯ

ขณะที่น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกฯ ก็สามารถรีดฟอร์ม"ผู้นำ"ออกมาได้ทันท่วงทียามบ้านเมืองเกิดวิกฤต ขนาดอดีตนายกฯบรรหาร ศิลปอาชา ยังกล่าวชื่นชม

แถมออกตัวให้ด้วยว่าปัญหาตอนนี้ไม่ว่ารัฐบาลชุดไหน หรือต่อให้มี 10 รัฐบาลก็รับมือกับปริมาณน้ำขนาดนี้ไม่ไหว



นอกเหนือจากภาพการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า

นายกฯยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ประกาศยกระดับการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและการช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบภัยขึ้นเป็น"วาระแห่งชาติ"

ระดมกำลังทุกภาคส่วนทั้งภาคการเมือง ภาครัฐ ภาคเอกชน ทหาร ตำรวจ และภาคประชาชน เข้าร่วมวงหารือในที่ประชุมศปภ.

และจากที่เคยฮือฮากลายเป็นภาพเห็นกันจนชินตา คือนายกฯยิ่งลักษณ์ ควงคู่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. ออกตรวจสถานการณ์พื้นที่ประสบภัยรายวัน

ไม่ว่าขึ้นรถ ลงเรือ ขี่เฮลิคอปเตอร์ เห็นนายกฯยิ่งลักษณ์ที่ไหน เป็นต้องเห็นพล.อ.ประยุทธ์ที่นั่น

ผลพลอยได้จากการที่ผู้นำรัฐบาลกับผู้นำกองทัพเคียงบ่าเคียงไหล่ต่อสู้กับ วิกฤตน้ำท่วม ทำให้บรรยากาศความตึงเครียดทางการเมืองที่เป็นมาตลอดตั้งแต่รัฐบาลชุดนี้ เข้ามา เริ่มคลายตัวลง

ล่าสุดรัฐบาลด้วยความร่วมมือของหน่วยงานทุกกระทรวง ทบวง กรม ยังคิดค้นผลักดันมาตรการต่างๆ ออกมาเพื่อแบ่งเบาภาระให้ประชาชนผู้ประสบภัย

ทั้งการขอผู้ประกอบการช่วยตรึงราคาน้ำมันไว้ก่อน การผ่อนผันชำระค่าไฟฟ้าเป็นเวลา 3 เดือน พักชำระหนี้โดยไม่คิดดอกเบี้ยในส่วนของผู้เช่าซื้อบ้านกับการเคหะ รวม 3 เดือน

กระทรวงการคลังสั่งให้ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ หาแนวทางหยุดพักชำระหนี้ให้ผู้ประสบภัยจนกว่าน้ำจะแห้ง ควบคู่กับการปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อซ่อมแซมบ้านเรือน และเป็นทุนหมุนเวียนในการทำอาชีพใหม่

ขณะที่กรมสรรพากรออกมาตรการภาษี ให้ผู้บริจาคเงินช่วยน้ำท่วมนำไปหักลดหย่อนภาษีเพิ่มเป็น 1.5 เท่า

ทั้งหมดนี้ยังไม่รวมเงินชดเชยอีกครอบครัวละ 5,000 บาท และชดเชยพื้นที่การเกษตรอีกไร่ละ 2,222 บาทที่รัฐบาลทยอยจ่ายไปบ้างแล้ว

อย่างไรก็ตามมีการมองว่าการแก้ปัญหาน้ำท่วมจะเป็นตัวชี้วัดประสิทธิภาพของ รัฐบาล แต่โจทย์ที่ยากจริงๆ สำหรับคณะผู้บริหารประเทศภายใต้การนำของน.ส.ยิ่งลักษณ์

อยู่ที่สถานการณ์ภายหลังน้ำลดมากกว่า



ยังไม่มีการประเมินแน่ชัดว่ารัฐบาลต้องใช้เม็ดเงินจำนวนเท่าใดในการฟื้นฟูความเสียหายหลังภัยพิบัติทางธรรมชาติครั้งใหญ่นี้

แต่เบื้องต้นรัฐบาลได้เตรียมตัวเลขเบื้องต้นไว้ที่จำนวน 80,000 ล้านบาท ซึ่งจะได้มาจากการหั่นงบลงทุนของทุกกระทรวงลง 10 เปอร์เซ็นต์

กระนั้นก็ตามฉากสำคัญยังเป็นพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ที่ชิงเปิดประเด็นข้ามฟากมาจากดูไบ ถึงมาตรการฟื้นฟูประเทศหลังน้ำท่วม

เป้าหมายให้ทุกอย่างกลับคืนสู่สภาพเดิมทั้งบ้านเรือน โบราณสถาน วัด โรงเรียน พื้นที่เกษตรกรรม และโรงงานอุตสาหกรรม

เรียกความเชื่อมั่นกลับคืนสู่ประเทศโดยเร็ว

การดำเนินการตรงนี้รัฐบาลจำเป็นต้องหาเงินให้ได้อย่างน้อย 1 แสนล้านบาท ซึ่งได้เตรียมจัดหาแหล่งทุนไว้แล้ว

ส่วนการแก้ปัญหาระยะยาวต้องทำหลายอย่างเพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมและน้ำแล้งไป พร้อมกัน ทั้งโครงการแก้มลิง เขื่อนกักเก็บน้ำ และเขื่อนกั้นน้ำทะเลป้องกันไม่ให้น้ำท่วมกรุงเทพฯ

ส่วนจะสร้างอะไรไว้ตรงไหน รวมถึงการตัดเส้นทางเดินของน้ำใหม่ รัฐบาลต้องนำภาพถ่ายดาวเทียมในช่วงน้ำท่วมมาศึกษาให้ละเอียด

เบ็ดเสร็จคาดว่าต้องใช้เงินงบประมาณอีกไม่ต่ำกว่า 400,000 ล้านบาท ถึงจะเป็นเงินจำนวนมากแต่ก็คุ้มค่าหากเปรียบเทียบจากตัวเลขความเสียหายทุกปี โดยเฉพาะปีนี้

สำหรับที่มาของแหล่งเงิน พ.ต.ท.ทักษิณชี้ช่องให้ไปกู้จากประเทศจีน แล้วจ่ายคืนเป็นสินค้าเกษตร นอกจากนี้ยังช่วยเจรจาดึงนักลงทุนต่างชาติเพื่อเข้ามาลงทุนในไทยอีกทาง

อธิบายส่งต่อให้รัฐบาลเพื่อไทยรับไปปฏิบัติ

พ.ต.ท.ทักษิณฉวยโอกาสตอนกระแสสังคมเรียกร้องหามาตรการป้องกันน้ำท่วมระยะยาว ที่กำลังเป็นประเด็นมาแรงแซงโครงการประชานิยมอื่นๆ ที่รัฐบาลเองก็ถูกหาว่า"ดีแต่โม้"

โชว์มันสมองระดับเวิลด์คลาส กลบข้อครหา"ทักษิณคิด เพื่อไทยทำ"เสียสนิท