คอลัมน์ เหล็กใน
มันฯ มือเสือ
ข้อมูลจากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเมื่อวันที่ 11 ต.ค. ภาคเหนือ อีสานและภาคกลางได้รับผลกระทบแล้วทั้งสิ้น 60 จังหวัด
ประชาชนเดือดร้อนกว่า 2.4 ล้านครัวเรือนหรือกว่า 8.2 ล้านคน มีผู้เสียชีวิตแล้ว 269 ราย
สถานการณ์จะเลวร้ายยิ่งไปกว่านี้หรือไม่ ขึ้นกับ 3 ปัจจัยสำคัญ คือ พายุลูกใหม่ น้ำเหนือไหลบ่า น้ำทะเลหนุน
กรณี ของพายุลูกใหม่ตามที่เคยคาดการณ์ว่าจะพัดเข้าไทยนั้น น่าจะไม่มาแล้ว ที่น่าเป็นห่วงจึงเป็นเรื่องของน้ำเหนือปริมาณมโหฬารมากกว่า 9,000 ล้านลบ.ม.
ที่เคลื่อนขบวนเข้าโจมตีนนทบุรี-ปทุมธานีเรียบ ร้อยแล้ว
บวก กับน้ำทะเลจะหนุนสูงสุดช่วงระหว่าง 13-17 ต.ค. ตรงนี้เองทำให้คนกรุงเทพฯ โดยเฉพาะที่อยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา รวมถึงคูคลองชั้นในต่างๆ
ต้องเฝ้าระวังนาทีต่อนาที
เพราะถ้าเผลอนิดเดียวบ้านเรือนทรัพย์สินอาจจมน้ำหายไปภายในพริบตาเหมือนที่เกิดกับชาวบ้านนครสวรรค์
อย่างไรก็ตามล่าสุดมีข่าวจากกรมชลประทานช่วยให้ใจชื้นขึ้นมาบ้างว่า ถ้าไม่มีพายุลูกใหม่เข้ามาก็มั่นใจว่าปัญหาจะเริ่มคลี่คลาย
เนื่องจากขณะนี้ปริมาณน้ำฝนในพื้นที่ตอนบนของ ประเทศลดน้อยลง
สอง เขื่อนใหญ่ทั้งเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ สามารถลดการระบายน้ำลงจากวันละ 100 ล้านลบ.ม. และ 60 ล้านลบ.ม. เหลือ 93 ล้านลบ.ม.กับ 40 ล้านลบ.ม.
ส่งผลให้พื้นที่ตั้งแต่พิษณุโลก พิจิตร นครสวรรค์ ลงมาถึงอยุธยา ปริมาณน้ำจะไม่เพิ่มสูงขึ้นจากที่เป็นอยู่และมีแนวโน้มลดลงหากไม่มีฝน กระหน่ำลง มาอีก
ถ้าสถานการณ์เป็นเช่นนี้ไปเรื่อยๆ ก็เชื่อว่ากรุงเทพฯ จะผ่านช่วงน้ำทะเลหนุนสูง 13-17 ต.ค.ไปได้ อาจได้รับผลกระทบบ้างบางพื้นที่แต่จะไม่ถึงขั้นวิกฤตอย่างที่เป็นห่วง
กระนั้นก็ตามเรื่องฟ้าฝนเอาแน่นอนคงไม่ได้
อย่างวิกฤตน้ำท่วมใหญ่ที่ประเทศเรากำลังเผชิญอยู่ ตอนแรกก็ไม่มีใครคาดคิดว่าหนักหน่วงขนาดทุบสถิติในรอบครึ่งศตวรรษ
ฉะนั้นทางที่ดีคือต้องตั้งอยู่บนความไม่ประมาทและคอยติดตามข่าวสถานการณ์ใกล้ชิด
ตื่นตัวไว้ตลอดเวลา แต่อย่าตื่นตระหนก คือคาถาที่คนไทยต้องท่องไว้ในยามนี้