ส่งเสริมคนดีให้ได้ปกครองบ้านเมือง

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

Monday, 31 October 2011

ชี้รัฐล้มเหลวใช้ ‘พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ’ อนุ กสม.ย้ำต้องเจรจาดับไฟใต้

ที่มา ประชาไท

ชี้รัฐล้มเหลวใช้ ‘พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ’ ศูนย์ทนายเผยเหตุคดียกฟ้อง มาจากผลซักถาม เวทีประชาชนชายแดนใต้จี้ยกเลิก อนุกสม.ย้ำต้องเจรจาดับไฟใต้

จี้เลิกพ.ร.ก. - เครือข่าวประชาสังคมคัดค้าน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน 19 องค์กร ร่วมอ่านแถลงการณ์ ขอให้รัฐบาลยกเลิกการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ภายใน 30 วัน ที่ห้องห้องประชุมอาคารวิทยนานาชาติ วิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) วิทยาเขตปัตตานี เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2554

เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2554 ที่ห้องห้องประชุมอาคารวิทยนานาชาติ วิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) วิทยาเขตปัตตานี เครือข่ายประชาสังคมคัดค้าน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จัดเวทีสาธารณะ วาระประชาชน : ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มีนักศึกษาและประชาชนเข้าร่วมกว่า 1,500 คน



เวลา 10.30 น. มีการเสวนาในหัวข้อ ชะตากรรมประชาชนใต้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แล้วจะเอาไงต่อ? โดยนายสุทธิพงษ์ จันทรวิโรจน์ ประธานมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม กล่าวเสวนาว่า ที่ผ่านมามูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมได้ว่าความทั้งหมดประมาณ 600 คดี เป็นคดีความมั่นคงทั้งหมด ปัจจุบันเหลือประมาณ 400 คดี โดยร้อยละ 90 ของจำเลยทั้งหมด มาจากผลการซักถามระหว่างถูกควบคุมตัวในชั้นการควบคุมตัวตามพระราชกำหนดการ บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน) และมีถึงร้อยละ 80 ที่ศาลพิพากษายกฟ้อง



“คดีที่ผู้ถูกควบคุมตัวถูกซ้อมทำร้ายร่างกายเพื่อให้รับสารภาพ ระหว่างถูกควบคุมตามพ.ร.ก.ฉุกเฉิน หรือแม้แต่การทำร้ายร่างกายให้รับสารภาพระหว่างที่ตกเป็นผู้ต้องหาแล้วก็ตาม การใช้คำรับสารภาพมาเป็นหลักฐานนั้น ศาลจะไม่รับฟัง จึงทำให้มีคดีความมั่นคงถึง 80% ที่ศาลยกฟ้อง และ 99% ของจำเลยเป็นหัวหน้าครอบครัวและส่วนใหญ่เป็นอุสตาซ (ครูสอนศาสนาอิสลาม)” นายสุทธิพงษ์ กล่าว



นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2554 ประธานศาลฎีกาได้ออกแนวปฏิบัติตามพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ว่าการขอขยายเวลาการควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยต้องนำตัวมาที่ศาลด้วย รวมทั้งการปล่อยตัวก็ต้องนำตัวมาแสดงตัวที่ศาลด้วย แต่ยังไม่มีเจ้าหน้าที่ปฏิบัติตาม แต่ที่ผ่านมาการขอขยายเวลาควบคุมตัวเจ้าหน้าที่นำเพียงเอกสารมาชี้แจงต่อศาล จึงทำให้ผู้ถูกควบคุมตัวไม่มีโอกาสมาแถลงคัดค้านการขยายเวลาควบคุมตัว



นางสาวภาวิณี ชมศรี เจ้าหน้าที่มูลนิธิผสานวัฒนธรรม กล่าวในวงเสวนาว่า การประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินในจังหวัดชายแดนภาคใต้ มาแล้วถึง 6 ปี ไม่บรรลุเป้าหมายเพื่อการรักษาความปลอดภัยให้กับประชาชน เพราะทุกวันนี้ยังมีเหตุการณ์ไม่สงบอยู่ ถามว่าพ.ร.ก.ฉุกเฉิน เป็นกฎหมายที่เหมาะสม และสามารถช่วยประชาชนได้จริงหรือไม่ หรือเป็นเพียงการใช้อำนาจเพื่อใช้ควบคุมคนมาซักถาม ซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพ



นางสาวภาวิณี กล่าวว่า การควบคุมตัวคนในช่วงแรก เจ้าหน้าที่จะใช้อำนาจตามกฎอัยการศึก ซึ่งไม่ต้องมีการออกหมายใดๆ เมื่อได้ข้อมูลมาชุดหนึ่งแล้ว จึงออกหมายควบคุมตัวตามพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ถามว่า ใช้เพื่อเพื่อการรักษาความปลอดภัยของประชาชนตรงไหน



นางสาวภาวิณี กล่าวว่า ที่ประเทศฝรั่งเศสมีการใช้กฎหมายฉุกเฉินเช่นกัน ในสถานการณ์ที่กฎหมายปกติใช้ไม่ได้ แต่การขอขยายเวลาการใช้กฎหมายพิเศษ รัฐบาลต้องขอความเห็นจากรัฐสภาด้วย โดยต้องนำผลการปฏิบัติตามกฎหมายพิเศษมาแถลงต่อรัฐสภา และต้องชี้แจงด้วยว่ามีความจำเป็นอะไรที่ต้องขอขยายเวลาการใช้กฎหมายพิเศษ ซึ่งการขอความเห็นจากที่ประชุมสภานั้น จะทำให้ประชาชนทราบด้วย การขยายเวลามีความเหมาะสมหรือไม่ แต่ในประเทศไทยไม่มี เพราะการใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เป็นอำนานของนายกรัฐมนตรีคนเดียว แล้วแต่นายกรัฐมนตรีจะมอบหมายให้ใคร



พล.ต.ต.จำรูญ เด่นอุดม ประธานมูลนิธิวัฒนธรรมอิสลามภาคใต้ กล่าวในวงเสวนาว่า เหตุการณ์ไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้มีมาตั้งแต่อดีต ทุกครั้งที่เกิดเหตุการณ์ไม่สงบ รัฐบาลไม่เคยประกาศใช้กฎหมายพิเศษ แต่หลังจากนั้นเหตุการณ์ก็สงบลงไปเอง เช่น เหตุการณ์หะยีสุหลง เหตุการณ์ดูซงญอ เป็นต้น



พล.ต.ต.จำรูญ กล่าวว่า การยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ทำได้ 2 วิธี คือการสร้างกระแสให้การเมืองเห็นด้วยกับการยกเลิก และการใช้กระบวนการทางนิติบัญญัติ โดยการออกกฎมายยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน การล่ารายชื่อ 10,000 รายชื่อเพื่อขอแก้ไขกฎหมาย โดยการออกกฎหมายยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉินสามารถทำได้ แต่จะเริ่มเมื่อไหร่ ใครจะเป็นคนเริ่ม หรือมีคนเริ่มแล้วแต่ยังไม่มีผู้ตาม ซึ่งกลุ่มนักศึกษาเป็นแกนนำเริ่มเรื่องนี้ได้



นายสงวน อินทร์รักษ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านตาบา อำเอตากใบ จังหวัดนราธิวาส ในฐานะประธานอนุกรรมการเฉพาะกิจภาคใต้ ประจำจังหวัดนราธิวาส คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กล่าวในวงเสวนาว่า ตนมองในมุมของชาวพุทธและเป็นข้าราชการ มองว่า แม้มีการใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ประชาชนไม่ว่าพุทธหรือมุสลิม ก็ยังสามารถดำรงชีวิตได้ตามวิถีปกติ



นายสงวน กล่าวว่า การใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินของเจ้าหน้าที่รัฐมีส่วนทำให้เกิดผลกระทบกับคนที่ไม่ หวังดีต่อประเทศและต่อคน แต่คนที่ถูกควบคุมตัวตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินยังไม่ใช่คนผิด ยังไม่ใช่ผู้ต้องหา แต่สิ่งที่ตนได้เข้าไปดูสถานที่ควบคุมตัวทั้งในค่ายทหาร หรือที่ควบคุมอื่นๆ พบว่าบางคนไม่ทำผิด แต่ถูกเชิญตัวมาสอบสวน ซึ่งเจ้าหน้าที่ใช้หลายวิธีที่จะให้สารภาพ เช่น บังคับ ขู่เข็ญ มีการละเมิดสิทธิโดยการตบ ต่อย



นายสงวน กล่าวว่า มีคนหนึ่ง ถูกควบคุมตัวที่หน่วยเฉพาะที่ 32 อำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส ถูกเจ้าหน้าที่ทรมาน เอาผ้าพันแล้วทุบ ทำให้ไม่มีรอยแผล นอกจากนี้ยังมีการละเมิดด้วยคำพูด มีการดูถูก ดูแคลนคนในพื้นที่ ซึ่งนี่เป็นเงื่อนไขที่สร้างความเจ็บแค้นในคนในพื้นที่ ตนเคยบอกแม่ทัพภาคที่ 4 ว่าสิ่งเหล่านี้จะทำให้ปัญหาไม่จบ แม้เวลาผ่านไป เหตุการณ์สงบลงแล้วก็ตาม เพราะยังคาอยู่ในใจ



“การล่ารายชื่อเพื่อเสนอยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินสามารถทำได้ เพราะมีมวลชน แต่คนที่ไม่อยากให้ยกเลิก คือทหาร ส่วนนายกรัฐมนตรีไม่รู้เรื่องพ.ร.ก.ฉุกเฉิน จริงอยู่ว่า รัฐบาลคือการเมือง ต้องคุยกับการเมือง เราก็เอาการเมืองมาเป็นเครื่องมือคุยกับทหาร น่าจะได้ผลกว่า” นายสงวน กล่าวว่า



นายสงวน กล่าวว่า วันนี้มีครูเสียชีวิตเป็นรายที่ 149 จากเหตุระเบิด ถามว่า ครูที่โดนฆ่า เพราะอะไร ความจริงถ้าจะฆ่าครูวันหนึ่งเป็นร้อยคนก็ได้ ทำไมเขาต้องฆ่าทีละคน ถามว่าทำไมวันนี้ ต้องฆ่าประชาชน วันนี้ฆ่าครู วันนี้ระเบิดทหาร วันนี้ฆ่าพระ ต้องวิเคราะห์ให้ได้ คนไม่หวังดีต้องการอะไร



“ผมเชื่อว่า คนไม่หวังดีมี 10% อีก 90% เป็นคนที่ต้องการความสงบ เพราะคน 90% ต้องผลักดัน ต้องเสนอข้อเรียกร้องต่อรัฐให้ได้ หลายคนบอกผู้นำในรัฐว่า เจรจากันเถอะ เจรจากันเถอะ วันนี้ตำรวจและผู้นำบอกว่า ไม่รู้จะเจรจากับใคร ผมไม่เชื่อ วันนี้เห็นว่า มีการเลี้ยงไข้ปัญหาความไม่สงบ เพื่อรักษาผลประโยชน์ ถามว่างบประมาณเป็นแสนล้านที่ใช้ในการแก้ปัญหาจังหวัดแดนภาคใต้ ประชาชนได้อานิสงเท่าไหร่และงบส่วนนั้นไปไหนบ้าง



นางสาวพรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม กล่าวแสดงความเห็นว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉิน.มีข้อดี คือ ทำให้คนหายลดลง เพราะเจ้าหน้าที่สามารถคุมคนได้ 30 วัน เป็นการยืดเวลาการควบคุมตัวต่อจากกฎอัยการศึกได้ เพราะถ้าควบคุมตัวในเวลาสั้นๆ เพียง 7 วัน ตามกฎอัยการศึกอย่างเดียว ทำให้มีหลายคนหายตัวไป เพราะไม่มีกฎหมายให้อำนาจเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวต่อได้ ดังนั้นงานหนักคือ ถ้ายกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉินแล้วยังมีกฎอัยการศึกอยู่



ในช่วงบ่าย เครือข่าวประชาสังคมคัดค้าน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน 19 องค์กร ได้อ่านแถลงการณ์ ขอให้รัฐบาลยกเลิกการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ภายใน 30 วัน ตั้งแต่วันที่ 5 ตุลาคม 2554 ซึ่งจะครบกำหนดในอีกไม่กี่วัน หากรัฐบาลยังไม่แสดงท่าทีใดๆ ทางเครือข่ายจะยกระดับการเคลื่อนไหวต่อไปอย่างต่อเนื่อง จนกว่าจะได้รับคำตอบที่ชัดเจนจากรัฐบาล