เช้าวันพฤหัสที่ผ่านมา เมื่อถนนหน้าบ้าน (ถ.โรจนะ จ. พระนครศรีอยุธยา) กลายสภาพเป็นคลอง เกาะกลางถนนกลายสภาพเป็นน้ำตกขนาดเล็กที่พาน้ำไหลบ่าข้ามมาจากถนนอีกฟาก หนึ่ง แม้บ้านเราจะช่วยกันสุดแรงเพื่อกั้นน้ำไว้ แต่ก็ไม่วายกลายสภาพเป็นหนึ่งในผู้ประสบอุทกภัยในเย็นนั้นเอง
ความรู้สึกมันต่างกันมากทีเดียวระหว่างการเป็นคนนั่งดูข่าวน้ำท่วม กับการเป็นเหยื่อของน้ำท่วมเสียเอง ก่อนหน้านั้นในวันที่เป็นแค่คนนั่งดูข่าว เราเห็นใจคนที่เสียหายจากน้ำท่วม แต่เราไม่เห็นปัญหา แม้ในวันนี้จะยังไม่มีทางออก แต่ก็อยากบอกปัญหา เผื่อว่าใครอยากจะออกปัญญาแทนการบริจาคเงินหรือสิ่งของช่วยน้ำท่วม
แน่นอนว่า ถุงยังชีพหรือหน่วยกู้ภัยที่ช่วยคนออกจากพื้นที่ๆ ถูกตัดขาดเส้นทางเป็นความช่วยเหลือสำคัญอันขาดไม่ได้ แต่สิ่งที่ต้องการมากเช่นกันในภาวะเช่นนี้ คือ “ข้อมูล” ที่ (พอจะ) เชื่อถือได้ และ “ความรู้” อันเป็นประโยชน์ในภาวะน้ำท่วม ในระหว่างที่ต่อสู้อยู่กับน้ำ เราพบว่าข้อมูลส่วนใหญ่มาจาก “เค้า” เช่น “เค้าบอกว่าเขื่อนจะปล่อยน้ำอีก” “เค้าบอกว่าจะกั้นคันดิน” “เห็นเค้าบอกว่าพนังกั้นน้ำที่นั่นที่นี่พังแล้ว”ฯลฯ “เค้า” คือใครเราก็ไม่ค่อยแน่ใจนัก แต่ข้อมูลจาก “เค้า” ก็ไหลบ่ามาพร้อมกับน้ำจนเราเหนื่อยกับการรับข้อมูลของ “เค้า” พอๆ กับการย้ายของหนีน้ำ
สื่ออันส่งพลังที่น่าจะเป็นหนทางให้ได้รับข้อมูลได้บ้างก็คงจะเป็น โทรทัศน์ แต่เปิดโทรทัศน์ในวินาทีนี้แล้วยิ่งสะเทือนใจ บางทีสถานการณ์ตอนนี้มันคงเป็นภัยที่ยังพิบัติไม่พอที่สื่อโทรทัศน์สักช่อง จะหยุดเกมส์โชว์ หรือละคร แล้วหันมารายงานข่าวแบบให้ภาพรวมทั้งหมด เช่น นำเสนอแผนภาพเขื่อนทั้งหมดในประเทศ จำนวนน้ำที่จะปล่อย เวลาที่จะปล่อย แผนที่เส้นทางน้ำ หรือการให้ความรู้ เช่น โรคที่จะมากับน้ำ การดูแลสุขอนามัยของคนที่อยู่ในเขตน้ำท่วม วิธีการกำจัดขยะ หรือแม้แต่หน่วยงานอย่างเช่น ไฟฟ้าจะตัดไฟอย่างไรเมื่อน้ำท่วม หน่วยงานที่เก็บขยะมีแนวทางที่จะจัดการขยะอย่างไรในเขตน้ำท่วม หรืออย่างน้อยที่สุดช่วยบอกหน่อยได้ไหมว่าต้องการให้คนที่อยู่ในเขตน้ำท่วม จัดการกับขยะในบ้านของตัวเองอย่างไรถึงจะไม่เพิ่มปัญหาให้กับภาวะน้ำท่วมมาก ขึ้นไปอีก
คงจะมีแค่ช่วงรายงานข่าวเท่านั้นที่ทำให้ผู้คนได้รับรู้ถึงเหตุการณ์น้ำ ท่วม แต่การรายงานข่าวของโทรทัศน์ไม่ว่าจะช่องไหนก็มีไม่กี่มุมมอง คือ มุมมองที่เป็นความตื่นเต้นของภาพเด็ด เช่น “ท่านผู้ชมเห็นไหมครับ น้ำทะลักออกมาแล้วครับ” หรือมุมมองที่ให้ภาพที่น่าสงสารของชาวบ้านที่เดือดร้อน หรือความเดือดดาลของชาวบ้านที่ไม่สามารถอดทนกับทุกข์จากน้ำท่วมได้อีกแล้ว
มุมมองล่าสุดที่เห็นได้จากรายงานข่าว น่าจะเป็นภาพความเป็นฮีโร่ของนักข่าวที่เข้าไปช่วยคุณยายที่แช่น้ำมานานถึง 2 วัน นักข่าวท่านนั้นพาคุณยายขึ้นจากน้ำและพาไปพื้นที่ที่หน่วยงานของรัฐแจ้งว่า มีหน่วยพยาบาลอยู่ แต่เมื่อไปถึงจริงๆ กลับไม่มี นักข่าวท่านนั้นจึงยืนรายงานข่าวพร้อมกับฉายภาพคุณยายที่นอนแบบอยู่ในรถ ณ ที่นั้นด้วยน้ำเสียงที่ไม่พอใจนักที่คุณยายไม่ได้รักษาอย่างทันท่วงที โดยอาจจะลืมไปว่าทันทีที่พบว่าไม่มีหน่วยแพทย์อยู่ ก็ควรจะรีบออกรถและติดต่อหาสถานพยาบาลที่ใกล้ที่สุดที่จะรับคนป่วยได้ แทนที่จะหยุดรถแล้วยืนรายงานข่าว นี่ยังไม่รวมความเป็นฮีโร่ที่ว่าระหว่างอยู่ในรถมีการถ่ายทอดเสียงการ โทรศัพท์ติดต่อหาสถานพยาบาลโดยแจ้งด้วยน้ำเสียงเอาจริงเอาจังว่า “ไม่เอาโรงพยาบาลรัฐ ขอโรงพยาบาลเอกชน” โดยมิต้องสอบถามหรือคำนวณระยะทางว่าระหว่างโรงพยาบาลรัฐและเอกชนที่ไหนอยู่ ใกล้กว่ากัน แต่ประโยคที่น่าจะแสดงความเป็นฮีโร่ได้ดีที่สุดคงเป็นเรื่องค่าใช้จ่ายที่ นักข่าวท่านนั้นลั่นวาจาว่า “ผมออกเอง” ซึ่งหากนักข่าวท่านนั้นใช้เงินส่วนตัวออกค่ารักษาพยาบาลให้กับคุณยายแล้ว ก็ขออนุโมทนา เพราะนอกจากจะทำงานข่าวซึ่งต้องตรากตรำอย่างตื่นเต้นแล้ว ก็ยังต้องสละเงินเดือนจากน้ำพักน้ำแรงมาช่วยอีก
แน่นอนว่าการช่วยเหลือในภาวะฉุกเฉิน เช่น อาหาร น้ำดื่ม ถุงยังชีพก็เป็นความจำเป็นเร่งด่วน แต่ “ข้อมูล” และ “ความรู้” ก็เป็นความช่วยเหลือที่ขาดไม่ได้เช่นกัน การรายงานข่าวที่มุ่งสร้างภาวะสะเทือนอารมณ์อาจช่วยได้ในการกระตุ้นยอด บริจาค แต่คนไทยจะต้องบริจาคกันอีกเท่าไหร่ถึงจะพอ หากเพียงจะเพิ่มสัดส่วนของ “ข้อมูล” และ “ความรู้” น่าจะช่วยคนที่อยู่ในภาวะน้ำท่วมป้องกันตนเองได้ดีขึ้น และคนที่น้ำกำลังจะท่วมจะได้เตรียมรับสถานการณ์ได้ดีกว่านี้ ดีกว่าจะต้องรอรับความช่วยเหลือตามยถากรรมซึ่งคงต้องฝากไว้กับดวงว่านัก ข่าวจะมาเจอหรือไม่
เอ๊ะ หรือว่าเพราะคนไทยเราเป็นพวกวัตถุนิยม ดังนั้นสิ่งที่เราทำได้ดีก็คือการบริจาควัตถุสิ่งของหรือเงิน แต่ไม่สามารถให้ข้อมูลและความรู้ที่เป็นระบบได้?