ส่งเสริมคนดีให้ได้ปกครองบ้านเมือง

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

Thursday, 13 October 2011

เร่งซ่อม ปตร.บ้านพร้าว-ปทุมฯแตก ชะลอน้ำเข้ากรุง แจ้งปชช.เตรียมพร้อม

ที่มา ข่าวสด


เวลา 18.30 น. นายวิม รุ่งวัฒนจินดา โฆษกศปภ. แถลงว่า กรณีประตูระบายน้ำคลองบ้านพร้าว อ.สามโคก จ.ปทุมธานีแตก ศปภ.ได้ส่งกำลังทุกหน่วยลงไปช่วยกอบกู้ทำคันกั้นน้ำแล้ว แต่ได้รับรายงานว่าไม่สามารถกู้ได้ ทำให้สถานการณ์ขณะนี้มีน้ำท่วมในหลายพื้นที่ของจ.ปทุมธานีและเข้าท่วมในหลาย เขต จึงสมควรเตือนประชาชนในหลายพื้นที่ให้ขนของขึ้นที่สูงและเตรียมพร้อมอพยพภาย ใน 7 ชม. เนื่องจากจะมีน้ำท่วมสูง 1 เมตร

ด้านนายปลอดประสพ สุรัสวดี หัวหน้าศปภ. กล่าวว่า ขณะนี้ยังพอมีเวลาที่จะให้ประชาชนได้อพยพ ขอร้องว่าอย่าตกใจเพราะเจ้าหนาที่ทำทุกวิถีทางแล้ว แต่สุดความสามารถ ดังนั้นน้ำจะไหลเข้าตอนเหนือของกทม. ขอให้ประชาชนตั้งสติและเข้มแข็งเพื่อความอยู่รอดของทุกคน ดังนั้น พื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบคืออ.คลองหลวง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์รังสิต อ.เชียงรากน้อย เอไอที ลำลูกกา หมู่บ้านไวท์เฮ้าส์ สายไหม และตอนเหนือของถนนรังสิต-ปทุมธานี ดังนั้น หากใครมีบ้าน 2 ชั้นให้เก็บของขึ้นที่สูงและนำรถไปจอดในที่สูง ขอให้เดินทางออกจากบ้านทันที โดยสนามบินดอนเมืองเตรียมรองรับประชาชน ส่วนรถยนต์สามารถนำมาจอดที่รันเวย์สนามบินได้


เมื่อเวลา 19.30 น. พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก ผอ.ศปภ. แถลงกรณีปตร.บ้านพร้าว แตก และสั่งอพยพคน ว่า การแถลงดังกล่าวเป็นการเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ แต่ขณะนี้รับทราบว่าประตูระบายน้ำบ้านคลองพร้าวได้ซ่อมและสามารถรับ สถานการณ์ได้ ดังนั้น จึงไม่จำเป็นต้องตื่นตระหนก
ด้านนายปลอดประสพ กล่าวว่า ยืนยันว่ากทม. ชั้นในปลอดภัย 100 % แต่ที่ประกาศเตือนประชาชนย่านมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และพื้นที่ใกล้เคียง เพื่อให้พร้อมรับมือสถานการณ์ หากจะมีเหตุเลวร้ายสุดคงมีปริมาณน้ำไม่เกิน 1 เมตร และคงไม่เกินพื้นที่บริเวณเกาะเกร็ด จ.นนทบุรี ไม่ถึงขั้นนั้น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีที่แนวคันกั้นน้ำบริเวณถนนด้านข้างประตูระบายน้ำคลองบ้านพร้าวพัง เป็นแนวยาวกว่า 80 เมตร ล่าสุดในวันนี้เจ้าหน้าที่ในท้องที่และเจ้าหน้าที่จากหลายภาคส่วน กำลังใช้ความพยายามในการกั้นกระแสน้ำบริเวณจุดนี้อย่างเต็มกำลัง โดยมีวิศวกรร่วมวางแผนงานการสร้างคันกั้นด้วยแท่งเหล็กตอกเข็มลงไปเพื่อยึด แท่งเหล็กให้แน่นขึ้น ใช้แผ่นเหล็กขนาดใหญ่อัดรองกระแสน้ำอีกชั้นเพื่อชะลอความแรงของน้ำ ซึ่งต้องใช้วิธีการตอกระยะ 5 เมตร เพื่อวัดความแรงและวัดความแข็งแรงของพื้นที่ด้วย สามารถกู้ไปได้แล้วกว่า 50 เมตร ยังคงเหลือช่วงบริเวณรอยต่อจากประตูระบายน้ำคลองบ้านพร้าวที่มีความกว้าง ประมาณ 30 เมตร ที่เจ้าหน้าที่กำลังจะเร่งกู้เพื่อให้ปริมาณน้ำบริเวณช่องทางน้ำที่พังในจุด นี้ลดความแรงลง