เหล็กใน
สมิงสามผลัด
มีประชาชนกว่า 2 ล้านคนใน 28 จังหวัดได้รับผลกระทบ
มีผู้เสียชีวิตไปแล้วกว่า 250 ศพ
เป็นตัวเลขที่น่าสะพรึงกลัวทีเดียว
พื้นที่เกษตรเสียหายไปแล้วกว่า 8 ล้านไร่
พื้นที่อุตสาหกรรมได้รับผลกระทบเป็นวงกว้าง
ตัวเลขความสูญเสียทะลุเกินแสนล้านบาทไปแล้ว
แต่ ที่ต้องจับตาต่อไปอย่างใจระทึก เพราะว่าตอนนี้เขื่อนใหญ่ๆ ทั้งเขื่อนภูมิพล เขื่อนแควน้อย เขื่อนสิริกิติ์ และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ อยู่ในภาวะวิกฤต
ต้องเร่งระบายน้ำก่อนที่เขื่อนจะแตก ทำให้น้ำก้อนใหญ่ทะลักเข้าสู่พื้นที่ลุ่มต่ำใน 10 จังหวัดริมแม่น้ำ
โดยเฉพาะพระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี และนนทบุรี ถือเป็นปราการสุดท้ายก่อนถึงกรุงเทพฯ
ที่ว่าต้องจับตาให้ดี เพราะหากเกิดพายุลูกใหม่พาดผ่านเมืองไทยอีกในช่วงสัปดาห์นี้
ก็จะยิ่งเพิ่มปริมาณน้ำในเขื่อนยักษ์อีก
และที่ระทึกยิ่งกว่านั้นคือช่วง 13-15 ต.ค.นี้ จะมีน้ำทะเลหนุนสูง
ถือเป็นช่วงวิกฤตกรุงเทพฯจริงๆ ว่าจะน้ำท่วมหรือไม่
ความจริงการป้องกันกรุงเทพฯไม่ให้เกิดน้ำท่วมเป็นมาตรการสำคัญของทุกรัฐบาล
เพราะหากปล่อยให้น้ำท่วมกรุง เศรษฐกิจของชาติก็จะพังเสียหาย ย่อยยับในทันที
มีกระทบไปทุกด้านเหมือนโดมิโน และยากต่อการฟื้นตัวโดยเร็ว
ประเด็นมันอยู่ตรงนี้ ไม่ใช่ว่าคนกรุงเทพฯสำคัญกว่าคนต่างจังหวัด
และแน่นอนว่าเหตุน้ำท่วมรุนแรงครั้งนี้ ต้องยอมรับว่ามาจากความแปรปรวนของธรรมชาติ
การแก้ปัญหาจึงเป็นเรื่องเฉพาะหน้าเป็นหลัก
และต้องชมเชยการแก้ปัญหาน้ำท่วมของนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่แข็งขันจริงจัง
โดยเฉพาะการตั้งศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบภัย (ศปภ.) ถือเป็นการรวมศูนย์ ทำให้การแก้ปัญหาคล่องตัวและรวดเร็วยิ่งขึ้น
แต่นายกฯยิ่งลักษณ์ต้องไม่ลืมว่าการเยียวยาก็ต้องรวดเร็วและคล่องตัวเช่นกัน
การช่วยเหลือและการฟื้นฟูพื้นที่เสียหายต้องฉับพลันทันที
เพื่อผ่อนหนักเป็นเบา !!
แผนป้องกันระยะยาวก็จำเป็น
การพัฒนา 25 ลุ่มน้ำเป็นสิ่งที่ต้องทำให้เป็นรูปธรรม ต้องเริ่มลงมือได้แล้ว
อย่าปล่อยให้มีคนฉวยโอกาสจากวิกฤตนี้
ผลักดันสร้างเขื่อนยักษ์อีก !?