ส่งเสริมคนดีให้ได้ปกครองบ้านเมือง

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

Monday, 10 October 2011

วงเสวนา ′ปรีดี′ หนุน ′นิติราษฎร์′ ส่ง ′รัฐประหาร′ ให้ศาลชี้

ที่มา มติชน



(ที่มา หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับประจำวันที่ 10 ตุลาคม 2554)

หมาย เหตุ - วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ จัดเสวนาวิชาการในหัวข้อ "ปรีดี พนมยงค์ กับรัฐประหาร" ที่ห้องประชุมประกอบ หุตะสิงห์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ โดยมีนายโภคิน พลกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรีและอดีตประธานรัฐสภา นายพนัส ทัศนียานนท์ อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนายอนุสรณ์ ธรรมใจ กรรมการมูลนิธิและสถาบันปรีดี พนมยงค์ ร่วมอภิปราย

พนัส ทัศนียานนท์


อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

การ ตั้งคำถามถึงกรณีที่ว่าการเปลี่ยนแปลงระบบการปกครองในปี 2475 เป็นการทำรัฐประหารหรือไม่นั้น ผมคิดว่านักประวัติศาสตร์มักติดอยู่กับรูปแบบก็ว่าได้ เพราะหากมีการทำรัฐประหารนั่นเท่ากับมีการเข้ามายึดอำนาจ แล้วจึงออกกฎหมายนิรโทษกรรม โดยจะถือว่าผู้มีอำนาจมีความชอบธรรมในการบริหารบ้านเมืองต่อไป ก็กลายเป็นรัฏฐาธิปัตย์ ทั้งนี้ การรัฐประหารมีสองนัย นัยหนึ่ง เป็นการอภิวัฒน์เพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 เป็นการเปลี่ยนเพื่อไปสู่ระบอบที่ดีกว่าเดิม นัยที่สอง คือ การรัฐประหารโดยปฏิกิริยา มีลักษณะเป็นการใช้อำนาจละเมิดสิทธิเสรีภาพของคนไทยโดยสิ้นเชิง เริ่มต้นมาตั้งแต่วันที่ 8 พฤศจิกายน 2490 ดังนั้น การจะนำเอาเหตุการณ์ 2475 มาเทียบกับเหตุการณ์ 19 กันยายน 2549 ซึ่งเป็นการทำรัฐประหารที่มีลักษณะเป็นแบบการปฏิวัติ ต่อต้านระบอบประชาธิปไตยไม่ได้ทั้งสิ้น

การที่คณะนิติราษฎร์ประกาศ ให้ลบล้างผลพวงในการทำรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ต้องทำโดยการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ โดยให้ผลการลบล้างจะอยู่ในมาตรา 37 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2549 โดยมาตราดังกล่าวจะผูกโยงกับมาตรา 309 ของรัฐธรรมนูญปี 2550 ถ้าเทียบกับการประกาศสงครามโลกครั้งที่ 2 ของจอมพล ป. พิบูลสงคราม โดยภายหลังมีนายปรีดี พนมยงค์ ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีขณะนั้นก็ได้ประกาศให้สงครามโลกที่ไทยเข้าร่วมกับ ญี่ปุ่นให้เป็นโมฆะ ซึ่งถือว่าเป็นกรณีที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในโลก จึงควรนำมาเป็นกรณีศึกษา ดังนั้น หากเทียบกับสิ่งที่นายปรีดีทำ ผู้มีอำนาจในปัจจุบันจะต้องให้มีการแก้ไขหรือเปลี่ยนรัฐธรรมนูญ 2550 ที่ใช้บังคับ โดยรัฐบาลเองก็ได้เสนอเป็นนโยบายในการจะแก้รัฐธรรมนูญอยู่แล้ว

นอก จากนี้ คณะนิติราษฎร์ควรจะหาคดีในเรื่องเกี่ยวกับกรณีในวันที่ 19 กันยายน 2549 เพื่อส่งไปยังศาลเพื่อให้พิจารณา ซึ่งถ้าศาลพิจารณาแล้วมีการขัดรัฐธรรมนูญขึ้นมา ผลพวงของการประกาศของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) และรัฐธรรมนูญปี 2550 ก็จะต้องยุติ ส่งผลไปยังรัฐธรรมนูญปี 2540 ที่จะถูกนำกลับขึ้นมาใช้ทันที โดยส่วนตัวมองว่า สภาวะจิตใจของตุลาการจะมองว่าเป็นไปได้หรือไม่ว่าหากมีการฉีกรัฐธรรมนูญ ตุลาการก็ยังยืนว่าเป็นรัฏฐาธิปัตย์หรือไม่

หากยังไม่มีการเปลี่ยน แปลงอะไรเกิดขึ้นในซีกตุลาการ คณะรัฐประหารก็จะอ้างต่อว่า พวกเขาเป็นรัฏฐาธิปัตย์ เหมือนกับที่คณะนิติราษฎร์เสนอให้นำคนที่ทำรัฐประหารมาลงโทษ แต่ปัญหาอยู่ตรงที่ว่า หากสืบสวนออกมาแล้วปรากฏว่า คมช.ผิดจริง ถามว่าคนเหล่านี้จะยอมหรือไม่ เพราะโทษดังกล่าวมีโทษถึงการประหารชีวิต หากจะมีการแก้อย่างนี้ จะต้องไปแก้ในบริบทของสังคมไทย ที่จะต้องอภิวัฒน์กันต่อไป ถือเป็นการอภิวัฒน์มุมกลับให้กับทางฝ่ายตุลาการ

ทั้ง นี้ ยกตัวอย่างกรณีการลงประชามติของประชาชนที่ประเทศตุรกี โดยการทำรัฐประหารของคณะรัฐประหารเมื่อ 30 ปีก่อนว่า ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ การทำประชามติครั้งนั้นก็ระบุว่า การทำรัฐประหารไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ส่งผลให้คณะรัฐประหารที่เป็นนายพลหลายคนจะต้องถูกดำเนินคดี ซึ่งศาลจึงมีอำนาจชี้ว่ากฎหมายที่ออกมาจากฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติขัดต่อ รัฐธรรมนูญหรือไม่ เรื่องบางเรื่องถ้าศาลตัดสินมาว่าขัด มันก็จะเกิดผลทางคดีทันที จึงอยากให้คณะนิติราษฎร์มองว่าจะนำคดีใดขึ้นสู่ศาลได้บ้าง

โภคิน พลกุล

อดีตรองนายกรัฐมนตรีและอดีตประธานรัฐสภา

ผม ไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่ทางคณะรัฐประหารทำไว้ โดยออกประกาศและเขียนรัฐธรรมนูญขึ้นมารองรับในเรื่องของความผิด เช่น มาตรา 309 ที่ต้องมีการนิรโทษกรรม ในเรื่องของการกระทำที่เกิดขึ้นมาให้เป็นไปโดยชอบ เพราะมองถ้าการกระทำที่มาโดยชอบอย่างไรมันก็ชอบ และจะมาเขียนรัฐธรรมนูญเพื่อมารองรับตนเองทำไม หรือเพิ่งจะมาคิดได้สิ่งที่ทำไปนั้นเป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้อง จึงกลัวสิ่งเหล่านี้จะย้อนกลับเพราะโทษต่างๆ เป็นโทษที่รุนแรง ทั้งนี้ การทำรัฐประหารเป็นการลบล้างระบอบประชาธิปไตย อย่างไรก็ตาม โดยส่วนตัวสำหรับข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์ที่ให้ลบล้างผลพวงในการทำรัฐประหาร และให้ย้อนไปใช้รัฐธรรมนูญ 2475 นั้นเห็นว่ามันไกลเกินไป

ใน ปัจจุบันผมมองว่า ควรจะนำคดีที่เกิดขึ้นไปยกให้ศาล ซึ่งเห็นว่าควรจะเป็นศาลรัฐธรรมนูญ เนื่องจากเป็นการกระทำต่างๆ ในช่วงการทำรัฐประหารที่ผ่านมา และการกระทำต่างๆ ของคณะรัฐประหารขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ถ้าเกิดว่าศาลรัฐธรรมนูญชี้ว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญมันก็จะทำให้ผลพวงของการทำ รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ถูกลบล้างไป

ตอนนี้ผมมองว่าตุลาการจะ ต้องมีความกล้าในการพิจารณา จะต้องยืนยันอยู่ในสิ่งที่ถูกต้อง ซึ่งเชื่อว่าประชาชนจะอยู่เคียงข้างตุลาการที่มีความถูกต้อง นอกจากนี้ ข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์มันไกลไปนิดนึง จึงเป็นจุดที่ให้คนมาโจมตีได้ และส่วนตัวผมเองก็มองว่าถ้าการกระทำไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญสิ่งต่างๆ มันก็จบไปเอง ดังนั้น จึงอยากจะเรียกร้องให้ตุลาการออกมาแสดงความกล้าหาญไม่ใช่เฉพาะแค่ในส่วนของ ศาลรัฐธรรมนูญเท่านั้น แต่ต้องรวมไปถึงตุลาการศาลอื่นๆ จะต้องแสดงความกล้าหาญและความถูกต้อง เพราะวันนี้สังคมไทยต้องการเห็นสิ่งที่ถูกต้อง

อนุสรณ์ ธรรมใจ

กรรมการมูลนิธิและสถาบันปรีดี พนมยงค์

ส่วน ตัวผมมองว่าการรัฐประหารในปี 2475 กับเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เป็นการรัฐประหารที่ถือว่าเป็นการอภิวัฒน์ นอกเหนือจากนี้ถือว่าเป็นการปฏิวัติหรือรัฐประหารย่อมได้ทั้งนั้น เพราะเหตุการณ์เหล่านี้มันคือ การถอยหลังลงคลอง ดังนั้น เราจึงจะต้องป้องปรามเพื่อไม่ให้มีการรัฐประหารเกิดขึ้นอีก รวมทั้งจะต้องลบล้างผลพวงของ 19 กันยายน 2549 ในประเด็นที่ไม่เป็นประชาธิปไตย และก่อให้เกิดการทำลายหลักนิติธรรม ดังนั้น กรณีดังกล่าวจะต้องสามารถยกเลิกผลพวงจากการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ได้

ผม ขอสนับสนุนข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์ ในส่วนของการป้องปรามรัฐประหาร จะต้องมีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่แทนฉบับปี 2550 และให้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่บัญญัติไว้ด้วยว่าการกระทำการล้มล้างประชาธิปไตย หรือการรัฐประหารจะต้องมีบทลงโทษชัดเจน นอกจากการร่างรัฐธรรมใหม่แล้วจะต้องให้ระบบยุติธรรมของศาลไทยไม่ยอมรับการ รัฐประหารด้วย เพราะการรัฐประหารที่ผ่านมาเป็นการใช้รถถังและยังใช้อำนาจตุลาการสร้างความ ชอบธรรมให้คณะรัฐประหาร ซึ่งเป็นการทำโดยตรงและทางอ้อม

ประชาชน ต้องอย่ามองโลกในแง่ดีจนเกินไปว่าฝ่ายเผด็จการจะนิ่งนอนใจจนไม่ทำอะไร ซึ่งเราจะต้องลงไปดูในผู้นำเหล่าทัพคนใดที่มีจิตใจเป็นประชาธิปไตย ให้ขึ้นมามีบทบาทปกครองคนในกองทัพให้เกิดความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น และยอมรับการเป็นประชาธิปไตย อย่ามาตัดสินแทนประชาชนว่าประชาชนไม่ฉลาดพอที่เลือกผู้นำมาปกครองตนเอง ไม่เช่นนั้นคนเหล่านี้จะสร้างเงื่อนไขขึ้นมาเรื่อยๆ อย่างไรก็ตาม วิธีการป้องกันคือ 1.เราต้องสร้างระบบการเมืองที่เป็นประชาธิปไตยที่มีคุณภาพ 2.การแก้ไขความไม่เป็นธรรมทั้งหลายในช่วงหลัง 19 กันยายน 2549 และ 3.เราต้องการประเทศที่สงบสุขที่ไม่มีการเผชิญหน้า เพราะจะทำให้ประเทศไทยเสียโอกาส เนื่องจาก 5-10 ปีข้างหน้า ศูนย์กลางของโลกจะย้ายมาอยู่ในแถบเอเชีย อีกทั้งจะต้องช่วยกันการป้องปรามการทำรัฐประหาร เพราะมันเป็นอุปสรรคในการพัฒนาประเทศ