ส่งเสริมคนดีให้ได้ปกครองบ้านเมือง

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

Thursday, 27 October 2011

ย้อนดู แนวคิดเจาะถนน5สาย เร่งระบายน้ำฝั่งตะวันออกลงทะเล "ทีม กรุ๊ป"เสนอมาครึ่งเดือนแล้ว

ที่มา ข่าวสด


ชวลิต จันทรรัตน์



ภาพพื้นที่โดยรวม(ภาพถ่ายดาวเทียม)



ภาพบริเวณกทม.และปริมณฑล(ภาพถ่ายดาวเทียม)



(ขอบคุณภาพจาก ทีม กรุ๊ป)


รับชมข่าว VDO
เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 27 ต.ค. ที่ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย(ศปภ.) นายนินนาท ไชยธีรญิญโญ พร้อมด้วยกลุ่มวิศวกร และผู้เชี่ยวชาญโครงสร้าง ได้เข้าพบ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เพื่อเสนอแนวทางแก้ไขวิกฤตน้ำเหนือที่บ่าท่วมกทม. โดยใช้เวลาหารือกว่า 40 นาที โดยทางกลุ่มได้เสนอข้อมูลว่าปี 2554 ปริมาณมวลน้ำตลอดฤดูฝน 36,000 ล้านลบ.ม. ซึ่งมากกว่าทุกปีที่ผ่านมา ขณะที่ปี 2538 มีมวลน้ำ 25,000 ล้านลบ.ม.

ดังนั้นจึงต้องผันน้ำออกทางทุ่งตะวันออก และเร่งเจาะถนนให้เป็นทางน้ำผ่าน คือ ถนนประชาร่วมใจ ราษฎรอุทิศ สุวินทวงษ์ ร่วมพัฒนา นิมิตรใหม่ เป็นระยะทาง 5-6 กม. หลังจากนั้นให้ทำสะพานแบริ่งข้ามหากดำเนินการตามแนวทางนี้จะทำให้มีเวลา เตรียมการตั้งคันน้ำเพื่อป้องกันจุดสำคัญต่างๆได้ดีกว่าได้ดีกว่าระบายน้ำ เข้าพื้นที่กทม. ซึ่งไม่มีเวลาในการเตรียมการ

ทั้งนี้นายกฯ เห็นด้วยกับแนวทางดังกล่าว และได้สั่งการให้กทม. กรมทางหลวง กรมชลประทาน และกลุ่มวิศวกร ขึ้นเฮลิคอปเตอร์เพื่อดูเส้นทางน้ำ และความเป็นไปได้ในการดำเนินการแก้ไขปัญหา


เอาเข้าจริงแนวคิดและข้อเสนอ เจาะถนน5สาย เร่งระบายน้ำฝั่งตะวันออกลงทะเล ไม่ใช่เรื่องใหม่ ข้อเสนอนี้ถูกชงให้นายกฯ มากว่าครึ่งเดือนแล้ว แต่ถูกเก็บใส่ลิ้นชัก



ชวลิต จันทรรัตน์ วิศวกรแหล่งน้ำ กรรมการผู้จัดการ หน่วยธุรกิจแหล่งน้ำ จากกลุ่มบริษัท ทีม ซึ่งมีประสบการณ์ความชำนาญในด้านการบริหารจัดการน้ำมากกว่า 30 ปี ให้สัมภาษณ์กับ มติชนออนไลน์ ถึงข้อเสนอเจาะถนนระบายน้ำ ดังนี้



"การเร่งระบายน้ำจากพื้นที่ทางฝั่งตะวันตกเป็นไปได้ยากและเป็นไปได้ ไม่มากกว่านี้แล้ว ส่วนทางฝั่งตะวันออกน้ำที่เข้าท่วมแล้วนั้น มีความจำเป็นที่จะต้องใช้บริเวณพื้นที่สีแดงซึ่งเป็นแอ่งให้เป็นพื้นที่น้ำ ไหลผ่าน หรือ "flood way" เพื่อระบายน้ำลงสู่คลองด่านลงสู่ทะเล มิฉะนั้น น้ำจากพื้นที่ตอนบนจะเข้ามาอัดกันเพิ่มขึ้นโดยไม่มีทางออก ซึ่งตอนนี้คลองด่านก็พร้อมที่จะเอาน้ำลงสู่ทะเลอยู่แล้ว" นายชวลิตกล่าว


"ไม่อยากใช้คำว่าเสียสละ แต่ "ยินยอมให้เป็นทางน้ำผ่าน"


"เราต้องยอมรับกันว่านี่คือ flood way ที่จะให้น้ำผ่าน เราก็มาดูในรายละเอียดว่า พื้นที่ไหนมีความจำเป็นที่จะต้องเจาะทะลุ ต้องมาเลือกว่าพื้นที่ไหนหากมีการเจาะทะลุแล้วจะทำให้น้ำไหลผ่านได้ดี ถนนเส้นไหนที่จะต้องเอาไว้ ถนนไหนที่จะต้องยอมเจาะ ส่วนพื้นที่สีแดงนี้ต้องยอมรับว่าเป็นพื้นที่น้ำท่วมแน่ๆ"


ทั้งนี้ บริเวณพื้นที่สีแดงดังกล่าวเป็นพื้นที่เกษตรรวมทั้งมีหมู่บ้านจัดสรรตั้งอยู่จำนวนมาก


ขณะที่บริเวณพื้นที่สีเหลืองนั้นไม่ได้อยู่ในระดับที่สูงกว่ากัน เพียงแต่มีการป้องกันโดยพนังกั้นน้ำที่แข็งแรง


"ถามว่าทำไมบริเวณพื้นที่สีเหลือง (พื้นที่กรุงเทพชั้นใน) นี่เราถึงป้องกันแข็งแรงจังเลย คือบางทีเราต้องตัดนิ้วบางนิ้วเพื่อรักษาหัวใจไว้" นายชวลิตกล่าว


ในส่วนของพื้นที่สีแดง หากอพยพผู้คนได้เร็วก็จะแก้ไขได้เร็ว ระบายน้ำได้เร็ว ถ้ายังรีรอกันอยู่ก็จะเสียเวลาไปเรื่อยๆ เพราะน้ำที่ยังอยู่ในตอนบนก็จะขยับลงมาเรื่อยๆและดันพนังกั้นน้ำที่ไม่แข็ง แรงให้พังลง





นายชวลิตกล่าวว่า หากเปิดทางระบายน้ำได้หมดก็เร่งให้น้ำลดลงเร็วขึ้นได้ภายใน 1 เดือน แต่ถ้าไม่เร่งจัดการบางพื้นที่อาจต้องแช่น้ำนาน 2 เดือน


"กรณีที่เบาที่สุดสำหรับสถานการณ์ตอนนี้ก็คือ ที่ไหนท่วมก็ขอให้ยอมรับ เฉลี่ยทุกข์สุขกัน แต่ผู้ที่ให้ความยินยอมให้น้ำผ่าน เขาก็ต้องได้รับการชดเชยความเสี่ยงตามสภาพความเป็นจริงและเป็นธรรม และต้องเร่งระบายเพื่อลดเวลาและความเสี่ยงของพื้นที่สีส้มลง คือถ้าระบายน้ำได้คล่อง นนทบุรี ปทุมธานีก็จะยังอยู่ แถวรังสิตก็ยังอยู่"


ทางที่ดีที่สุดคือการเจาะทะลุให้น้ำลงสู่ทะเลโดยเร็ว เพื่อไม่ให้คันกั้นน้ำพังลงมาอีก



แต่ถ้าไม่จัดการอะไรเลย ไม่เจาะถนนเพื่อเร่งการระบายน้ำ เมื่อพนังกั้นน้ำรั่วก็ใช้วิธีซ่อมเอา บริเวณพื้นที่สีส้มก็จะเสี่ยงต่อการที่พนังกั้นน้ำพัง



"น้ำจะขึ้นสูงของสูงสุดอีกครั้งในวันที่ 31 ต.ค. ซึ่งเป็นช่วงที่น่าเป็นห่วงที่สุด โดยระดับสูงสุดของน้ำจะมีความสูงประมาณ 2.40 เมตร ในขณะที่พนังกั้นน้ำของกทม.สูง 2.50 เมตร แต่สภาพจริงเมื่อน้ำทะเลหนุนขึ้น น้ำปะทะกันมันมีจังหวะหนึ่งน้ำยกตัว หรือน้ำกระเพื่อม ทำให้เกิดคลื่นเป็นช่วงๆ ซึ่งอาจทำให้มีคลื่นสูงขึ้นได้อีก 30 ซม. โดยจะเกิดในช่วงเวลาประมาณ 1-2 ชม. แต่ไม่เกิน 3 ชม. ซึ่งในช่วงนี้อาจทำให้น้ำล้นระดับคันกั้นน้ำของกทม. แต่อย่าตกใจเพราะจะเกิดไม่เยอะนัก เพราะฉะนั้นคนที่อยู่ใกล้คันกั้นน้ำของกทม. ควรเพิ่มความระมัดระวัง"


นี่คือ ข้อเสนอเจาะถนนระบายน้ำ ฝั่งตะวันออก ที่ถูกเสนอมานานแล้ว แต่ไม่มีการตัดสินใจ

จนมาวันนี้ รัฐบาลไม่อาจปฎิเสธ แนวทางดังกล่าว อีกต่อไป .