ส่งเสริมคนดีให้ได้ปกครองบ้านเมือง

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

Wednesday, 12 October 2011

ใบหน้า ‘พฤษภา 53’ : (2) เห็นเขาไหม? ในกองเพลิงเซ็นทรัลเวิร์ล ตอน 2

ที่มา ประชาไท

ชื่อเรื่องเดิม: เรื่องของอาร์ต
โดย เพียงคำ ประดับความ

หมายเหตุ:

สารคดีชุดนี้เป็นร่างแรกของ หนังสือ "วีรชน 19 พฤษภา: คนที่ตายมีใบหน้า คนที่ถูกฆ่ามีชีวิต" ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการรวบรวมและจัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์อ่าน โดยจะสัมภาษณ์ครอบครัวผู้เสียชีิวิตเพื่ิอรวบรวมเรื่ิิองราวที่สะท้อนถึงตัว ตนของประชาชนผู้เสียชีวิตทั้งหมดในเหตุการณ์สลายการชุมนุมวันที่ 14-19 พฤษภาคม 2553 ทั้งนี้ได้รับการสนับสนุนข้อมูลเบื้องต้นเป็นอย่างดียิ่งจากคุณพเยาว์ อัคฮาด และประชาไท และยังยินดีเปิดรับข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อติดต่อสัมภาษณ์ครอบครัวของผู้เสีย ชีวิตให้ครบเท่าที่จะเป็นไปได้ หากท่านใดมีข้อแนะนำ สามารถติดต่อได้ที่ readjournal@gmail.com


ความเดิมตอนที่แล้ว

6

วันรุ่งขึ้นเราเดินทางกลับไปที่บ้านหนองค้างไฟอีกครั้ง เพื่อพบกับ นางประภาพร สมสุข หรือ “ไน้” แม่ของอาร์ต

หญิงกลางคนผิวขาว รูปร่างท้วม รีบเดินออกมาทักทาย เธอใส่เสื้อยืดสีแดง ด้านหน้าสกรีนตัวหนังสือเป็นรอยนูนว่า “ไอ้ที่ตายคือรากหญ้า ไอ้ที่ฆ่าคือ...” บอกความเข้มข้นของสีเสื้อ

เธอชวนเรานั่งตรงที่นั่งเมื่อวาน แล้วเรื่องของอาร์ตก็ถูกเล่าผ่านมุมมองของคนเป็นแม่อีกครั้ง

“น้องอาร์ตเข้าไปชุมนุมไม่ถึงสามเดือนนะ เขาก็เสียชีวิต” นางไน้เริ่มต้นเล่า

ในการรับรู้ของแม่ คืออาร์ตเข้าไปร่วมชุมนุมหลังเพื่อนในหมู่บ้านไปแล้วกลับมาเล่าให้ฟัง จึงลองไปบ้าง จากนั้นก็ไปจนไม่ยอมหันหลังกลับมาอีกเลย

“เด็กวัยุร่นสมัยนี้เขาฉลาดนะ ขนาดพ่อแม่ยังไม่รู้เรื่องเลยว่าเสื้อแดงคืออะไร นปช.คืออะไร เราทำงานงกๆ อยู่กรุงเทพฯ ไม่ค่อยได้ดูทีวี พอน้องอาร์ตไป เขาก็กลับมาเล่าให้ฟัง แม่...ที่เขาไปกันน่ะ แม่รู้มั้ยว่าไปเพื่ออะไร เขาไปทำไมล่ะอาร์ต แม่ก็ถาม เขาไปเรียกร้องประชาธิปไตย เขาไปเรียกร้องความถูกต้อง รัฐบาลนี้ทำไม่ถูก แม่ไปนะ คนเยอะแยะ มีแต่รุ่นแม่เลย สนุก แม่ก็เป็นคนชอบสนุกเหมือนน้องอาร์ตแหละ พอลูกบอกแม่ก็อยากไป แต่ไปไม่ได้ งานมันเยอะ เราต้องรับผิดชอบหลายอย่าง ก็ได้แต่บอก ระวังตัวหน่อยนะลูกถ้าไป วัยรุ่นมันใจร้อนไง แต่น้องอาร์ตพูดจริงๆ เขาก็ไม่ค่อยเป็นคนใจร้อนเท่าไหร่ เขาเป็นคนใจเย็น แต่เป็นเด็กที่รักสนุก ชอบสนุกสนานตามประสาเขา แม่ก็เข้าใจ”

นางไน้ว่าลักษณะเด่นของลูกชายคนนี้คือเป็นคนพูดเก่ง พูดเพราะ สุภาพ และชอบเรียนรู้ เคยไปเป็นดีเจจัดรายการวิทยุด้วย ตอนเรียน ม.3 เป็นกิจกรรมหารายได้พิเศษหลังเลิกเรียน แต่ทำได้ไม่นานก็หยุด เพราะแม่อยากให้ตั้งใจเรียน อาร์ตเป็นคนเรียนเก่ง เคยสอบได้ทุนของทักษิณถึงสองครั้ง ครั้งละห้าหกพันบาท

“แต่น้องอาร์ตเรียนไม่ทันจบหรอก ตอนนั้นแม่ลำบาก ลุงเขาป่วยหนัก เป็นเบาหวานโดนตัดขา แม่ต้องไปเฝ้าลุงที่โรงพยาบาลนานหลายเดือน เป็นครึ่งปี ทีนี้งานมันเยอะ พ่อเขาทำอยู่กับน้องเขาสองคนก็ไม่ไหว น้องอาร์ตเขาเห็นความลำบากของพ่อแม่ เลยมาบอกแม่ว่าอยากไปทำงานช่วยพ่อ แม่ก็ว่าไม่เป็นไร เดี๋ยวค่อยมาเรียนต่อก็ได้”

“เขาเป็นคนใฝ่หาความรู้นะ เป็นเด็กดี ไม่ยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด เป็นคนที่พึ่งได้เลยแหละ ช่วยพ่อแม่ได้สูงเลย เด็กสิบเก้าปีในบ้านนี้ไม่มีใครรู้จักทำนาหรอก แต่น้องอาร์ตทำได้ทุกอย่าง น้องชายเขายังไม่รู้เลยว่านาตัวเองอยู่ตรงไหน แต่น้องอาร์ตรู้หมด เพราะไปทำกับพ่อแม่ตลอดตั้งแต่เล็กจนโต เขาเป็นเด็กที่ร่าเริงแจ่มใส หน้าตาดีด้วย อัธยาศัยดี ตอนทำงานที่กรุงเทพฯ ไปสมัครงานในห้าง ไปกับเพื่อนหลายคน เพื่อนเขาไม่ผ่าน แต่น้องอาร์ตผ่านหมด แต่เขาจะทำงานที่ไหนไม่นาน เพราะชอบหาประสบการณ์ สามเดือนออก เอาเพื่อนเข้า ตัวเองก็ออกไปเรื่อยๆ แล้วตอนหลังพ่อกับแม่งานเยอะ ก็เลยให้เขามาช่วยตัดรองเท้า น้องอาร์ตเขาก็เป็นช่างแล้ว ทำได้หมด ทั้งรองเท้าหนัง รองเท้าแตะ ส่วนใหญ่จะทำรองเท้าที่พวกข้าราชการใส่กันน่ะ เวลาเขาจะออกไปชุมนุม แม่ก็ให้น้องชายเขามาช่วย ปล่อยให้น้องอาร์ตไป”

การชุมนุมครั้งนั้นกินเวลายาวนาน ระยะแรกอาร์ตยังไปๆ กลับๆ เมื่อออกจากที่ชุมนุม เขาแวะไปหาพ่อแม่ที่โรงงานบ้าง กลับบ้านที่ราษีไศลบ้าง ดูเหมือนระหว่างนั้นเป็นช่วงเวลาที่พ่อแม่ลูกได้สนทนากันเรื่องการเมือง ทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจ

“พ่อแม่โทรหาเขาตลอด ก็ถามเขาอยู่ว่าไปแล้วกินยังไงอยู่ยังไง เขาก็บอกคนเสื้อแดงเขารักกันแม่ มีอะไรเขาก็แบ่งกันกิน เรื่องอาหารการกินมีเยอะแยะ มีคนเอามาให้ เขาจะบอกแม่อย่างนี้ แม่ก็ เออ หายห่วง

“ตอนแรกก็รู้แค่ว่าเขาไปชุมนุม แต่พอพักหลังมา มีเพื่อนเขามาบอกว่าน้องอาร์ตเป็นการ์ดด้วย แม่ยังถามอยู่ว่า น้องอาร์ต...การ์ดนี่มีกี่คน เขาก็ว่าคนในบ้านเรา วัยรุ่นเขาให้เป็นการ์ดหมด การ์ดนี้หมายถึงอะไร แม่ก็ไม่เข้าใจ การ์ดก็คือคนที่อยู่ข้างหน้าเสื้อแดง ใส่ชุดดำป้องกันภัยเวลามีเหตุอะไรเกิดขึ้น แม่ก็ว่า งั้นถ้าเกิดอะไรขึ้นก็ตายก่อนสิ แม่ยังเคยพูดเล่นกับเขาอยู่นะว่า ถ้าเกิดอะไรขึ้นพวกมึงตายก่อน พวกมึงอยู่ข้างหน้า น้องอาร์ตยังบอกแม่อยู่ว่า แม่...ถ้าตายแล้วบ้านเมืองมันเจริญมันก็น่าตายเนาะ แม่ก็ไม่นึกว่ามันจะมีอย่างงี้เกิดขึ้นจริงๆ”

เส้นทางการต่อสู้ของเด็กหนุ่มจากอำเภอราษีไศล เริ่มเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะหลังเหตุการณ์สลายการชุมนุมที่ผ่านฟ้า-ราชดำเนิน -- 10 เมษายน

“ตอนสิบเมษา น้องอาร์ตยังเล่นสงกรานต์อยู่ที่บ้านนี้นะ เขาไม่ได้ไป คนในบ้านนี้กลับมาหมด คือมันจะไปเป็นชุดๆ เป็นหมู่บ้าน ช่วงนั้นบ้านหว้านไม่ได้ไป เขาก็อยู่สังสรรค์งานวันสงกรานต์กัน แต่หลังจากที่เพื่อนของพวกเขาโดนยิงตายตอนสิบเมษา พวกเขาจะไปกันแบบไม่กลับมาเลย ไปกันแบบไม่ห่วงบ้านห่วงอะไรอีกเลย”

7

เมื่อลูกเข้าไปกินนอนฝังตัวอยู่ในที่ชุมนุมแบบไม่ยอมกลับออกมาอีก หัวอกพ่อแม่ที่คอยฟังข่าวอยู่ข้างนอก มีแต่ความกระวนกระวายใจ คุยกันเมื่อวาน พ่อของอาร์ตไม่ได้เล่าว่าเขาเคยเข้าไปอยู่ในเหตุการณ์สลายการชุมนุมเมื่อ เกือบยี่สิบปีก่อน ที่สนามหลวง นั่นยิ่งทำให้เขากังวลมากเป็นทวีคูณ นางไน้เล่าว่า

“พ่อเขาเคยเป็นทหารเกณฑ์ ตอนนั้นที่มันเกิดเรื่องที่สนามหลวง น้องอาร์ตเกิดแล้วล่ะ แต่ยังเพิ่งขวบกว่า พ่อเขาต้องไปปฏิบัติหน้าที่ที่นั่นด้วย แต่เขาไม่ได้ยิงใครหรอก เขาบอกว่ามันอันตรายนะ เรียกลูกออกมาเลย เขากลัวมันจะเป็นเหมือนตอนนั้น เราก็โทรบอกลูกให้ออกมา น้องอาร์ตก็บอก แม่...ไม่ต้องห่วงผมหรอก เพื่อนผมเยอะ คนบ้านเราก็มี คนแก่ก็มีเยอะ เขาคงไม่กล้ายิงหรอก ไม่ต้องกลัวหรอก คือเขาจะสู้ แม่รอก่อนนะ ใกล้จะชนะแล้ว ใกล้จะยุบสภาแล้ว ถ้ายุบแล้วนายกทักษิณเข้ามา พวกผมทำงานก็ได้เงินเดือนดีๆ ทำงานดีๆ แม่ก็ไม่ต้องลำบาก เออเนาะ เมื่อก่อนตอนนายกทักษิณอยู่พวกเราสบาย เศรษฐกิจดี งานก็ดี เงินก็ดี หนี้ก็ไม่มี เด็กก็เรียนดี ยาเสพติดก็ไม่มี อะไรก็ไม่ต้องเป็นห่วง พอสองปีนี้เห็นมั้ย ไม่วรู้อะไรต่ออะไร ยาม้าก็ระบาดไปทั่วบ้านทั่วเมือง พี่ไม่เคยรู้จักว่ายาม้าเป็นยังไงยังรู้เลย

เมื่อบอกเตือนแล้วลูกชายไม่ฟัง สองสามีภรรยาจึงทำได้เพียงเฝ้าคอยฟังข่าวจากคลื่นวิทยุของคนเสื้อแดงอยู่ที่โรงงานรองเท้า

ช่วงนั้นสถานการณ์เริ่มไม่สู้ดี มีการปะทะกันที่นั่นที่นี่เกิดขึ้นเป็นระยะ

“แม่ก็ฟังอยู่ คอยเชียร์เขาอยู่ ตอนนั้นวิทยุบอกว่าตอนนี้ทหารอยู่จุดนั้นจุดนี้ แต่ข่าวก็ออกว่าคนอีสานเข้าไปเยอะ ไปช่วยจุดนั้นจุดนี้ แม่ก็คิดว่าคนเข้าไปช่วยเยอะ คงไม่เป็นไรหรอกมั้ง ลูกเราคงไม่เป็นไรหรอก”

หลังเสธ.แดง ถูกซุ่มยิง ปฏิบัติการกระชับพื้นที่ก็เดินหน้าเข้าสู่ความรุนแรงเต็มพิกัด มีการปะทะกันหนักในหลายจุด

“พอเสธ.แดงโดนยิง พ่อกับแม่โทรไป น้องอาร์ตบอก แม่ๆ ตอนนี้อย่าเพิ่งโทรมานะ ผมกำลังหาที่กำบังอยู่ แม่ก็เลยพยายามไม่โทร ก็บอกเขาว่าเอาตัวให้รอดนะลูก ระวังดีๆ ดูซ่อนให้ดีๆ เขาก็บอกไม่เป็นไรหรอกแม่ ไม่ต้องเป็นห่วง เราก็ดีใจว่าลูกเราไม่เป็นไรเนาะ แต่พอหลังจากนั้นน้องอาร์ตไม่โทรออกมา แม่ก็ติดต่อไม่ได้ หายไปสามวัน แม่ก็ใจหาย ทำไมน้องอาร์ตไม่โทรมานะ ก็บอกกับพ่อเขาว่าติดต่อไปหาหัวหน้าเขาหน่อย พอติดต่อไป หัวหน้าเขาก็บอกว่า ไม่เห็นนะ พ่อเขาโทรไปบ้านที่ราษีฯ น้องอาร์ตก็ไม่ได้กลับไป ตอนนั้นพี่รู้สึกว่าพี่ขวัญหายแล้ว ทำงานไม่เป็นที่แล้วล่ะ ไม่อยากทำแล้วงาน ข้าวก็ไม่อยากกิน พ่อเขาก็เหมือนกัน ก็คุยกันกับพ่อเขา ว่าจะออกไปตามลูก แต่โทรหาญาติพี่น้องที่อยู่ใกล้ๆ แถวคลองเตยแถวอะไร เขาบอกออกไปแล้วทหารมันยิงปืนใส่ อย่าออกมา พี่ก็เลยได้แต่ภาวนาว่า ขอให้ลูกเราอย่าเป็นอะไรเลย หลายวันโทรหาใครก็ไม่มีใครเห็น ถ้าลูกตายก็คงจะเน่าแล้วล่ะ พี่ก็พยายามทำใจ โทรถามเพื่อนๆ ที่ไปด้วย เขากลับออกมากันหมดแล้ว เขาว่าเขาก็ชวนน้องอาร์ตออกมา แต่น้องอาร์ตบอกว่าเขาไม่กลัวตายหรอก ใครกลัวก็กลับก่อน เขายังไม่กลับ ฝากบอกพ่อกับแม่ด้วยว่าไม่ต้องเป็นห่วง แม่ก็พูดกับพ่อเขาว่าทำยังไงดีล่ะๆ ถึงจะเอาลูกออกมาได้ จนพ่อเขาบอก แล้วแต่มันจะเกิด อะไรจะเกิดมันก็ต้องเกิด”

ไม่เพียงบอกให้พี่ป้าน้าอาในหมู่บ้านกลับมาก่อน แต่อาร์ตยังเอาพระเครื่องของหลวงปู่ที่ครอบครัวนับถือ ซึ่งพ่อกับแม่ให้ไว้ติดตัวไว้ และอาร์ตเคยเอาไปด้วยทุกครั้ง ฝากป้าคนหนึ่งกลับมาคืนพ่อกับแม่ด้วย เมื่อรออยู่หลายวันยังติดต่อลูกชายไม่ได้ นางไน้ตัดสินใจประกาศหาลูกชายผ่านวิทยุชุมชนคนเสื้อแดงที่ฟังอยู่

“พี่จดเบอร์โทรคลื่นวิทยุ แล้วโทรเข้าไปถามหาน้องกิติพงษ์ สมสุข ชื่อเล่นอาร์ต ถ้าเขายังมีชีวิตอยู่ หรือเขาอยู่ตรงนั้น ให้โทรกลับหาแม่หน่อย แม่เป็นห่วง ที่เวทีเขาก็ประกาศจริงๆ นะ สดๆ เลย ประกาศตั้งสามครั้งแน่ะ หลังจากนั้นสักพักหนึ่ง น้องอาร์ตก็โทรกลับมา บอก...แม่ ตอนนี้ผมปลอดภัย แม่ก็ถามว่าอยู่กับใคร เขาบอกอยู่กับการ์ดแหลมฉบัง การ์ดพระองค์ดำ เป็นคนบ้านอื่น แต่เขาก็ดี เราก็บอกให้ลูกออกมา น้องอาร์ตบอกตอนนี้มันออกไม่ได้ เขาตรวจบัตรประชาชน ถ้ารู้ว่าเราเป็นเสื้อแดงเขาจะฆ่าทิ้ง แม่ก็เลย เออ งั้นไม่ต้องออกมาหรอก อยู่ในนั้นแหละ หลบให้ดีๆ ระวังตัวเองด้วย แม่ก็บอกเขา แต่เขาก็โทรหาพ่อแม่ตลอดนะ ตั้งแต่วันนั้น แม่ก็ดีใจ เออ ทำงานอย่างปกติ”

แต่หายใจทั่วท้องได้เพียงไม่กี่วัน ก็ต้องมานั่งขวัญหายกันหนักกว่าเก่า เมื่อสถานการณ์ดำเนินไปถึงจุดแตกหัก

“ช่วงนั้นพี่ไม่เป็นอันทำงานหรอก นั่งอยู่อย่างนั้นแหละ ไม่มีความสามารถที่จะเข้าไปช่วยลูก อยากเข้าไป แต่มันเข้าไปไม่ได้ พอวันที่สิบเก้า มันรุนแรงมาก วันนั้นมีเรื่องอะไรต่ออะไร ไฟก็ดับ โทรศัพท์ก็ตัด อะไรก็ตัดทุกอย่าง เขาประกาสเคอร์ฟิวใช่มั้ย ติดต่อใครก็ไม่ได้ ตายแล้ว พูดกับพ่อเขา ทำไงๆ ลูกทั้งคนนะ เถ้าแก่ที่โรงงานก็บอกว่า ไปตามมั้ย ผมจะพาไป เถ้าแก่เขาก็รักอาร์ต พี่ก็อยากไป แต่พอโทรออกมาหาใครเขาก็บอกอย่าเข้าไปเลย ทหารมันเยอะ มันยิงจริงๆ นะ ถ้าเข้าไปบริเวณนั้นมันยิงหมด พี่ก็เลยทำอะไรไม่ได้ ได้แต่ขอให้ลูกเราปลอดภัย”

วันนั้นหลังแกนนำเสื้อแดงเดินทางไปมอบตัวที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติในช่วง บ่าย สลายเวทีแล้ว พ่อแม่ของอาร์ตโทรติดต่อหัวหน้าการ์ดของลูกชายได้

“เขาบอกตอนนี้เขาอยู่ในวัดแล้ว พี่ก็ถาม แล้วอาร์ตล่ะ เขาบอก อาร์ตยังไม่เห็นนะ แต่หลังจากนั้นประมาณยี่สิบนาทีหรือครึ่งชั่วโมง น้องอาร์ตก็โทรมา บอกว่า แม่ๆ ผมปลอดภัยแล้วนะ ตอนนั้นเขาก็พูดปกติ ไม่ได้มีท่าทางตื่นเต้นหรือกลัวอะไรเลย เขาบอกว่าแม่...ตอนนี้ผมอยู่ในวัดเรียบร้อยแล้ว อยู่กับลูกพี่ เดี๋ยวผมจะออกไปหาแม่นะ พี่ก็บอกว่าอย่าเพิ่ง ให้รอก่อน รอให้ตำรวจกาชาด หรือ ส.ส.พรรคเพื่อไทยออกไปรับก่อนแล้วค่อยออกมา เสื้อผ้าสีดำหรือบัตรการ์ด บัตร นปช.โยนทิ้งให้หมด เขาก็บอกว่า แม่...ทิ้งหมดแล้ว ตานี้จะเข้าไปอาบน้ำเปลี่ยนเสื้อผ้าใหม่ เขาจะใส่ชุดใหม่ ไม่ใส่ชุดดำไม่ใส่ชุดการ์ดแล้ว แม่ก็ว่าเออ อยู่ในวัดแล้ว ปลอดภัยแล้ว ก็เออ ไม่ต้องเป็นห่วง เราก็สบายใจ”

หลังจากนั้นญาติที่บ้านราษีไศลโทรมาถามข่าวอาร์ตกันให้วุ่น นางไน้จึงโทรหาลูกชายอีกครั้ง

“พอโทรไปอีก หัวหน้าเขาบอกว่าน้องอาร์ตอาบน้ำแต่งตัวอยู่ แม่ก็ว่า ช่วยบอกให้น้องอาร์ตโทรไปหายายหน่อย โทรไปหาป้าหน่อย เขาเป็นห่วง ทุกคนเป็นห่วงหมดใช่มั้ย หลังจากนั้นซักประมาณไม่ถึงยี่สิบนาที พ่อเขาโทรไปหาอีก จะถามว่าตอนนี้อยู่ยังไง เป็นยังไงบ้าง คราวนี้หัวหน้าเขาบอก ตอนนี้น้องอาร์ตไม่อยู่นะ ไปไหนไม่รู้ อ้าว แม่เริ่มใจหายอีกแล้ว ก็บอกให้เขาช่วยตามหาให้หน่อย ลูกพี่เขาก็ไปตามหา ไปดูในห้องน้ำก็ไม่เจอ เห็นเขาว่าน้องอาร์ตบอกจะออกไปซื้ออะไรกินกัน มีเพื่อนมาชวน แม่ก็บอก อ้าว จะไปหาอะไรกินได้ไง ตอนนี้มันยังไม่สงบเลย มีทหารอยู่ตรงนั้นรึเปล่าก็ไม่รู้ แม่ก็บอกลูกพี่เขาให้ออกไปตาม เขาบอก พี่...ผมไม่กล้าออกไปหรอก พี่เลยบอก งั้นถ้าน้องกลับมา บอกให้โทรหาพี่ด้วยนะ เขาก็ว่าครับๆๆ พอสักพักหนึ่งพ่อเขาโทรไปอีก พี่...ยังไม่กลับมาเลย เอาแล้ว พี่อยู่ไม่ได้แล้ว ตอนนั้นพี่รู้สึกอยู่ไม่ติดบ้านแล้ว เอาไงล่ะ ก็ไปบอกเถ้าแก่ เถ้าแก่...ตอนนี้อาร์ตมันออกมาจากวัดแล้ว ไม่รู้มันออกไปไหน ลูกพี่มันตามหาไม่เจอ อ้าว เกิดเรื่องแล้วมั้ยอาร์ตเอ้ย เถ้าแก่ว่า อันตรายแล้วอย่างงี้ ไม่ได้แล้วนะ เอาไงกันเล่า ก็โทรหาลูกพี่เขาอีก เขาก็บอกว่า ตอนนี้อาร์ตยังไม่กลับมาเลย เขาออกจากวัดไปประมาณห้าโมงเย็น ตอนนั้นเซ็นทรัลเวิลด์ถูกเผาแล้ว แต่มันยังไม่ไหม้เท่าไหร่ เราฟังข่าวอยู่ มันกำลังไหม้ชั้นล่าง ยังไม่ได้ขึ้นไปข้างบน”

“หลังจากนั้นประมาณสามสิบนาที เพื่อนของอาร์ตที่บ้านอยู่ข้างวัด (บ้านหว้าน) โทรมาบอกว่าน้องอาร์ตโทรหาเขา คงไม่กล้าโทรมาหาแม่ กลัวเราจะว่า กลัวว่าแม่จะตกใจ เขาโทรไปบอกเพื่อนว่า พี่กลอย...ตอนนี้ผมติดอยู่ในห้างเซ็นทรัลเวิลด์นะ บอกคนมาช่วยผมหน่อย ผมหายใจไม่ออก ซักพักหนึ่งโทรศัพท์ก็ตัด คงจะหายใจไม่ออก วันนั้นน้องอาร์ตเขาโทรไปหลายที่นะ แต่ไม่ยอมโทรมาหาพ่อแม่ คิดดูซิ เขาโทรหาแฟนเก่าที่อยู่ราษีฯ ด้วย บอกให้ช่วยบอกคนที่บ้านที่เป็นแกนนำให้ไปหา ส.ส.หรือตำรวจกาชาดหรือใครก็ได้ ให้ไปช่วยหน่อย เขาบอกเขาอยู่โซนสี่ชั้นสี่ เขาบอกหมดนะ แต่ตอนโทรหาพี่สาวที่ชื่อกลอยไม่ยอมบอกว่าอยู่ตึกไหนชั้นไหน แฟนเก่าคนนี้ก็ไม่นึกว่ามันจะเป็นอย่างนี้ไง เลยไม่ได้บอกใคร พอมาเปิดเผยทีหลัง ตอนน้องอาร์ตเสียชีวิตแล้ว เขาจะฆ่ามันทิ้งอยู่ มันไม่ยอมบอกแต่ทีแรก มันก็ร้องไห้เสียใจว่ามันไม่ได้บอก ถ้าแฟนเก่าคนนี้พูดว่าน้องอาร์ตอยู่ตึกนั้น โซนสี่ชั้นสี่ เขาช่วยได้นะ พวกตำรวจดับเพลิงเขาบอกเขาช่วยได้อยู่ ถ้ารู้ว่าโซนไหน”

นางไน้เชื่อว่า ที่ลูกชายไม่โทรหาตนและสามีในช่วงสุดท้ายของชีวิต เพราะไม่ต้องการให้พ่อแม่เป็นห่วง และยังเชื่อว่า ที่ลูกชายออกมาจากวัดในเย็นวันนั้น เพราะตั้งใจจะออกมาหาพ่อกับแม่

“ที่เขาบอกว่าจะไปซื้ออะไรกินน่ะ เขาไปเจอกับรถทหาร วัดมันจะหันหลังใส่กันใช่มั้ย นี่ตึก นี่วัด พี่ไปสำรวจมาแล้ว น้องอาร์ตเขาออกทางประตูหลัง มันเป็นซอยไปติดเซ็นทรัล มีทางออกไป กระเป๋าเป้ก็เตรียมไปหมด คงกะจะออกมาหาแม่นี่แหละ ไม่ได้จะไปซื้ออะไรกินหรอก ไปด้วยกันเยอะนะ ไม่ได้ไปคนเดียว นึกว่ามันเงียบแล้วไง แต่ออกไปเจอทหาร แล้วโดนไล่ยิงเข้าไปในตึก เขาโดนทหารไล่ยิง (เน้นเสียงช้าและหนัก) น้องอาร์ตน่ะ ที่พี่รู้ว่าเขาออกไปเจอทหาร เพราะเขาเล่าให้เพื่อนที่เขาโทรไปหาฟัง น้องอาร์ตวิ่งขึ้นข้างบนเพราะเขาชุมนุมอยู่ตรงนั้น เขาจะรู้ว่าตรงไหนมีโทรศัพท์ เขาตั้งใจจะขึ้นไปโทรศัพท์บอกให้คนรู้ว่าพวกเขาโดนทหารไล่ยิงเข้าไปในตึก แล้วออกมาไม่ได้ มันยิงสกัดอยู่ ไฟก็ไหม้ ติดอยู่ในนั้นหลายคน อยู่ข้างล่างห้องใต้ดินอีกสิบกว่าคน น้องอาร์ตบอกอย่างนี้ ความจริงเลยนะ ที่เขาบอกว่าให้หาคนมาช่วย ไม่งั้นพวกพี่จะรู้เหรอว่าเขาติดอยู่ในตึก”

เมื่อรู้ว่าลูกติดอยู่ในตึกที่ไฟกำลังลุกไหม้ นางไน้กับสามีพยายามดิ้นรนหาคนเข้าไปช่วยลูก

“โทรไปทางไหนเขาก็ว่าเข้าไปไม่ได้ จนไม่รู้จะโทรหาใครแล้ว ไม่รู้จะพึ่งใครแล้ว ทางบ้านก็วิ่งกัน ไม่รู้จะช่วยยังไง ช่วยไม่ได้ โทรไปเขตปทุมวัน เขาก็บอกให้โทรไปที่ตำรรวจดับเพลิง แล้วก็เอาเบอร์มาให้ พี่ก็โทรไป ตอนนั้นตำรวจดับเพลิงอยู่ตรงเซ็นทรัลเวิลด์พอดี เขาบอก ประมาณห้าโมงผมให้คนออกไปจากตึกหมดแล้วนะ ไม่มีใครแล้วนะพี่ แล้วน้องเขาจะไปติดได้ยังไง เราก็บอก น้องเขาโดนไล่เข้าไปตอนสี่โมงกว่าๆ หรือห้าโมงนี่แหละ เขาโทรออกมาบอกว่าเขาติดอยู่ในตึก ให้หาคนไปช่วยหน่อย เขาหายใจไม่ออก ตำรวจดับเพลิงถามว่า น้องเขาติดอยู่ชั้นไหน พี่ก็ได้แต่ร้องไห้ ทั้งพูดทั้งร้องใช่มั้ย ไม่รู้ว่าลูกอยู่ชั้นไหน รู้แต่อยู่ในตึก พี่ก็บอกแต่ว่าอยู่ในตึก ไปช่วยหน่อย...จนประมาณสองสามทุ่มน่ะมั้ง ตำรวจดับเพลิงเขาบอก พี่...ทำใจเถอะ ตอนนั้นมันค้นไม่ได้แล้ว มันลุกไหม้แล้ว ถ้ามันมีชีวิตอยู่มันก็คง...พี่ว่าคงไม่มีแล้วล่ะ คงหมดแล้วล่ะ เพราะเขาไม่โทรออกมาแล้ว มันเงียบแล้ว โทรศัพท์หลุดตั้งแต่คุยกับไอ้กลอยแล้ว บอกว่าหายใจไม่ออก พูดมากไม่ได้ หาคนมาช่วยหน่อย”

นัยน์ตาของคนเล่าแดงช้ำ น้ำตาร่วงพรู เรานั่งเงียบกริบ อึดใจใหญ่ จึงค่อยกล้าชวนสนทนาต่อ

8

คนที่อาร์ตใช้โทรศัพท์สาธารณะบนชั้นสี่ของตึกเซ็นทรัลเวิลด์โทรหา ก่อนเขาจะขาดใจตายในอีกไม่กี่นาทีต่อมานั้น เท่าที่ทราบ มีสองคน คนแรกคือคนรักเก่าที่ยังคบหาเป็นเพื่อนกัน บ้านของหญิงสาวคนนี้อยู่ในเมืองราษีไศล ปัจจุบันแต่งงานมีครอบครัวแล้ว ส่วนอีกคน เป็นสาวรุ่นพี่บ้านเดียวกัน ชื่อ “กลอย” หรือ “นางสาวกมลวรรณ ด่านศิลา” วัย 26 ปี ลูกสาวของนายสำรวย ด่านศิลา มอเตอร์ไซค์รับจ้างประจำท่ารถราษีไศล-ศรีสะเกษ

กลอยเล่าให้เราฟังทางโทรศัพท์ว่า

“ปกติไอ้อาร์ตมันจะโทรมาทุกวัน จะเอาโทรศัพท์ลูกพี่โทรมาให้หนูโทรกลับ หนูก็โทรไป ยังเคยถามเลยว่าจะไปเล่นด้วยที่ราชประสงค์ได้มั้ย มันยังบอกว่า อย่ามาเลย อันตราย”

กลอยทำงานอยู่โรงงานเย็บผ้าใกล้กับโรงงานที่อาร์ตและครอบครัวรับเหมาตัดรองเท้าอยู่ จึงสนิทสนมกัน

“วันนั้นประมาณห้าโมงเย็น หนูนั่งเย็บผ้าอยู่ มันโทรมา ตอนแรกไม่ได้บอกนะว่าติดอยู่ในตึก ก็โทรมาคุยธรรมดา คุยเรื่องแฟน คือมันมาจีบสาวโรงงานหนู แต่ผู้หญิงเขายังไม่ทันได้ชอบมันหรอก ไอ้อาร์ตมันเป็นคนหน้าตาดี แต่เขายังไม่เคยเห็นหน้ามัน ได้แต่คุยกันทางโทรศัพท์ ก็ไม่ได้คุยกันบ่อยหรอก เพราะมันเองก็ไม่มีโทรศัพท์ด้วย ช่วงนั้นหนูก็โทรคุยกับมันทุกวัน ยังบอกมันอยู่ว่า ทำไมไม่โทรไปหาพ่อกับแม่บ้าง แม่แกถามหาอยู่ มันก็บอกว่าไม่กล้าโทรไป กลัวแม่ด่า”

“โทรมารอบแรก คุยกันประมาณ 3-4 นาที ก็วางไป จนประมาณหกโมงเย็น หนูเลิกงานพอดี มันโทรมาอีก คราวนี้บอกว่าหายใจไม่ออก หนูก็ถามว่าเป็นอะไร มันบอกอยู่บนห้าง หนูก็ถามว่าแล้วเอ็งขึ้นไปทำไม เพราะทุกทีเวลาโทรมา ไม่เคยเห็นว่าอยู่บนห้างซักที จะอยู่แต่หน้าด่านไง มันบอกหนีทหารมา มันว่าทีแรกมันอยู่ในวัด แล้วหิวข้าว ไม่ได้กินข้าวหลายวันแล้ว ก็เลยวิ่งออกมาจากวัด จะไปหากินข้าว แล้วไปเจอทหาร ก็เลยวิ่งขึ้นไปบนตึก หนูก็ถามมันอยู่ว่าแล้วทำไมไม่กลับมาบ้าน (เสียงสูง) ไปอยู่ทำไมจนขนาดนี้ มันก็บอกว่ากลับไม่ได้ ห่วงพี่ห่วงน้อง เพราะว่าร่วมสู้มาด้วยกัน ทิ้งเพื่อนไม่ได้ มันก็ว่าของมันไป แล้วมันก็บอกหนูว่าอย่าไปบอกใครนะว่ามันติดอยู่ในตึก มันกลัวพ่อแม่มันด่า หนูก็ว่า เรื่องจะเป็นจะตายยังงี้ไม่บอกได้ไง ตอนนั้นมันหายใจไม่ออกแล้ว ควันมันเยอะมากเลย หนูก็บอกให้มันถอดเสื้อชุบน้ำห่อตัวไว้ หรือเข้าไปนั่งในห้องน้ำก็ได้ ก็ไม่รู้ว่ามันได้ทำมั้ย พอสายตัดไปหนูก็โทรบอกพ่อแม่มันเลย แม่มันก็ว่าทำไมมันไม่โทรหาแม่ แล้วแกก็โทรไปหายายที่บ้านราษีฯ บอกให้ยายไปบอก ส.ส.พรรคเพื่อไทยให้ไปช่วยตามให้”

หลังจากนั้น กลอยเอาเบอร์โทรศัพท์ที่อาร์ตใช้โทรออกมา โทรไปเช็กกับ 1133 ได้ความว่า เป็นเบอร์โทรศัพท์สาธารณะบนชั้นสี่ของตึกเซ็นทรัลเวิลด์

...แต่ก็สายเกินไปแล้ว...

สาวโรงงานเย็บผ้าจากบ้านหนองค้างไฟยอมรับว่า ขณะที่อาร์ตโทรมาบอกว่าเขาติดอยู่ในตึกนั้น เธอทราบจากข่าวแล้วว่าตึกนั้นถูกไฟไหม้ และในช่วงเวลานั้น เธอไม่มีความหวังเลยว่า...หนุ่มรุ่นน้องร่วมบ้านเกิดคนนี้...จะรอดชีวิต

9

สำหรับพ่อแม่ของอาร์ต ค่ำคืนวันที่ 19 พฤษภาคม คือช่วงเวลาที่บีบคั้นหัวใจอย่างที่สุด เมื่อนึกภาพว่าลูกชายกำลังจะถูกย่างสดกลางกองไฟ แล้วตนไม่สามารถช่วยอะไรได้ นอกจากปล่อยให้นาทีแห่งความเป็นตายนั้น ผ่านไปอย่างทุกข์ทรมาน สิ่งเดียวที่ทำได้ และต้องพยายามทำอยู่ตลอดทั้งคืนนั้น คือ ทำใจให้เข้มแข็งพอจะยอมรับความจริงที่จะปรากฏในวันรุ่งขึ้น

“วันที่ยี่สิบ เจ้าหน้าที่เข้าไปค้นในตึก ไม่เจอ พี่ก็บอกให้ไปค้นให้ใหม่ เขาก็เข้าไปอีก ระหว่างนั้นพี่ก็ตามหาทุกที่ แต่ก็ตามไปอย่างนั้นแหละ เพราะพี่เชื่อว่าลูกพี่อยู่ในนั้น ยังไม่มีใครเจอ น้องอาร์ตอยู่ในนั้น ไปหาให้หน่อย ไปเอาเขาออกมาหน่อย พอวันที่ยีบเอ็ดก็ไปเจอจริงๆ นักข่าวโทรมาหาพี่ บอกว่าเจอแล้ว มีศพวัยรุ่นอยู่ในตึก ตอนนั้นพี่ก็เข้าใจแล้วว่า เออ ลูกกู ยังไงก็ลูกกู ไม่ใช่ใครเลย คือพี่ไม่ต้องดูดอกว่าเป็นใคร รู้แล้วว่าเป็นน้องอาร์ต เพราะว่าอยู่ในตึกนั้นมีแต่เขานั่นแหละ ไม่มีใครหรอก อยู่ชั้นสี่โซนสี่ คนที่ไปเจอศพเขาบอกว่า อยู่คนเดียวด้วย น้องอาร์ตแน่นอน ตอนนั้นพี่ก็ทำใจแล้วล่ะ พี่ก็ไม่อยากพูดแล้วเนาะ (ร้องไห้) พูดแล้วมันเจ็บใจน่ะ ไม่คิดว่าเขาจะไปแบบนั้นไง ทุกวันนี้ใครถามอะไรพี่ไม่ค่อยพูดนะ เรื่องเกี่ยวกับลูกพี่จะไม่ค่อยพูด แต่คนในหมู่บ้านเขาก็เข้าใจนะ เข้าใจทุกคน มีแต่เขายกย่อง มีแต่คนรัก”

นางไน้เช็ดน้ำตา และพยายามปรับอารมณ์ ครู่หนึ่งจึงพูดต่อ

“ลูกพี่ตายใช่มั้ย ข่าวโทรทัศน์ยังบอกว่า มีเด็กวัยรุ่นขึ้นไปแล้วไปเสียชีวิต คาดว่าจะไปขโมยของ เขาบอกว่าน้องอาร์ตเนี่ยจะไปขโมยของ พูดอกมาได้ยังไง เด็กมันหนีตายใช่มั้ย เขารู้ได้ยังไง ตอนที่เขาไปเจอศพ เขาไปค้นหาบัตรประชาชน เอกสารทุกอย่างในกระเป๋าเสื้อน้อง ไม่มีอะไรเลย มีแต่บัตรเขา เงินก็ยังอยู่ คือก่อนหน้านี้เขาเคยโทรมาบอก แม่...ตอนนี้ผมมีตังค์อยู่สามพันบาท ให้แม่ไปจ่ายงวดให้ก่อนนะ เดี๋ยวผมไปเคลียร์ให้ พี่ก็บอก เออ ไม่เป็นไร เดี๋ยวแม่ไปจ่ายแทน ตอนเขาตาย ตังค์ที่ว่านี่ก็มีอยู่ แล้วมาบอกว่าน้องอาร์ตจะเข้าไปขโมยของได้ยังไง น้องอาร์ตนี่จุดเป้าหมายของเขาคือจะขึ้นไปโทรศัพท์บอกว่าเขาติดอยู่ในนั้น กับเพื่อน ให้หาคนออกมาช่วยหน่อย แต่พอตัวขึ้นไปโทรแล้วจะลงมามันลงไม่ได้ ไฟมันดับมืดไม่รู้ทาง ไม่เห็นทิศเห็นทาง ควันก็เยอะ เรื่องของเรื่องมันเป็นอย่างนี้ เพราะน้องอาร์ตนี้เป็นคนที่รักเพื่อนมาก เขาเป็นคนที่รักใครก็ได้ที่อยู่ใกล้ชิดเขา รักหมด รักจนนาทีสุดท้ายเลย”

การสูญเสียลูกชาย ทำให้หญิงกลางคนจากภาคอีสานคนหนึ่งได้เข้าไปเห็นด้านที่เหี้ยมโหดของสังคมซึ่งเธออาศัยอยู่มาตั้งแต่เกิด...

นอกจากน้องอาร์ตลูกชายเธอ ในเซ็นทรัลเวิลด์ยังมีอีกหลายศพ

“พอเขาเอาน้องอาร์ตออกมาแล้ว พวกนักข่าวก็ออกมา เหลือแต่ทหารกับตำรวจกาชาด ตอนนั้นมีนักข่าวคนหนึ่งอยู่ในนั้น นักข่าวคนนี้โทรมาบอกนักข่าวอีกคนที่สัมภาษณ์พี่อยู่ ได้ยินเสียงเขาโทรบอกกันว่า เฮ่ยๆ เจอศพอีกแล้วสิบศพ อยู่ห้องใต้ดิน แต่เจ้าหน้าที่ไม่ให้เข้าไปถ่ายว่ะ เขาไม่ให้เข้าไปถ่าย (เน้นเสียง) พวกนักข่าวก็คุยกันว่าทำยังไงล่ะๆ ไอ้เพื่อนอีกคนก็ว่า เออๆ รอกูอยู่ตรงนั้นแหละ เดี๋ยวกูไป” จากนั้นนักข่าวคนนั้นก็กลับไปยังตึกเซ็นทรัลเวิลด์

มีศพอยู่ในตึกมากกว่าหนึ่งศพ แต่มีเพียงศพเดียวที่ถูกนำเสนอผ่านสื่อให้สังคมรับรู้ว่ามีผู้เสียชีวิตจากการสลายการชุมนุมเพิ่มขึ้น

“น้องอาร์ตได้ออกข่าวเพราะอะไร เพราะแม่แจ้งไปใช่มั้ยว่าลูกติดอยู่ในนั้น ให้ไปค้นให้หน่อย พวกนักข่าวก็เลยตามเข้าไปเยอะ มันเลยทำอะไรน้องอาร์ตไม่ได้ ก็เลยได้ออกมาเป็นตัวเป็นตน แต่เพื่อนเขาที่อยู่ข้างล่างไม่มีหลักฐานเลยว่าเป็นใคร แล้วศพไปไหน พี่ติดตามข่าวมาตลอด ก็ไม่เห็นมีข่าวเรื่องสิบศพนั้นเลย มีแต่หลังจากเจอน้องอาร์ตสามสี่วันเห็นว่ามีไปเจออีกศพหนึ่ง อยู่คนละโซนกับน้องอาร์ต อันนี้คือไหม้หมดเลย ไม่รู้ว่าเป็นใคร ก็คงจะเป็นเพื่อนน้องอาร์ตที่เข้าไปด้วยกันนั่นแหละ”

สิ่งที่เกิดขึ้น ผลักดันให้หญิงชาวบ้านวัยสี่สิบสามปีที่ไม่เคยสนใจการเมือง ลุกขึ้นมาใส่เสื้อแดงออกจากบ้านไปร่ำร้องหาความเป็นธรรมให้ลูกชายวันแล้ววัน เล่า

“หลังจากที่ลูกเราเสีย พี่ก็ลุกขึ้นมา พี่น้องลุกขึ้นมา จากที่ครอบครัวนี้มีสี่ห้าหลังสิบหลัง ยี่สิบสามสิบหลัง ที่ไม่เคยลุกขึ้นไปสู้ ได้แต่ดูข่าว เป็นเสื้อแดงอยู่ แต่ไม่กล้าไปอย่างนั้น มีน้องอาร์ตคนเดียว บ้านหนองค้างไฟหมู่เก้า มีน้องอาร์ตคนเดียว แต่หลังจากที่น้องอาร์ตเสียชีวิต คนบ้านหมู่เก้าสามสิบสี่สิบเจ็ดสิบหลังคาเรือนลุกขึ้นหมดเลย แม่น้องอาร์ต หลังจากที่ไม่รู้อะไร พ่อไม่รู้อะไร ไป คือต้องไปสู้เพื่อลูก ไปสานต่อให้เขาสำเร็จ ให้เขาหาคนที่มันทำความผิดมาลงโทษให้ได้ ทุกวันนี้พี่ดูข่าวติดตาม ตรงไหนเขามีการชุมนุมอะไรพี่ก็ไปๆๆ พอดูแล้วยิ่งเห็นว่ามันไม่ยุติธรรมเลย เมื่อวานนี้ไปที่อุบลฯ สงสารเขานะ ชีวิตครอบครัวคนที่เขาไม่รู้อีโหน่อีเหน่แล้วโดนจับ มันจับเข้าไปได้ยังไง บางคนไปขายของ บางคนไปรับลูก บางคนไปยืนดู จับเขาไปขังตั้งปี แล้วลูกเขาล่ะ ครอบครัวเขาล่ะ พ่อแม่เขาล่ะ อยู่ยังไง พี่ดูแล้วมันไม่เป็นประชาธิปไตยเลย”

“พี่ไม่เสียใจที่ลูกพี่ไปเสียชีวิตอย่างนี้ พี่ภูมิใจกับลูก คนในบ้านนี้เขาภูมิใจ มันดีกว่าลูกพี่ไปขายยาบ้าแล้วถูกยิงตายใช่มั้ย อย่างนั้นไม่มีใครยกย่องสรรเสริญ แต่น้องอาร์ตนี่เขาไปทำสิ่งที่ถูกต้อง ไปต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย เพื่อเรียกร้องความยุติธรรม พี่มาดูแล้ว มาฟังแล้ว พี่เข้าใจลูก ยิ่งตอนหลังพี่ยังมาคิดว่า กูน่าจะไปกับลูกกูนะ พี่ยังคิดเสียใจเลยว่า กูน่าจะไปนะ กูไม่น่าจะมานั่งดูนะ พี่ยังคิดเลย”

เมื่อถามว่ารู้สึกอย่างไรที่ลูกไปเรียกร้องประชาธิปไตยแล้วถูกปราบปราม อย่างรุนแรงจนเสียชีวิต แม่ของอาร์ตหัวเราะขื่นๆ แล้วว่า “นั่นสินะ พี่ก็ได้แต่ถาม แต่ไม่รู้ว่าใครจะให้คำตอบพี่ สั่งฆ่าประชาชน แล้วยังไม่มีความคืบหน้า ยังลอยหน้าลอยตา แล้วพวกเราล่ะ จะอยู่ได้ยังไง พี่ต้องไปดิ ไปหาความถูกต้อง ไปหาความยุติธรรมให้ลูก พี่ยังบอกน้องเขาเลยว่าแม่จะสู้ สู้จนกว่าแม่จะได้ความยุติธรรม สู้จนกว่าจะหาคนมารับผิดชอบน้องอาร์ตได้ สำหรับเงินสิบล้าน ถามว่าพอมั้ยกับชีวิตพี่ ถ้าจะแลกกับลูกพี่ใช่มั้ย ร้อยล้านพันล้านพี่ก็ไม่เอา พี่ไม่เอาเลยจริงๆ”

แม่ของเด็กหนุ่มชาวราษีไศลที่เสียชีวิตในโศกนาฏกรรมทางการเมืองครั้งใหญ่เมื่อปีกลาย พูดด้วยน้ำเสียงที่ทั้งหนักแน่นและขื่นแค้น

10

ตำบลหว้านคำมี 13 หมู่บ้าน ชาวบ้านส่วนใหญ่ชอบเเสื้อแดง บ้านเรือนหลายหลังปักธงสีแดงโบกพลิ้วอยู่กลางแดดแสงจางในฤดูฝน

นอกจาก “อาร์ต” ลูกชายนายทองใบ ที่ไปสมัครเป็นการ์ด นปช.แล้ว ยังมีการ์ดหนุ่มใหญ่อีกคนที่รอดตายจากการสลายการชุมนุมเมื่อปีก่อน ขณะนี้บวชอยู่ที่วัดประจำตำบล เมื่อวานพ่อของอาร์ตพูดถึงชายคนดังกล่าวว่า เขาหนีตายมาจากราชประสงค์ ตั้งใจจะบวชสักห้าหกวัน แต่ไปๆ มาๆ อยู่จนจะครบพรรษาแล้วยังไม่มีทีท่าว่าจะสึก

ว่ากันว่า ชายคนนี้คือคนพาอาร์ตไปสมัครเป็นการ์ดเสื้อแดง

เขาคือ พระภิกษุลำดวน ทิพวัลย์ วัย 35 ปี

หลังพูดคุยกับแม่ของอาร์ตเสร็จ นายสำรวยกับเพื่อนมอเตอร์ไซค์ที่หนุ่มกว่าพาเราไปพบภิกษุลำดวน หรือ “อาจารย์ป่อง” ที่วัดบ้านหว้าน ซึ่งอยู่ห่างจากบ้านของอาร์ตราว 2 กิโลเมตร เมื่อไปถึง พระรูปหนึ่งที่นั่นบอกว่า อาจารย์ป่องไปเฝ้ากู่ ซึ่งอยู่ห่างออกไปราวสามสี่กิโลเมตร “กู่” คือซากพระปรางค์โบราณในเขตบ้านหว้านที่เพิ่งขุดค้นพบ กรมศิลปากรเข้ามาทำการสำรวจและขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานเมื่อปี 2547

มอเตอร์ไซค์พาเราลัดเลาะตัดผ่านแปลงนา จนเข้าเขตป่าชุมชนผืนใหญ่ ครั้นไปถึงพบพระภิกษุร่างเล็กรูปหนึ่ง เดินไปมาอยู่ใต้ร่มป่าครึ้มเขียว คอยดูแลพระปรางค์โบราณซึ่งกระจัดกระจายอยู่หลายแห่งในเขตป่าชุมชน ไม่ไกลจากนั้น ชาวบ้านกลุ่มหนึ่งกำลังช่วยเจ้าอาวาสวัดบ้านหว้านถางป่า เพื่อเตรียมพื้นที่สำหรับสร้างกุฏิหลังใหม่

หลังทักทายและแนะนำตัวกันเสร็จ ภิกษุลำดวนเล่าว่า ย้อนกลับไปช่วงชุมนุมใหญ่ปี 2553 เขาเข้าไปร่วมชุมนุมที่กรุงเทพฯ กับกลุ่มเสื้อแดงราษีไศล-ศรีสะเกษ ตั้งแต่วันที่ 12 มีนาคม โดยปักหลักกินนอนอยู่ที่ราชดำเนินนานหลายสัปดาห์ จนสมาชิกในกลุ่มหลายคนเริ่มอ่อนล้า เสื้อผ้าที่เตรียมมาเริ่มหมักหมมไม่มีเปลี่ยน จึงพากันกลับราษีไศล พอหายเหนื่อยก็เดินทางไกลเข้ากรุงเทพฯ กันอีกครั้ง

และครั้งนี้เองที่เขาได้พบกับอาร์ต

“ตอนนั้นอาตมาลงไปรอบสอง น้องอาร์ตเขาก็มาหาอาตมาที่แยกมิสกวัน ช่วงก่อนสิบเมษาอีก มันมีเด็กๆ วัยรุ่นที่ไปชุมนุมกับอาตมารู้จักเขา ก็พากันมาแนะนำ บอกว่า นี่...คนนี้เขาอยากเป็นการ์ด พี่พาไปสมัครด้วยสิ หลวงพี่ก็ว่า เอาสิ ตามสมัครใจนะ ไม่มีอะไรตอบแทนนะ มีแต่น้ำจิตน้ำใจของส่วนกลางนิดๆ หน่อยๆ น้องอาร์ตเขาก็บอก ไม่เป็นไรๆ ผมชอบ ผมทำเพื่อชาติ วัยรุ่นหลายคนที่ไปเคลื่อนไหวกับอาตมาก็จะพูดอย่างนี้ แต่อาร์ตนี่เขาจริงจังมาก”

“...อาตมาก็ไม่ได้คุ้นเคยกับเขาหรอก รู้แต่ว่าเขาอยู่กรุงเทพฯ พ่อแม่เขาทำรองเท้าอยู่แถวช้างสามเศียร สมุทรปราการ พอสมัครแล้วก็รู้สึกว่าเขาจะหายเงียบไปเลย มาเจออีกทีก็ว่ามีเพื่อนแหลมฉบัง คือเขาก็กว้างขวางไปเรื่อย ก็ไปอยู่กับแหลมฉบัง ไม่ได้มาอยู่หน่วยอาตมา แต่ความรู้สึกลึกๆ ก็ยังเป็นห่วงเขาอยู่”

ภิกษุลำดวนคนนี้ป็นชาวตำบลหว้านคำที่ดิ้นรนเข้าไปทำงานในกรุงเทพฯ ตั้งแต่เรียนจบ ป.6 เขาเป็นช่างทำรองเท้าเช่นเดียวกับอาร์ตและครอบครัว ปัจจุบันยังครองตัวเป็นโสด

รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ผลักดันให้ช่างทำรองเท้าหนุ่มใหญ่คนหนึ่งดิ้นรนหาพื้นที่แสดงออก วันหนึ่งเขานั่งรถเมล์ไปลงที่สนามหลวง แล้วได้ยินเสียงปราศรัยจากเวทีเล็กๆ ซึ่งพูดในสิ่งที่เขาคิด จากนั้นเขาไปสนามหลวงทุกวันหยุด จนได้รู้จักเพื่อนกลุ่มนั้นกลุ่มนี้ มีคนชวนไปเข้าร่วมกลุ่มแดงพระรามสาม สาทร และยานนาวา เขาเคลื่อนไหวกับกลุ่มดังกล่าวสนับสนุนการต่อสู้ของนปช.ตลอดมาเกือบสองปี กระทั่งมีผลกระทบต่องาน จึงตัดสินใจลาออก กลับมาอยู่บ้านศรีสะเกษ

“ตอนนั้นอาตมารู้สึกว่ามันมีผลกระทบเรื่องเงิน เรื่องงาน เรื่องเพื่อนๆ คือเพื่อนบางคนไม่สบายใจ เถ้าแก่ไม่สบายใจ เพราะเราไปเคลื่อนไหวอย่างนี้ กลัวจะไม่มีคนซื้อของเขา จริงๆ พวกเสื้อแดงมีเยอะในที่ทำงาน แต่เขาไม่กล้าแสดงออก เราแดงที่สุดแล้ว แต่ก็ไม่ใช่ว่าเราจะไปให้หมดทุกวันนะ ก็ต้องดูเพราะเราเป็นคนบ้านนอก มันมีผลกระทบ ค่าบ้านค่าอะไร สุดท้ายเลยตัดสินใจมาอยู่บ้านนอก ก็มาเคลื่อนไหวกับพี่ๆ เพื่อนๆ ในเมือง รับทำรองเท้าบ้าง ส่งตามบ้านนอก รายได้ไม่เท่าไหร่หรอก ตกวันหนึ่งสี่สิบห้าสิบบาท”

พี่ๆ เพื่อนๆ ในเมืองของภิกษุลำดวน คือกลุ่มคนเสื้อแดงราษีไศล-ศรีสะเกษ ที่เคยแลกเบอรโทรศัพท์กันไว้เมื่อครั้งพบเจอกันตามที่ชุมนุมในช่วงหลายปีที่ ผ่านมา เมื่อพี่ๆ เพื่อนๆ เหล่านี้รู้ว่านายลำดวนลาออกจากงานกลับมาอยู่บ้าน ก็มาตามไปช่วยงานเคลื่อนไหว กระทั่งการชุมนุมใหญ่เริ่มขึ้นในเดือนมีนาคม 2553 ชายร่างเล็กอย่างนายลำดวน ทิพวัลย์ เดินทางเข้ากรุงเทพฯ อย่างแข็งขัน รับหน้าที่เป็นการ์ดแผนกอาหาร เสบียง เช็กของ ประจำเต๊นศรีสะเกษ

“คำว่าเป็นการ์ดไม่ใช่ว่าจะไปใช้ความรุนแรงนะ มันมีหลายแผนก การ์ดดูแลเรื่องอาหารก็มี” ภิกษุลำดวนกล่าว

หลังสิบเมษา เวทีจากผ่านฟ้าย้ายไปรวมกับราชประสงค์ เด็กหนุ่มในหมู่บ้านที่ตามภิกษุลำดวนไปร่วมชุมนุม ส่วนใหญ่กลับมาเที่ยวสงกรานต์ที่บ้านหว้านแล้วไม่ได้กลับไปอีก “ช่วงสงกรานต์มันมีงานที่นี่ มีหมอลงหมอลำบ้านนอก เขาก็กลับมาเที่ยวงานกันหมด กลับมาอยู่เที่ยวตามประสาเขา”

มีไม่กี่คนที่กลับไปร่วมชุมนุม หนึ่งในนั้นคืออาร์ต

“แต่ก็ไม่ค่อยได้เห็นกันหรอก จะเจอกันบ้างแว้บๆ วันนั้นตอนเวลาพักผ่อนเขาเคยเดินมาหา ใส่ชุดการ์ดนั่นแหละมา เราก็คุยกับเขา เฮ้ย มึงระวังตัวนะ มันเริ่มเข้มข้นแล้วนะ อาตมาอยู่เซ็นทรัลเวิลด์ เขาอยู่แถวศาลาแดงสวนลุมฯ แถวกลุ่มรักเชียงใหม่ห้าหนึ่ง แถวจุฬาฯ โน่นแหละ พอดีสองวันสุดท้ายพ่อแม่เขาตามหนัก โทรหาอาตมาว่าถ้าเห็นมันบอกให้มันออกมาหน่อย อาตมาก็ว่าเดี๋ยวจะไปตามให้ พอเลิกจากเป็นการ์ดก็ออกไปเดินหา แต่ไม่เจอ เพื่อนเขาบอกว่าไปกับเพื่อน ไปไหนก็ไม่รู้ จนวันที่หนักๆ ระเบิดลงประตูน้ำ น่าจะเป็นวันที่สิบเจ็ด ถึงได้บังเอิญเจอกัน เขาเดินมากับเพื่อน สงสัยจะเป็นเพื่อนชลบุรีของเขาแหละ ตอนนั้นไม่ได้ใส่ชุดการ์ดแล้ว เพราะทุกคนต้องเริ่มเอาตัวรอดแล้ว แกนนำประกาศว่าถ้ามีอะไรเป็นสัญลักษณ์การ์ดก็อาจจะไม่รอด ไม่ปลอดภัย ให้แต่งตัวธรรมดา ไอ้อาร์ตก็รู้ตัวเหมือนกัน ก็แต่งตัวธรรมดา อาตมาก็บอก เฮ้ย พ่อแม่มึงโทรหานะ ให้ออกไป เขาก็ไม่ยอมออก บอกว่าเขาจะอยู่ จะสู้ตาย อาตมาก็ว่า งั้นให้โทรหาพ่อแม่หน่อยเด้อ พ่อแม่โทรตาม เขาก็ว่าเดี๋ยวข้อยจะโทรหาพ่อหาแม่ข้อยเอง หลังจากนั้นก็ไม่เจอกันอีกเลย”

กระทั่งค่ำคืนอันหฤโหดผ่านไป ภิกษุลำดวนออกจากวัดปทุมวนารามในเช้าวันที่ 20 พฤษภาคม

“ความรู้สึกอาตมาก็หดหู่ คืนนั้นนอนอยู่ในวัดปทุมฯ ทั้งคืน คนแออัด น่าจะเป็นหมื่นคนอยู่ในนั้น พอเช้า ออกมาได้ก็กลับบ้านนอกเลย มีตังค์อยู่พันหนึ่ง เก็บๆ ที่เขาให้เบี้ยวันละร้อยสองร้อยตอนเป็นการ์ดนั่นแหละ ไปต่อรถไฟที่ดอนเมืองมาเลย กลับมาศรีสะเกษ”

ขณะอยู่บนรถไฟ พ่อของอาร์ตโทรมาถามข่าวลูกชาย “อาตมาก็ว่าอาตมาออกมาแล้ว ออกจากพื้นที่แล้ว เขาก็บอกว่า เนี่ย ไอ้อาร์ตมันทำไมไม่ออกมา เดี๋ยวพ่อว่าจะไปรับอยู่ ทำไมถึงไปวิ่งขึ้นตึกอะไรๆ กับเขา อาตมาก็นิยามได้ว่าเขาคงหนี ใครเป็นการ์ดเขาจะยิงให้หมดในวัดน่ะ คงหนีไปกับเพื่อน ที่ขึ้นไปตอนนั้นไม่เหลือซักคน ที่หามๆ กันมาจากเซ็นทรัลเวิลด์น่ะ ศพมีเยอะ แต่ออกข่าวน้อย คนตายมากกว่านั้น โอ๊ย อาตมานอนฟังกลางคืนเสียงรถเสียงปืนดังทั้งคืนน่ะ จะยิงอะไรกันนักกันหนาถ้าไม่ยิงคน เดี๋ยวก็หามขึ้นเวที เดี๋ยวก็หามขึ้นเวที เดี๋ยวก็เปิดเพลงนักสู้ธุลีดิน”

จากนั้นภิกษุลำดวนปิดโทรศัพท์มือถือมาตลอดทาง กระทั่งรถไฟเคลื่อนเข้าห้วยทับทัน เขตจังหวัดศรีสะเกษ จึงได้เปิดเครื่อง

“พอเปิดเครื่องก็มีคนโทรมาบอกว่าไอ้อาร์ตคงจะเสียชีวิตแล้ว แต่ตอนนั้นยังไม่เจอศพ แต่อาตมาก็คิดว่าคงเสียแล้วล่ะ คงไม่รอดแล้ว พอมาถึงบ้าน ญาติพี่น้องเขาก็มาถาม อาตมาก็บอกว่าเห็นตั้งแต่สองวันก่อนนั้นแล้ว พอมาตอนเย็นญาติเขาบอกว่า เจอแล้วๆ แต่ยังจะใช่หรือไม่ใช่ก็ไม่รู้ เพราะว่ามันรมควันดำหมดแล้ว”

“สำหรับข้อมูลของน้องอาร์ต อาตมาก็รู้เท่านี้ จุดแรกคือเขาเห็นอาตมาไป ก็อยากจะไปด้วย ก็ไปกัน อาตมาก็ไม่นึกว่าจะไปเจอเหตุการณ์อย่างนี้ ถ้ารู้ว่ามันจะเป็นอย่างนี้ อาตมาคงไม่ทำ อาตมาก็หดหู่เหมือนกัน อย่างว่าแหละ ก็ได้อยู่ด้วยกันสองสามวัน ไม่ถึงอาทิตย์หรอก เขาก็ไปเจอเพื่อนใหม่ เขาก็ไปกลุ่มใหม่ไปเรื่อย เขาก็ทำงานอยู่กรุงเทพฯ รู้จักคนเยอะเนาะ ความเป็นวัยรุ่นของเขา ความกล้าหาญของเขาแหละ หลายๆ อย่าง ก็ถือว่าเขาได้ร่วมสู้กับอาตมา” ภิกษุลำดวนกล่าว

และนี่คือเรื่องราวทั้งหมดของอาร์ต วีรชนแห่งบ้านหนองค้างไฟ อำเภอราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ

-------------------------------------------

สัมภาษณ์เมื่อ 24-25 สิงหาคม 255