ส่งเสริมคนดีให้ได้ปกครองบ้านเมือง

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

Thursday, 27 October 2011

27-28ตุลาคมนี้ ฟังคำพิพากษาคดีเสื้อแดง มุกดาหาร-อุดร

ที่มา ประชาไท

นปช.มุกดาหารและอุดรฯ ประกาศระดมคนเสื้อแดงร่วมฟังคำพิพากษาคดีเผาศาลากลาง ขณะที่ศาลมุกดาหารขอกำลังจากกองกำกับการตำรวจภูธรจังหวัดฯ ดูแลความสงบเรียบร้อย ด้าน ส.ส.พรรคเพื่อไทย 10 คน เตรียมพร้อมใช้ตำแหน่งยื่นประกันหากมีจำเลยคนใดถูกพิพากษาให้จำคุก

ผู้สื่อข่าวรายงานจากจังหวัดมุกดาหาร ซึ่งในวันที่ 27 ตุลาคม นี้ ศาลจังหวัดมุกดาหาร โดยนางวรพรรณ รักความสุข ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะจะออกนั่งบัลลังก์อ่านคำพิพากษาในคดีดำที่ 1459/53, 1852/53, 2223/53 และ 2354/53 ที่อัยการจังหวัดมุกดาหารเป็นโจทก์ยื่นฟ้องจำเลยรวม 29 คน ในข้อหาร่วมกันบุกรุกสถานที่ราชการ, วางเพลิงเผาศาลากลาง และทำให้เสียทรัพย์อันเป็นสาธารณประโยชน์ โดยมีมูลค่าความเสียหายของทรัพย์สินรวม 85 ล้านบาท ซึ่งต่อมาในระหว่างการสืบพยาน ศาลได้สั่งรวมพิจารณาคดีทั้ง 4 เป็นคดีเดียวกัน ทั้งนี้ จำเลยทั้ง 29 จำแนกได้เป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ถูกฟ้องทั้ง 3 ข้อหา จำนวน 21 คน และกลุ่มที่ถูกฟ้องข้อหาร่วมกันบุกรุกสถานที่ราชการข้อหาเดียวจำนวน 8 คน

บรรยากาศทั่วไป นปช.มุกดาหารภายใต้ชื่อ “ชมรมลมหายใจที่ไม่แพ้” ประกาศเชิญชวนคนเสื้อแดงมาร่วมฟังคำพิพากษา โดยถือว่าคดีดังกล่าวเป็นผลสืบเนื่องมาจากการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้อง ประชาธิปไตยในปี 53 ที่ผ่านมา และการดำเนินคดีนี้ก็ถือเป็นอีกหนึ่งกรณีของความไม่เป็นธรรมที่ประชาชนได้ รับ ความเคลื่อนไหวครั้งนี้ของคนเสื้อแดง ประกอบกับมีการซ่อมแซมอาคารศาล ซึ่งทำให้การอ่านคำพิพากษาต้องทำในห้องพิจารณาคดีชั่วคราวที่สร้างด้วย ไม้ ทำให้ศาลจังหวัดมุกดาหารกำหนดมาตรการรักษาความปลอดภัยเข้มงวด โดยอนุญาตให้เพียงอัยการ ทนาย จำเลย และตำรวจที่ทำหน้าที่ควบคุมจำเลยเข้าในห้องพิจารณาคดีชั่วคราว ส่วนคนที่มาฟังคำพิพากษาให้รออยู่ด้านนอกรั้ว โดยยังไม่มีคำสั่งให้ติดตั้งกล้องวงจรปิดถ่ายทอดการอ่านคำพิพากษาออกมาด้าน นอก ทั้งนี้ จะมีตำรวจจากกองกำกับการตำรวจภูธรจังหวัดมุกดาหารเข้าปฏิบัติภารกิจดูแลความ สงบเรียบร้อยทั้งสิ้น 150 นาย


ด้านนายอานนท์ นำภา หนึ่งในทีมทนายเปิดเผยว่า นายอนุรักษ์ ตั้งปณิธานนท์ และนายบุญถิน ประทุมลี ส.ส.มุกดาหาร พรรคเพื่อไทย รวมถึง ส.ส.คนอื่นๆ ในพรรคราว 10 คน พร้อมจะใช้ตำแหน่งยื่นประกันในระหว่างอุทธรณ์ทันที หากมีจำเลยคนใดถูกตัดสินให้จำคุก โดยในปัจจุบันจำเลยทั้ง 29 ได้รับการประกันตัวในระหว่างการพิจารณาคดี

ส่วนศาลจังหวัดอุดรธานี นัดอ่านคำพิพากษาในคดีที่เกี่ยวข้องกับการเผาสถานที่ราชการเมื่อ 19 พ.ค.53 เช่นเดียวกัน ในวันที่ 28 ตุลาคม โดยคดีที่พิจารณารวมกันและจะอ่านคำพิพากษานี้มีทั้งสิ้น 4 คดี มีจำเลยรวม 22 ราย ประกอบด้วย คดีเผาศาลากลางจังหวัด(คดีดำที่1154/53)อัยการสั่งฟ้องจำเลยทั้งสิ้น 11 คน คดีเผาสำนักงานเทศบาลเมืองอุดรธานี(คดีดำที่1221/53) ฟ้องจำเลย 5 คน คดีพยายามเผาที่ว่าการอำเภอเมืองและจวนผู้ว่าฯ(คดีดำที่1155/53) จำเลย 15 คน และคดีเผาที่ว่าการอำเภอเมือง(คดีดำที่1374/53) สั่งฟ้องจำเลย 1 คน จังหวัดอุดรฯ ประเมินมูลค่าความเสียหายกว่า 300 ล้านบาท ทั้งนี้ มีจำเลยที่ถูกฟ้อง 2 คดี จำนวน 6 คน และจำเลยที่ถูกฟ้อง 3 คดี มีจำนวน 2 คน ทั้งนี้ ข้อหาหรือฐานความผิดมีทั้งฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน,ร่วมกันบุกรุกโดยมีอาวุธ, พยายามวางเพลิงหรือวางเพลิงเผาทรัพย์, ทำให้เสียทรัพย์ที่มีไว้เพื่อสาธารณประโยชน์, มั่วสุมตั้งแต่สิบคนขึ้นไป และร่วมกันประกาศแก่บุคคลทั่วไปให้กระทำความผิด


ด้านคนเสื้อแดงจังหวัดอุดรฯ ปรากฏว่า ได้มีการประกาศผ่านวิทยุชุมชนคนเสื้อแดงให้ไปร่วมเป็นกำลังใจให้จำเลยในวัน ที่ฟังคำพิพากษาเช่นกัน


ข้อมูลจากศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุมเดือน เม.ย.-พ.ค.2553 (ศปช.) พบว่า ในคดีเผาศาลากลางมุกดาหาร เจ้าหน้าที่เข้าสลายการชุมนุมหลังศาลากลางหลังเก่าไฟไหม้แล้วกว่า 3 ช.ม.และผู้ชุมนุมส่วนหนึ่งพยายามจะเผาอาคารหลังใหม่อีก มีผู้ต้องหาถูกจับกุมในการสลายการชุมนุม 16 คน ทั้งหมดถูกทำร้ายร่างกาย ต่อมา มีการออกหมายจับโดยอาศัยหลักฐานภาพถ่ายรวม 97 ราย จับกุมได้เพิ่มเติม 12 คน เข้ามอบตัว 2 คน รวมผู้ต้องหาทั้งสิ้น 30 คน เป็นผู้หญิง 1คน เยาวชน 1 คน อัยการสั่งฟ้อง 29 คน ในการสืบพยานโจทก์ไม่มีประจักษ์พยานที่เห็นจำเลยทั้ง 29 กระทำผิด อีกทั้งในคดีนี้ อัยการแถลงต่อศาลว่าสั่งไม่ฟ้องจำเลยบางคน แต่ดีเอสไอคัดค้าน และจนถึงปัจจุบันอัยการสูงสุดยังไม่มีคำสั่งชี้ขาดลงมา


ในกรณีของอุดรธานี สลายการชุมนุมเกิดขึ้นเมื่อไฟไหม้ศาลากลางหลังเก่าแล้วราว 4 ช.ม. สำนักงานเทศบาลเมืองลุกไหม้เกือบ 2 ช.ม.แล้ว และผู้ชุมนุมบางส่วนพยายามจะไปที่ที่ว่าการอำเภอเมืองและจวนผู้ว่าฯ อีก จึงเกิดการปิดล้อมทุ่งศรีเมืองและไล่จับประชาชนในบริเวณนั้น มีผู้บาดเจ็บถูกนำส่ง ร.พ. 4 ราย(ต่อมาเสียชีวิต 2 ราย จับกุม 1 ราย) ถูกจับกุม 45 ราย(บางรายถูกทำร้ายร่างกาย) เป็นหญิง 9 คน เยาวชน 1 คน ต่อมา ตำรวจออกหมายจับโดยใช้หลักฐานภาพถ่ายทั้งสิ้น 71 ราย จับกุมได้เพิ่ม 7 ราย รวมเป็น 52 ราย ในจำนวนนี้อัยการสั่งฟ้อง 4 คดี รวม 22 คน ที่เหลือปล่อยตัวหลังครบกำหนดฝากขัง 7 ผลัด โดยยังไม่มีการสั่งฟ้อง ส่วนจำเลยที่ถูกฟ้องทั้ง 22 ราย ในการสืบพยานโจทก์ก็ไม่พบหลักฐานการกระทำผิดที่ชัดเจน

นอกจากนี้ ศปช.ยังสรุปภาพรวมการจับกุมดำเนินคดีอันเนื่องมาจากการชุมนุมของ นปช.เดือนเม.ย.ถึง พ.ค.53 ในพื้นที่ภาคอีสาน 5 จังหวัด ซึ่งรวมมุกดาหารและอุดรธานี ว่าพบปัญหาการจับกุมแบบเหวี่ยงแห บางรายไปร่วมชุมนุม แต่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเผาศาลากลาง บางรายเพียงแต่เข้าไปดูเหตุการณ์ เดินผ่าน ห้ามปราม หรือจอดรถไว้บริเวณใกล้เคียง กลับถูกจับและถูกออกหมายจับ นอกจากนี้ หลายรายไม่ได้สิทธิ์ติดต่อญาติและทนายระหว่างการสอบสวน ถูกหลอกล่อ และถูกข่มขู่ให้รับสารภาพ(จำเลยจึงรับสารภาพในคดี ฝ่าฝืน พ.ร.ก.) มีการตั้งข้อหาหนักเกินจริง และในกรณีอุดรฯ ไม่ได้สิทธิประกันตัวในระหว่างสืบพยาน ทำให้จำเลยไม่มีโอกาสสู้คดีอย่างเต็มที่