"ผมเพิ่งโทรไปบอกลูกน้องว่าเรือ 100 ลำที่จะเอาไปบริจาค ให้เก็บไว้ลำหนึ่ง"
"ตัน ภาสกรนที" เล่าให้ฟังเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว
ตอนแรก ลูกน้องคิดว่า "ตัน" จะเล่นเคล็ดตัวเลข
ลดจำนวนเรือจาก 100 เหลือ 99
เมื่อลูกน้องถามว่าอีกลำหนึ่งจะเอาไปไหน
คำตอบก็คือ "เอาไว้ที่บ้าน"
"ตัน" บอกว่ามัวแต่ช่วยคนอื่น แต่ลืมตัวเอง
มหันตภัยครั้งนี้ใหญ่หลวงกว่าที่ใครจะคาดคิด
"จุดต่ำสุด" หรือ "จุดที่แย่ที่สุด" ที่คนอยุธยาและนครสวรรค์เคยคาดการณ์ไว้ วันนี้ทุกคนรู้แล้วว่า "ความจริง" ครั้งนี้เลวร้ายกว่าที่เขาคิดไว้หลายเท่าตัวนัก
ช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา "ตัน" ค่อนข้าง "อิน" กับการช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม
ตอนแรก เขาคิดว่าน้ำท่วมครั้งนี้จะบริจาคเงินช่วยเหลืออย่างเดียว
เพราะช่วงนี้ "ตัน" เริ่มลุยธุรกิจชาเขียว "อิชิตัน" อย่างเต็มตัว
ไม่มีเวลาว่างเหมือนตอนที่ช่วยน้ำท่วมครั้งก่อน
เขาขออนุญาตคู่ชีวิต "อิง" สุนิสา ภาสกรนที ว่าจะบริจาคเงินก้อนใหญ่เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม
40 ล้านบาท
แต่หลังจากเห็นข่าวอุทกภัยครั้งใหญ่ "ตัน" ก็ทนไม่ได้ เขาระดมมิตรรักแฟนเพลงจาก "แฟนเพจ" ของเขามาช่วยบรรจุของลงถุงยังชีพ เพื่อนำไปบริจาคให้กับผู้ที่เดือดร้อน
ครั้งแรก เมื่อวันที่ 18 กันยายน ที่ "อารีน่า10"
มีคนไปร่วมประมาณ 2,000 คน
จากนั้น "ตัน" ก็ลุยซื้อเสื้อชูชีพ 10,000 ตัว และเรือท้องแบนขนาด 15-20 ที่นั่งจำนวน 100 ลำ
ส้วมไฟเบอร์ 12 หลัง ส้วมกระดาษอีก 100 ชุด
และวันอาทิตย์ที่ 9 ตุลาคมที่ผ่านมา "ตัน" ก็ขอแรง "แฟนเพจ" เป็นครั้งที่ 2 เพื่อบรรจุของลงในถุงยังชีพจำนวน 20,000 ชุด
ครั้งนี้มีคนไปร่วม "จิตอาสา" ถึง 7,000 คน
วันอังคารที่ 11 ตุลาคม "ตัน" มีกำหนดการต้องไปมอบของให้กับผู้ว่าฯลพบุรี
แต่เขาเปลี่ยนใจ เมื่อทราบข่าวจากลูกน้องว่าโรงงาน "อิชิตัน" มูลค่า 3,500 ล้านบาทของเขากำลังอยู่ช่วงวิกฤต
"ตัน" ตัดสินใจเข้าไปโรงงาน "อิชิตัน"
เพื่อสู้กับ”น้ำ”กับลูกน้อง
..................
ตั้งแต่เริ่มบริษัท ไม่ตัน และเปิดตัวสินค้าใหม่ทั้งเครื่องดื่มดับเบิ้ลดริ้งก์ และชาเขียวอิชิตัน
"ตัน" ใช้ระบบการจ้างผลิต
เพราะโรงงานใหม่ของเขาอยู่ระหว่างการก่อสร้างและติดตั้งเครื่องจักร
และด้วยสไตล์การตัดสินใจอย่างรวดเร็วของ "ตัน"
โรงงานมูลค่า 3,500 ล้านบาทใช้เวลาก่อสร้างไม่ถึง 1 ปี
เดือนพฤศจิกายนที่จะถึงนี้ โรงงานของเขาจะเดินเครื่องอย่างเต็มที่
และจะเป็นโรงงานชาเขียวที่มีกำลังการผลิตสูงสุดในเมืองไทย
ทันทีที่เกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ และน้ำเริ่มตีโอบนิคมอุตสาหกรรมโรจนะ
"ตัน" ก่อกำแพงสูงกว่า 3 เมตร รอบโรงงาน
ตอนแรกเขาเชื่อมั่นว่ากำแพงดังกล่าวจะสู้กับ "น้ำ" ได้
แต่เมื่อโรงงานฮอนด้าถูกน้ำทะลักเข้าร่วม
ความมั่นใจของ "ตัน" เริ่มลดลง
แต่ยังเชื่อว่า "ปาฎิหาริย์" น่าจะมีจริง
คืนวันจันทร์ที่ 10 ตุลาคม เขาได้รับโทรศัพท์จากลูกน้องว่า "กำแพง" ที่กั้นไว้เริ่มจะสู้ไม่ไหว
อาหารและน้ำเริ่มร่อยหรอ และน้ำมันที่ใช้กับเครื่องปั่นไฟเริ่มไม่พอเพียง
ในขณะที่ลูกน้องเริ่มหมดแรงลงเรื่อยๆ
"ตัน" ตัดสินใจเข้าไปโรงงาน เพื่อให้กำลังใจและสู้ร่วมกับ "ลูกน้อง"
ตอนเช้าที่คุยกัน "ตัน" ยังมีเสียงที่สดใส
เขายังคิดแก้ปัญหาเรื่องการขนน้ำมันเข้าไปโรงงาน
และวางแผนจะไปนอนที่โรงงานร่วมกับลูกน้อง
"ผมเตรียมชุดนอนไว้แล้ว"
แต่พอตอนบ่าย เมื่อโทรศัพท์ไปคุยกันอีกครั้งหนึ่ง
เสียงของ "ตัน" เริ่มเปลี่ยนไป
เขาบอกว่าคงต้องยอมรับความเป็นจริง และวางแผนอพยพลูกน้องออกจากโรงงานให้ปลอดภัยที่สุด
"ผมจะเป็นคนสุดท้ายที่ออกจากโรงงาน"
ผ่านไปจนถึงช่วงเย็น ในรายการเรื่องเด่นเย็นนี้ ช่วง "เจาะข่าวเด่น"
"สรยุทธ์ สุทัศนะจินดา" บุกเข้าไปในโรงงาน "อิชิตัน" เพื่อสัมภาษณ์ "ตัน"
ไม่มีใครเห็นภาพ เพราะรถถ่ายทอดสดไม่สามารถเข้าไปได้
มีแต่เสียงของ "ตัน" และ "สรยุทธ์"
ช่วงต้นเขายังคุมอารมณ์อยู่ "ตัน" ยังบอกว่าคนที่เดือดร้อนกว่าเขายังมีอีกมากมาย เขายังมีกำลังที่จะสู้ต่อได้
"แต่วันนี้คงจบแล้วสำหรับภารกิจกู้โรงงาน พรุ่งนี้ก็กลับไปทำมาหากินกันต่อ ตราบใดที่ยังมีลมหายใจ เราต้องมีกำลังใจ"
เมื่อ "สรยุทธ์" รู้ว่า "ตัน" จะนอนค้างที่นี่ เพื่อส่งพนักงานคนสุดท้ายออกไปให้หมด และเหลือคนอยู่เฝ้าโรงงาน 5 คน
เขาเสนอทางเลือกว่าให้ช่วยนำพนักงานออกให้หมดภายในคืนนี้แล้ว "ตัน" ออกไปด้วยกันกับเขา
แต่ "ตัน" ปฏิเสธ บอกว่าที่นี่ยังมีเครื่องปั่นไฟ มีอาหาร
"ผมขออยู่ที่นี่สักคืนหนึ่ง" เสียงของ "ตัน" เริ่มสั่นเครือ และขาดหายเป็นช่วงๆ
"....อยู่ให้สมกับที่ลงทุนไป"
ในจอโทรทัศน์มีแต่ความเงียบประมาณ 10 วินาที
ไม่มีเสียงของ "ตัน" หรือ "สรยุทธ์"
เพราะ "ตัน" ร้องไห้
.................
ภาพของ "ตัน" น้ำตาคลอ แพร่ภาพอีกครั้งในช่วง "เรื่องเล่าเช้านี้"
พร้อมกับ "แฟนเพจ" เข้ามาให้กำลังใจ 6,000 กว่าคน
3 โมงเย็นของวันพุธที่ 12 ตุลาคม "ตัน" เพิ่งออกจากโรงงาน
"คุณเชื่อไหม ตลอดระยะทาง 14 กิโลเมตรจากโรงงาน มันมีแต่น้ำ ทุกโรงงานมีแต่น้ำท่วมกับท่วมมาก"
เขาเล่าว่าระหว่างที่นั่งรถจะมีคนงานโรงงานต่างๆขอโดยสารออกมาด้วย
แต่ละคนอยู่ในสภาพที่ทั้งหมดแรง และหมดกำลังใจ
"ผมยังมีแรง มีเงินที่จะสู้ต่อ แต่บางคนบ้านก็ถูกน้ำท่วม โรงงานก็ท่วม บ้านก็ไม่มีอยู่ งานก็ไม่มี เงินก็ไม่มี น่าสงสารมาก"
จากประสบการณ์ครั้งนี้ "ตัน" อยากฝากไปถึงคนไทยทุกคนว่าปัญหาที่เกิดขึ้นในขณะนี้ไม่ใช่ปัญหาของคนใดคน หนึ่ง ไม่ใช่ของรัฐบาล แต่เป็นของคนไทยทุกคน
"ถ้าเรียกร้องได้ ผมอยากเรียกร้องให้คนไทยที่ยังมีแรงอยู่ให้ออกมาช่วยกันให้มากที่สุด ใครมีเงินช่วยเงิน ช่วยเรื่องสิ่งของ ใครมีแรงช่วยออกแรง ปัญหาวันนี้มันหนักหนาสาหัสจริงๆ"
"ผมขอร้อง..."