ความแตกต่างระหว่างพ.ศ.-(ภาพ บน) เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ชายเสื้อดำใช้ปืนยาวยิงตำรวจที่บชน.เดิมตรงผ่านฟ้า โดยมีนักศึกษาช่างกลนำปืนที่ยึดมาได้จากร้านปืนแถวย่านแยกอุณากรรณ์ เป็นไรเฟิ่ล คอยส่งกระสุนให้ และก่อนค่ำวันนั้น บชน.ก็ถูกอาชีวะและประชาชนใช้รถน้ำ้ฉีดน้ำมันแล้วเผาจนวอดทั้งตึก (ภาพล่าง)ผู้ชุมนุมนปช.ในเหตุการณ์ 19 พฤษภาคม 2553 ใช้บั้งไฟ กับหนังสติ๊กยิงสู้กับอาวุธหนักของฝ่ายทหาร
โดย ทีมข่าวไทยอีนิวส์
14 ตุลาคม 2554
ว่าไปแล้ว.. ข้อเรียกร้องทางการเมืองของคนเสื้อแดง จากการต่อสู้ ในเดือน มีนาคม-พฤษภาคม 2553 คือ "ขอให้รัฐบาล ยุบสภาและเลือกตั้งใหม่"
เมื่อเทียบกับข้อเรียกร้องทางการเมืองของ นักเรียน นักศึกษา ในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 คือ "ขอรัฐธรรมนูญ ขอการเลือกตั้ง และขอให้ รัฐบาลเผด็จการออกไป" แล้ว
จะเห็นได้ว่าข้อเรียกร้องของนักเรียนนักศึกษา คนเดือนตุลา ใหญ่หลวง หนักหน่วงสำหรับชนชั้นปกครอง ยิ่งกว่าข้อเรียกร้องให้ "ยุบสภา" ของคนเสื้อแดงเป็นอย่างมาก
แต่คนเดือนตุลา ถูกยกย่องให้เป็น วีรชน ในขณะที่คนเสื้อแดง ถูกเรียกว่า ผู้ก่อการร้าย
ในแง่ของความรุนแรง เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 มีการใช้อาวุธต่อต้านการปราบปรามของเจ้าหน้าที่แบบที่พอหาได้ เผาสถานที่ราชการ และ ลุกลามขยายไปหลายที่ เกิดเหตุจลาจลไปทั่วกรุง
และเราต่างก็รู้เห็นกันชัดเจนว่า นักเรียน นิสิต นักศึกษา เป็นฝ่ายเผา เราเรียกสิ่งนั้นว่า "วีรกรรม" และเรียกผู้กระทำการวันนั้นว่า "วีรชน"
ในขณะที่เหตุการณ์ เผาเซ็นทรัลเวิร์ด ยังมีข้อโต้แย้งและข้อเท็จจริงมากมาย จากเจ้าของสถานที่ และ รปภ. กล้องวงจรปิด ที่บ่งชี้ว่าเกิดจากฝีมือของคนมีอาวุธหนัก และมีข้อเท็จจริงอีกมากที่บ่งชี้ว่า ไม่ใช่เป็นฝีมือของคนเสื้อแดง (อ่านข่าว:จนท.CTWเบิกความคดีเผาต่อศาล เผยมีชายชุดดำคล้ายทหารพรานขว้างระเบิดในอาคารก่อนเผา)
แต่คนเสื้อแดงถูกรวบรัดให้เป็นผู้ก่อการร้าย เผาบ้าน เผาเมือง
อย่างไรก็ตาม พฤติกรรม "เผาบ้าน เผาเมือง" ของ นักเรียน นิสิต นักศึกษา ที่เคลื่อนไหวทางการเมืองเรียกร้อง "รัฐธรรมนูญ การเลือกตั้ง และขับไล่รัฐบาลเผด็จการ" ในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ได้รับการเรียกขานว่า "วีรกรรม" และ"วีรชน" ผู้เสียชีวิตในวันนั้นได้รับพระราชทานเพลิงศพอย่างสมเกียรติ
ในโอกาสนี้จึง นำเสนอภาพเชิงเปรียบเทียบ "การเผาบ้าน เผาเมือง" ในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 กับ 19 พฤษภาคม 2553 และผลลัพธ์ที่ตามมา
1.ชายชุดดำยุค14ตุลา2516
ชาย ที่ใส่เสื้อสีดำใช้ปืนยาวยิงตำรวจที่บชน.เดิมตรงผ่านฟ้า โดยมีนักศึกษาช่างกลนำปืนที่ยึดมาได้จากร้านปืนแถวย่านแยกอุณากรรณ์ เป็นไรเฟิ่ล ซุ่มยิงตำรวจ โดยมีพรรคพวกคอยส่งกระสุนให้ และก่อนค่ำวันนั้นเอง(15ต.ค.2516) บชน.ก็ถูกอาชีวะและประชาชนใช้รถน้ำ้ฉีดน้ำมันแล้วเผาจนวอดทั้งตึก
หากเรื่องนี้มาเกิดในพ.ศ.2553 พวกเขาจะถูกเรียกว่า"ผู้ก่อการร้ายชายชุดดำ เผาบ้านเผาเมือง" แต่ในยุค 14 ตุลา 2516 เราเรียกพวกเขาว่า"วีรชนผู้รักชาติ"
2.พันเอกร่มเกล้ายุค14ตุลา16
ทหาร ราบ 11 เริ่มนอนหมอบหลังจากถูก Sniper อาชีวะยิง ด้วยปืนไรเฟิ่ล นายทหารคนซ้ายมือ กำลังมองหาที่มาของจุดยิงปืนไรเฟิ่ล ที่ยิงทหารจนทะลุหมวกเหล็ก ล้มทั้งยืน
หาก เรื่องนี้มาเกิดในปีพ.ศ.2553ทหารที่ถูกยิงจนทะลุหมวกเหล็กจะกลายเป็นพลเอก และสลิ่มในเฟซบุ๊คจะเขียนยกย่องวีรกรรม แต่เรื่องนี้เกิดในปี2516พวกเขาจึงถูกเรียกว่า"สมุนทรราชย์เข่นฆ่าประชาชน"
3.การระบายความคับแค้นของประชาชนยุค14ตุลาฯ
การ เผาทำลายสถานที่ราชการ เช่น ที่ทำการกรมประชาสัมพันธ์ ตึกกตป. ตึกบชน. การเผารถเมล์เพื่อใช้ควันไฟพลางทหารในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ถูกอธิบายว่าเป็นการระบายความคับแค้นของประชาชนที่มีต่อสัญลักษณ์ของระบอบ เผด็จการ จึงถือเป็นวีรกรรม
ของวีรชน 14 ตุลาคม 2516
แต่หากมาเกิดในปัจจุบันจะถูกเรียกว่า "เผาบ้าน เผาเมือง"
วิดิโอนี้ เสนอภาพ "เผาบ้าน เผาเมือง"(หากเป็นมิติในปัจจุบัน)ในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 หลังจากจอมพลถนอมประกาศ ลาออกจากนายกรัฐมนตรี นายสัญญา ธรรมศักดิ์ (องคมนตรี) ได้รับโปรดเกล้าฯ เป็นนายกรัฐมนตรีและประกาศ จะให้มีรัฐธรรมนูญภายใน 6 เดือน
4.การพระราชทานเพลิงศพวีรชน
15 ตุลาคม 2517 ภาพเหตุการณ์ ณ เมรุสนามหลวง สถานที่พระราชทานเพลิงศพ "วีรชน 14 ตุลาคม 2516" (ปกติสนามหลวงไม่ใช่เป็นสถานที่ ฌาปณกิจ สามัญชน)
ริ้ว ขบวน นิสิต นักศึกษา ประชาชน แห่แหน ศพ "วีรชน" อย่างยิ่งใหญ่ (หากเรื่องนี้มาเกิดในปี2553 พวกเขาจะกลายเป็นศพที่ยังไม่รู้ว่าใครฆ่า อาจถูกกล่าวหาเป็นผู้ก่อการร้ายที่ถูกสังหาร และผู้นำการประท้วงของพวกเขาอาจถูกดำเนินคดีก่อการร้าย)
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ ทรงจุดฝักแค พระราชทานเพลิงศพ "วีรชน 14 ตุลาคม 2516"
ส่วน งานศพของผู้เสียชีวิตในเหตุึการ์เมษา-พฤษภาคม 2553 ไม่ได้รับการยกย่องเป็นวีรชนของชาติอย่างเป็นทางการ แต่ประชาชนไทยและคนเสื้อแดงยกย่องเป็นวีรชนไพร่ โดยทำพิธีศพกันเอง ล่าสุดในวันที่ 16 ตุลาคมนี้จะมีพิธีฌาปณกิจศพ 6 วีรชนจากเหตุการณ์ 10 เมษาฯ ที่วัดบำเพ็ญเหนือ เขตมีนบุรี ในสถานการณ์ข่าวน้ำท่วม กำลังหลากท่วมทุกกระแสข่าว(ดูรายละเอียด)
5.เมื่อนกสีเหลือง14ตุลา2516 เป็นวีรชน แต่นกสีแดง19พฤษภา2553เป็นทรชนในทัศนะของหงา คาราวาน
ในยุค 14 ตุลาคม 2516 สุรชัย จันทิมาธร หรือ หงา คาราวาน แต่งและขับร้องเพลงเชิดชู"นกสีเหลือง"เป็นวีรชน
แต่ในยุค19 พฤษภาคม 2553 หรืออีก 37 ปีต่อมา หงาซึ่งขึ้นเวทีพันธมิตร มีจุดยืนสนับสนุนสนธิ ลิ้มฯอย่างแข็งขัน ไม่ลังเลที่จะแต่งและขับร้องเพลงชื่อ "ขอสันติภาพ" ด้วยสายตา"ของสลิ่มชนชั้นกลางในกรุงเทพฯ" ที่ได้แต่ติดตามข้อมูลข่าวสารจากสื่อกระแสหลักแล้วเห็นว่า บ้านเมืองลุกเป็นไฟเพราะการประท้วงในกรุงเทพฯเป็นสงครามกลางเมืองของพวกกบ ฎที่ก่อการโค่นรัฐบาลเพราะความ"บ้าสี"แตกคอกัน แล้วขนคนจากภาคเหนือ-อีสานเข้ามา ทำให้ชาวบ้านร้านค้าในกรุงเทพฯไม่กล้าออกจากบ้าน ซึ่งที่สุดก็ไม่มีฝ่ายใดมีชัยชนะ เราขอสันติภาพได้ไหม
โดยการร้องเพลงนี้ในช่วงเหตุการณ์ปราบปรามประชาชนในเดือนพฤษภาคม 2553 แล้วส่งให้สรยุทธ์ สุทัศนะจินดาเผยแพร่ทางรายการเรื่องเล่าเช้านี้ ทางช่อง 3
นี่คือความต่างระหว่างพ.ศ. เป็นภาพเหมือนที่ช่างแตกต่างอย่างชวนขบคิดและกังขา..
**********
เรื่องเกี่ยวเนื่อง:Sinar-ช่างภาพหัวเห็ด กับเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ
ภาพชุดประวัติศาสตร์ขาวดำข้างต้น มาจากผู้ใช้นามแฝงว่า"Sinar" ซึ่งเป็นช่างภาพที่ได้บันทึกภาพเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เอาไว้
คืนวันที่ 13 ตุลาคม 2516 ผมกลับไปนอนบ้านอย่างสบายใจ หลังจากดูเหมือนว่าที่ชุมนุมนักศึกษาใกล้จะสลายตัวแล้ว เพราะเฝ้ากันมาสองสามวันแล้ว
แต่แล้วเช้าตรู่ 14 ตุลาก็เกิดเหตุปะทะอย่างรุนแรงที่หน้าวังสวนจิตรลดา ตรงข้ามเขาดิน จนกระทั่งพระเจ้าอยู่หัวต้องรับสั่งให้เปิดประตูให้นักศึกษาเข้าไปในบริเวณ วังสวนจิต เป็นการบรรเทาเหตุ
ผมตื่นขึ้นมาพร้อมกับประกาศของรัฐบาลทหารอย่างดุดันว่าจะปราบปรามอย่างเด็ด ขาด ผมคว้ากล้องออกไปราชดำเนินทันที โดยข้ามจากฝั่งธนข้ามสะพานพระปิ่นเกล้า เวลานั้นทหาร โดยรถถัง M 41 (คันโบราณที่เอามาปฏิวัติ 19กย.)และทหารจากราบ11เริ่มยิงขับไล่นักศึกษาออกมาจากถนนจักรพงษ์ (หน้าโรงพักชนะสงคราม)แล้ว ผมต้องหมอบคลาน ข้ามช่องถนนนั้นหนีห่ากระสุนเพื่อข้ามไปด้านโรงแรมรัตนโกสินทร์ โดยใช้เกาะเตี้ยๆกลางถนนราชดำเนินเป็นที่กำบัง โดยมีกระสุนวิ่งผ่านหัวไป พร้อมกับลากกระเป๋ากล่องไปด้วย
ไม่นานรถถังรุกคืบหน้าออกมาถนนราชดำเนินโดยมีทหารราวหนึ่งกองร้อย ยิงเปิดทางออกมาตลอด ผมก็ไม่รู้ว่าเป็นกระสุนยางหรือกระสุนจริง แต่ช่วงนั้นยังไม่มีคนตาย ยิงทั้งปืนเล็ก M-16 ยิงทั้งแกสนำ้ตาอย่างหนัก ช่วงบ่ายกระสุนจริงเริ่มออกฤทธิ์ ผมเห็นคนถูกยิงแถวของสนามหลวงร่วงเป็นใบไม้ รวมทั้งเณรด้วยที่ผมเห็นกับตา
ผมวิ่งพล่านอยู่กับช่างภาพ นสพ.กลุ่มหนึ่งราว10เลยตัดสินใจ บอกพรรคพวกว่าเราอยู่ตรงนี้ไม่ได้ต้องตายแน่ ผมจึงวิ่งไปหาทหารพร้อมชูบัตรหนังสือพิมพ์ แล้วตะโกน "อย่ายิงๆ หนังสือพิมพ์ ขอเข้าไปหน่อย" พวกเราถูกค้นตัว โดยทหารทุกคน เฮ้อ...รอดตายไปอีกนิด
ผมบอกกับนายทหารด้วยว่า ยิงสูงๆไว้นะอย่าต่ำมาก ดูเหมือนว่าเขาก็เข้าใจและจะดูตื่นๆกับเหตุการณ์เหมือนกัน
ฝ่ายนักศึกษาโดย นักเรียนช่างกลเป็นหัวหอก พวกนี้ใช้ได้เลยครับ ระห่ำจริงๆ ยึดรถขับพุ่งชนทหาร แต่ก็ถูกยิงสกัดไว้ได้ก่อนที่จะมาถึงรถถัง ทหารคนหนึ่งถูกยิงต่อหน้าต่อตาผม กระสุนทะลุหมวกเหล็กเห็นเป็นรูทหารทรุดลงกับพื้นเลย จึงทำให้ทหารโมโหกดปืนยิงใส่่ประชาชน มันเหมือนสาดน้ำใส่กันแล้วครับ แต่อย่างไรทหารก็ได้เปรียบกว่าอยู่แล้ว จึงมีคนเสียชีวิตไปเยอะ
แต่ทหารที่ถูกยิงผมก็ไปเยี่ยมเขาอีกทีนะครับหลังจากผ่านไปสักสองเดือนที่ รพ.พระมงกุฏฯ เขาพิการ ตาลอยเอ๋อๆเพราะกระสุนเข้าหัวครับ
อาชีพช่างภาพหนังสือพิมพ์ที่ผมชอบก็คือ เราอยู่ตรงนั้น เป็นอย่างนั้น เรารู้จริง เพราะมันอยู่ตรงหน้าเรา เมื่อเหตุการณ์ที่เป็นประวัติศาสตร์ของชาติมีการบันทึกกัน พูดกัน เราจะ เห็นด้วยหรือแย้ง อย่างมั่นใจว่า เรารู้จริง...
ก็เราอยู่ตรงนั้นแหละ