ส่งเสริมคนดีให้ได้ปกครองบ้านเมือง

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

Sunday, 11 September 2011

รักอยู่ยาวให้บั่น รักสั้นให้ดึงดันต่อ

ที่มา มติชน



โดย จำลอง ดอกปิก

(ที่มา คอลัมน์ระหว่างวรรค หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับประจำวันที่ 10 กันยายน 2554)

ภาพรัฐบาลสมัคร สุนทรเวช รัฐบาลสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อาจยังตามหลอกหลอนรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ทายาทผู้สืบทอดมรดกการเมืองจาก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จึงหยิบยกบางวาระขึ้นมาดำเนินการเป็นเรื่องเร่งด่วนสำคัญลำดับแรกๆ

ใน สมัยรัฐบาลสมัครและรัฐบาลสมชายนั้น ยังไม่ทันได้ทำอะไร รัฐบาลก็มีอันล้มคว่ำไปเสียก่อน ด้วยปัญหาคุณสมบัติผู้นำรัฐบาล และการยุบพรรค อันนำมาสู่การเปลี่ยนขั้วรัฐบาลในที่สุด

จึงเป็นไป ได้ว่ารัฐบาลพรรคเพื่อไทยเกรงประวัติศาสตร์ซ้ำรอย จึงไม่รีรออีกต่อไป คิดอยากทำอะไรก็ลงมือทำทันที แม้แต่เรื่องร้อนๆ อย่างเช่นการผลักดันตั้งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติคนใหม่ และโดยเฉพาะการทำเรื่องขอพระราชทานอภัยโทษ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร

ใน มุมมองรัฐบาลการดำเนินการช่วงนี้อาจถูกจังหวะเวลายิ่ง ทั้งนี้ เนื่องจากกลิ่นอายของชัยชนะจากการเลือกตั้ง ที่ประชาชนไว้วางใจพรรคเพื่อไทยเข้าบริหารประเทศยังไม่จางหาย ฝ่ายตรงกันข้ามเองก็ไม่อยู่ในฐานะพอทัดทาน หรือหาเหตุผลและเงื่อนไขใดมาหักล้าง การดำเนินการเรื่องต่างๆ ของรัฐบาล ที่มีความชอบธรรม มาจากการเลือกตั้งได้

กระนั้นรัฐบาลก็พึงต้องตระหนัก!

ไม่มีใครปฏิเสธหรอกว่า การคืนความชอบธรรม หรือแม้แต่การนำ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร กลับบ้านนั้นเป็นหนึ่งในนโยบาย และทำให้พรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้ง

แต่ ก็ต้องตอบคำถามเช่นกัน การตอบแทนประชาชนด้วยการผลักดันเรื่องเหล่านี้ทันที แทนที่การแก้ไขปัญหาอีกมากมายอันเป็นผลประโยชน์ต่อสาธารณะนั้นเป็นเรื่องถูก ต้องแล้วหรือไม่

แม้ทำคู่ขนานกันไป มิได้ละทิ้งเรื่องอื่นๆ อาทิ นโยบายเร่งด่วนการลดค่าครองชีพตามการให้คำมั่นสัญญาไว้ก็ตาม แต่นั่นก็ใช่ว่า จะนำมากล่าวอ้างเป็นความชอบธรรมในการดำเนินการ เพราะเป็นหน้าที่ของรัฐบาลโดยตรงอยู่แล้ว ในฐานะอาสาเข้ามาบริหารราชการแผ่นดิน

รัฐบาลจึงควรตัดทิ้งวาระ หรือเรื่องไม่เป็นเรื่องออกไปก่อน เพื่อให้การบริหารราชการแผ่นดินเพื่อประโยชน์สาธารณะอย่างแท้จริงดำเนินไป อย่างราบรื่น ไม่สะดุดขาดตอนหรือเสียเวลาไปกับวาระรอง

ขณะนี้หลาย เรื่องถูกสังคมจับตามอง และมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ ตั้งคำถามเชิงสงสัย ไม่ว่าการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการระดับสูง การถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษ พ.ต.ท.ทักษิณ หรือแม้แต่แนวคิดการตั้งกองทุนความมั่งคั่ง

จริงอยู่บางเรื่องอาจจำเป็นต่อการขับเคลื่อนนโยบายแต่ก็ต้องระมัดระวัง โดยเฉพาะประเด็นคาบเกี่ยว หมิ่นเหม่ถูกมองเป็นเรื่องการเมือง

บาง กรณีอย่างการตั้งกองทุนความมั่งคั่งนั้น เป็นเรื่องใหม่สำหรับประเทศไทย จึงถูกต้องแล้ว ต้องถกเถียงกันด้วยเหตุด้วยผลอย่างกว้างขวาง เพื่อให้ได้ข้อสรุปออกมาดีที่สุด แต่เรื่องนี้ก็น่ายินดี ที่เมื่อมีเสียงท้วงติง วิพากษ์วิจารณ์ถึงข้อดี-ข้อเสีย ฝ่ายรัฐบาลมีท่าทีรับฟังเสียงต่างเหล่านั้น โดยไม่ยืนกราน ดื้อดึงดันต้องทำให้ได้

ตรงกันข้ามกลับยอมทบทวนพับโครงการแต่โดยดี

เหลือ เพียงเรื่องการถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เท่านั้นที่ยังไม่มีความชัดเจน ว่ากระทรวงยุติธรรมหรือนายกรัฐมนตรีจะดำเนินการอย่างไรต่อไป เนื่องจากอยู่ระหว่างการตั้งคณะกรรมการขึ้นมากลั่นกรอง เสนอแนะแนวทาง

เรื่องอันละเอียดอ่อน หมิ่นเหม่ต่อการถูกตีความอย่างใดอย่างหนึ่งเช่นนี้ การหยิบยกขึ้นมาพิจารณาทันทีทันใด อาจมิใช่ให้ผลร้ายเสมอไป

มัน อาจเป็นผลดีก็ได้ หากรัฐบาลรีบตัดสินใจ ยุติการดำเนินการ โดยยกฎีกานี้เสีย อะไรที่ทำแล้วสังคมไม่สบายใจ ก็อย่าได้ไปแตะต้อง สร้างเงื่อนไข

หากทำได้อย่างนี้ แน่นอนว่ารัฐบาลยิ่งลักษณ์ และ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จะได้รับความเห็นอกเห็นใจจากประชาชนอีกมากโข

การรู้จักเสียสละ เป็นคุณสมบัติขั้นพื้นฐานของนักการเมืองผู้ยิ่งใหญ่มิใช่หรือ!