ส่งเสริมคนดีให้ได้ปกครองบ้านเมือง

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

Thursday, 15 September 2011

“ความสำคัญผิดในสาระสำคัญของคำพิพากษาคดีที่ดินรัชดา”: สมลักษณ์ จัดกระบวนพล(กก.ปปช

ที่มา thaifreenews

โดย สุรชัย..namome

สมลักษณ์ จัดกระบวนพล (ภาพจากไทยรัฐ)

สิ่งที่สังคมต้องทำความเข้าใจ ก็คือสาระสำคัญของคำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หมายเลขคดีที่ อม.๑/๒๕๕๐ ระหว่างอัยการสูงสุด โจทก์ กับพันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร ที่ ๑ คุณหญิงพจมาน ชินวัตร ที่ ๒ จำเลย หรือที่เราเรียกกันติดปากว่า "คดีที่ดินรัชดา” เนื่องจากผู้เขียนเคยดำรงตำแหน่งอยู่ในสถาบันตุลาการมาเป็นเวลาถึง ๓๖ ปี อดรู้สึกสะเทือนใจไม่ได้เมื่อมีสังคมกล่าวขวัญเป็นเชิงตำหนิ หรือวิจารณ์ ผลแห่งคำพิพากษาคดีนี้โดยมิได้ศึกษาและทำความเข้าใจสาระสำคัญในคำพิพากษาคดี นี้ให้ถ่องแท้เสียก่อน


กลุ่มคนที่ไม่เห็นด้วยกับคำ พิพากษาก็มักจะพูดว่า “สามีลงชื่ออนุญาตให้ภรรยาไปทำนิติกรรมตามที่กฎหมายบัญญัติ กลับมีความผิดถึงติดคุก ๒ ปี ส่วน กลุ่มคนที่ต้องการนำผลคำพิพากษาไปใช้ให้เป็นประโยชน์กับฝ่ายตนและทับถมฝ่าย ตรงข้ามก็พูดว่า “เพราะจำเลยทุจริตคอร์รัปชันศาลจึงพิพากษาจำคุก ๒ ปี แล้วหนีไปอยู่ต่างประเทศ” ขอทำความเข้าใจต่อสังคมให้เป็นทีประจักษ์เป็นลำดับดังนี้

(๑) กฎหมาย ที่โจทก์ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองคือ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔,มาตรา ๑๐๐ และมาตรา ๑๒๒ หรือที่เรียกกันติดปากว่า “กฎหมาย ป.ป.ช.” ในกฎหมายดังกล่าว มาตรา ๑๐๐ บัญญัติว่า


มาตรา ๑๐๐ ห้ามมิให้เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ใดดำเนินกิจการดังต่อไปนี้
๑) เป็นคู่สัญญาหรือมีส่วนได้เสียในสัญญาที่ทำกับหน่วยงานของรัฐที่เจ้าหน้าที่ ของรัฐผู้นั้นปฏิบัติหน้าที่ในฐานะที่เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งมีอำนาจกำกับ ดูแล ควบคุม ตรวจสอบ หรือดำเนินคดี
๒) ...............................

มาตรา ๑๐๐ วรรคสองบัญญัติว่า “เจ้าหน้าที่ของรัฐตำแหน่งใดที่ต้องห้ามมิให้ดำเนินกิจการตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.กำหนด” (ซึ่งปัจจุบันนี้คณะกรรมการ ป.ป.ช.กำหนดอยู่ ๒ ตำแหน่ง คือ นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรี)

มาตรา ๑๐๐ วรรคสามบัญญัติว่า “ให้นำบทบัญญัติในวรรคหนึ่งมาใช้บังคับกับคู่สมรสของเจ้าหน้าที่ของรัฐตาม วรรคสอง (นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี) โดยให้ถือว่าการดำเนินกิจการของคู่สมรสดังกล่าวเป็นการดำเนินกิจการของเจ้า หน้าที่ของรัฐ (จำเลยที่ ๒ เป็นคู่สัญญาซื้อขายที่ดินรัชดา จึงถือเป็นการดำเนินกิจการของจำเลยที่ ๑) ในกรณีที่ศาลพิพากษาว่าจำเลยที่ ๑ กระทำความผิดตามมาตราดังกล่าวโดยได้วินิจฉัยว่า

“เมื่อ จำเลยทั้งสองไม่มีพยานหลักฐานใดมาพิสูจน์ให้เห็นได้ว่า จำเลยที่ ๑ (พ.ต.ท.ทักษิณ) มิได้รู้เห็นยินยอมด้วยในการที่จำเลยที่ ๒ (คุณหญิงพจมาน) ดำเนินกิจการตามมาตรา ๑๐๐ แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.๒๕๔๒ เพื่อแก้ตัวให้จำเลยที่ ๑ พ้นผิดตามมาตรา ๑๒๒ วรรคสอง เช่นนี้ผู้พิพากษาจึงมีมติด้วยคะแนนเสียง ๕ ต่อ ๔ ว่า จำเลยที่ ๑ เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐที่กระทำการฝ่าฝืนบทบัญญัติมาตรา ๑๐๐(๑) ซึ่งต้องรับโทษตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๒๒ แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.๒๕๔๒ ข้อต่อสู้ของจำเลยทั้งสองในส่วนนี้ฟังไม่ขึ้น”


อธิบาย เพิ่มเติมว่าความผิดทางอาญานั้นมีทั้งความผิดโดยต้องมีเจตนาทุจริต กับความผิดที่ไม่ต้องมีเจตนาทุจริตและต้องชี้แจงว่า การ พิพากษาคดีของศาลต้องถือเสียงข้างมากขององค์คณะผู้พิพากษา คดีนี้มีองค์คณะ ๙ ท่าน เป็นผู้พิพากษาที่เห็นว่า พ.ต.ท.ทักษิณ กระทำผิดมี ๕ ท่าน แต่มีความเห็นว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่ได้กระทำความผิดมีถึง ๔ ท่าน ต้องกล่าวได้ว่าเสียงของผู้พิพากษาก้ำกึ่งกันทีเดียว

(๒) เนื่องจากการกระทำความผิดตามกฎหมายนี้ไม่จำเป็นต้องมีเจตนาทุจริต แต่เป็นความผิดเพราะมีกฎหมายบัญญัติไว้ให้เป็นความผิด และคดีนี้โจทก์ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสอง ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๕๒ และมาตรา ๑๕๗ ซึ่งผู้กระทำความผิดต้องมีเจตนาทุจริตด้วย แต่ศาลมีคำวินิจฉัยยกฟ้องในข้อหานี้โดยวินิจฉัยไว้ชัดเจนว่า


“ลำพัง เพียงแต่จำเลยที่ ๑ (พ.ต.ท.ทักษิณ) ลงลายมือชื่อให้ความยินยอมในการที่จำเลยที่ ๒ จะรับโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท หาใช่เป็นการกระทำในหน้าที่ของจำเลยที่ ๑ ไม่ เพราะได้ความจาก นายวุฒิสิทธิ จันทสูตร เจ้าพนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร สาขาห้วยขวาง ว่า แม้คู่สมรสไม่มาลงลายมือชื่อให้ความยินยอม กรมที่ดินยังสามารถจัดการ โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่ผู้ซื้อได้ โดยเจ้าหน้าที่จะสอบถามคู่สัญญาว่าจะบันทึกยืนยันเรื่องโมฆียกรรมและและคู่ สัญญายินยอมตามนั้น องค์คณะ ผู้พิพากษาจึงมีมติด้วยคะแนนเสียง ๘ ต่อ ๑ ว่า จำเลยที่ ๑ ไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๕๒ และมาตรา ๑๕๗ เมื่อการกระทำของจำเลยที่ ๑ ไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๒ และมาตรา ๑๕๗ จำเลยที่ ๒ ย่อมไม่มีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำของจำเลยที่ ๑ ตามบทบัญญัติดังกล่าวด้วย”


ดังนั้นจึงต้องเข้าใจให้ดีว่า การกระทำความผิดของจำเลยที่ ๑ (เฉพาะคดีนี้)ไม่ใช่เป็นการทุจริตหรือคอร์รัปชันแต่ประการใด

(๓) ส่วน ข้อที่ว่าเมื่อไม่ใช่การกระทำความผิดโดยทุจริตแต่เหตุใดศาลจึงพิพากษาจำคุก ถึง ๒ ปี ทั้งยังไม่รอการลงโทษจำคุกให้ ก็ต้องตอบว่าเป็นดุลพินิจของศาล หาใช่เป็นความผิดปกติแต่อย่างใดไม่ เพราะศาลอาจใช้ดุลพินิจในการรอการลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๕๖ ให้จำเลยหรือไม่ก็ได้ ส่วนดุลพินิจจะเหมาะควรประการใดก็ย่อมแล้วแต่ความเห็นแต่ละคนแต่ละกลุ่ม ศาลวินิจฉัยเรื่องไม่รอการลงโทษให้จำเลยที่ ๑ โดยให้เหตุผลว่า


“จำเลย ที่ ๑ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ได้รับมอบหมายไว้วางใจให้บริหารราชการแผ่นดิน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ทางราชการและประชาชน แต่จำเลยที่ ๑ กลับฝ่าฝืนบทบัญญัติของกฎหมายทั้งที่จำเลยที่ ๑ เป็นหัวหน้ารัฐบาล ต้องกระทำตัวให้เป็นแบบอย่างที่ดี ต้องมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ ประพฤติตนในสิ่งที่ดีงามตามจริยธรรมของนักการเมือง ให้เหมาะสมกับที่ได้รับความไว้วางใจในตำแหน่งหน้าที่อันสำคัญยิ่งนี้ จึงไม่สมควรรอการลงโทษ”

ดังนั้น จึงอธิบายได้ชัดเจนว่าที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษาจำคุก พ.ต.ท.ทักษิณในคดีที่ดินรัชดานั้น มิใช่เป็นเรื่องทุจริตหรือคอร์รัปชัน แต่เป็นความผิด เพราะมีกฎหมายบัญญัติให้เป็นความผิด และความผิดตามกฎหมายหมวดนี้ ตั้งแต่ มาตรา ๑๐๐ ถึง มาตรา ๑๐๓ (รับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดจากบุคคลเกินสามพันบาท)

เมื่อ กระทำไปแล้วจะอ้างว่าไม่มีเจตนาทุจริตนั้นฟังไม่ขึ้น เพราะไม่ต้องทุจริตก็มีความผิดแล้ว และต้องขอเตือนคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ ได้โปรดอ่านกฎหมาย ป.ป.ช. หมวดนี้ให้เข้าใจ โดยเฉพาะกฎหมายฉบับใหม่ในหมวดนี้มีมาตรา ๑๐๓/๑ บัญญัติว่า

“บรรดา ความผิดที่บัญญัติไว้ในหมวดนี้ ให้ถือเป็นความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่หรือความผิดต่อหน้าที่ราชการหรือความ ผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรมตามประมวลกฎหมายอาญาด้วย” ที่จะ ต้องเตือนมาก ๆ ก็คืออย่าเที่ยวไปรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดเกินสามพันบาท แล้วอ้างว่าไม่มีเจตนา หากยังมีการกระทำเช่นนี้อีกก็ต้องกล่าวว่า “เราเตือนท่านแล้วนะ แต่ก็มิได้นำพา”

อนึ่ง ถ้าจะให้ดีขอให้คณะรัฐมนตรีและสมาชิกรัฐสภาช่วยตรวจดู พ.ร.บ. การจัดการหุ้นส่วนและหุ้นของรัฐมนตรี พ.ศ. ๒๕๔๓ ให้ดี โดยเฉพาะมาตรา ๔ มาตรา ๕ และอย่าลืมตรวจดูรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ มาตรา ๒๖๕ เสียด้วย

ที่มา : มติชนออนไลน์
เขียนโดย พระอินทร์
http://sewanaietv.blogspot.com/2011/09/blog-post_3675.html
วันพฤหัสบดีที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2554