ส่งเสริมคนดีให้ได้ปกครองบ้านเมือง

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

Friday, 2 September 2011

"อำนาจ"เป็น"ของร้อน" อันตรายของ"นปช.-รัฐบาลปู" ระวังศรย้อนกลับมาทิ่มตำ !!

ที่มา มติชน





ได้ ดิบได้ดีกันถ้วนหน้า สำหรับแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ที่ได้รับการแต่งตั้งจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในรัฐบาล "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร"

ให้ดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมือง ไม่ว่าจะเป็นเลขาฯ ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรี กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี ฯลฯ

ทั้งในทำเนียบรัฐบาล และตามกระทรวงต่างๆ

แต่ การดำเนินการดังกล่าว "น.ส.ยิ่งลักษณ์" จะอ้างว่าเป็นการพิจารณาบุคคลที่มีความรู้ความสามารถมาช่วยทำงาน รวมทั้งควรให้โอกาสแก่บุคคลเหล่านั้นได้ทำงานก่อนที่จะมีการติติง

รวม ถึง "จตุพร พรหมพันธุ์" ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ที่ออกตัวให้โดยอ้างว่าการแต่งตั้ง "กลุ่มคนเสื้อแดง" เข้ามาช่วยงานในกระทรวงต่างๆ นั้น เพื่อช่วยยึดโยงการแก้ปัญหาของรัฐบาลกับภาคประชาชน

ที่สำคัญเป็นการ ตอบโจทย์ของการ "พลัดหลงอำนาจรัฐ" ของกลุ่มเสื้อแดงที่เกิดขึ้นหลังการเลือกตั้ง ที่ไม่มีตัวแทนของ นปช. นั่งเป็นรัฐมนตรีบริหารประเทศเลยแม้แต่คนเดียว

แต่กระนั้นผลพวงจากการปูนบำเหน็จรางวัลในครั้งนี้ กลับเป็นที่อ่อนไหวยิ่งกว่า

อ่อนไหวในเรื่องอารมณ์ความรู้สึกของสังคม

อ่อน ไหวต่อคำปรามาส และเงื่อนไขที่ฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง ที่จะมองกรณีนี้เป็นอาหารอันโอชะ หยิบขึ้นมาโจมตี และยิ่งในยามที่ข้าราชการการเมืองเหล่านี้ อาจจะพลาดหรือเพลี่ยงพล้ำในการปฏิบัติตัว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องใดก็ตาม

อย่างที่ภาษาชาวบ้านเรียกว่า ตกเป็น "ขี้ปาก..ให้คนนินทา" และ "ซ้ำเติม" เอาง่ายๆ

ดังนั้น แม้จะแก้ปัญหาการยึดโยงอำนาจรัฐกับมวลชนได้ แต่ก็ยิ่งต้องระมัดระวังปัญหาอื่นที่จะซ้อนตามมาซึ่งอาจใหญ่กว่า

ด้วย มีรายชื่อบุคคลที่ร้อนแรง อาทิ ตำแหน่งประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ของ "ไพจิตร อักษรณรงค์" "รังสี เสรีชัยใจมุ่ง" หรือ "รังสี เสรีชัย" "ธนกฤต ชะเอมน้อย" หรือ "วันชนะ เกิดดี" อดีตนักร้องลูกทุ่งแกนนำคนเสื้อแดง "วรวุฒิ วิชัยดิษฐ" รักษาการโฆษก นปช. "อรรถชัย อนันตเมฆ" อดีตดารานักแสดงชื่อดังและสมาชิกคนเสื้อแดงคนสำคัญ อีกทั้ง "พงษ์พิเชษฐ์ สุขจินดาทอง" หรือ "ภูมิกิตติ สุขจินดาทอง" อดีตคนสนิท "พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล" หรือ "เสธ.แดง" ซึ่งเป็นลูกน้องคนสำคัญและเป็นมือขวาของ "เสธ.แดง" ที่ร่วมการชุมนุมใหญ่คนเสื้อแดง ในเดือนเมษายนและพฤษภาคม 2553

หรือ จะเป็น "เพชรวรรต วัฒนพงษ์ศิริกุล แกนนำเสื้อแดงสังกัด "กลุ่มรักเชียงใหม่ 51" "ชินวัฒน์ หาบุญพาด" แกนนำ นปช.คนสำคัญ ผู้ก่อตั้งสถานีวิทยุชุมชนคนแท็กซี่ เอฟเอ็ม 92.75 เมกะเฮิรตซ์ และเอฟเอ็ม 107.5 เมกะเฮิรตซ์ และเป็นแกนนำ นปช.รุ่นที่ 2 "ชายยุทธ เฮงตระกูล" แกนนำคนเสื้อแดงพัฒนา เครือข่ายเสื้อแดงสำคัญที่มีบทบาทการชุมนุมที่พัทยาในปี 2552 จนการประชุมอาเซียนซัมมิท ต้องล้มลง

อีกทั้ง "อารี ไกรนรา" ที่นั่งเป็นเลขานุการ รมว.มหาดไทย แกนนำ นปช.ตัวจริง เป็นหัวหน้าการ์ดเสื้อแดงทุกงาน และถูกออกหมายจับสารพัดหมาย และแม้แต่ "ยศวริศ ชูกล่อม" หรือ "เจ๋ง ดอกจิก" แกนนำเสื้อแดงตัวฉกาจ

แน่นอนว่าสังคมไทยควรจะต้องให้โอกาส และไม่พิพากษาใครคนใดคนหนึ่งเสียก่อนตั้งแต่ยังไม่เริ่มทำงาน

แต่ ต้องพิจารณาจากสภาพความเป็นจริงแห่งมนุษย์ว่า จากแกนนำเคลื่อนไหวมวลชนบนท้องถนน มาถึงวันที่ต้องสวมสูท มีตำแหน่งทำงานใกล้ชิดเสนาบดีกระทรวงสำคัญ

แม้จะไม่มีอำนาจเซ็น อนุมัติหรือสั่งการโครงการ นโยบาย หรือการทำงานของข้าราชการโดยตรง แต่การได้อยู่ใกล้ชิด "เสนาบดี" ย่อมมีบทบาทในการให้คำปรึกษาหารือในการตัดสินใจทั้งที่เป็นการตัดสินใจ บริหารงานทั่วไป หรือการตัดสินใจในเรื่องสำคัญ

ตามปกติแล้ว บริบทของ "ข้าราชการการเมือง" ไทย เป็นที่รู้กันดีว่า ทรงอานุภาพมากตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน

รัฐมนตรี หลายคน จึงเลือกบุคคลที่ตัวเองไว้ใจมาเป็นข้าราชการการเมืองทำงานใกล้ชิด คอยเป็นหูเป็นตา เป็นมือไม้ประสานงานสั่งการไปยังข้าราชการ

รวมถึงการปฏิบัติงานลับตามสั่ง

จุดนี้ต่างหากที่ข้าราชการมือใหม่เหล่านี้พึงระวัง คือ การเสพติดอำนาจที่ไม่คุ้นเคย หรือหลงระเริงกับอำนาจใหม่ ที่ไม่เคยได้ลิ้มลอง

การ ยับยั้งชั่งใจต่อกิเลสที่เข้ามาแผ้วพาน ทั้งบรรดาพ่อค้าวาณิชที่ติดต่อซื้อขายประมูลงานกับกระทรวง ตั้งข้าราชการที่วิ่งเต้นขอแต่งตั้งโยกย้าย ล้วนท้าทายต่อการทำหน้าที่ของมือใหม่เหล่านี้ทั้งสิ้น

โดยเฉพาะกระทรวงที่มีสิ่งเย้ายวนใจจำพวกนี้มาก ไม่ว่า กระทรวงคมนาคม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงพาณิชย์ ฯลฯ

แม้เสียงปรามาสจาก "ฝ่ายค้าน" ต่อหน้าตาของข้าราชการการเมืองยุครัฐบาล "ยิ่งลักษณ์" เป็นแต่เพียงการตั้งข้อหาล่วงหน้า

แต่ทว่าความผิดต่อหน้าที่ที่อาจจะเกิดขึ้นหลังจากนี้ต่างหาก ที่จะย้อนศรมาเป็นหนามทิ่มตำ "รัฐบาลยิ่งลักษณ์" ได้ในทุกทิศทาง...

(มติชนรายวัน ฉบับ 2 กันยายน2554 หน้า11)