สัมภาษณ์พิเศษ
อาจกล่าวได้ว่า มีแต่ "ดร.คณิต ณ นคร" และคณะ เท่านั้น ที่ได้รับอาณัติให้เขียน "โรดแมป-ปรองดอง"
ในฐานะอดีตอัยการสูงสุด "ดร. คณิต" บอกว่า กระบวนการยุติธรรมทั้งหมด เป็นอุปสรรคต่อการปรองดอง
ในฐานะหัวขบวนค้นคว้าความจริง "ดร.คณิต" สารภาพกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ยากที่สุด-เหนื่อยที่สุด ในชีวิต
ทุก บรรทัดจากนี้ไป คือรายงานปากเปล่าจาก "ดร.คณิต" ถึงรัฐบาล...ถึง ผู้ก่อการร้าย...ถึงผู้น้ำม็อบ และถึงทุกคนที่ต้องการ สันติ-ปรองดอง
- ขับเคลื่อน คอป.มาถึงวันนี้ เหนื่อยและยากไหมกับการค้นหาความจริง
ยาก ที่สุดในชีวิตผม (เน้นเสียง) เพราะเรื่องมันยังไม่จบ เราไม่ใช่ทำในสิ่งที่จบไปแล้ว เช่น พฤษภาทมิฬ ที่เรื่องจบไปแล้ว มันถึงยากที่สุด คุณคิดว่าผมอยากทำ เหรอ ผมไม่อยากทำหรอก แต่ผมไม่รู้ จะหนีไปไหน ในเมื่อทุกคนพุ่งมาที่ผม เพราะผมพอเชื่อถือได้มั้ง ผมเลยต้องทำ
- ภาพรวมในการหาความจริงสำเร็จไปกี่เปอร์เซ็นต์
มัน ไม่ใช่เหมือนการสร้างบ้าน เวลานี้เราเหมือนมุงหลังคาแล้ว ล่าสุดผมเพิ่มลงนามในหนังสือเพื่อส่งไปถึงผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ อัยการสูงสุด อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เพื่อให้เขาส่งข้อมูลมาให้กับเรา เพราะรัฐบาลชุดนี้สนับสนุนให้ คอป.ได้ทำงานต่อ
ที่ผ่านมาภาครัฐยังให้ความร่วมมือน้อย และเราไม่มีอำนาจในการเรียกข้อมูล รายงานที่เสนอต่อรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เช่น การปล่อยตัวชั่วคราว ห้ามตีตรวนผู้ที่ถูกคุมขังในเหตุการณ์ความไม่สงบเมื่อเดือน เม.ย.-พ.ค. 2553 แต่การตอบสนองกลับมาไม่ค่อยดีเท่าที่ควร เพราะกระบวนการยุติธรรมของเรามีความเข้าใจกฎหมายคลาดเคลื่อน
- ทำไมภาครัฐถึงไม่ให้ความร่วมมือ
ผม คิดว่าเขาคงกลัวมั้ง ความจริงถ้าภาครัฐร่วมมือก็อาจจะเสร็จไปแล้ว ผมไปพบปลัดกระทรวงกลาโหมคนก่อน ตอนนั้นท่านบอกว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมกำลังรวบรวมข้อมูลแต่จนถึง วันนี้ผมก็ยังไม่ได้อะไร
สิ่งที่เราอยากได้ เช่น แผนยุทธการของทหาร เพราะการเคลื่อนกำลังของทหารอยากจะไปไหนต้องมีแผน ถ้าเราได้แบบนั้นก็จะได้รู้ว่าใครรับผิดชอบตรงไหนบ้าง เพื่อจะได้ไปพบและขอความร่วมมือ แต่จนวันนี้ยังไม่ได้เลย
- รัฐบาลยุค น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ให้ความสำคัญกับ คอป.มากน้อยแค่ไหน
เขา เขียนไว้ในนโยบายที่แถลงต่อรัฐสภา ก็คิดว่าจะให้ความร่วมมือที่ดี ถ้าเราขอข้อมูลไปเขาก็สั่งมาหน่อยก็น่าจะได้ เราต้องอยู่ห่างจากการเมือง ถ้าผมเข้าไปใกล้การเมืองก็จะยุ่งอีก ความน่าเชื่อถือจะไม่มี
- การค้นหาความจริงจะเป็นเครื่องมือสร้างความชอบธรรมให้รัฐบาล และอาจทำให้ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดมีส่วนได้ส่วนเสีย
ความ จริงมันก็ต้องยอมรับว่ามันได้อะไร เพราะเราต้องทำงานเพื่อที่จะใช้ความจริงมาตีแผ่ให้เห็น จะได้เป็นบทเรียนไม่ให้มันเกิดขึ้นอีก ซึ่งรายงานของเราทำทั้ง 2 ภาษาไทย-อังกฤษ เพราะเราไม่อยากให้ไปแปลกันผิด ๆ ถูก ๆ ซึ่งเราจะออกรายงานฉบับที่ 2 ภายในเดือนนี้ ในรายงานจะมีข้อเสนอแนะไปให้รัฐบาลด้วย เหมือนที่เราเสนอตั้งแต่รัฐบาลชุดที่แล้วว่าให้มีการเลิกตีตรวน เรื่องประกันตัว แต่ก็ไม่ได้
- ผู้ต้องหาที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมทางการเมือง ในมุมของ คอป.จำเป็นต้องปล่อยไปหรือไม่
การ ก่อการร้ายไม่ใช่ในแบบที่เราเข้าใจ แต่ก่อการร้ายมันเป็นความผิด ที่เขาลงโทษก่อนการกระทำ เช่น คุณตั้งสมาคมอั้งยี่เพื่อจะไปทำผิด เขาลงโทษแล้ว แต่โทษอย่างนี้จะน้อย แต่ของเราโทษถึงประหารชีวิตก็ไปกันใหญ่ แต่ถ้าเขาตั้งสมาคมอั้งยี่แล้วไปทำอะไรต่อ เช่น ฆ่า ไปเผา ก็ว่ากันไป
นอก จากนี้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับก่อการร้ายของเราได้มาโดยไม่ถูกต้อง เพราะออกโดยพระราชกำหนด ไม่ได้ผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรเหมือนปกติ กฎหมายอาญามีที่ไหน เร่งด่วนขนาดนี้ ก็ในสมัยคุณทักษิณ ชินวัตร (อดีตนายกรัฐมนตรี) นั่นแหละเป็นคนทำ
- แสดงว่าสิ่งที่เรียกว่าชายชุดดำ หรือคำว่าก่อการร้าย กลายเป็นอุปสรรคในการปรองดอง
เรื่องนี้กระบวนการยุติธรรมเราไปตั้งคำว่า ก่อการร้าย เพราะเราไม่เข้าใจความผิดฐานก่อการร้ายดีพอ
- คอป.ควรจะเสนอให้รัฐบาลรื้อระบบกระบวนการยุติธรรมใหม่หรือไม่
เรา กำลังดูอยู่ โดยกระบวนการยุติธรรมของเราจะต้องมีการปฏิรูปหลาย ๆ ด้าน เรื่องหนึ่งที่เรากำลังทำอยู่คือ การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม
- ฝƒายไหนในกระบวนการยุติธรรม ที่คิดว่าเป็นอุปสรรคต่อการปรองดอง
ทั้ง หมด ทั้งตำรวจ อัยการ และศาล เช่น อัยการ ซึ่งเป็นสำนักงานเก่าของผม ผมเคยเสนอไปว่า ความผิดที่เกิดการมั่วสุมกันเกิน 10 คนที่เป็นเรื่องของการชุมนุมมันอาจจะเกินเลยไปบ้าง ถ้าจะสั่งไม่ฟ้องให้หมดมันน่าจะดีนะ
ใช้กฎหมายเถรตรงเกินไปมันก็ไม่ เกิดประโยชน์หรอก เพราะฉะนั้นในสถานการณ์อย่างนี้มันต้องมีความคิดกันบ้าง มีดุลพินิจในการไม่ฟ้องได้ เพราะเมื่อคุณใช้กฎหมายแล้วมันสร้างปัญหา คุณก็จะกลายเป็นปัญหาเสียเอง แต่ผมมองว่าที่เป็นปัญหาไม่ใช่กฎหมาย แต่คนเป็นปัญหา
เราไม่สามารถที่จะไปบังคับรัฐบาลได้ ถ้ารัฐบาลเห็นว่าสิ่งที่เราเสนอไปนำไปสู่ความสันติเขาก็เอาไปปฏิบัติ แต่ถ้าผมเป็นอัยการสูงสุดผมจะไม่สั่งฟ้องเสียเลย การเป็นอัยการไม่ยากแต่เป็นอัยการที่ดีมันไม่ใช่ง่าย เพราะคุณต้องมีความคิดช่วยให้สังคมสงบ หากเป็นอัยการเช้าชามเย็นชามจะมีประโยชน์อะไร
- อัยการทำหน้าที่ตอบโจทย์แนวทาง ปรองดองมากน้อยขนาดไหน
ไม่ ได้ทำอะไรเลย ผมเท้าความให้เห็นว่า สมัยหนึ่งครั้งหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ฆ่ากันตายที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถูกจับไปกว่า 2 พันคน อธิบดีกรมอัยการขณะนั้นสั่งไม่ฟ้องหมดเลย เพื่อให้เกิดความรู้สึกที่ดี ต่อมาคนที่หลบหนีในป่าก็ออกมาช่วยชาติเห็นหรือเปล่า ถึงยุครัฐบาลของ พล.อ. เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ก็ออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้ผู้ทำผิดได้กลับเข้ามา พอถึงยุครัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ก็ออกคำสั่ง 66/23 ทุกอย่างก็เข้าที่เข้าทาง
- กรณีที่กลุ่มเสื้อเหลืองบุกยึดสนามบิน และกรณีเสื้อแดงปิดแยกราชประสงค์ เผาเซ็นทรัลเวิลด์ อัยการควรไม่ฟ้อง
ก็ สั่งไม่ฟ้องได้ ฟ้องไปแล้วถอนฟ้องยังได้เลย เพื่อให้เกิดความรู้สึกที่ดีต่อกัน อัยการของเราเป็นคนที่จะช่วยให้เกิดความสงบได้เยอะ แต่ศาลเนี่ยยาก เมื่อส่งฟ้องไปแล้วก็ต้องตัดสิน จะให้เจ๊าเสมอกันไม่ได้ แต่อัยการได้ โดยเฉพาะตำรวจและอัยการจะต้องทำงานร่วมกัน รวมถึงกรมสอบสวนคดีพิเศษด้วย
- ทำเช่นนี้จะพ้นจากข้อครหาว่าถูกแทรกแซงหรือไม่
แทรก แซงใคร ในเมื่อคุณมีดุลพินิจของคุณเองที่จะแก้ป้ญหาได้ แต่แน่นอนคุณก็ต้องรับผิดชอบ เมื่อมีการวิพากษ์วิจารณ์คุณก็ต้องรับผิดชอบ แต่ถ้าเราทำด้วยสุจริตก็ไม่ต้องไปกลัวอะไร สมัยที่ผมเป็นอัยการสูงสุด ผมไม่เคยกลัวนักการเมือง ผมก็ทำไปตามหน้าที่ เรื่องไหนเป็นสิ่งที่ถูกต้องก็ทำไป
- นอกจากอัยการที่จะต้องปฏิรูปตัวเองแล้ว ยังมีองค์กรไหนที่ต้องปฏิรูปเพื่อความปรองดอง
ทุก องค์กรโดยเฉพาะทหาร ผมไปอ่านเจอในรัฐธรรมนูญเยอรมนีเขากำหนดให้มีผู้ตรวจการทหาร ไม่ใช่กรรมาธิการ มีหน้าที่ดูแลทุกข์สุขทหารได้ แต่หากทหารคนไหนทำออกนอกลู่นอกทางเขาปลดเลย
- ทหารต้องปฏิรูปอย่างไรเพื่อให้เข้าสู่โหมดปรองดอง
ใคร จะคาดคิดว่าหลังปี 2540 จะมีทหารมายึดอำนาจ แล้วคนยึดอำนาจตอนนี้อยู่ไหน ก็อยู่ในสภา เห็นไหมประหลาดนะ ทั้งที่คนยึดอำนาจต้องไม่สนับสนุนประชาธิปไตย แต่ตอนนี้ก็เข้าสู่ประชาธิปไตยแล้ว นี่มันเป็นอะไรกัน ไม่เห็นมีใครพูดสักคน เรื่องแบบนี้เราต้องพูดเพื่อปราม โดยใช้ social sanction มาตรการทางสังคมกดดัน จะทำให้คนไม่ดีต้องม้วนเสื่อ
- เวลานี้ยังมีความขัดแย้งกันอยู่ ยังไม่สามารถเข้าสู่กระบวนการเยียวยาได้
สิ่ง ที่ผมพยายามทำคือ ทำให้ความเป็นธรรมเกิดขึ้น การที่จะนำคนผิดขึ้นศาลทั้งหมดอาจเป็นเรื่องไม่ดี ความผิดเล็ก ๆ น้อย ๆ ขึ้นศาลหมดมันมีประโยชน์อะไร ควรเอาแต่เรื่องใหญ่ ๆ
- แสดงว่าควรเอาโรดแมปจากเหตุ การณ์หลัง 6 ตุลาคม 2519 มาปรับใช้เพื่อให้เกิดความปรองดองในยุคปัจจุบัน
ผม เขียนไว้ในรายงาน แนะนำรัฐบาลผมเขียนไปโดยเชื่อว่าเขาไม่กล้าทำหรอก เพราะมันขี้กลัว คนที่อยู่ในสถานะเช่นนั้น เป็นอัยการสูงสุดเขาไม่ใช่ให้คุณ ไปเผยอหน้าอยู่ในสังคม แต่เขาต้องการให้มาแก้ไขปัญหาประเทศชาติ
ผม เสนอให้สั่งไม่ฟ้องทั้งหมด ไม่ว่าจะเหลือง แดง เขียว เพราะมันเป็นเรื่องของการชุมนุม อาจเกินเลยไปบ้างก็ไม่เป็นไร มันไม่ใช่เรื่องร้ายแรง แต่ถ้าไปฆ่าคนเราค่อย single out-เลือกเฉพาะบางคดีออกมา แต่เรื่องของม็อบมันต้องคิด และยิ่งสถานการณ์แบบนี้ต้องคิดให้มากเพราะมันเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ไม่อย่างงั้นจะไปแก้ปัญหาประเทศชาติได้อย่างไร อัยการประเทศอื่นมันแก้ปัญหา แต่ประเทศเรามันไม่ใช่
- หลังอัยการสั่งไม่ฟ้อง จำเป็นหรือไม่จะต้องออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรม
ไม่จำเป็น เพราะเมื่ออัยการสั่งไม่ฟ้องก็คือจบ การนิรโทษกรรมก็ไม่จำเป็น
- คดีของ พ.ต.ท.ทักษิณจำเป็นต้องมีการนิรโทษกรรมหรือไม่
คดี ของคุณทักษิณเป็นคดีการเมืองตรงไหน มันไม่ใช่การเมือง บังเอิญเป็นนักการเมือง จึงคนละเรื่องกัน นักการเมืองทำผิดไม่ได้เหรอ ก็ต้องทำผิดได้เหมือนนายกรัฐมนตรีประเทศญี่ปุ่นยังติดคุก อดีตนายกรัฐมนตรีประเทศเกาหลีใต้ยังกระโดดหน้าผาตายเลย ของไทยมันอย่างหนาไม่ทำอะไร
- แต่ พ.ต.ท.ทักษิณมักพูดว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม
ตรงไหนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม เมื่อคดีขึ้นสู่ศาลดำเนินคดีศาลก็พิพากษาแล้ว ไม่ได้รับความเป็นธรรมตรงไหน
- เมื่อ พ.ต.ท.ทักษิณเป็นชนวนเหตุหนึ่งของความขัดแย้งในสังคมไทย เราจะแก้ปัญหาตรงนี้อย่างไร
บท ความที่ผมเขียนเรื่อง "หักดิบกฎหมาย" เพราะการหักดิบกฎหมายเป็นที่มาของความไม่สงบ มันเกิดขึ้นในสมัยที่คุณทักษิณซุกหุ้นภาค 1 แล้ว จริง ๆ ผมวิเคราะห์ว่าคุณทักษิณแพ้คดี แต่มันเล่นแร่แปรธาตุจนชนะเห็นไหม เขาแพ้คดี 7 ต่อ 6 แต่ตุลาการ รัฐธรรมนูญไม่พิพากษา แล้วเอาคะแนนมารวมเป็น 8 ต่อ 7 อย่างนี้จะไม่เรียกว่าหักดิบได้อย่างไร นี่คือรากเหง้าของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น
เวลานั้นแต่ละคนเชียร์คุณ ทักษิณ สุด ๆ คือคนในบ้านเมืองเราไม่ยึดหลัก แต่มันยึดคนคิดว่าคนนี้มันดี ผมจึงบอกว่าคนมันดีไม่ได้นานหรอก ตอนไม่มีอำนาจก็ดีหรอก แต่พอมีอำนาจเต็มที่ก็ออกลาย นี่คือสาเหตุที่เกิดการฆ่ากัน
-หลังจากนี้โอกาสที่เราจะเห็นความ ปรองดองยังมีอยู่หรือไม่
ชีวิต มันต้องมีความหวัง เราหวังว่าทุกอย่างมันจะดีขึ้นแล้วนำไปสู่ความสงบในอนาคต แต่จะเมื่อไรไม่มีใครตอบได้หรอก มันจะอยู่กันอย่างนี้ได้อย่างไร
-ในประวัติศาสตร์การเมืองไทยทั้ง 14 ตุลา 16, 6 ตุลา 19, พฤษภาทมิฬ ความขัดแย้งที่กลับมาปรองดองกันได้เพราะเขายอมกัน
มันคนละอย่างนะ เหตุการณ์ 14 ตุลา, 6 ตุลา มันเป็นเรื่องของทหารกับประชาชน แต่คราวนี้เป็นเรื่องของประชาชนด้วยกัน
-ข้อเสนอ คอป.ต่อรัฐบาลเป็นโรดแมปความปรองดองที่เคยปฏิบัติสำเร็จมาแล้วในต่างชาติ เช่น แอฟริกา หรือรวันดา
บริบท ทางสังคมไม่เหมือนกัน แต่ของไทยเราอยู่กันสงบมานานแล้ว แม้ว่าเราจะมีชนกลุ่มน้อยหลายเชื้อชาติหลายภาษาแต่เราไม่เคยสู้รบปรบมือกัน นะ ผมยังมีความหวังว่าจะกลับไปแบบเดิมได้ คนไทยไม่ได้เป็นคนใจไม้ไส้ระกำเราเวลานี้นานาชาติได้ส่งนักวิชาการที่เคยทำ เรื่องปรองดองสำเร็จในแอฟริกาใต้ และรวันดาเข้ามาช่วยเรา
-บริบทบ้านเรามีวาทกรรมสองมาตรฐาน
ผม ไม่เห็นว่าสองมาตรฐานตรงไหน แต่การปฏิบัติที่ไม่มีมาตรฐานมันมี เช่น การตีตรวนมันมี การนำคนมาขังโดยไมˆมีเหตุ อย่างนี้ไม่ได้เรียกว่าสองมาตรฐาน ต้องเรียกว่าไม่มีมาตรฐาน
-ประเทศไทยต้องปฏิรูปขนานใหญ่ถึงจะปรองดองได้
ทุก ภาคส่วนช่วยกันก็จะดีขึ้น แต่คราวนี้ไม่ได้ใช้ระยะเวลาอันสั้น มันต้องใช้เวลา เพราะความขัดแย้งคราวนี้มันลงลึกมาก คณะผมไม่ได้รับผิดชอบ ต่อรัฐบาลนะ แต่ผมรับผิดชอบต่อ ประชาชน ยึดประชาชน เพราะเรารู้ว่าตอนตั้งคณะกรรมการใหม่ ๆ จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล แต่เราไม่ได้ห่วง ถ้าเราทำงานแล้วประชาชนเชื่อถือเราก็ทำงานต่อ แต่ถ้าทำงานแล้วถูกมองว่าไม่ได้เรื่องเราก็หยุด ผมไม่ติดยึดอะไร
-อีกนานแค่ไหนสังคมไทยจะได้เห็นความปรองดองเกิดขึ้น
บาง ประเทศ 20 ปีนะมันต้องค่อย ๆ แก้ แต่มันอาจจะเกิดปาฏิหาริย์ขึ้นก็ได้ใครจะไปรู้ แต่เวลานี้คำว่าปรองดองพูดกันเปรอะ ผมไม่ได้พูดเรื่องปรองดอง แต่ผมพูดว่าจะมีสันติภาพเกิดขึ้น เมื่อไรสันติจะกลับคืนมาสู่สังคมเรา คำว่าสันติมันสำคัญยิ่งกว่าปรองดอง
-นักการเมืองพูด-หากินกับเรื่องปรองดอง มันจะปรองดองได้จริงหรือ
ตอน ช่วงหาเสียงเขาก็เอาผมไปหาเสียงด้วย ไม่รู้เขาคิดอย่างไร แต่ถ้าเขาบอกว่าต้องการสันติอย่างนี้มันน่าสนใจ เพราะผมคิดว่าปรองดองคือการสันติ คือไม่ได้มาเกี้ยะเซียะกัน
-การเยียวยาที่จะเสนอต่อรัฐบาล
กำลัง คิดกันอยู่เพื่อเสนอต่อรัฐบาล ที่กลุ่มคนเสื้อแดงบอกว่าต้องเยียวยาผู้ที่เสียชีวิตรายละ 10 ล้าน มันเป็นคนละเรื่องกัน เพราะเราต้องการเยียวยาด้านจิตใจ เช่น ลูกเขาตาย เขาก็เดือดร้อน
-กรณีที่ทหาร ตำรวจที่เสียชีวิตในการปฏิบัติหน้าที่ หน่วยงานต้นสังกัดต้องเข้ามาช่วยเหลือครอบครัวของผู้เสียชีวิต
ก็ อาจจะจำเป็น โดยเราจะใช้หลักวิชาการในการพิจารณา สมมติว่าการเยียวยาความเสียหายด้านจิตใจควรจะเป็นอย่างไร เราก็ต้องดูกฎหมายของต่างประเทศประกอบไป เราไม่ได้มานั่งคิดว่าจะชดเชย 10 ล้าน 20 ล้านบาท
(ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 12-14กันยายน 2554)