ส่งเสริมคนดีให้ได้ปกครองบ้านเมือง

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

Monday, 5 September 2011

'อัมมาร' จวก ‘จำนำข้าว’ ดันออกมาโดยไม่ได้คิด-ดีแต่โม้

ที่มา ประชาไท

สารพัดคำถาม 'นโยบายจำนำข้าว' จากทีดีอาร์ไอ จัดการอย่างไรกับสต๊อก เก็บนานแค่ไหน ปีหน้าจะเป็นอย่างไร ฉะรัฐบาลมีนโยบายพรั่งพรูออกมาโดยไม่คิด "ดีแต่โม้ โม้ทุกวัน"

วันที่ 4 กันยายน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย เปิดแถลงข่าว “กลับไปสู่การจำนำข้าวเปลือก” โดย ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร และ ดร.อัมมาร สยามวาลา ณ ห้องประชุมชั้น 2 สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ซอยรามคำแหง 39 โดยตั้งคำถามถึงรัฐบาลเกี่ยวกับผลกระทบของโครงการรับจำนำข้าวเปลือก และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นทางเศรษฐกิจ

ย้อนอดีต จำนำข้าวมีแต่ล้มเหลว
ดร.นิพนธ์ กล่าวถึงโครงการจำนำข้าวในอดีต นอกจากการแทรกแซงตลาดข้าวด้วยนโยบายรับจำนำข้าวเปลือกในราคาสูงแล้ว รัฐบาลทักษิณยังพยายามจัดระเบียบการส่งออก เพื่อให้ไทยสามารถขายข้าวส่งออกได้ในราคาแพงขึ้น โดยเฉพาะการจัดตั้งคณะมนตรีความร่วมมือการค้าข้าว 5 ประเทศ ซึ่งเรื่องนี้ล้มเหลว เพราะในที่สุดแล้ว ไทยถูกเวียดนามหลอกให้ตั้งราคาข้าวสูง ขณะที่เวียดนามแอบตัดราคาและเพิ่มยอดขายข้าวจนทำให้ส่วนแบ่งตลาดของไทยลดลง

“หรือการขายข้าวรัฐให้ผู้ส่งออกรายเดียว (เพรซิเดนท์อะกริ) 1.68 ล้านตัน ในปี 2547 ซึ่งในรายงานของวุฒิสภาในปี 2548 บริษัทรับมอบเพียง 0.95 ล้านตัน ส่งออกเพียง 0.59 ล้านตัน และขายข้าว 4-5 ล้านตันให้บริษัทในประเทศเพื่อส่งออก หลังขอแก้สัญญา โดยตัดเงื่อนไข ผู้ซื้อตกลงซื้อข้าวตามโครงการรับจำนำเพื่อส่งออกไปราชอาณาจักร” ดร.นิพนธ์ กล่าว และว่า นอกจากนั้น ยังมีการลดวงเงินในสัญญาค้ำประกัน บริษัทรับมอบข้าวใหม่ที่ขายได้ราคาดีกว่าข้าวเก่า อีกทั้งยังไม่สามารถรับมอบข้าวที่ประมูลได้ทั้งหมด สรุปคือ นโยบายขายข้าวให้ผู้ส่งออกรายเดียวจึงล้มเหลว

ดังนั้นแม้ไทยจะเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ แต่การที่ข้าวไทยราคาสูงขึ้นจากการรับจำนำนั้น ได้ทำให้คู่แข่งได้ประโยชน์ ทั้งจากการส่งออกเพิ่มในราคาสูงขึ้น และตัดราคาต่ำกว่าไทย ทำให้ไทยสูญเสียส่วนแบ่งตลาด

หนี้สินบาน ซุกไว้ใต้พรม
ดร.นิพนธ์ กล่าวถึงภาระหนี้สินจากโครงการจำนำในอดีต เกิดค่าใช้จ่ายแฝงและหนี้สินนานหลายปี เพราะมีข้าวค้างสต๊อกจำนวนมาก เกิดภาระหนี้สินปลายเปิด (Contingent liability) 1.42 แสนล้านบาท (ณ ก.ค.2554) โดยหนี้ก้อนนี้ถูกซุกไว้เป็นบัญชีจำแลงนอกงบประมาณแผ่นดิน คือที่ ธกส.

“ข้าวค้างสต๊อกในโครงการรับจำนำปี 2547/48-2549/50 มีอยู่ 10.33 ล้านตัน สามารถระบายได้ 5.49 ล้านตัน และมีข้าวค้างสต๊อกถึง 4.84 ล้านตัน ซึ่งเวลานี้คงไม่มีข้าวแล้ว เพราะข้าวที่ค้างสต๊อกนานๆ ก็เหมือนการนำข้าวไปทิ้งทะเล เพียงแต่เราต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเช่าโกดังเท่านั้นเอง”

นอกจากนี้ ดร.นิพนธ์ ยังกล่าวถึงผลกระทบต่อโครงสร้างตลาดข้าวไทยที่จะทำให้ชาวนาหันมาผลิตข้าว อายุสั้นที่มีคุณภาพต่ำเพื่อจะได้นำข้าวสู่โครงการจำนำปีละหลายครั้ง ข้าวพม่า ข้าวเขมรจำนวนมากจะทะลักเข้าสู่โครงการนี้ ขณะเดียวกันโรงสีในโครงการจะได้กำไร โดยไม่ต้องใช้ฝีมือในการค้าขาย และได้เปรียบโรงสีนอกโครงการ พ่อค้าท้องถิ่นหันมาทำธุรกิจโรงสีจนทำให้ตลาดกลางสูญพันธุ์

“โครงการรับจำนำข้าวเปลือกในราคาสูงจึงสร้างความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจ ข้าวไทย ชาวนาผลิตข้าวคุณภาพต่ำขายให้รัฐบาลด้วยต้นทุนสูงขึ้น ไทยเริ่มสูญเสียส่วนแบ่งตลาดให้คู่แข่ง เกิดกระบวนการแสวงหาผลประโยชน์ส่วนเกินจากเงินแทรกแซงของรัฐ ขณะที่รัฐสร้างภาระหนี้แบบปลายเปิดให้คนรุ่นหลัง ทั้งนี้ ผลประโยชน์ตกอยู่ที่ชาวนาเพียง 38% ที่เหลือส่วนใหญ่ตกอยู่กับพ่อค้า ผู้ส่งออก โรงสี เจ้าของโกดัง เกิดกระบวนการแสวงหาผลประโยชน์ก้อนนี้ ซึ่งไม่เป็นประโยชน์ต่อสังคมเลย ”

หลายคำถาม จากดร.อัมมาร
ขณะที่ดร.อัมมาร กล่าวว่า แม้รัฐบาลจะพยายามออกมาตรการมาแก้ปัญหาการสวมสิทธิ์โดยโรงสีแทนชาวนา ด้วยการออกบัตรเครดิตนั้น ตนก็ไม่แน่ใจว่า รูปร่างหน้าตาเป็นอย่างไรหรือแก้ไขปัญหานี้ได้

“กิจกรรมใหญ่ของการจำนำข้าว คือการสต๊อกข้าว การจัดการกับการสต๊อกข้าว ผมไม่เถียง และเถียงไม่ได้ที่รัฐซื้อข้าวในปริมาณที่สูงจะยกระดับราคาข้าว เชื่อว่า 3-4 ปีข้างหน้า ราคาข้าวจะขึ้น หากต้องการให้สูงขึ้นมากๆ ถึงร้อยละ 50 จากระดับราคาปัจจุบันที่ถูกดันให้สูงขึ้นจากการเก็งกำไรของพ่อค้า อย่างไรก็ตามยิ่งซื้อมาก แต่พอได้ข้าวมาอยู่ในสต๊อกแล้วคุณต้องการจะทำอย่างไรกับข้าว นี่คือคำถามที่ผมมี รัฐบาลตั้งใจจะทำอะไร และมีมาตรการอะไร”

ดร.อัมมาร กล่าวอีกว่า หากรัฐบาลต้องการให้ราคาข้าวในต่างประเทศสูงขึ้น ต้องไม่ระบายข้าวออก ซึ่งช่วงรัฐบาลอภิสิทธิ์ เมื่อนำโครงการประกันมาใช้แรกๆ ก็มีข้าวค้างสต๊อกที่เหลือจากโครงการจำนำจนต้องต่อโครงการนี้ไปอีก 2 ฤดู มีข้าวกองอยู่ 5 ล้านตัน ไม่กล้าระบายออก เพราะทำให้ราคาตก

“ข้าวที่มีการสต๊อกเพิ่มขึ้นทุกปี เป็นเหมือน "ดินพอกหางหมู" มีปัญหาเรื่องการจัดการ ซึ่งรัฐบาลคิดว่าแก้ปัญหาได้ด้วยการจัดระเบียบการส่งออก อันนี้เป็นฝันกลางวันของนักการเมืองแทบทุกคน แทบทุกพรรคว่าจะจัดการขายข้าวในราคาสูงขึ้นได้ แต่ก็พบว่า ประสบความล้มเหลวมาโดยตลอด หรือต้องร่วมมือกับต่างประเทศคู่แข่ง ผมคิดว่า จะเป็นการเปิดโอกาสให้เวียดนามหลอกเราได้”

ข้าวไม่ใช่น้ำมัน ปิดก๊อกสต็อกเพิ่ม
นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ ยกกรณีประเทศซาอุดิอาระเบีย พร้อมจะลดการผลิตน้ำมัน ซึ่งเสมือนการเพิ่มสต๊อกที่อยู่ในดิน น้ำมันไม่ได้หายไปไหน แต่นั่นคือ "น้ำมัน" ไม่ใช่ "ข้าว" เขาจึงสามารถทำได้ แต่สำหรับประเทศไทย อยู่ดีๆ จะบอกไม่ให้เกษตรกรปลูก ถามว่า ทำได้หรือไม่

“การให้เกษตรกรปลูกข้าวน้อยลง ผมตั้งคำถาม จะมีอำมาตย์หน้าไหนตามบอกเกษตรกรลดการปลูกข้าวลง จะมีใครไปบอกเกษตรกร เพราะเป็นสิทธิ์แต่โบราณการของการปลูกข้าว ดังนั้นจึงเป็นฝันกลางวันของนักการเมืองที่บอกว่า เราจะควบคุมการส่งออกได้”

ดร.อัมมาร กล่าวอีกว่า เรื่องสต๊อกข้าวจะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกด้วยปีต่อๆ ไป แต่ต้องกลืนไปเรื่อยๆ หากจะรักษาระดับราคาข้าว ผลผลิตก็ถีบตัวสูงขึ้น เวลานี้ทุกคนอยากปลูกข้าวมาก การบอกให้ปลูกข้าวน้อยลง ถามว่า รัฐบาลมีมาตรการอย่างไรให้ชาวนาปลูกข้าวน้อยลงได้สำเร็จ หวังว่าการปลูกข้าวในประเทศไทยจะไม่ใช่การปลูกฝิ่นที่เป็นของต้องห้าม ปลูกไม่ได้

“คำถามที่เรามีต่อนโยบายการจำนำ จึงไม่ใช่ราคาขึ้นจริงหรือไม่ เมื่อรัฐบาลซื้อข้าวได้ เพราะสัญญาไว้แล้ว แต่จะทำอย่างไรกับสัญญา จะเก็บสต๊อกนานแค่ไหน ปีหน้าจะเป็นอย่างไร ขณะที่ข้าวออกมาเรื่อยๆ"

สำหรับการตั้งราคาข้าวสูงๆ นั้น ดร.อัมมาร กล่าวว่า การตั้งราคาสูงลูกค้าหาย ข้าวเหล่านั้นก็จะไปกองอยู่ในสต๊อก และ หากเราหยุดขายข้าว คนที่ได้ประโยชน์คือคู่แข่ง เพราะเราส่งออกข้าวในราคาบ๊องๆ อย่างนั้น

ตั้งชื่อรัฐบาลนี้ ดีแต่โม้
เมื่อถามถึงข้อเสนอแนะในการบรรเทาความเสียหายจากโครงการรับจำนำ ข้าว ดร.อัมมาร กล่าวว่า การรับจำนำ 15,000 บาท และการรับจำนำ รัฐบาลคงไม่ถอยแน่ ฉะนั้นการไปเยียวยาลดปัญหาลงนั้น เหลือวิสัยที่เราจะคิดออก ไม่ใช่หน้าที่ ที่จะไปคิด

“รัฐบาลบอกจำนำก็เชิญท่านทำไป เพื่อต้องรักษาสัญญา ผมมีแต่คำถามที่รัฐบาลต้องตอบ” ดร.อัมมาร กล่าว และว่า รัฐบาลชุดนี้มีนโยบายพรั่งพรูออกมาโดยไม่ได้คิด ซึ่ง ต่างจากรัฐบาลทักษิณยุคแรก เวลานี้ผมจึงเห็นว่า นักการเมืองกำลังหันซ้ายหันขวา แก้ปัญหาไปวันต่อวัน โม้ไปวันต่อวัน จนผมอยากตั้งชื่อรัฐบาลนี้ว่า ดีแต่โม้ โม้ทุกวัน เป็นอย่างนั้น

นักวิชาการทีดีอาร์ไอ กล่าวด้วยว่า ดังนั้น โครงการรับจำนำข้าวไม่ควรออกแบบมาตั้งแต่ต้น การมีนโยบายที่มีการคาดหมายเข้าข้างตัวเองเสมอๆ แบบที่รัฐบาลนี้มีเป็นเรื่องที่ตัวเองก็กลัว ผิวปากไปเรื่อยๆ เป็นนโยบายฝันให้ตัวเองหลุดพ้นปัญหาที่สร้างขึ้นมา