เปิดประชุมวิชาการระดับชาติ “ชุมคน ชุมชน คนใต้ ครั้งที่ 3 เสียงจากผู้ไร้สิทธิชายแดนใต้” เจอปัญหาอื้อ “อังคณา นีละไพจิตร” แฉเด็กชายแดนใต้ถูกฝึกให้จับอาวุธในชุด ชรบ. เพียบ เหยื่อตากใบเผย โดนเจ้าหน้าที่ค้นบ้านทุกปี
โวย – นางอังคณา นีละไพจิตร
ประธานมูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพ
แฉคนชายแดนใต้โดนทั้งละเมิดสิทธิและถูกแย่งชิงทรัพยากร
เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2554 ที่หอประชุมอเนกประสงค์ มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตสงขลา อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา โครงการจัดตั้งศูนย์อิสลามศึกษาเพื่อบูรณาการ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ ร่วมกับภาคีเครือข่ายอีก 12 องค์กร ร่วมกันจัดโครงการประชุมวิชาการระดับชาติ “ชุมคนชุมชนคนใต้ครั้งที่ 3 เสียงจากผู้ไร้สิทธิชายแดนใต้” (Voices of Voiceless: from the Southernmost People in Thailand) มีประชาชน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ กลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล คนไทยพลัดถิ่น เครือข่ายชุมชนในพื้นที่ นักวิชาการ ผู้ทรงคุณวุฒิ นักพัฒนาเอกชน (NGOs) นิสิตนักศึกษามหาวิทยาลัยทักษิณ และสื่อมวลชน ร่วมงานประมาณ 500 คน
เวลา 10.15 น. นางอังคณา นีละไพจิตร ประธานมูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพ (Justice for Peace Foudation) ได้บรรยายในหัวข้อ “สันติสุขและการอยู่ร่วมกันในสังคมพหุวัฒนธรรม” ว่า ปัญหาการแย่งชิงทรัพยากรของรัฐจากชาวบ้าน ในจังหวัดปัตตานี จังหวัดยะลา และจังหวัดนราธิวาส อาจเป็นอีกจุดหนึ่งของความขัดแย้งใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะที่อำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา ซึ่งชาวบ้านไม่มีที่ดินทำกิน อันเป็นผลกระทบจากการสร้างเขื่อนบางลาง เมื่อปี 2519 หมู่บ้านดั้งเดิมที่นมีทั้งมัสยิดและกุโบร์ต้องจมน้ำอยู่ใต้เขื่อน ในขณะที่รัฐไม่เคยให้อะไรตอบแทนตามที่เคยสัญญาเอาไว้ จนชาวบ้านมองว่า รัฐเป็นผู้รุกรานชาวบ้าน
นางอังคณา บรรยายต่อไปว่า ล่าสุดเกิดกรณีปัญหาหอยแครง ที่ชาวประมงชายฝั่งรอบอ่าวปัตตานีโดนจับกุมดำเนินคดี จากการต่อสู้กับกลุ่มทุนท้องถิ่น ที่เข้ามายึดอ่าวปัตตานี ซึ่งเป็นพื้นที่ทำประมงไปทำฟาร์มหอยแครง ก็เป็นอีกหนึ่งปัญหาที่นับวันยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น รัฐควรสนใจปัญหาของชาวบ้าน มากกว่าที่จะสนใจผลักดันเมกะโปรเจ็กต์ หรือพูดถึงแต่การเข้าสู่ประชาคมอาเซียน
นางอังคนา บรรยายอีกว่า อีกหนึ่งตัวแปรสำคัญคือ อิทธิพลเถื่อน ยาเสพติด สิ่งผิดกฏหมาย การค้ามนุษย์ที่เติบโตในบริเวณชายแดนเร็วมาก ปัจจุบันจังหวัดปัตตานีมีบ่อนพนันเกลื่อนกลาด ข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดระบุว่า มีคนติดยาเสพติด 50,000 คน มีผู้ต้องการบำบัด 20,000 คน แต่สถานบำบัดยาเพสติดกลับมีไม่เพียงพอที่จะรองรับ ชาวบ้านส่วนมากจึงใช้วิธีเลิกยาเสพติดด้วยการหักดิบ
“ดิฉันเคยศึกษาวิจัยพบว่า เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี จับอาวุธเป็นชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) สูงถึงร้อยละ 65 บางรายอายุไม่ถึง 13 ปี ก็ใช้อาวุธสงครามได้ เด็กกลุ่มนี้จะตกเป็นเครื่องมือของกลุ่มก่อความไม่สงบ หรือไม่ก็ตกเป็นเครื่องมือของกลไกรัฐ” นางอังคนา กล่าว
ต่อมา เวลา 10.15 น. นางแยน๊ะ สะแลแม ตัวแทนเครือข่ายสตรีเหยื่อเหตุการณ์ตากใบจังหวัดนราธิวาส เจ้าของรางวัลนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ได้ปาฐกถาพิเศษเรื่องเสียงจากผู้ไร้สิทธิว่า ตนเข้ามาเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชน เนื่องจากลูกชายถูกจับกุมในเหตุการณ์สลายชุมนุมที่อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส จนกลายเป็นผู้ประสานงานระหว่างทนายความกับญาติของผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ กระทั่งสามีของตนโดนยิงเสียชีวิตในเวลาต่อมา
“ฉันถูกเจ้าหน้าที่มองว่า เป็นแนวร่วมของขบวนการแบ่งแยกดินแดน ต้องโทรศัพท์ไปยังองค์กรสิทธิมนุษยชน และองค์กรพัฒนาภาคเอกชนต่างๆ จนเจ้าหน้าที่ของรัฐต้องมาขอโทษ ในรอบ7 ปีที่ผ่านมา ฉันถูกเจ้าหน้าที่ของรัฐตรวจค้นบ้านทุกปี” นางแยน๊ะ กล่าว
เวลา 10.30 น. มีการเสวนาเรื่องเสียงจากผู้ไร้สิทธิ: สิทธิประชาชนที่จะกำหนดอนาคตตนเอง” โดยนายอะบาร์ อุเส็น ตัวแทนเครือข่ายอิควะฮ์เปอร์ตาเนียนสโตย กล่าวเสวนาว่า เครือข่ายอิควะฮ์เปอร์ตาเนียนสโตย เป็นการรวมตัวกันของเครือข่ายเกษตรกรจังหวัดสตูลระปหว่างเกลอเขา เกลอนา และเกลอเล เพื่อเรียนรู้นโยบายและแผนพัฒนาของภาครัฐในจังหวัดสตูล เนื่องจากเกลอเลคือกลุ่มประมงชายฝั่ง ตอนนี้กำลังเผชิญหน้ากับโครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา และเกลอเขาคือเครือข่ายป่าต้นน้ำ กำลังเผชิญหน้ากับโครงการเขื่อนทุ่งนุ้ย
“เราใช้หลักศาสนาอิสลามมาร่วมกันคิดร่วมกันแก้ปัญหา ให้สามารถแยกแยะระหว่างผลประโยชน์ของนายทุน กับวิถีชีวิตที่ชุมชน เราต้องคิดให้ได้ว่า อะไรเหมาะสมกับพื้นที่ของตัวเอง ตอนนี้เครือข่ายของเรามีการจัดตั้งกองทุนแพะเพื่อมนุษยชาติ มีนัยสื่อถึงความมั่นคงทางอาหารของโลกที่กำลังวิกฤติ” นายอะบาร์ กล่าว
นายมาหาหมัด นาซือรี เมาตี ตัวแทนจากเครือข่ายชุมชนศรัทธา กล่าวต่อวงเสวนาว่า ตนมองไม่เห็นว่า รัฐบาลไหนจะแก้ปัญหาความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ และยังมองไม่เห็นโอกาสใดๆ จากการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในอีก 4 ปีข้างหน้า มิหนำซ้ำอาจจะทำให้แย่กว่าเดิม ตราบใดที่คนไทยยังไร้สิทธิไร้เสียง โดยรัฐกำหนดนโยบายแล้ว นำมาบังคับใช้กดขี่ชาวบ้าน ซึ่งเป็นการทำลายอัตลักษณ์ของคนท้องถิ่น ทั้งทางตรงและทางอ้อม ต่อสังคม วิถีชีวิตชุมชน และแนวทางการศึกษาของศาสนาอิสลาม
นายซอฮิบ เจริญสุข ตัวแทนจากเครือข่ายคนไทยพลัดถิ่น กล่าวต่อวงเสวนาว่า รัฐมองแต่ความมั่นคงของชาติ ไม่ได้มองถึงความมั่นคงของอาณาประชาราษฎร์ เช่น เมื่อปี 2548 มีมติคณะรัฐมนตรีให้สำรวจและจัดทำบัตรประจำตัวประชาชนที่มีรหัสเลข 0 ให้คนไทยพลัดถิ่น แต่กลับมีปัญหาการคอร์รัปชั่นใการสำรวจและจัดทำบัตร ต่อมาก็มีมติให้ยกเลิกการทำบัตรดังกล่าว ทำให้คนไทยพลัดถิ่นไม่มีสิทธิแม้กระทั่งการแจ้งเกิด และการแจ้งตาย
นางสาวศุชาวรรณ ประโมงกิจ ตัวแทนจากกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล กล่าวต่อวงเสวนาว่า ปัญหาของกลุ่มชาวเลคือ ปัญหาที่อยู่อาศัยและที่ทำกินในพื้นที่ที่ทางภาครัฐประกาศเป็นอุทยาน และพื้นที่ที่นายทุนเข้าไปทำรีสอร์ท บ้านพักตากอากาศ แล้วออกเอกสารสิทธิ์ทับที่ดินที่ชาวเลอาศัยอยู่เดิม แม้กระทั่งสุสานฝังศพยังออกเอกสารสิทธิ์ได้ จนตอนนี้ชาวเลที่เกาะหลีเป๊ะ จังหวัดสตูล ต้องฝังศพใต้ถุนบ้าน
นายประยงค์ กงไกรจักร ตัวแทนจากเครือข่ายป่าเขาและสิทธิชุมชน แสดงความเห็นว่า ผลจากเหตุการณ์ภัยพิบัติที่ผ่านมาในภาคใต้ ทำให้เกิดปัญหาการโยกย้ายที่อยู่อาศัยและที่ทำกิน บ้างก็ถูกไล่ออกจากที่อยู่อาศัยและที่ทำกิน โดยรัฐอ้างว่าเป็นที่ดินของรัฐ หรือมีคนอ้างเอกสารสิทธิ์ว่า ที่ดินตรงนั้นตรงนี้เป็นของตน
นายมัครอบี บือราเฮง ตัวแทนจากเครือข่ายชุมชนศรัทธา กล่าวในวงเสวนาว่า ขณะนี้สิทธิในการศึกษาพูดคุย แลกเปลี่ยนเรียนรู้ประวัติศาสตร์ปัตตานีโดนปิดตาย ไม่สามารถแสดงออกได้ ใครที่อยากเรียนรู้ประวัติศาสตร์ปัตตานี ต้องไปเรียนที่ประเทศมาเลเซีย แม้แต่การนำเสนอรายงานทางวิชาการสักชิ้นก็กลัวจะถูกมองว่า เป็นแนวร่วมของขบวนการก่อความไม่สงบ