ส่งเสริมคนดีให้ได้ปกครองบ้านเมือง

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

Sunday, 18 September 2011

พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) กับวัฒนธรรมการวิจารณ์ในพุทธศาสนาเถรวาท

ที่มา ประชาไท

สุรพศ ทวีศักดิ์

เท่าที่ผมพอจะทราบขณะนี้พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) ท่านอยู่ในช่วงเวลาอาพาธหนัก (ป่วยหนัก) ไม่สามารถพูดได้ ในฐานะตัวบุคคลพระพรหมคุณาภรณ์คือพระสงฆ์ที่ชาวพุทธเคารพนับถือว่า ท่านเป็นปราชญ์ทางพุทธศาสนาที่ทำคุณประโยชน์แก่พุทธศาสนาและสังคมไทยมากมาย เมื่อทราบว่าท่านป่วยหนักผมเองที่เป็นชาวพุทธคนหนึ่งย่อมรู้สึกห่วงใยท่าน เช่นเดียวกับชาวพุทธคนอื่นๆ ที่ทราบเรื่องนี้ แต่ที่จะเขียนต่อไปนี้เป็นการเขียนถึง “ความคิดบางอย่าง” ของพระพรหมคุณาภรณ์ที่ดูจะมีอิทธิพลต่อวงการพุทธศาสนาในบ้านเราในปัจจุบัน
บังเอิญเมื่อสัปดาห์ก่อน ผมได้รับหนังสือของพระพรหมคุณาภรณ์ชื่อ “นักวิชาการเทศ-ไทย หาความรู้ให้แน่ใช่แค่คิดเอง” ตีพิมพ์เป็นธรรมทานในช่วงเข้าพรรษาปี 2554 นี้เอง (ตีพิมพ์ จำนวน 10,000 เล่ม) เนื้อหาภายในเล่มเป็นการตอบโต้นักวิชาการ 4 คน คือ (อดีต) พระมโน เมตฺตานนฺโท ศาสตราจารย์ ดร.สมภาร พรมทา บก.วารสารพุทธศาสน์ศึกษา (ท่านไม่เอ่ยชื่อแต่ใช้คำว่า “ท่าน บก.”) ดร.ชาญณรงค์ บุญหนุน (ท่านใช้ชื่อย่อว่า “ดร.ช.”) และ Dr.McCargo อันที่จริงท่านเจ้าคุณจะเอ่ยชื่อจริงของ บก.วารสารพุทธศาสน์ศึกษา และ ดร.ชาญณรงค์เลยก็ได้ เพราะท่านก็ตอบโต้งานวิชาการของเขาซึ่งเป็นงานที่ปรากฏต่อสาธารณะอยู่แล้ว ผมจึงแปลกใจเล็กน้อยว่าท่านใช้ “ชื่อย่อ”ให้คนอ่านสงสัยไปทำไม
โดยส่วนตัวผมคิดว่า การวิจารณ์โต้ตอบกันในทางวิชาการระหว่างพระสงฆ์กับพระสงฆ์ หรือพระสงฆ์กับนักวิชาการฆราวาสนั้นเป็นสิ่งที่ดี เพราะการถกเถียงโต้ตอบกันด้วยด้วยเหตุด้วยผล ด้วยหลักวิชาการย่อมก่อเกิดความงอกงามทางปัญญา หรือทำให้เกิดมุมมองใหม่ๆ ในการทำความเข้าใจปัญหาของพุทธศาสนาและทางออก
แต่ที่น่าสังเกต คือ “ท่าที” ของพระพรหมคุณาภรณ์ต่อบุคคลที่วิจารณ์ท่าน ผมคิดว่าเป็นท่าทีที่มีปัญหา ดังที่ท่านเอ่ยถึงนักวิชาการข้างต้นนั้นว่า
“ทั้งสี่ท่านนี้แสดงความคิดเห็น วิพากษ์วิจารณ์ตัวบุคคล บอกว่าอาตมาคิด พูด ทำ เรื่องนั้นเรื่องนี้ และก็ได้เห็นชัดแล้วว่า ทั้งสี่ท่านนั้นพูดไม่ตรงตามความเป็นจริง แถมยังเลยไปกระทบกระทั่งถึงบุคคลที่ 3 ที่ 4 ที่ 5 เป็นต้นอีกด้วย” [i]
บังเอิญว่าผมได้อ่านงานของนักวิชาการทั้งสี่คนที่ท่านเจ้าคุณนำมาตอบ โต้ด้วย ผมไม่เห็นว่างานของนักวิชาการทั้งสี่นั้นเน้นไปที่การวิจารณ์ “ตัวบุคคล” แต่อย่างใด หลักๆ เลยคืองานของนักวิชาการชองทั้งสี่คนนั้นมุ่งตั้งคำถาม วิพากษ์วิจารณ์ “ความคิด” ของท่านเจ้าคุณเป็นหลัก
เช่น เมื่อ (อดีต) พระมโน เขียนหนังสือเหตุเกิด พ.ศ.1 ขึ้นมา 2 เล่ม[ii] ท่านเจ้าคุณเห็นว่า “หนังสือนั้นผิดพลาดอย่างหนักชนิดที่ไม่น่าจะเป็น” ดังที่ท่านเขียนว่า
“เมื่อเห็นว่าควรยับยั้งความ เข้าใจผิด อาตมาก็จึงเขียนหนังสือขึ้นมาเล่มเล็กๆ เล่มหนึ่งใช้ชื่อว่า ตื่นกันเสียทีจากความเท็จของหนังสือเหตุเกิด พ.ศ.1 เป็นการเตือนสติ โดยเฉพาะท่านที่เป็นผู้ใหญ่ไม่อยากให้ตื่นเต้นไปตามกระแส ควรจะดู ถ้าไม่ตรวจสอบก็ควรจะพิจารณาหาหลักฐานข้อมูลประกอบบ้าง หลังจากนั้นช่วงหนึ่งพระมโน เมตฺตานนฺโท ก็เขียนหนังสือเล่มเล็กๆ ชื่อ เหตุเกิด พ.ศ.1 (B.E.0001) เป็นเท็จจริงหรือ? ออกมาตอบโต้ติเตียนอาตมาเป็นการเฉพาะตัว” [iii]
โปรดสังเกตชื่อหนังสือทั้งสองเล่มนะครับ แค่ชื่อหนังสือ (ที่วิจารณ์งานวิชาการของคนอื่น) ของท่านเจ้าคุณก็เป็นการกล่าวหางานของเขาว่าเป็น “ความเท็จ” แล้ว ชื่อหนังสือและเจตนาของท่านเจ้าคุณก็เพื่อต้องการปลุกคนให้ตื่นจากความเท็จ นั้น (ในเนื้อหาทั้งเล่มเป็นเช่นนั้นจริงๆ) และโดยสถานะบารมีความเป็น “ปราชญ์ทางพุทธศาสนา” ด้วยแล้ว การวิจารณ์งานวิชาการของคนอื่นด้วยท่วงทำนองเช่นนี้ ยิ่งเป็นการเพิ่มดีกรีความแรงที่ “กด” งานที่ถูกวิจารณ์หนักเข้าไปอีก ซึ่งผมคิดว่าข้อวิจารณ์ของท่านเจ้าคุณมีอิทธิพลพอสมควร กระทั่งทำให้ชาวพุทธจำนวนหนึ่งออกไปถือป้ายประท้วงให้เจ้าอาวาสวัดต้นสังกัด ขับพระมโนออกจากวัด เพียงเพราะเขียนงานวิชาการขึ้นมา 2 เล่ม ที่มีเนื้อหาการตีความแตกต่างไปจากคัมภีร์ หรือตำราที่ชาวพุทธไทยเชื่อถือกันอยู่ (แม้ท่านเจ้าคุณอาจจะไม่มีเจตนาให้เกิดปรากฏการณ์ดังกล่าวก็ตาม)
ส่วนชื่อหนังสือของพระมโนเป็นชื่อที่บ่งบอกเจตนาที่จะชี้แจงให้เห็นว่า หนังสือเหตุเกิด พ.ศ.1 เป็นเท็จตามที่พระพรหมคุณาภรณ์วิจารณ์จริงหรือไม่ ผมเองได้อ่านหนังสือของทั้งสองท่าน เมื่อนำมาเปรียบเทียบกันจะเห็นว่าหนังสือ ตื่นกันเสียทีจากความเท็จของหนังสือเหตุเกิด พ.ศ.1 ของพระพรหมคุณาภรณ์ แม้จะมีจุดแข็งตรงที่มีการยกข้อมูลในพระไตรปิฎกขึ้นมาหักล้างอีกฝ่ายหนึ่ง ได้ดี แต่ก็มีจุดอ่อนตรงที่การวิจารณ์นั้นเลยเถิดไป “กล่าวหา” ตัวตนของพระมโนมากเกินไป เช่น กล่าวหาว่าบิดเบือนพระธรรมวินัย หลอกชาวบ้าน วิชาการผีหลอก ความเท็จ ความไม่สุจริต ข้อมูลเท็จ หลักฐานเท็จ พูดเท็จ ข้อมูลลวง งานบิดเบือน ปั้นแต่งเรื่องเท็จ ข้อเขียนที่เหลวไหล ฯลฯ[iv]
ในหนังสือ เหตุเกิด พ.ศ.1 (B.E.0001) เป็นเท็จจริงหรือ? ของพระมโนกลับเป็นการตอบโต้ข้อวิจารณ์ของท่านเจ้าคุณอย่างเป็นวิชาการ มากกว่า เพราะเป็นการนำข้อมูลอีกด้านมาหักล้างข้อวิจารณ์ของท่านเจ้าคุณเป็นหลัก พร้อมกับจัดทำตารางแสดงข้อความที่ท่านเจ้าคุณวิจารณ์ “ตัวบุคคล” ให้เห็นอย่างชัดเจนว่ามีกี่ข้อความ และข้อความนั้นๆ ปรากฏในหน้าไหนบ้าง
ส่วนกรณี บก.วารสารพุทศาสตร์ศึกษา (ศ.ดร.สมภาร พรมทา) ถ้าถามว่าทำไม “ท่าน บก.” (คำที่ท่านเจ้าคุณเรียก) จึงวิจารณ์ความคิดของท่านเจ้าคุณค่อนข้างบ่อย ผมเข้าใจว่าเพราะท่านเจ้าคุณมีผลงานวิชาการทางพุทธศาสนามากกว่าใครๆ ถัดจากท่านพุทธทาส (ซึ่งท่าน บก.ก็วิจารณ์บ่อยทั้งที่เห็นด้วยและเห็นแย้ง) จึงเป็นธรรมดาที่นักวิชาการด้านพุทธศาสนาจะตั้งคำถาม หรือวิจารณ์งานของท่านเจ้าคุณ แต่โดยรวมๆ แล้วก็ไม่ใช่วิจารณ์ “ตัวตน” ของท่านเจ้าคุณที่ส่อไปในทางไม่เคารพ หรือก่อให้เกิดความเสียหายแต่อย่างใด
เช่น ที่วิจารณ์ทำนองว่า ท่านเจ้าคุณและพระในมหาวิทยาลัยสงฆ์มักมีความคิดแบบอนุรักษ์นิยม เพราะไม่ค่อยมีเพื่อนต่างศาสนา (น่าจะหมายถึงเพื่อนที่ถกเถียงแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันได้) ต่างจากท่านพุทธทาสที่คบเพื่อนต่างศาสนามากกว่าจึงมีท่าทีเป็นมิตรกับศาสนา อื่นๆ มากกว่า หรือมีความคิดทางศาสนาแบบก้าวหน้ากว่าเป็นต้น หรือบางที่นักวิชาการหรือลูกศิษย์ลูกหาที่แวดล้อมท่านเจ้าคุณ อาจจะไม่ค่อยมีใครกล้าวิจารณ์ท่านเจ้าคุณ กระทั่งบางคนก็พูดอะไรแบบไม่ค่อยรับผิดชอบ เช่น หมอประเวศ วะสี เคยพูดว่า หนังสือพุทธธรรมของท่านเจ้าคุณเป็น “ผลงานที่เกินรางวัลโนเบล” เป็นต้น[v]
หรือที่วิจารณ์ความคิดของท่านเจ้าคุณ เช่นที่ว่า “อกุศลเป็นปัจจัยให้เกิดกุศลได้” ก็วิจารณ์เพียงว่าท่านเจ้าตีความหรือยืนยันตามคัมภีร์อธิธรรม ในขณะที่ท่าน บก.ยืนยันข้อมูลตามพระสูตรซึ่งเขาแน่ใจว่าเป็นคำพูดของพระพุทธเจ้ามากกว่า ว่า “อกุศลเป็นปัจจัยให้เกิดกุศลไม่ได้” เป็นต้น
ส่วนที่ Dr.McCargo ว่าพระประยุทธ์ ปยุตฺโต เป็นนักคิดทางพุทธศาสนาประเภท Fundamentalist ก็เพราะภาพลักษณ์ของท่านเจ้าคุณตามที่สังคมชาวพุทธรับรู้กันนั้น คือภาพลักษณ์ของพระนักคิดนักปราชญ์ที่ให้ความสำคัญและยืนยันความถูกต้องของ คำสอนในพระไตรปิฎกอย่างชัดเจนที่สุด
โดยเฉพาะเมื่อท่านเจ้าคุณออกมา “สะสาง” ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับคำสอนของพุทธศาสนา ไม่ว่าจะเป็นกรณีสันติอโศก กรณีธรรมกาย หรือกรณีหนังสือเหตุเกิด พ.ศ.1 ของพระมโน ท่านเจ้าคุณก็อ้างอิงคำสอนของพุทธศาสนาในพระไตรปิฎกเป็นหลักในการวินิจฉัย ว่า ความเห็น คำสอน การปฏิบัติของคนเหล่านั้นผิดหรือเป็นเท็จอย่างไรบ้าง
ประเด็นคือ หากการอ้างอิงพระไตรปิฎกเพื่อวินิจฉัยความถูก-ผิดตามหลักคำสอนของพุทธศาสนา ของท่านเจ้าคุณ จำกัดอยู่แค่การโต้แย้งกันด้วยหลักฐานข้อมูลทางวิชาการเท่านั้น ก็ไม่น่ามีปัญหาอะไร แต่การวิจารณ์ของท่านเจ้าคุณยังเลยไปถึงการตัดสิน “ตัวตน” ของฝ่ายที่เห็นต่าง เช่น ตัดสินว่าพวกเขามีเจตนาทุจริต ทำพระธรรมวินัยให้วิปริต เป็นการทำลายพุทธศาสนาอย่างถอนรากถอนโคน เป็นต้น
เฉพาะกรณีสันติอโศกท่านเจ้าคุณถึงกับไปเป็นพยานในการไต่สวน (แม้จะบอกว่าไม่ได้ไปศาลแต่ไปให้ข้อมูลที่วัดมหาธาตุก็ตาม) ในส่วนที่เป็นความผิดถูกตามพระธรรมวินัย ซึ่งเชื่อกันว่าคำให้การของท่านเจ้าคุณมีน้ำหนักให้ศาลวินิจฉัยตัดสินให้ สมณะโพธิรักษ์และสมณะสันติอโศกพ้นจากความเป็นพระสงฆ์ กรณีธรรมกายและ (อดีต) พระมโนก็เช่นกัน การตีความคำสอนพุทธศาสนาผิดจากพระไตรปิฎกก็กลายเป็น “มีเจตนาทำลายพุทธศาสนา” ไป
คนที่ติดตามการถกเถียงเรื่องนี้ ก็จะเห็นว่าแต่ละฝ่ายต่างยืนยันความถูกต้องของตนด้วยการ “อ้างพระไตรปิฎก” ทั้งสิ้น ชาวบ้านทั่วไปอาจงงๆ อยู่ว่าใครผิดใครถูก แต่นักวิชาการส่วนใหญ่ แม้แต่นักวิชาการสี่คนที่ท่านเจ้าคุณโต้ตอบก็ดูเหมือนจะเห็นว่า หลักฐานข้อมูลที่ท่านเจ้าคุณนำมาแสดงมีความน่าเชื่อถือมากกว่า แต่เขาไม่เห็นด้วยที่จะสรุปว่าการตีความต่างกัน มีความเข้าใจคำสอนต่างกัน ปฏิบัติต่างกันเท่าที่เป็นอยู่ในบ้านเราไม่ว่ากรณีสันติอโศก ธรรมกาย หนังสือเหตุเกิด พ.ศ.1 จะมีความหมายเท่ากับเป็น “การทำพระธรรมวินัยให้วิปริต” เพราะในเมื่อต่างฝ่ายต่างอ้างพระไตรปิฎก มันก็มีพระไตรปิฎกทั้งภาษาไทย บาลี อังกฤษ เป็นต้น ให้คนทั่วไปตรวจสอบได้อยู่แล้วว่าใครอ้างถูกหรือผิดอย่างไร
พูดตรงๆ คือ ถ้าเชื่อว่า คำสอนที่ถูกต้องของพุทธมีอยู่ในพระไตรปิฎก และพระไตรปิฎกก็เป็นสมบัติสากลของชาวพุทธทั่วโลก แม้สันติอโศก ธรรมกาย พระมโนหรือใครจะตีความผิดจากพระไตรปิฎกก็ไม่มีผลเป็นการทำพระธรรมวินัย (ที่มีอยู่ในพระไตรปิฎก) ให้วิปริตไปได้แต่อย่างใด จึงไม่มีเหตุผลว่าคนเหล่านี้กำลังทำลายพุทธศาสนาอย่างถอนรากถอนโคน ควรถูกขจัดออกไปจากความเป็นพระ จากพุทธศาสนา แต่ควรที่จะหันหน้ามาคุยกัน หรือถกเถียงแลกเปลี่ยนทางวิชาการด้วยเหตุผลด้วยผลก็พอ คนอ่านงานของทั้งสองฝ่ายจะเชื่อใครก็เป็นเสรีภาพของเขา ไม่ควรเลยเถิดไปตัดสินว่าความเห็นต่างเป็นความไม่รู้ เป็นความโง่ กระทั่งมีเจตนาทุจริต หรือเป็นความชั่ว
หรือพูดอีกอย่างว่าการที่คนเรา “อ่านต่างกัน” ก็อาจมองต่างกัน เช่นเกี่ยวกับประเด็น “พระสงฆ์กับการเมือง” พระพรหมคุณาภรณ์ มองอย่างโรแมนติกว่า
“ในสังคมไทย บทบาทและหน้าที่ทางการเมืองของพระสงฆ์ได้ดำเนินมาในลักษณะที่เข้ารูปเป็น มาตรฐานพอสมควร พระสงฆ์สั่งสอนหลักธรรมในการปกครองและสอนนักปกครองให้มีธรรม แต่ไม่เข้าไปยุ่มย่ามก้าวก่ายในกิจการเมือง ทางฝ่ายบ้านเมืองก็ยกชูสถาบันสงฆ์ไว้ในฐานะที่ เหนือการเมือง โดยมีประเพณีทางการเมืองที่ปฏิบัติมาเกี่ยวกับวัดและพระสงฆ์ เช่นว่า ผู้ใดหนีเข้าไปในพัทธสีมาของวัดก็เป็นอันพ้นภัยการเมือง เหมือนลี้ภัยออกไป ในต่างประเทศ ผู้บวชแล้วเป็นผู้พ้นภัย และเป็นผู้พ้นภัยจากปรปักษ์ทางการเมือง ดังกรณีของข้าราชบริพารของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ที่พระสงฆ์สมมติพระราชวังเป็นพัทธสีมาแล้วอุปสมบทให้ พาออกจากวังผ่านกองทัพของผู้ยึดอำนาจ ไปสู่วัดได้โดยปลอดภัย และกรณีของขุนหลวงหาวัด (พระเจ้าอุทุมพร) ในรัชการพระเจ้าเอกทัศน์ เป็นต้น” [vi]
แต่ จิตร ภูมิศักดิ์ มองต่างออกไปว่า พระสงฆ์ไม่ได้อยู่เหนือการเมืองจริง หากแต่มีความสัมพันธ์กับอำนาจรัฐในลักษณะ “สมประโยชน์กัน” เช่นที่เขาเขียนว่า
“ศักดินา (กษัตริย์) แบ่งปันที่ดินให้แก่ทางศาสนา แบ่งปันข้าทาสให้แก่วัดวาอาราม ยกย่องพวกนักบวชให้เป็นขุนนางมีลำดับยศ มีเครื่องประดับยศ มีเบี้ยหวัดเงินปีและแม้เงินเดือน...ศาสนามีหน้าที่สั่งสอนให้ผู้คนเคารพยำ เกรงกษัตริย์ พวกนักบวชทั้งหลายกลายเป็นครูอาจารย์ที่ให้การศึกษาแก่กุลบุตรกุลธิดา ซึ่งแน่นอนแนวทางการจัดการศึกษาย่อมเป็นไปตามความปรารถนาของศักดินา” [vii]
ฉะนั้น การตีความต่างกัน เพราะแต่ละคนอ่านมาต่างกันเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้อย่างปกติธรรมดา มันไม่ใช่เรื่องที่ต้องเลยเถิดไปตัดสินคนที่ตีความต่างจากเราว่า มีเจตนาทุจริต บิดเบือนพุทธศาสนา ทำพระธรรมวินัยให้วิปริต ทำให้คนเข้าใจผิด สร้างความเสียหายแก่พุทธศาสนาและสังคม ฯลฯ เพราะจริงๆ แล้วคนอ่านเขาย่อมวินิจฉัยได้เองว่างานของใครมีเหตุผลน่าเชื่อถือมากกว่า ไม่ใช่ว่ามีใครผลิตงานวิชาการที่ตีความผิดจากพระไตรปิฎกขึ้นมาชิ้นหนึ่งแล้ว จะทำให้ชาวพุทธเชื่อถือหลงผิดตามได้ง่ายๆ สร้างความเสื่อมแก่พุทธศาสนาได้ง่ายๆ
แต่จะว่าไปแล้ว วัฒนธรรมการวิจารณ์ที่ทำความเห็นต่าง คนเห็นต่างให้ “กลายเป็นอื่น” คือวัฒนธรรมกระแสหลักของพุทธเถรวาทที่มีมานาน และชัดมากในการสังคายนาครั้งที่ 3 เป็นต้นมาที่มีการยืมมืออำนาจรัฐมากำจัดพระสงฆ์ที่เห็นต่างจากฝ่ายพระโมคคัล ลีบุตรติสสเถระอย่างขนานใหญ่ โดยใช้วิธีการ “จัดสอบความรู้พระ” ถ้าสอบไม่ผ่านก็จับสึก ซึ่งก็คล้ายๆ กับคณะสงฆ์จัดการกับกลุ่มสมณะสันติอโศกเพราะเหตุผลเรื่องสอนผิดจากพระ ไตรปิฎก พระพรหมคุณาภรณ์ก็อาจซึมซับวัฒนธรรมการวิจารณ์ดังกล่าวมาด้วยเช่นกัน ดังเห็นได้จากการวิจารณ์สันติอโศก ธรรมกาย และนักวิชาการทั้งสี่คนดังกล่าว เป็นต้น
ทำให้ผมนึกถึง ว.วชิรเมธี ที่อ้างว่าได้รับอิทธิพลทางความคิดจากพระพรหมคุณาภรณ์มาก ก็ดูเหมือนจะมี “ท่าที” ต่อคนเห็นต่างคล้ายๆ กัน เช่นตอนหนึ่งของการให้สัมภาษณ์นิตยสาร GM ฉบับเดือนธันวาคม 2553 เกี่ยวกับที่มาของวาทกรรม “ฆ่าเวลาบาปยิ่งกว่าฆ่าคน” ว.วชิรเมธี วิจารณ์นักวิชาการที่วิจารณ์วาทกรรมดังกล่าวว่า
“เมื่อเราอ่านเนื้อใน เราได้ เห็นบทสรุปที่แสนจะตื้นเขิน ดูเสมือนว่านักวิชาการเหล่านั้นกำลังแสดงความ คิดเห็นต่อบ้านนี้เมืองนี้ แต่ถ้าเราอ่านดูจริงๆ มันเป็นเรื่องของการแสดง ความรู้สึก ซึ่งไม่ใช่เรื่องของการแสดงความคิดเห็น การแสดงความคิดเห็นต้อง มีรากฐานทางวิชาการรองรับอย่างแน่นหนาเป็นหลักฐาน ส่วนการแสดงความ รู้สึก แค่คุณไม่พอใจอะไรใคร คุณก็โพล่งหรือสบถออกมาแค่นั้น แล้วทุกวันนี้ เราได้เห็นนักวิชาการหรือปัญญาชนทำแบบนี้กันมาก แล้วก็เรียกว่าฉันกำลังทำ งานวิชาการ แล้วมันขายดีนะ ติดตลาด เพราะวัฒนธรรมของสังคมไทยเป็นวัฒนธรรม ของความเชื่อ ไม่ใช่วัฒนธรรมแห่งการแสวงหาความรู้ นั่นทำให้นักวิชาการจำนวน มากสามารถสร้างตัวเองขึ้นมาท่ามกลางซากปรักหักพังของเพื่อนร่วมชาติ”
สรุปสั้นๆ ว่านักวิชาการขาดความรับผิดชอบ ไม่ใช้ความรู้ ฉวยโอกาสสร้างตัวเองขึ้นมาท่ามกลางซากปรักหักพังของเพื่อนร่วมชาติ แต่ ว.วชิรเมธี ไม่ได้ตั้งคำถามกับตนเองว่า ที่ตนทวิตเตอร์ข้อความ “ฆ่าเวลาบาปยิ่งกว่าฆ่าคน” ออกมาราวกลางเดือนมกราคม 2553 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่สื่อกำลังโหมกระแสการจะออกมาชุมนุมของคนเสื้อแดงและนำ ภาพความรุนแรงในเหตุการณ์สงกรานต์เลือดมาฉายซ้ำแล้วซ้ำอีกนั้น เป็นการ “ผลิตวาทกรรม” ที่รับผิดชอบอย่างไร รู้กาลอันควรไม่ควรหรือไม่ (ยังไม่ต้องพูดถึงการเปรียบเทียบการฆ่าเวลากับองคุลีมาลย์ฆ่าคน 999 คนว่าจะเป็นตรรกะวิบัติเพียงใด)
กล่าวโดยสรุป วิธีการวิจารณ์ความคิดเห็นของคนอื่นเป็นวิธีที่พุทธเถวาทเรียกว่าวิธีกำราบ “ปรัปปวาท” (วาทะของฝ่ายอื่น) พระสงฆ์ที่ใช้วิธีนี้กับนักวิชาการ หรือพระด้วยกันเองในปัจจุบัน จึงแทนที่จะทำเพียงชี้แจงเหตุผล หลักวิชาการเท่านั้น ก็ “ทำเกิน” โดย “ข่มกำราบ” คนอื่นว่าไม่รู้จริงบ้าง ไม่รับผิดชอบบ้าง มีความเห็นผิด เจตนาทุจริต ฯลฯ ซึ่งที่จริงเป็นวิธีที่ล้าสมัยแล้ว เพราะทุกวันนี้ความรู้ไม่ได้อยู่ที่ “ตัวปราชญ์” แต่ค้นคว้าได้จากหลากแหล่งและค้นคว้าได้ง่าย ใครๆ ก็เข้าถึงความรู้ทางพุทธศาสนาได้ไม่ยากถ้าสนใจจะรู้ การวิจารณ์ด้วยท่าทีข่มว่าคนอื่นไม่รู้จริง เห็นผิด ฯลฯ แทนที่จะโต้ “ประเด็น” หรือ arguments ที่เขาเสนออย่างตรงไปตรงมา เช่นที่พระพรมคุณาภรณ์ทำกับงานของ (อดีต) พระมโน เป็นต้น จึงถือเป็นตัวอย่างของ “ท่าที” การวิจารณ์ที่ล้าหลังที่ชาวพุทธรุ่นใหม่ไม่ควรถือเป็นแบบอย่าง

[i] พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)..นักวิชาการเทศ-ไทย หาความรู้ให้แน่ใช่แค่คิดเอง.หน้า 156.
[ii] เมตฺตานนฺโท ภิกขุ.เหตุเกิด พ.ศ. 1(B.E.0001) เล่ม 1 : วิเคราะห์กรณีพุทธปรินิพพาน และ[ii] เหตุเกิด พ.ศ. 1 (B.E.0001) เล่ม 2 : วิเคราะห์กรณีปฐมสังคายนาและภิกษุณี
[iii] เรื่องเดียวกัน หน้า 7-8
[iv] โปรดอ่าน พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตฺโต).ติ่นกันเสียทีจากความเท็จของหนังสือเหตุเกิด พ.ศ.1 และดู เมตตานนฺโท ภิกขุ.เหตุเกิด พ.ศ.1 (B.E.0001) เป็นเท็จจริงหรือ?ในหนังสือดังกล่าวมีการจัดทำตาราง ข้อความตัดสินตัวตน ทำนองเดียวกันนี้ถี 4 หน้า คือหน้า 62-65 ซึ่งเป็นข้อมูลที่แสดงให้เห็นว่าวิธีวิจารณ์ของพระพรหมคุณาภรณ์เป็นการเลย เถิดจากการวิจารณ์ ความคิด ไปตัดสิน ตัวบุคคล มากเพียงใด
[v] ดูวารสารปัญญา วารสารออนไลน์ ฉบับประจำเดือน กรกฎาคม 2554
[vi] พระเทพเวที (ประยุทธ์ ปยุตฺโต).กรณีสันติอโศก. หน้า 28
[vii] จิตร ภูมิศักดิ์. โฉมหน้าศักดินาไทย.หน้า 66-67