ส่งเสริมคนดีให้ได้ปกครองบ้านเมือง

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

Friday, 9 September 2011

ความไม่เป็นธรรมที่ ‘ดา ตอร์ปิโด’ ได้รับ : มองจากทัศนะทางพุทธศาสนา

ที่มา ประชาไท

“อย่างคุณดา ตอร์ปิโดนั้น ผมคิดว่าเธอจริงใจ และพูดออกไปตามที่เธอเชื่อ คนเช่นนี้ผมคิดว่าสมควรที่กระบวนการยุติธรรมจะพิจารณาผ่อนปรนให้เป็นพิเศษ ซึ่งหากระบบยุติธรรมแสดงความเห็นใจ เข้าใจว่าเธอคับแค้นใจ จึงได้แสดงความคิดออกมาอย่างนั้น การผ่อนปรนจากหนักให้เป็นเบา จะเป็นหนทางที่ดีที่สุด”

ข้อความข้างต้นนี้ คือบางส่วนในข้อเขียนชื่อ “ความยุติธรรมและมนุษยธรรม” ของ สมภาร พรมทา (วารสารปัญญา วารสารออนไลน์ ฉบับที่ 11 สิงหาคม 2554 หน้า 703) ซึ่งเป็นข้อเขียนแสดงทัศนะส่วนตัวของผู้เขียนเพื่อสรุปจบงานวิชาการขนาดยาว ชื่อ “นิติปรัชญา” ที่เขียนต่อเนื่องในวารสารดังกล่าว ตั้งแต่ฉบับที่ 1-11 (รวม 700 กว่าหน้า)

ที่สมภารบอกว่า คำพูดของดาออกมาจากความจริงใจ จากความคับแค้นใจที่กระบวนการยุติธรรมควรเข้าใจ เห็นใจ ผ่อนหนักให้เบานั้น (ตามข้อเท็จจริงศาลตัดสินจำคุกฐานผิด ม.112 เป็นเวลา 18 ปีในความผิด 3 กรรม กรรมละ 6 ปี) เพราะเมื่อเปรียบเทียบกับคำพูดของฝ่ายที่ประกาศ “สู้เพื่อในหลวง” หรือ “พร้อมสละชีวิตเพื่อปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์และราชบัลลังก์” เช่น สนธิ ลิ้มทองกุล ประพันธ์ คูณมี เป็นต้นแล้ว คนทั่วๆ ไปย่อมจะมองออกว่า คำพูดดังกล่าวยากที่จะทำให้เชื่อได้ว่าออกมาจากความบริสุทธิ์ใจจริงๆ พูดตรงๆ คือการอ้างถึงสถาบันในลักษณะดังกล่าวไม่ว่าจะกระทำโดยใคร หรือกลุ่มใด ตั้งแต่อดีตจวบปัจจุบันมักจะเป็นการอ้างเพื่อทำลายคู่ต่อสู้ทางการเมือง หรือเพื่อให้ตนเองดูเป็นคนดีเสียส่วนใหญ่

ส่วนคำพูดของดานั้น เป็นคำพูดที่ออกมาจากความเชื่อในอุดมการณ์ทางการเมืองอย่างบริสุทธิ์ใจว่า การปกครองระบอบประชาธิปไตยนั้น อำนาจอธิปไตยต้องเป็นของประชาชนจริงๆ หมายความว่าหากมีอำนาจลึกลับใดๆ เข้ามาแทรกแซงทางการเมือง หรือบิดเบือนเจตนารมณ์ทั่วไปของประชาชนที่เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยนั้น ย่อมเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง จึงเป็นหน้าที่ของพลเมืองผู้รักประชาธิปไตยที่จะไม่ยอมให้เป็นเช่นนั้น นี่คือความเชื่อโดยบริสุทธิ์ใจของดาที่คนทั่วไปเข้าใจได้ (หากใช้เหตุผล) ส่วนสำนวน หรือลีลาในการพูดของเธอนั้นอาจเป็นเพียงการระบายความคับแค้นใจ ขมขื่นใจ ที่สามารถเข้าใจได้ อธิบายได้อีกเช่นกัน

ฉะนั้น หากกระบวนการยุติธรรมไต่สวน และตัดสินด้วยความเคารพต่อความเชื่อในอุดมการณ์ประชาธิปไตยของพลเมืองคน หนึ่ง และเข้าใจถึงอารมณ์ความรู้สึกที่อาจคับแค้นใจกับสิ่งที่ตนเองเชื่อว่าไม่ถูก ต้องในทางการเมือง การผ่อนหนักให้เป็นเบาย่อมเป็นการให้ "ความเป็นธรรม" ที่อธิบายได้

หากมองตามทัศนะของพุทธศาสนา โทษจำคุก 18 ปี ที่ดาได้รับถือว่าไม่เป็นธรรมแก่เธออย่างยิ่ง บางคนอาจแย้งว่า ทำไม่จะไม่เป็นธรรมในเมื่อศาลตัดสินไปตามตัวบทกฎหมายที่มีอยู่ แต่พุทธศาสนามองว่าความเป็นธรรมนั้นไม่อาจมองเฉพาะจากตัวบทกฎหมายเท่านั้น เพราะบางที่กฎหมายก็บัญญัติขึ้นบนพื้นฐานของความเชื่อที่ไม่เป็นธรรมอยู่ ก่อน ขึ้นอยู่กับว่าคนกลุ่มใดเป็นผู้บัญญัติกฎหมาย เช่น สมัยพุทธกาลศาสนาพราหมณ์เชื่อว่าพระพรหมสร้างมนุษย์มาให้ไม่เสมอภาคกัน สูงต่ำกว่ากันตามระบบวรรณะสี่ จากพื้นฐานความเชื่อนี้ พราหมณ์จึงออกกฎหมายให้ชนชั้นสูงได้เปรียบ หรือมีอภิสิทธิ์เหนือชนชั้นล่างทุกด้าน

คติความศักดิ์สิทธิ์ของกษัตริย์ก็เป็นคติความเชื่อที่บรรพบุรุษของเราได้ รับอิทธิพลจากความเชื่อแบบพราหมณ์ผ่านทางวัฒนธรรมขอม และภายหลังอาจหนุนเสริมด้วยการตีความคำสอนพุทธศาสนาเรื่องกษัตริย์เป็นผู้ บำเพ็ญบุญบารมีมามากกว่าสามัญชน จึงเป็นผู้มีบุญญาธิการสมควรอยู่ที่สูงเหนือคนธรรมดาทั่วไป แต่ในสมัยพุทธกาลพระพุทธเจ้าปฏิเสธความเชื่อแบบพราหมณ์ และเสนอว่า กษัตริย์จะเป็นกษัตริย์ที่ดีไม่ใช่เพราะได้รับเทวสิทธิ์จากพระเจ้า แต่เพราะมีคุณธรรมของผู้ปกครองที่ช่วยให้ทำหน้าที่บำบัดทุกข์บำรุงสุขให้ผู้ ใต้ปกครองพึงพอใจ

ฉะนั้น กษัตริย์ตามอุดมคติของพุทธศาสนาแบบดั้งเดิม จึงไม่ใช่ผู้มีอำนาจแบบเทวสิทธิ์ ภาพลักษณ์ของกษัตริย์ที่ดีไม่ใช่ผู้ใช้อำนาจให้คนกลัวเหมือนกษัตริย์ตาม อุดมคติแบบพราหมณ์ แต่เป็นกษัตริย์ที่ประชาชนรัก เพราะอุทิศตนเสียสละ ซื่อสัตย์ อ่อนน้อมต่อผู้ใต้ปกครองตามหลักทศพิธราชธรรม และจักรวรรดิวัตร

แต่ทว่าคติเกี่ยวกับกษัตริย์ของไทยนั้นปนๆ กันอยู่ระหว่างพราหมณ์กับพุทธ ภาพลักษณ์ของกษัตริย์จึงมีสองภาพลักษณ์ที่ขัดแย้งกัน ภาพลักษณ์หนึ่งคือภาพลักษณ์ของผู้มีอำนาจศักดิ์สิทธิ์ที่ต้องปกป้องอำนาจ นั้นด้วยการสร้าง “ความกลัว” เช่นมีกฎหมายปกป้องความศักดิ์สิทธิ์นั้นอย่างแน่นหนา ขณะที่อีกภาพลักษณ์หนึ่งคือความเป็นที่รักของประชาชน เพราะเสียสละอุทิศตนเพื่อประชาชน

ถึงตรงนี้เราคงพอจะเข้าใจว่า กฎหมายหมิ่น ม.112 (และกฎหมาย จารีตประเพณีที่มุ่งรักษาอำนาจอันศักดิ์สิทธิ์ของกษัตริย์ด้วยการสร้าง “ความกลัว”) คือ กฎหมายที่บัญญัติขึ้นเพื่อปกป้องภาพลักษณ์ของกษัตริย์ตามคติพราหมณ์ ฉะนั้น เมื่อมองตามทัศนะทางพุทธศาสนา กฎหมายดังกล่าวที่มีบทลงโทษสูงเกินไป จึงเป็นกฎหมายที่ไม่ยุติธรรมตั้งแต่ต้น เพราะเป็นกฎหมายที่บัญญัติขึ้นบนพื้นฐานความเชื่อที่ไม่เป็นธรรม คือความเชื่อที่ว่ามนุษย์ไม่เท่าเทียมกัน

เมื่อพุทธศาสนาปฏิเสธระบบชนชั้นแบบพราหมณ์ก็เพื่อยืนยันว่า "มนุษย์เท่าเทียมกัน" จึงไม่มีเหตุผลที่พุทธศาสนาจะไม่สนับสนุนความเสมอภาคตามระบอบประชาธิปไตย และจะไม่สนับสนุนการต่อสู้ของพลเมืองของรัฐที่ยืนยันความเสมอภาคตามระบอบ ประชาธิปไตย

ฉะนั้น ที่นักวิชาการด้านพุทธศาสนาอย่าง สมภาร พรมทา เห็นว่ากระบวนการยุติธรรมควรพิจารณาอย่างเข้าใจ เห็นใจดา ตอร์ปิโด และควรผ่อนหนักให้เป็นเบานั้น เพราะเมื่อมองตามทัศนะทางพุทธศาสนา ม.112 ก็ไม่ใช่กฎหมายที่ยุติธรรมตั้งแต่แรกดังกล่าว และประชาชนที่ถูกเอาผิดด้วยกฎหมายนี้ ก็คือคนที่โดยใจจริงแล้ว พวกเขาต่อสู้เพื่อปกป้องความเสมอภาคตามอุดมการณ์ประชาธิปไตย ที่พุทธศาสนาก็สนับสนุนหลักการนี้

คิดอย่างตรงไปตรงมาแบบชาวพุทธและผู้ซื่อสัตย์ต่อหลักการประชาธิปไตย คุณดาและคนอื่นๆ ที่ถูกดำเนินการด้วย ม.112 เนื่องจากพวกเขาออกมาต่อสู้ด้วยอุดมการณ์ประชาธิปไตย ควรได้รับการปล่อยตัว และกฎหมายฉบับนี้ก็ควรถูกยกเลิกได้แล้ว!