เมื่อวันที่ 1 ก.ค. 54 ณ โรงแรมอโนมา กรุงเทพฯ มูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพ จัดงานเสวนาเนื่องในวันคนสูญหายสากล (Enforced Disappearance) รำลึกทนายสมชาย นีละไพจิตร จับมือกลุ่มญาติคนหายจากทุกภาคของประเทศไทย เรียกร้องรัฐบาลใหม่ค้นหาความจริง และลงนามในอนุสัญญาระหว่างประเทศ เพื่อคุ้มครองการบังคับบุคคลให้สูญหาย ให้เป็นอาชญากรรม
การอุ้มหาย ความรุนแรงที่รัฐไทยยอมรับได้?
ประทับจิตร นีละไพจิตร กล่าวว่า จากการทำวิจัยของมูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพ พบว่า ในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา สามารถรวบรวบกรณีการบังคับคนให้สูญหายในประเทศไทยกว่า 90 กรณี จากจำนวนดังล่าว มี 18 คดีที่ทางคณะทำงานด้านการบังคับบุคคลให้สูญหายแห่งสหประชาชาติ สหประชาชาติได้รับไว้ เพื่อตรวจสอบและค้นหาความจริงต่อไป
เธอตั้งข้อสังเกตว่า กรณีส่วนใหญ่เป็นการกระทำจากเจ้าหน้าที่รัฐ ไม่ว่าจะเป็นจากนโยบายการปราบปรามยาเสพติด การปราบปรามการก่อการร้ายในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือการสลายการชุมนุม เป็นต้น
สุนัย ผาสุก นักวิจัยองค์กรฮิวแมนไรท์ วอทช์ มองว่า วัฒนธรรมการงดเว้นโทษของเจ้าหน้าที่รัฐ กลายเป็นเรื่องปรกติของสังคมไทย รวมถึงการบังคับให้คนหาย ก็ถูกยอมรับวโดยกลายๆ ว่า เป็นวิธีการหนึ่งในการบังคับใช้กฎหมายของไทย
เขากล่าวว่า เจ้าหน้าที่รัฐ ต่างยอมรับว่า การบังคับคนให้สูญหาย เป็นเรื่องที่สามารถทำได้ หากเป็นเรื่องที่ตอบสนองนโยบายที่กำหนดไว้ เช่นต่อนโยบายการปราบปรามยาเสพติด ก็มีการจุดกระแสในสังคมว่า คนค้ายาเป็นขยะสังคม เมื่อหายไปแล้วก็ไม่เป็นอะไร หากแต่สังคมยังรู้สึกสะใจด้วย
สุนัยมองว่า ที่เหตุการณ์เช่นนี้ยังเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีก เป็นเพราะไม่มีการเอาผิดแก่เจ้าหน้าที่รัฐ จะเห็นว่าจาก 90 กว่ากรณี มีการเอาผิดได้ไม่กี่กรณีเท่านั้น การอุ้มหายจึงถูกนำมาปฏิบัติซ้ำแล้วซ้ำอีก
“ยังมีปัญหาเรื่องการขัดขวางและการปกปิดกระบวนการยุติธรรม ซึ่งทางฮิวแมนไรท์ วอทช์ใช้คำว่าเป็นการสืบสวนของตำรวจที่ ‘ชุ่ย’ และไม่สามารถเอาผิดได้ด้วย และกระบวนการคุ้มครองพยานของไทย ก็ล้มเหลวโดยสิ้นเชิง ครอบครัวของเหยื่อหลายคนยังถูกคุกคามทุกวัน ต้องหลบซ่อน” สุนัยกล่าว
ครอบครัวเหยื่อเผย ทุกวันนี้ยังถูกคุกคาม
ทัศนีย์ โมง ครูอายุ 36 ปี จากจังหวัดนราธิวาส ซึ่งเป็นครอบครัวของผู้ที่สูญหาย เปิดเผยว่า บิดาของตนเอง ถูกบังคับให้หายไปหลังเหตุการณ์ปล้นปืนในเดือนมกราคม ปี 2547 เพียงไม่กี่วัน มีพยานเห็นว่า พ่อของเธอถูกเอาตัวไปโดยชายนอกเครื่องแบบ ในขณะที่คุยกับเพื่อนบริเวณหน้าบ้าน
เธอเล่าว่า หลังจากเหตุการณ์เกิดขึ้น ก็ไม่กล้ามีใครมาเป็นพยานให้ปากคำว่าพ่อของเธอถูกอุ้มหายไป และเมื่อเธอไปแจ้งความที่สถานีตำรวจ ก็กลับถูกคุกคามหลายต่อหลายครั้ง โดยมีทหารไปสอบสวนเธอที่โรงเรียน และบ้านก็ถูกบุกค้นหลายรอบ
“หลังจากที่พ่อถูกอุ้มหายไป ชีวิตของครอบครัวก็เปลี่ยนไปเยอะมาก พี่น้องต้องออกไปทำมาหากินที่มาเลเซียเพราะกลัว ไม่กล้าอยู่บ้าน” ทัศนีย์เล่า
เธอยังกล่าวว่า ที่ผ่านมา ไม่มีความช่วยเหลือหรือความใส่ใจใดๆ จากภาครัฐ จึงอยากให้รัฐเข้ามาช่วยดูแลกรณีเช่นนี้ด้วย
“อยากให้รัฐบาลใหม่มาช่วยคุ้มครองคนธรรมดาๆ แบบเราด้วย อย่าให้เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นกับพวกเราอีก เพราะมันทรมานมากที่คนที่เรารักต้องสูญหายไป” ทัศนีย์กล่าว
เหยื่อร้องรัฐคุ้มครอง ต้องไม่เลือกปฏิบัติ
ทางด้านอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 กล่าวว่า เนื่องจากปีหน้า จะครบรอบ 20 ปีเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ และหลักฐานต่างๆ ก็ปรากฏขึ้นมาใหม่เรื่อยๆ จึงอยากเรียกร้องต่อรัฐบาลใหม่ว่า ต้องทำการพิสูจน์และค้นหาความจริงในกรณีดังกล่าวให้ได้
อดุลย์กล่าวว่า รัฐบาลต้องให้มีการเยียวยาแก่ครอบครัวของเหยื่อโดยทันทีอย่างไม่มีเงื่อนไข และให้มีการชดเชยที่เพียงพอ ทั้งนี้ ไม่ใช่เพียงแต่กรณีพฤษภาทมิฬเท่านั้น แต่รวมถึงกรณีความรุนแรงอื่นๆ ด้วย ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์การสลายการชุมนุมนปช. ในเดือนพ.ค. 2553 การสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรฯ เมื่อ 7 ต.ค. 2550 รวมถึงกรณีกรือเซะและตากใบ
“หากท่าน [รัฐบาลใหม่] ให้ความเป็นธรรมแก่ขบวนการเสื้อแดง ท่านต้องให้ความเป็นธรรมกับขบวนการอื่นๆ ที่เรียกร้องความเป็นธรรมด้วย” อดุลย์กล่าว
เช่นเดียวกับสีละ จะแฮ นายกสมาคมลาหู่เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต ซึ่งให้ความช่วยเหลือทางด้านกฎหมายแก่ประชาชนชนเผ่าลาหู่ ในจังหวัดเชียงใหม่ เล่าว่า มีกรณีที่ชาวบ้านถูกจับตัวไปขังในหลุมดิน และซ้อมทรมาน เมื่อไปตามหาก็ไม่พบตัวอีกเลย
ทั้งนี้ เขาเชื่อว่าเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ ที่กระทำตามนโยบายปราบปรามยาเสพติดในพื้นที่ และเรียกร้องว่า รัฐบาลต้องให้ความเป็นธรรมแก่คนทุกฝาย
“เราอยากให้รัฐบาลเป็นที่พึ่งของกลุ่มชนทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะชนเผ่าหรือกลุ่มไหน เพราะที่ผ่านมารู้สึกว่า กระบวนการยุติธรรมมันไม่เท่าเทียม เราถูกศาลเตี้ยกระทำ ไม่มีกระบวนการยุติธรรมมาดูแล” สีละกล่าว
รณรงค์รบ. ลงนามอนุสัญญาฯ ป้องกันคนหาย
คมกฤช หาญพิชาญชัย นักวิจัยเรื่องอนุสัญญาป้องกันบุคคลจากการบังคับสูญหาย กล่าวถึงความจำเป็นที่รัฐบาลต้องลงนามใน ‘อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลจากการบังคับให้สูญหาย’ ว่า จะเป็นการทำให้การทำบุคคลให้สูญหายโดยเจ้าหน้าที่รัฐเป็นอาชญากรรม ซึ่งจะต้องมีกระบวนการยุติธรรมที่เหมาะสมมารองรับ ไม่ว่าจะเป็นในแง่การสืบสวนสอบสวน หรือบทลงโทษ
เอเมอร์ลิน จิลล์ นักวิจัยจากคณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล (ไอซีเจ) ชี้ว่ากฎหมายภายในประเทศ ยังมีไม่เพียงพอสำหรับโทษของการบังคับบุคลให้สูญหาย และเรียกร้องให้รัฐบาลไทย ร่วมลงนามในอนุสัญญาว่าด้วยการบังคับบุคคลให้สูญหาย เพื่อให้ความเป็นธรรมแก่เหยื่อ
“รัฐบาลไทยไม่ควรละเลยการสืบสวนสอบสวน เพื่อค้นหาความจริงและนำมาซึ่งความเป็นธรรม ในนามของความสามัคคีของชาติและการปรองดอง
ทางไอซีเจ อยากจะเตือนความจำต่อ รบ.ไทยว่า การปรองดองจะไม่สามารถทำได้ หากไม่มีการเปิดเผยความจริงให้แก่ครอบครัว ญาติ และสังคมในวงกว้างได้รับรู้” จิลล์กล่าว