ส่งเสริมคนดีให้ได้ปกครองบ้านเมือง

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

Tuesday, 6 September 2011

ความคลุมเครือ-ที่มาของอำนาจนอกระบบ

ที่มา มติชน



โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

(ที่มา หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับประจำวันที่ 8 กันยายน 2554)


คํา อภิปรายของฝ่ายค้านและตอบโต้ของรัฐบาลในการแถลงนโยบายต่อรัฐสภา ดูจะเป็นการต่อสู้กันระหว่างอะไรสองอย่าง ซึ่งสะท้อนให้เห็นพัฒนาการทางการเมืองของไทย ว่าได้เดินมาถึงแพร่งสำคัญที่ต้องเลือกว่าจะเดินไปทางใด โดยเฉพาะการอภิปรายถึงสถาบันพระมหากษัตริย์, ความจงรักภักดี และ ม.112 ในกฎหมายอาญา

ผู้ ฟังหลายคนคงรู้สึกผิดหวังเหมือนผม ที่ฝ่ายรัฐบาลเลือกที่จะเล่นเกมการเมืองเก่า คือยืนยันความสัมพันธ์ทางการเมืองกับสถาบันพระมหากษัตริย์ที่ไม่ชัดเจนดัง เดิม ด้วยการประกาศความจงรักภักดีอย่างท่วมท้นของตน และอย่างที่ฝ่ายค้านวางเส้นทางให้เดิน คือไม่คิดจะทบทวน ม.112 ไม่ว่าในแง่เนื้อหา หรือในแง่ของการปฏิบัติ

ยิ่งไปกว่านั้น รองนายกฯเฉลิม อยู่บำรุง และ รมต.ไอซีที ยังแสดงบทบาทไม่ต่างจากรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ ที่จะบังคับใช้กฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างเข้มข้น

ทั้งๆ ที่ก็รู้อยู่เต็มอกว่า การบังคับใช้กฎหมายเรื่องนี้ที่ผ่านมามีปัญหาอย่างไร และบิดเบือนเจตนารมณ์ของกฎหมายเพื่อปราบศัตรูทางการเมืองอย่างเมามันอย่างไร

(ถ้าเมามันเท่ากันเช่นนี้ ยังมีน้ำหน้าจะไปปลดคนโน้นคนนี้ ซึ่งเป็นเครื่องมือให้รัฐบาลได้ใช้กฎหมายอย่างเมามันได้อย่างไร)

แต่อะไรกับอะไร ที่ต่อสู้กันอยู่ในสภาในวันแถลงนโยบาย?

ผมพยายามหาวิธีอธิบายเรื่องนี้อยู่หลายวัน และคิดว่าอธิบายได้ แต่เพิ่งมาอ่านพบบทความของ นายรอเบิร์ต อัมสเตอร์ดัม ที่ลงในเว็บไซต์นิวมัณฑละ ตรงกับความคิดของผมพอดี แต่อธิบายได้กระจ่างชัดกว่า จึงขอนำมาสรุปดังนี้ (จมูกของหลายคนคงย่นเมื่อได้ยินชื่อนี้ แต่เราตัดสินอะไรกันที่เนื้อหาไม่ดีกว่าที่ผู้พูดหรอกหรือครับ)

เขา ยกทฤษฎีของนักวิชาการเยอรมันคนหนึ่งชื่อ Ernst Fraenkel ซึ่งศึกษาเยอรมันภายใต้นาซี ออกมาเป็นทฤษฎีที่อาจเอาไปใช้ในกรณีอื่นๆ ได้ด้วย

เขาเสนอว่ารัฐนั้นมีสามประเภทอย่างกว้างๆ

ประเภทหนึ่งคือนิติรัฐ ทุกอย่างดำเนินไปตามกฎเกณฑ์กติกาหรือกฎหมาย

อีก ประเภทหนึ่งซึ่งอยู่สุดโต่งอีกข้างหนึ่งคือรัฐอภิสิทธิ์ อันหมายถึงรัฐที่มีบุคคลหรือกลุ่มบุคคลซึ่งถืออภิสิทธิ์บางอย่าง และการบริหารจัดการบ้านเมืองย่อมเป็นไปตามความประสงค์ของอภิสิทธิ์ชนเหล่า นี้

รัฐประเภทที่สามคือรัฐซ้อน อันได้แก่รัฐเช่นประเทศไทย

กล่าว คือมีสถาบัน, องค์กร และการจัดการที่เป็นไปตามกฎหมายอยู่ แต่ในการบริหารจัดการจริง ก็ยังขึ้นอยู่กับความประสงค์ของกลุ่มอภิสิทธิ์ชนนั่นเอง

ที่ รัฐเหล่านี้ต้องมีระเบียบแบบแผนระดับหนึ่งก็เพราะ ระเบียบแบบแผนเอื้อต่อทุนนิยม จำเป็นต้องมีระบบตุลาการที่เป็นอิสระและเป็นกลาง พอจะตัดสินกรณีพิพาททางธุรกิจหรือหนี้สินได้ แต่ในเรื่องอำนาจทางการเมือง กลุ่มอภิสิทธิ์ชนก็ยังหวงไว้ตามเดิม แต่ก็หวงไว้ภายใต้ความคลุมเครือในรูปแบบของนิติรัฐ ไม่ได้ประกาศออกมาโจ้งๆ ตลอดไปกฎหมายเป็นรองความประสงค์ของฉัน

ฉะนั้น ถ้าอธิบายตามทฤษฎีของนาย Ernst Fraenkel อะไรที่ต่อสู้กันในสภาวันนั้น ที่จริงคือการต่อสู้ระหว่างนิติรัฐ และรัฐอภิสิทธิ์นั่นเอง

นิติ รัฐของไทยกำลังผลักดันตัวเองไปสู่กฎระเบียบที่เป็นประชาธิปไตย ซึ่งจะเหลือความคลุมเครือของอำนาจน้อยลง ในขณะที่รัฐอภิสิทธิ์พยายามจะรักษาส่วนที่ไม่เสรีและไม่ประชาธิปไตยเอาไว้ ภายใต้ความคลุมเครือ เพื่อจรรโลงอภิสิทธิ์ของคนบางกลุ่มต่อไป

และด้วยเหตุดังนั้น จึงกดดันให้รัฐบาลใหม่ต้องยอมรับว่า จะไม่เข้าไปสถาปนาความชัดเจนในความคลุมเครือที่จำเป็นต้องดำรงอยู่

และ อย่างที่กล่าวในตอนแรกนะครับ รัฐบาลพรรค พท.ก็พร้อมจะรักษาความคลุมเครือนั้นไว้ดังเดิม ผมยังพยายามจะมองในแง่ดีว่า เพราะพรรค พท.คิดว่าเป็นวิธีเดียวที่จะประคองตัวให้รอดพ้นจากการถูกทำลายลงด้วยอำนาจ ของรัฐอภิสิทธิ์

แต่นี่น่าจะเป็นการตัดสินใจที่ผิด เพราะสถานการณ์ของไทยได้เปลี่ยนไปแล้ว พรรค พท.มีแต้มต่อหลายอย่างที่ควรกล้าเดิมพันมากกว่าขออยู่ในตำแหน่งนานๆ เพียงเท่านั้น ถึงอยู่ได้ไม่นาน เดี๋ยวก็กลับมาอีก

ผลการ เลือกตั้งที่ พท.ชนะอย่างท่วมท้นทำให้เห็นว่า การต่อสู้ของนิติรัฐได้เข้ามาอยู่ในสภาแล้ว หลังจากได้อยู่ในท้องถนนมาตั้งแต่ พ.ศ.2516 แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า จะไม่มีการต่อสู้ในท้องถนนอีกเลย หากรัฐอภิสิทธิ์พยายามสถาปนารัฐบาลของตนเองขึ้นใหม่ (โดยการรัฐประหาร, คำพิพากษา, หรือการจัดรัฐบาลในค่ายทหารก็ตาม) การต่อสู้ในท้องถนนก็อาจกลับมาอีก

นอกจากนี้รัฐอภิสิทธิ์ยังอาจหนุน ให้เครือข่ายของตนใช้ท้องถนนเพื่อบ่อนทำลายอำนาจรัฐประชาธิปไตยในสภาได้ หากสถานการณ์อำนวย แต่แนวหน้าของการต่อสู้ของนิติรัฐได้เคลื่อนเข้ามาอยู่ในสภาแล้ว

ดัง นั้น หากรัฐบาล พท.ไม่ยอมรุกคืบหน้าในการขยายพื้นที่ของนิติรัฐ ทุกอย่างจะชะงักงันอยู่อย่างเก่า และพรรค พท.ต้องไม่ลืมว่า ในสถานการณ์ชะงักงันที่พื้นที่นิติรัฐมีอยู่นิดเดียว ในขณะที่พื้นที่ของรัฐอภิสิทธิ์มีในความคลุมเครืออยู่อย่างกว้างขวาง พรรค พท.ก็จะถูกเขี่ยกระเด็นไปได้ง่ายๆ

การต่อสู้ผลักดันเพื่อขยาย พื้นที่ของนิติรัฐในสภาจึงเป็นไปเพื่อความมั่นคงของพรรค พท.เองด้วย ซ้ำจะเป็นความมั่นคงมากเสียยิ่งกว่าพยายามจรรโลงความคลุมเครือให้ดำรงอยู่ เพื่อการยอมรับของรัฐอภิสิทธิ์เสียอีก

ส.ส.ของ พท.แต่ละคนจะมีพันธกรณีกับประชาธิปไตยมากน้อยเพียงใดไม่ทราบได้ แต่พรรค พท.เองจะอยู่รอดได้ก็อยู่ที่พื้นที่นิติรัฐหรือประชาธิปไตยต้องขยายกว้าง ขึ้น เพื่อเป็นหลักประกันว่ารัฐบาลพท.จะล้มก็ด้วยการเลือกตั้งเท่านั้น

พรรค พท.จึงควรอธิบายให้ชัดเจนว่า ความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์นั้น แท้ที่จริงคือความจงรักภักดีต่ออธิปไตยของปวงชนชาวไทยนั่นเอง

เพราะพระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจอธิปไตยแทนปวงชนชาวไทย (ตามรัฐธรรมนูญ) คนที่ไม่จงรักภักดีคือคนที่ละเมิดอธิปไตยของปวงชนชาวไทย

ในส่วน ม.112 นั้น พรรค พท.ต้องกล้าพูดความจริงว่าเป็นกฎหมายที่มีปัญหาแน่นอน ไม่ในเนื้อหาก็ในการบังคับใช้ หรือทั้งสองอย่าง จากการที่มีผู้ตกเป็นผู้ต้องหาเพียงปีละไม่ถึง 10 ราย กลายเป็นมีผู้ต้องหานับร้อยในทุกปี

การ สร้างภาพความจงรักภักดีอย่างสูงสุดแก่ตนเอง ดังที่นักการเมืองได้ทำสืบเนื่องกันมาหลายปีแล้วนี้ เป็นสิ่งที่พรรค พท.จะไม่ทำตามเป็นอันขาด การปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ในโลกยุคปัจจุบัน ต้องทำด้วยสติปัญญาและคำนึงถึงความละเอียดอ่อน

ฉะนั้น หากจะยังมีกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพอยู่ต่อไป กฎหมายนั้นต้องชัดเจนว่า กระทำการอย่างใดจึงจะถือว่าละเมิดกฎหมาย ไม่ปล่อยให้ขึ้นอยู่กับการตีความของเจ้าหน้าที่และผู้ฟ้องร้องตามอำเภอใจ และเพราะกฎหมายมาตรานี้ถูกนำมาใช้เพื่อกลั่นแกล้งกัน ทั้งในเชิงบุคคลและในเชิงการเมืองอยู่เสมอ จำเป็นต้องสร้างกระบวนการกลั่นกรองการฟ้องร้องที่ละเอียดรอบคอบและโปร่งใส

ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ทั้ง นักรัฐประหารและนักการเมือง ต่างช่วยกันทำความเสื่อมเสียแก่สถาบันฯตลอดมา และส่วนหนึ่งของกระบวนการนี้คือการใช้มาตรา 112 เป็นเครื่องมือ จะหยุดการทำร้ายสถาบันฯ ต่อไปได้ ก็ต้องทบทวนมาตรา 112 เพื่อทำให้ทุกฝ่าย ไม่สามารถเที่ยวทำร้ายศัตรูของตน โดยใช้มาตรานี้เป็นเกราะกำบังตนอีกต่อไป

การ ประกาศว่าจะทบทวน ม.112 จึงไม่ได้หมายความว่า ไม่มีความจงรักภักดีต่อสถาบัน ตรงกันข้าม การขจัดความคลุมเครือในเรื่องนี้เสียอีก ที่จะทำให้เกิดความมั่นคงแก่สถาบัน เพราะในความคลุมเครือของรัฐอภิสิทธิ์นั้น ย่อมไม่มีความมั่นคงแก่สถาบันใดๆ ทั้งสิ้น

และเพราะพรรค พท.มองการณ์ไกลกว่า พรรค พท.จึงจะแสดงความจงรักภักดีด้วยการทบทวน ม.112 ทั้งๆ ที่พรรค พท.น่าจะรู้ดีอยู่แล้วว่า การทบทวนจะก่อให้เกิดศัตรูมากขึ้น แต่ต้องแยกแยะศัตรูเหล่านี้ให้ดี ส่วนที่จริงใจเพราะเกรงว่าสถาบันฯจะไม่ได้รับการปกป้อง พรรค พท.ย่อมสามารถแลกเปลี่ยนแสดงเหตุผลเพื่อให้เขากลับมาสนับสนุนได้

แต่ส่วนที่ไม่จริงใจ และใช้การปกป้องสถาบันฯเป็นเพียงเครื่องมือเพื่อหาอำนาจทางการเมือง สู้กับ "มัน" สิครับ