ส่งเสริมคนดีให้ได้ปกครองบ้านเมือง

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

Sunday, 18 September 2011

่จัดเต็มกับนิติราษฏร์ ฉบับ ๒๙ (ปิยบุตร แสงกนกกุล)

ที่มา Thai E-News

บทความของกลุ่มอาจารย์หัวก้าว หน้าที่มารวมตัวกันในนาม "กลุ่มนิติราษฎร์" นั้นน่าอ่านเสมอจนทีมข่าวไทยอีนิวส์ถือเป็นภาระกิจอย่างหนึ่งที่จะต้องช่วย เผยแพร่บทความของนักวิชาการเที่ยงธรรมกลุ่มนี้ พวกเขาพยายามอธิบายด้วยหลักการและเหตุผล และทำให้อนาคตของประเทศไทยไม่มืดมนเกินไปจากสภาวะและมลพิษแห่ง "หลักกู" ในทุกสถาบันของสังคมไทย
18 กันยายน 2554
โดย ปิยบุตร แสงกนกกุล กลุ่ม นิติราษฏร์
ที่มา นิติราษฎร์ ฉบับที่ 29

"8:1 And the LORD spake unto Moses, Go unto Pharaoh, and say unto him,
Thus saith the LORD, Let my people go, that they may serve me.
8:2 And if thou refuse to let them go, behold, I will smite all thy borders with frogs.

8:3 And the river shall bring forth frogs abundantly,
which shall go up and come into thine house, and into thy bedchamber,
and upon thy bed, and into the house of thy servants, and upon thy people,
and into thine ovens, and into thy kneadingtroughs.
8:4 And the frogs shall come up both on thee, and upon thy people,
and upon all thy servants”.
“8:1 พระเยโฮวาห์ตรัสกับโมเสสว่า ไปหาฟาโรห์บอกเขาว่า พระเยโฮวาห์ตรัสดังนี้ว่า
จงปล่อยพลไพร่ของเราเพื่อเขาจะได้ไปปรนนิบัติเรา
8:2 ถ้าท่านไม่ยอมให้เขาไป ดูเถิด เราจะให้ฝูงกบขึ้นมารังควานทั่วเขตแดนของท่าน
8:3 ฝูงกบจะเต็มไปทั้งแม่น้ำ จะขึ้นมาอยู่ในวัง ในห้องบรรทม และบนแท่นบรรทมของท่าน
ในเรือนข้าราชการ ตามตัวพลเมือง ในเตาปิ้งขนมและในอ่างขยำแป้งของท่านด้วย
8:4 ฝูงกบนั้นจะขึ้นมาที่ตัวฟาโรห์ ที่ตัวพลเมืองและที่ตัวข้าราชการทั้งปวงของท่าน”
คัมภีร์ไบเบิล 8.Exodus

- ๑ -

ภาย หลังจากฝรั่งเศสยอมแพ้ต่อเยอรมนี เมื่อวันที่ ๑๐ กรกฎาคม ๑๙๔๐ รัฐสภาได้ตรารัฐบัญญัติมอบอำนาจทุกประการให้แก่รัฐบาลแห่งสาธารณรัฐภายใต้ อำนาจและการลงนามของจอมพล Pétain รัฐบาลได้ตัดสินใจย้ายเมืองหลวงไปยังเมือง Vichy และให้ความร่วมมือกับเยอรมนีในสงครามโลกครั้งที่ ๒ ตามนโยบาย Collaboration จอมพล Pétain ปกครองฝรั่งเศสโดยใช้อำนาจเผด็จการ ภายใต้คำขวัญ “ชาติ งาน และครอบครัว” ซึ่งใช้แทน “เสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ” รัฐบาลวิชี่ร่วมมือกับเยอรมนีในการใช้มาตรการโหดร้ายทารุณ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจับคนเชื้อชาติยิวไปเข้าค่ายกักกัน มีนักกฎหมายผู้มีชื่อเสียงหลายคนให้ความร่วมมือกับระบอบวิชี่อย่างเต็มใจ เช่น Raphael Alibert , Joseph Barthélemy , George Ripert , Roger Bonnard

เมื่อ เยอรมนีแพ้สงคราม ฝรั่งเศสได้รับการปลดปล่อยอิสรภาพ คณะกรรมการกู้ชาติฝรั่งเศสแปลงสภาพกลายเป็น “รัฐบาลชั่วคราวแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส” (Gouvernement provisoire de la République française : GPRF) นอกจากปัญหาทางการเมือง สังคม และเศรษฐกิจแล้ว มีปัญหาทางกฎหมายให้ GPRF ต้องขบคิด นั่นคือ จะทำอย่างไรกับการกระทำต่างๆในสมัยระบอบวิชี่ การกระทำเหล่านั้นสมควรมีผลทางกฎหมายต่อไปหรือไม่ และจะเยียวยาให้กับเหยื่อและผู้เสียหายจากการกระทำในสมัยระบอบวิชี่อย่างไร

รัฐบาล ชั่วคราวแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศสได้ตรารัฐกำหนดขึ้นฉบับหนึ่งเมื่อ วันที่ ๙ สิงหาคม ๑๙๔๔ ชื่อว่า “รัฐกำหนดว่าด้วยการก่อตั้งความชอบด้วยกฎหมายแบบสาธารณรัฐขึ้นใหม่ในดินแดน ฝรั่งเศส” รัฐกำหนดฉบับนี้ตั้งอยู่บนหลักการ ๒ ประการ ได้แก่ การล่วงละเมิดมิได้ของสาธารณรัฐ และการไม่เคยดำรงอยู่ในทางกฎหมายของรัฐบาลจอมพล Pétain ตั้งแต่ ๑๖ มิถุนายน ๑๙๔

ด้วยเหตุนี้ มาตราแรกของรัฐกำหนดฉบับนี้ จึงประกาศชัดเจนว่า “รูปแบบการปกครองของประเทศฝรั่งเศสคือสาธารณรัฐและดำรงอยู่แบบสาธารณรัฐ ในทางกฎหมาย สาธารณรัฐไม่เคยยุติการคงอยู่” การประกาศความต่อเนื่องของ “สาธารณรัฐ” ดังกล่าว จึงไม่ใช่การรื้อฟื้น “สาธารณรัฐ” ให้กลับขึ้นมาใหม่ แต่เป็นการก่อตั้งความชอบด้วยกฎหมายของสาธารณรัฐขึ้นมาใหม่ต่างหาก เพราะ “สาธารณรัฐ” ไม่เคยสูญหายไป ไม่เคยถูกทำลาย ไม่เคยยุติการดำรงอยู่ รัฐบาลวิชี่ไม่ได้ทำลาย (ทางกฎหมาย) สาธารณรัฐ นายพล Charles De Gaulle หัวหน้ารัฐบาลชั่วคราวจึงไม่เคยประกาศฟื้นสาธารณรัฐ เพราะสาธารณรัฐไม่เคยสูญหายไปจากดินแดนฝรั่งเศส

เมื่อมาตราแรกประกาศความคงอยู่อย่างต่อเนื่องของสาธารณรัฐ ในมาตรา ๒ ของรัฐกำหนดฉบับนี้จึงบัญญัติตามมาว่า “ด้วย เหตุนี้ ทุกการกระทำใดไม่ว่าจะใช้ชื่ออย่างไรก็ตามที่มีสถานะทางรัฐธรรมนูญ, ที่มีสถานะทางนิติบัญญัติ, ที่มีสถานะทางกฎ, รวมทั้งประกาศทั้งหลายที่ตราขึ้นเพื่อใช้บังคับการกระทำดังกล่าว, ซึ่งได้ประกาศใช้บนดินแดนภายหลังวันที่ ๑๖ มิถุนายน ๑๙๔๐ จนกระทั่งถึงการก่อตั้งรัฐบาลชั่วคราวแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส ให้เป็นโมฆะและไม่มีผลทางกฎหมายใดๆ” บทบัญญัตินี้หมายความว่า การกระทำใด ไม่ว่าจะใช้ชื่อใด ทั้งที่มีสถานะเทียบเท่ารัฐธรรมนูญ เทียบเท่ารัฐบัญญัติ เทียบเท่ากฎ หรือประกาศใดๆที่เป็นการใช้บังคับการกระทำเหล่านี้ ที่เกิดขึ้นในสมัยวิชี่ ถือว่าไม่เคยเกิดขึ้นเลย พูดง่ายๆก็คือ ผลผลิตทางกฎหมายในสมัยวิชี่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และไม่มีผลทางกฎหมาย

นอก จาก “ทำลาย” การกระทำต่างๆของระบอบวิชี่แล้ว รัฐกำหนดยังให้ความสมบูรณ์ทางกฎหมายแก่บทบัญญัติที่เผยแพร่ในรัฐกิจจา นุเบกษาของกลุ่มเสรีฝรั่งเศส รัฐกิจจานุเบกษาของกลุ่มฝรั่งเศสต่อสู้ และรัฐกิจจานุเบกษาของผู้บังคับบัญชาพลเรือนและทหารฝรั่งเศส ตั้งแต่ ๑๘ มีนาคม ๑๙๔๓ และบทบัญญัติที่เผยแพร่ในรัฐกิจจานุเบกษาของสาธารณรัฐฝรั่งเศสระหว่าง ๑๙ มิถุนายน ๑๙๔๓ จนถึงวันที่ประกาศใช้รัฐกำหนดนี้ (ซึ่งอยู่ในช่วงคาบเกี่ยวกับระบอบวิชี่)

การประกาศไม่ยอมรับการกระทำ ใดๆในสมัยวิชี่ แม้จะเป็นความชอบธรรมทางการเมืองและเป็นความจำเป็นทางสัญลักษณ์อย่างยิ่ง แต่ก็อาจถูกโต้แย้งในทางกฎหมายได้ ๒ ประเด็น

ประเด็นแรก การกำเนิดรัฐบาลวิชี่เป็นไปตามกระบวนการทางกฎหมายทุกประการ ไม่ได้มีการรัฐประหาร หรือใช้กองกำลังบุกยึดอำนาจแล้วปกครองแบบเผด็จการ ตรงกันข้าม เป็นรัฐสภาที่ยินยอมพร้อมใจกันตรากฎหมายมอบอำนาจเด็ดขาดให้แก่จอมพล Pétain ในประเด็นนี้ พออธิบายโต้แย้งได้ว่า ระบอบวิชี่และรัฐบาลวิชี่เป็นองค์กรผู้ใช้อำนาจหรือรัฐบาลตามความเป็นจริง

ประเด็น ที่สอง การประกาศให้การกระทำใดๆสมัยวิชี่สิ้นผลไป เสมือนไม่เคยปรากฏขึ้นมาก่อน เสมือนไม่เคยดำรงอยู่และบังคับใช้มาก่อนเช่นนี้ ย่อมส่งผลกระทบต่อประชาชนทั่วไปที่สุจริตและเชื่อถือในการกระทำต่างๆที่เกิด ขึ้นในสมัยวิชี่

รัฐกำหนดฉบับนี้ได้แก้ไขปัญหาดังกล่าวโดย กำหนดให้การกระทำต่างๆที่กำหนดไว้ในตารางที่ II ของภาคผนวกแนบท้ายรัฐกำหนดนี้ ถูกยกเลิกไปโดยให้มีผลไปข้างหน้า หมายความว่า สิ้นผลไปนับตั้งแต่ประกาศใช้รัฐกำหนดนี้ ไม่ได้มีผลย้อนหลังไปเสมือนว่าไม่เคยมีการกระทำเหล่านั้นเกิดขึ้นเลย นอกจากนี้ ในมาตรา ๘ ยังให้ความสมบูรณ์ทางกฎหมายแก่คำพิพากษาของศาลพิเศษที่ไม่ได้ตัดสินลงโทษ การกระทำใดๆที่เป็นไปเพื่อการกู้ชาติ ส่วนการกระทำที่ถือว่าสิ้นผลไปโดยมีผลย้อนหลังเสมือนว่าไม่เคยมีการกระทำ เหล่านั้นมาก่อนเลย ได้แก่ รัฐธรรมนูญ ๑๐ กรกฎาคม ๑๙๔๐ และการกระทำที่มีสถานะรัฐธรรมนูญต่อเนื่องจากนั้น ตลอดจนบทบัญญัติกฎหมาย ประกาศ คำสั่ง หรือการกระทำอื่นใดที่กระทบสิทธิของประชาชน เช่น การตั้งศาลพิเศษ การบังคับทำงาน การก่อตั้งสมาคมลับ การแบ่งแยกบุคคลทั่วไปออกจากคนยิว เป็นต้น

กล่าวโดยสรุป รัฐกำหนดว่าด้วยการก่อตั้งความชอบด้วยกฎหมายแบบสาธารณรัฐขึ้นใหม่ในดินแดน ฝรั่งเศส ประกาศเป็นหลักการในเบื้องต้นก่อนว่า สาธารณรัฐไม่เคยยุติการดำรงอยู่ และบรรดาการกระทำทั้งหลายในสมัยวิชี่เป็นโมฆะ จากนั้นจึงเลือกรับรองความสมบูรณ์ให้กับบางการกระทำ และกำหนดการสิ้นผลของบางการกระทำ บ้างให้การสิ้นผลมีผลไปข้างหน้า บ้างให้การสิ้นผลมีผลย้อนหลังเสมือนไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

มีข้อสงสัย ตามมาว่า รัฐกำหนด ๙ สิงหาคม ๑๙๔๔ ทำให้บุคคลที่กระทำการและร่วมมือกับระบอบวิชี่ได้รอดพ้นจากความรับผิดไปด้วย เมื่อการกระทำใดๆในสมัยวิชี่ไม่ถือว่าเคยเกิดขึ้น ดังนั้นจึงไม่มีความเสียหาย ไม่มีความผิด และไม่มีความรับผิดหรือไม่?

เดิม แนวคำพิพากษาวางหลักไว้ว่า เมื่อรัฐกำหนด ๙ สิงหาคม ๑๙๔๔ กำหนดให้การกระทำใดๆสมัยวิชี่ไม่ถือว่าเคยเกิดขึ้นและไม่มีผลทางกฎหมายใด แล้ว รัฐจึงไม่ต้องรับผิดชอบในการกระทำดังกล่าว แม้การกระทำนั้นจะนำมาซึ่งความเสียหายให้แก่เอกชนก็ตาม อย่างไรก็ตาม ในระยะหลัง ศาลได้กลับแนวคำพิพากษาเหล่านี้เสียใหม่ ศาลยืนยันว่า แม้ระบอบวิชี่และรัฐบาลในสมัยนั้นจะไม่ถือว่าเคยดำรงอยู่ และการกระทำต่างๆในสมัยนั้นไม่เคยเกิดขึ้นและไม่มีผลทางกฎหมาย แต่หลักความต่อเนื่องของรัฐก็ยังคงมีอยู่ แม้รัฐบาลในสมัยระบอบวิชี่ไม่ได้เป็นรัฐบาลตามกฎหมาย แต่ก็เป็นองค์กรผู้มีอำนาจในความเป็นจริง และไม่มีกฎหมายใดอนุญาตให้รัฐหลุดพ้นจากความรับผิด ดังนั้น เอกชนผู้เสียหายย่อมมีสิทธิได้รับค่าเสียหายจากการกระทำที่เกิดขึ้นในสมัยระบอบวิชี่ได้

จะ เห็นได้ว่า ระบบกฎหมายฝรั่งเศสได้มุ่ง “ทำลาย” เฉพาะการกระทำต่างๆในสมัยระบอบวิชี่ที่เป็นการละเมิดสิทธิและเสรีภาพ และไม่สอดคล้องกับนิติรัฐ-ประชาธิปไตย ไม่ได้มุ่งทำลายหรือลิดรอนสิทธิของผู้เสียหายในการได้รับค่าเสียหาย ส่วนบรรดาความรับผิดชอบของผู้กระทำการอันก่อให้เกิดความเสียหายในสมัยนั้นก็ ยังคงมีอยู่ต่อไป (เช่น ขับไล่คนเชื้อชาติยิว, จับคนเชื้อชาติยิวขึ้นรถไฟเพื่อพาไปเข้าค่ายกักกัน, พิพากษาจำคุก, ประหารชีวิต, ฆ่าคนตาย เป็นต้น) ส่วนจะเป็นความรับผิดชอบส่วนตัวของผู้กระทำการนั้น หรือเป็นความรับผิดชอบของรัฐ ย่อมพิจารณาเป็นรายกรณีไป

นอกจากนี้ ภายหลังสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลง รัฐบาลฝรั่งเศสได้ใช้มาตรการ “แรง” เพื่อจัดการบุคคลผู้มีส่วนร่วมกับระบอบวิชี่ มาตรการนั้นเรียกกันว่า “มาตรการชำระล้างคราบไคลให้บริสุทธิ์” (épuration) มาตรการทำนองนี้ใช้กันในหลายประเทศโดยมีเป้าประสงค์ คือ จับบุคคลที่มีส่วนร่วมในการกระทำทารุณ โหดร้ายในสมัยนาซีเรืองอำนาจมาลงโทษ และไม่ให้บุคคลที่มีอุดมการณ์แบบนาซีได้มีตำแหน่งหรือมีบทบาทสำคัญ รัฐบาลชั่วคราวแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศสได้ออกรัฐกำหนดหลายฉบับเพื่อใช้มาตรการ ชำระล้างคราบไคลอุดมการณ์นาซี เช่น การจัดตั้งศาลพิเศษเพื่อพิจารณาคดีบุคคลที่มีส่วนร่วมกับระบอบวิชี่, การปลดข้ารัฐการและเจ้าหน้าที่ที่มีส่วนร่วมกับระบอบวิชี่, การปลดข้ารัฐการและเจ้าหน้าที่ที่มีอุดมการณ์และทัศนคติสนับสนุนนาซีและวิ ชี่ ตลอดจนกีดกันไม่ให้เข้าทำงานหรือเลื่อนชั้น, การห้ามบุคคลผู้มีอุดมการณ์และทัศนคติสนับสนุนนาซีและวิชี่ ทำงานในกระบวนการยุติธรรม การศึกษา สื่อสารมวลชน การเงินการธนาคาร การประกันภัย หรือร่วมในสหภาพแรงงาน, การจำกัดสิทธิเลือกตั้งและสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง เป็นต้น

นี่เป็น เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแล้วในฝรั่งเศสที่ข้าพเจ้าอยากหยิบยกมาแสดง เป็นตัวอย่างว่า การลบล้างการกระทำใดๆในสมัยเผด็จการสามารถทำได้โดยไม่จำเป็นต้องกังวลใจว่า ใครจะเป็นคนได้ประโยชน์ เพราะ ในท้ายที่สุด ระบบกฎหมายแบบนิติรัฐ-ประชาธิปไตยนั่นแหละที่เราจะได้กลับมา พร้อมกับ “สั่งสอน” บุคคลที่กระทำการ ร่วมมือ ตลอดจนสนับสนุนเผด็จการได้อีกด้วย

- ๒ -

ใน ห้วงยามที่ผ่านมา ปัญญาชนและบุคคลผู้มีชื่อเสียงฝ่ายรอแยลลิสต์ ส่วนหนึ่งออกมาโต้แย้งและอธิบายเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของสถาบันกษัตริย์กับ ประชาธิปไตยไทย รวมทั้งกรณีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๒ หากเราฟังอย่างไม่แยบคาย ไม่พินิจพิเคราะห์ให้ถ่องแท้ ไม่สำรวจตรรกะการให้เหตุผล ก็อาจตกหลุมพรางของพวกเขาไปได้ ข้าพเจ้าเห็นว่าชุดคำอธิบายของพวกเขาเหล่านี้จะวนเวียนอยู่ในวงจร ดังต่อไปนี้

เริ่มแรก พวกเขาจะอธิบายบทบาทและตำแหน่งแห่งที่ของสถาบันกษัตริย์ตามหลักการที่ สอดคล้องกับประชาธิปไตย ฟังดูแล้ว ก็น่านิยมยกย่องและอาจหลงเคลิ้มในการให้เหตุผลเหล่านั้นไปได้ จากนั้น หากมีผู้ใดโต้แย้งว่ามีบางประเด็นที่อาจไม่สอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตย พวกเขาก็จะบอกว่า ของไทยเป็นเรื่องเฉพาะ เป็น “แบบไทยๆ” จะนำหลักวิชามาใช้อย่างเถรตรงคงมิได้

หากเราสังเกตตำราหรือบทความของ ปัญญาชนฝ่ายรอแยลลิสต์ จะเห็นได้ว่า ในช่วงแรกๆพวกเขาจะอธิบายตามหลักวิชา พอมาถึงกรณีของไทย พวกเขาก็สร้าง “ข้อยกเว้น” ขึ้น นี่เป็นปัญหาของปัญญาชนฝ่ายกษัตริย์นิยม เพราะ พวกเขาทราบดีว่าสถาบันกษัตริย์โดยธรรมชาติไปกันไม่ได้กับประชาธิปไตย หากยึดประชาธิปไตยเป็นหลัก ก็จำเป็นต้องอธิบายตำแหน่งแห่งที่และบทบาทของสถาบันกษัตริย์ให้สอดคล้องกับ ประชาธิปไตย แต่การอธิบายเช่นนี้เป็นสิ่งซึ่งพวกเขาไม่ต้องการกระทำในยุคสมัยนี้ อย่างไรก็ตาม จะให้ปัญญาชนฝ่ายรอแยลลิสต์ยอมรับตรงไปตรงมาว่าเขานิยมกษัตริย์มากกว่า ประชาธิปไตย ก็คงเป็นไปไม่ได้อีกเช่นกัน เพราะ นั่นเป็นการแสดงความไม่ก้าวหน้า ถอยหลังกลับไปเหมือนสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เดี๋ยวจะไม่สมกับเป็นปัญญาชน ดังนั้น เขาจึงต้องหนีบ “ประชาธิปไตย” ไปด้วยเสมอ แต่เมื่ออธิบายบทบาทสถาบันกษัตริย์ของไทยไปเรื่อยๆ ก็จะพบว่ามีบางเรื่องที่ไม่สอดคล้องกับประชาธิปไตย เมื่อนั้น เขาจะบอกว่าเป็นกรณียกเว้น หรือสร้างข้อความคิดขึ้นมาใหม่ให้เป็น “แบบไทย” โดยผ่าน “จารีตประเพณี” บ้าง “ธรรมเนียมปฏิบัติ” บ้าง “วัฒนธรรม” บ้าง “บารมีส่วนบุคคล” บ้าง เช่น อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนร่วมกับกษัตริย์, เมื่อกษัตริย์ไม่ลงนามในร่างพระราชบัญญัติฉบับใด มีธรรมเนียมถือกันว่าให้ร่างพระราชบัญญัตินั้นตกไปเลย โดยรัฐสภาไม่ควรยืนยันกลับไป, การแสดงพระราชดำรัสในเรื่องการเมืองแบบเปิดเผยและถ่ายทอดสดสู่สาธารณะ เป็นต้น

ดังนั้น การให้เหตุผลของปัญญาชนฝ่ายรอแยลลิสต์จึงไม่อาจเดินตามหลักการประชาธิปไตยไป ได้ตลอดจนสุดทาง เมื่อไรก็ตามที่พวกเขาให้เหตุผลแบบประชาธิปไตยไปเรื่อยๆจนปะทะกับความคิดแบบ กษัตริย์นิยมของพวกเขา เมื่อนั้นพวกเขาก็จะกระโดดลงจาก “ประชาธิปไตย” ทันทีหรืออาจเข้าสู่วิถีใหม่ที่พวกเขาสร้างขึ้นอย่าง “ประชาธิปไตยแบบไทยๆ” หรือ “ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” พูดง่ายๆก็คือ ในสายตาของปัญญาชนฝ่ายรอแยลลิสต์ เหตุผลตามหลักการประชาธิปไตยจะดำเนินไปได้ตราบเท่าที่ไม่กระทบต่อหัวใจสำคัญ ของ “กษัตริย์นิยม”

มีอีกตัวอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นวิธีการและ ลีลาการให้เหตุผลของปัญญาชน รอแยลลิสต์ สมมติว่าคนจำนวนหนึ่งเริ่มสงสัยไต่ถามถึงบทบาทของสถาบันกษัตริย์ในทางการ เมือง ปัญญาชนรอแยลลิสต์ก็จะบอกว่าสถาบันกษัตริย์อยู่เหนือการเมือง การดึงสถาบันกษัตริย์มาข้องเกี่ยวกับการเมืองเป็นเรื่องมิบังควร หรือกรณีที่มีคนจำนวนหนึ่งเรียกร้องให้สถาบันกษัตริย์เข้าแทรกแซงเพื่อ คลี่คลายความขัดแย้งทางการเมืองที่รุนแรง และสถาบันกษัตริย์นิ่งเฉย ปัญญาชนรอแยลลิสต์ก็จะอธิบายว่า กษัตริย์ทรงเป็นกลางทางการเมือง แต่เมื่อไรก็ตามที่ปัญญาชนฝ่ายรอแยลลิสต์เห็นว่าสถาบันกษัตริย์ควรมีบทบาท ทางการเมืองในบางเรื่อง เมื่อนั้น พวกเขาก็จะหันไปอ้างธรรมเนียมปฏิบัติทางรัฐธรรมนูญไทยว่ากษัตริย์มีพระราช อำนาจทางจารีตประเพณีอยู่ โดยอ้างสูตรของ Bagehot ในหนังสือ The English Constitution (1867) เป็นสรณะ ได้แก่ ให้คำปรึกษาหารือ, ตักเตือน, ให้กำลังใจ

อนึ่ง สมควรกล่าวด้วยว่า นาย Bagehot ไม่ได้เป็นนักกฎหมายรัฐธรรมนูญ ไม่ได้เป็นนักรัฐศาสตร์ แต่เป็นนักหนังสือพิมพ์ นาย Bagehot เขียนหนังสือเล่มนี้เพื่ออธิบายรัฐธรรมนูญอังกฤษในสมัยพระราชินีวิคตอเรีย เพื่อตอบโต้ระบอบการปกครองในสหรัฐอเมริกาเท่านั้น ข้าพเจ้าสงสัยอยู่เสมอว่า เหตุใดปัญญาชนฝ่ายรอแยลลิสต์ต้องอ้างแต่ Bagehot อ้างแต่กษัตริย์อังกฤษ? (ซึ่งก็เป็นสมัยพระราชินีวิคตอเรีย เพราะกษัตริย์อังกฤษปัจจุบันแทบไม่หลงเหลือบทบาททางการเมืองและพระราชอำนาจ ในทางความเป็นจริงเท่าไรนัก) เหตุใดปัญญาชนฝ่ายรอแยลลิสต์จึงไม่อ้างกษัตริย์สเปน, สวีเดน, เนเธอร์แลนด์ หรือญี่ปุ่นบ้าง? และเหตุใดเมื่อพูดถึงจารีตประเพณีหรือธรรมเนียมปฏิบัติทางรัฐธรรมนูญของไทย ก็ต้องเกี่ยวข้องกับพระราชอำนาจของกษัตริย์เสมอ?

- ๓ -

เมื่อ สัปดาห์ที่แล้ว ข้าพเจ้าได้ทราบมาว่าประธานศาลปกครองสูงสุดได้บรรยายในหัวข้อ “กระบวนการยุติธรรม ศาลปกครองกับการพัฒนาประชาธิปไตยของไทยเพื่อความมั่นคงของชาติ” ซึ่งจัดขึ้นโดยความร่วมมือกันระหว่างศาลปกครอง สมาคมวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร และสมาคมแห่งสถาบันพระปกเกล้า มีความตอนหนึ่งที่ข้าพเจ้าสนใจอย่างยิ่ง ดังนี้ “... ส่วนผู้ที่ไปศึกษากฎหมายในต่างประเทศก็เป็นการศึกษาในลักษณะที่ต่อยอด หมายความว่าเมื่อไปเรียนก็ไม่รู้ว่าประเทศของเขาเรียนพื้นฐานมาอย่างไร เมื่อไปเรียนต่อยอดจบกลับมาแล้วทำให้เป็นปัญหา เพราะเมื่อกลับมาทำงานก็มีตำแหน่งใหญ่โต อีกทั้งยังนำความคิดในประเทศที่เรียนมายัดเยียดให้กับประเทศของตนเองโดยไม่ ดูสภาพความเป็นจริง เช่น คนไปเรียนฝรั่งเศสรู้กฎหมายฝรั่งเศส กลับมาจึงยัดเยียดกฎหมายฝรั่งเศสให้กับประเทศไทย ที่ต่างกันราวฟ้ากับดิน” (โปรดดู 'ปธ.ศาล ปค.สูงสุด ชี้ปัญหาชาติ เหตุ นร.นอกเอา กม.ตปท.ใช้โดยไม่ดูพื้นฐาน ปท' http://www.manager.co.th/Politics/ViewNews.aspx?NewsID=9540000109546)

ข้าพเจ้าสงสัยอย่างฉับพลันทันทีว่า เหตุใดประธานศาลปกครองสูงสุดจึงยกตัวอย่าง “เช่น คนไปเรียนฝรั่งเศสรู้กฎหมายฝรั่งเศส กลับมาจึงยัดเยียดกฎหมายฝรั่งเศสให้กับประเทศไทย ที่ต่างกันราวฟ้ากับดิน” ในวงการกฎหมายไทย มีแต่นักกฎหมายไทยที่จบจากประเทศฝรั่งเศสเท่านั้นหรือที่มีบทบาท แม้ข้าพเจ้าไม่อยากคิด แต่ก็อดคิดไม่ได้ว่า อาจเป็นเพราะประธานศาลปกครองสูงสุดจบการศึกษาปริญญาเอกจากประเทศออสเตรีย กระมัง ท่านจึงไม่ได้ยกตัวอย่าง “คนไปเรียนออสเตรีย” หรือ “คนไปเรียนเยอรมนี” หรืออาจเป็นเพราะท่านสนใจกฎหมายโรมัน ท่านจึงไม่ได้ยกตัวอย่าง “คนไปเรียนกฎหมายโรมัน รู้กฎหมายโรมัน กลับมาจึงยัดเยียดกฎหมายโรมันให้กับนักศึกษาไทย” เอาล่ะ เราควรละวางเรื่องคุณสมบัติส่วนตัวไปก่อนดีกว่า ลองมาพิจารณาโดยละเอียดในเนื้อหาสาระ

วิชานิติศาสตร์ที่พัฒนาอย่าง ต่อเนื่องราว ๒ พันปี มีจุดริเริ่มจากตะวันตก กฎหมายมหาชนซึ่งเริ่มพัฒนาหลังจากกฎหมายเอกชน ก็มีรากเหง้ามาจากตะวันตก หากผู้ใดจะคัดค้านว่าประเทศไทยก็มีกฎหมายมหาชนจากต้นกำเนิดของเราเอง โดยอ้างรัชกาลที่ ๕ บ้าง พ่อขุนรามคำแหงบ้าง ข้าพเจ้าขออธิบายว่า กฎหมายมหาชนในความคิดปัจจุบันไม่มีทางไปกันได้กับระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เพราะ กฎหมายมหาชนมีภารกิจสำคัญคือ การจัดองค์กรผู้ใช้อำนาจมหาชน และการควบคุมตรวจสอบการใช้อำนาจขององค์กรผู้ใช้อำนาจมหาชนมิให้เป็นไปตาม อำเภอใจและการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน แล้วคติแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่ไหนในโลกนี้ที่อนุญาตให้ควบคุมตรวจสอบ “กษัตริย์” และคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของ “พสกนิกร” ดังนั้น จึงไม่มีทางเป็นไปได้เลยที่กฎหมายมหาชนสมัยใหม่จะกำเนิดได้ใน สมบูรณาญาสิทธิราชย์

การจัดทำประมวลกฎหมายของไทยก็รับอิทธิพลจากตะวันตก

การปฏิรูปการศาลก็รับอิทธิพลจากตะวันตก

ศาล ปกครอง ใช่ ศาลปกครองที่ท่านกำลังนั่งเป็นประธานอยู่นั่นแหละ ก็เป็น “ของนอก” แท้ๆ และเป็น “ของนอก” ที่นักกฎหมายไทยแผนกฝรั่งเศสเป็นผู้ริเริ่มนำเข้ามาและเผยแพร่ ตั้งแต่นายปรีดี พนมยงค์ ต่อเนื่องมาถึง ศ.ดร.อมร จันทรสมบูรณ์, รศ.ดร.โภคิน พลกุล, รศ.ดร.วรพจน์ วิศรุตพิชญ์, ดร.ชาญชัย แสวงศักดิ์ เป็นต้น จนกระทั่งศาลยุติธรรมเริ่มคัดค้านโมเดลแบบฝรั่งเศสที่พัฒนา Conseil d’Etat เป็นศาลปกครอง เพราะ ศาลยุติธรรมเกรงว่าจะกระทบความเป็นอิสระได้ เพราะ Conseil d’Etat เป็นส่วนหนึ่งของฝ่ายบริหาร ประเทศไทยจึงละทิ้งแนวทางการพัฒนาคณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ในคณะกรรมการ กฤษฎีกาขึ้นเป็นศาลปกครอง แต่หันไปตั้งศาลปกครองขึ้นโดยแยกออกจากศาลยุติธรรมอย่างชัดเจน โดยกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ ๒๕๔๐ แม้ลักษณะของศาลปกครองไทยจะแตกต่างจาก Conseil d’Etat ของฝรั่งเศส แต่อิทธิพลของฝรั่งเศสก็ยังปรากฏอยู่ในกฎหมายปกครองและกฎหมายวิธีพิจารณาคดี ปกครองอยู่มาก ตั้งแต่ ที่มาและคุณสมบัติของตุลาการศาลปกครอง, ตุลาการศาลปกครองชั้นต้นไม่ได้เลื่อนขั้นเป็นตุลาการศาลปกครองสูงสุดโดย อัตโนมัติหรือตามอาวุโส, ประเภทของคดีปกครอง, ผู้มีสิทธิฟ้องคดีปกครอง, วิธีการชั่วคราวก่อนพิพากษา

จึงน่าสนใจว่า ในความเห็นของประธานศาลปกครองสูงสุดแล้ว “ศาลปกครอง” ซึ่งเป็นของนอก รับอิทธิพลจากฝรั่งเศสมา จะถือว่าเป็นกรณีที่ “คนไปเรียนฝรั่งเศสรู้กฎหมายฝรั่งเศส กลับมาจึงยัดเยียดกฎหมายฝรั่งเศสให้กับประเทศไทย ที่ต่างกันราวฟ้ากับดิน” หรือไม่ หากใช่ ก็สมควรเลิกศาลปกครองไปเลยดีไหม?

ยาม ใดที่ข้าพเจ้าพบเห็นบุคคลที่อ้างเรื่อง “แบบไทยๆ” ข้าพเจ้าก็สงสัยว่า ไอ้แบบไทยๆที่ท่านว่า มันคืออะไร มีลักษณะอย่างไร ช่วยนิยาม-ขยายความเสียหน่อย หรือว่าอะไรก็ตามที่มันขัดหูขัดตาท่าน อะไรก็ตามที่ท่านไม่ชอบ ไม่นิยม อะไรก็ตามที่ท่านไม่รู้เรื่อง อะไรก็ตามที่ท่านเกรงว่าจะลดทอนอำนาจของท่าน ท่านก็จะบอกว่ามันเป็น “ของนอก” เรามี “แบบไทยๆ” ของเราอยู่ ไม่ต้องไปเอาตามเขา แต่หากบรรดา “ของนอก” เป็นที่ถูกใจท่าน ท่านกลับยอมรับนำมาใช้อย่างเต็มภาคภูม

เพื่อ วินิจฉัยสิ่งที่ประธานศาลปกครองสูงสุดกล่าวมาได้อย่างไม่ผิดพลาด ข้าพเจ้าก็อยากรู้ต่อไปว่า ประธานศาลปกครองสูงสุดรู้หรือไม่ว่า กฎหมายฝรั่งเศสมีอะไร กฎหมายเยอรมันมีอะไร กฎหมายออสเตรียมีอะไร และกฎหมายไทยมีอะไร ก่อนที่จะตัดสินว่า กฎหมายของที่นั่น ที่นี่ ไม่เหมาะกับไทย ต้องบอกให้ได้ก่อนว่ากฎหมายต่างประเทศเป็นอย่างไร มีความเป็นมาอย่างไร กฎหมายของไทยเป็นอย่างไร มีความเป็นมาอย่างไร แล้วจึงวิเคราะห์ได้ว่ากฎหมายต่างประเทศกับกฎหมายไทยแตกต่างกันอย่างไร เหมือนกันตรงไหน และแบบไหนเหมาะ ไม่เหมาะ หากกล่าวหาว่าคนนั้นคนนี้ “ยัดเยียด” ลอยๆเช่นนี้ บุคคลอื่นฟังแล้วจะพาลคิดไปว่าจริงๆแล้วผู้พูดอาจไม่รู้เรื่องเลยว่าของต่าง ประเทศเป็นอย่างไร

ข้าพเจ้าขออนุญาตดักคอล่วงหน้าว่า โปรดอย่ากล่าวหาว่าข้าพเจ้าไปศึกษากฎหมายที่ประเทศฝรั่งเศสมาแล้ว “คลั่ง” ฝรั่งเศส ใครมาแตะต้องอะไรๆที่เป็นฝรั่งเศสเป็นมิได้ ตรงกันข้าม ข้าพเจ้าสนใจศึกษากฎหมายของหลายๆประเทศในยุโรป เพื่อนร่วมงานและนักศึกษาที่มีโอกาสเรียนกับข้าพเจ้าคงเป็นประจักษ์พยานได้ บ่อยครั้งข้าพเจ้าวิจารณ์กฎหมายของฝรั่งเศส เช่น ไม่มีกฎหมายกลางว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง, การเพิกถอนคำสั่งทางปกครอง, การยอมรับหลักการคุ้มครองความเชื่อถือและไว้วางใจอย่างล่าช้าและไม่ชัดเจน, โครงสร้าง ที่มา และอำนาจหน้าที่ของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ เป็นต้น

เลิก เสียทีเถิดกับการโต้เถียงด้วยเหตุผลมักง่าย จำพวก “ของนอก” “นักเรียนนอกบ้าเห่อ-ร้อนวิชา” “เรามีของดีๆของเรากลับไม่เห็นคุณค่า” ตลอดจนการป้ายสี-แปะฉลากว่าคนนี้เป็นนักกฎหมายค่ายฝรั่งเศส คนนั้นเป็นนักกฎหมายค่ายเยอรมัน

ข้ออ้างจำพวกนี้มักจะถูกใช้โดยบุคคลสามจำพวก

จำพวก แรก คือ บุคคลที่จบการศึกษาจากต่างประเทศ เมื่อกลับมาแล้วก็ไม่หมั่นศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม ไม่ขวนขวายอ่านหนังสือและติดตามพัฒนาการความรู้ เรียกได้ว่า จบแล้วสำหรับชีวิตการศึกษา ขอเกษียณอายุแบบ de facto ทันที พอมีใครซักถาม หรือมีคลื่นลูกหลังขึ้นมา ก็จะบอกว่าตนได้ไปร่ำเรียนมาแล้ว ถ่องแท้แล้ว “ของนอก” มันไม่ดีอย่างที่คุณคิดหรอก คนจำพวกนี้ไปศึกษาต่างประเทศเพียงเพื่อเอาเป็นยศประจำตัว และไว้ใช่ไต่เต้าทางหน้าที่การงาน การเงิน และชนชั้น เมื่อตนเองปีนบันไดขึ้นไปจนสำเร็จ ก็ชักบันไดหนี ไม่คิดพัฒนาความรู้ต่อไป

อีก จำพวกหนึ่งที่มักอ้างแบบนี้ ก็คือ บุคคลที่ไม่รู้อะไรเลย ไม่รู้จักว่า “ของนอก” ที่ว่าคืออะไรด้วยซ้ำ เลยเฉไฉ บ่ายเบี่ยงว่าเป็น “ของนอก” อย่าไปสนใจให้ราคา เรามีของไทยที่ดีๆอยู่แล้ว คนพวกนี้ไม่ต่างอะไรกับสุนัขจิ้งจอกอยากกินองุ่น แต่ปีนไปคาบไม่ถึง เลยอ้างว่าข้าไม่กินหรอกเพราะองุ่นนั้นเปรี้ยวเกินไป

จำพวกสุดท้าย ศึกษามาอยู่แบบเดียว ก็เที่ยวข่มผู้อื่นไปเรื่อยว่าสิ่งที่ตนศึกษามามันสุดยอดที่สุดในสุริย จักรวาล จบฝรั่งเศสมา ก็ว่ากฎหมายฝรั่งเศสเยี่ยมยอด กฎหมายประเทศอื่นไม่ได้ความ จบเยอรมันมา ก็ว่ากฎหมายเยอรมันไร้เทียมทาน กฎหมายประเทศอื่นอ่อนชั้น คนจำพวกนี้ น่าเรียกว่าพวกอุลตร้า คือ “คลั่ง” กฎหมายของเขามากกว่านักกฎหมายและครูบาอาจารย์ทางกฎหมายของประเทศเขาอีก

- ๔ -

ประกาศนิติราษฎร์ฉบับนี้ ข้าพเจ้าขอแนะนำหนังสือสองเล่ม

ท่าม กลางบรรยากาศที่บุคคลทั่วไปพูดถึง “นิติรัฐ” “นิติธรรม” อย่างกว้างขวาง บ้างพูดเพื่อเอาเท่ บ้างพูดเพื่ออ้างความชอบธรรมต่อการกระทำของตน บ้างพูดเพื่อใช้ทำลายการกระทำของฝ่ายตรงข้าม บ้างพูดไปเรื่อย สักแต่พูดโดยไม่รู้ว่ามันคืออะไร รู้แต่เพียงว่าต้องพูด เพื่อจะได้ครบประโยคสำเร็จรูปจำพวก “โปร่งใส-ตรวจสอบได้” “ปรองดอง-สมานฉันท์” “สงบ สันติ ปราศจากอาวุธ” “ทุกภาคส่วน” “ใช้กฎหมายอย่างนิติรัฐ นิติธรรม เสมอภาค” เป็นต้น ข้าพเจ้าเห็นว่า เพื่อไม่ให้ “นิติรัฐ” “นิติธรรม” กลายเป็นคำพูดที่ไม่มีคุณค่าอะไร กลายเป็น jargon จึงอยากแนะนำงานบางชิ้นให้ท่านพิจารณา

ในแวดวง วิชาการกฎหมายและรัฐศาสตร์ของประเทศไทย มีความพยายามอธิบายหลักนิติรัฐและนิติธรรมจำนวนพอสมควร งานบางชิ้นอรรถาธิบายอย่างละเอียดลออถึงความแตกต่างระหว่าง Rechtsstaat, Etat de droit และ The Rule of Law แต่หากอธิบายหลักการอันเป็นนามธรรมนี้ให้เป็นรูปธรรม เข้าใจง่ายและเห็นภาพได้ชัดขึ้น และเป็นงานร่วมสมัย ข้าพเจ้าเห็นว่าควรอ่าน The Rule of Law ของ Tom Bingham

Tom Bingham ได้เสนอองค์ประกอบสำคัญของ The Rule of Law รวม ๘ ข้อ ได้แก่

๑.) กฎหมายต้องเข้าถึงได้ เข้าใจได้ กระจ่างชัดเจน และคาดหมายได้ มากที่สุดเท่าที่จะมากได้
๒.) ประเด็นสิทธิตามกฎหมายและความรับผิด โดยปกติแล้วควรได้รับการแก้ไขโดยการใช้กฎหมาย ไม่ใช่การใช้ดุลพินิจ
๓.) กฎหมายต้องถูกใช้อย่างเสมอภาคและเท่าเทียม เว้นแต่กรณีที่แตกต่างกันก็อาจปฏิบัติต่างกันได้
๔.) รัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่ทุกระดับชั้นต้องใช้อำนาจอย่างสุจริต เป็นธรรม เพื่อวัตถุประสงค์ตามที่กฎหมายกำหนดให้ใช้อำนาจนั้น โดยไม่เกินขอบเขตของอำนาจและไม่สมเหตุสมผล
๕.) กฎหมายต้องคุ้มครองสิทธิมนุษยชนพื้นฐาน
๖.) กระบวนการแก้ไขข้อพิพาทต้องไม่เสียค่าใช้จ่ายมากและไม่ใช้ระยะเวลานานจนเกินไป
๗.) กระบวนการยุติธรรมของรัฐต้องเป็นธรรม
๘.) รัฐต้องยินยอมผูกพันตามกฎหมายระหว่างประเทศเช่นเดียวกันกับกฎหมายภายใน

กล่าว สำหรับ Tom Bingham เขาเป็นผู้พิพากษา และเป็นบุคคลเดียวที่เคยดำรง ๓ ตำแหน่งสำคัญ ได้แก่ Master of the Rolls, Lord Chief Justice of England and Wales, Senior Law Lord of United Kingdom เขามีบทบาทในการตัดสินคดีสำคัญๆหลายคดีที่เป็นการวางหลักการไปในทางคุ้มครอง สิทธิและเสรีภาพ และเป็นผู้วิจารณ์รัฐบาลที่ตัดสินใจส่งกองกำลังเข้าไปร่วมรบในอิรัก Bingham ได้แสดงปาฐกถาสำคัญหลายครั้งและหลายสถานที่ ในปี ๒๐๐๕ เขากลายเป็นผู้พิพากษาคนแรกที่ได้รับแต่งตั้งเป็น Knight of the Garter

Bingham เกษียณอายุเมื่อปี ๒๐๐๘ และในปีเดียวกัน เขาเป็นบุคคลแรกที่ได้รับรางวัล Prize for Law จาก Institut de France ภายหลังหนังสือ The Rule of Law เผยแพร่ได้ ๖ เดือน เขาก็เสียชีวิตในเดือนกันยายน ๒๐๑๐ หนังสือเล่มนี้ได้รับเลือกเป็น “หนังสือแห่งปี” โดยหนังสือพิมพ์ Observer, Financial Times, New Statesman และหนังสือพิมพ์ Guardianได้ยกย่อง Tom Bingham ว่า “ยิ่งใหญ่ที่สุดของผู้พิพากษาของเรา”

งานชิ้นนี้เหมาะ สำหรับบุคคลทั่วไปที่แม้มิได้ฝึกมาทางกฎหมายหรือ รัฐศาสตร์ ก็สามารถอ่านเข้าใจได้ เพื่อใช้ประกอบในการโต้แย้งบุคคลจำนวนมากที่หนีบ “นิติรัฐ-นิติธรรม” เข้ารักแร้ และมักใช้อ้างเพื่อสร้างความชอบธรรมให้แก่ตนเอง พร้อมกับอุดปากฝ่ายตรงข้ามมิให้โต้แย้ง

หนังสืออีกเล่มที่ข้าพเจ้าขอ อนุญาตแนะนำกำนัลแก่ผู้อ่าน คือ “๗ ชั่วโมงแห่งความสุขกับประธานาธิบดี บิลล์ คลินตันแห่งสหรัฐอเมริกา และอื่นๆมากเรื่อง” เขียนโดยบัณฑิต อานียา

ข้าพเจ้า รู้จักบัณฑิต อานียา ครั้งแรกจากการอ่านบทสัมภาษณ์เขาที่เผยแพร่ในประชาไท เมื่อหลายปีก่อน เมื่อครั้งข้าพเจ้ายังพำนักอาศัยอยู่ที่ประเทศฝรั่งเศส เมื่ออ่านบทสัมภาษณ์นั้นจบลง ข้าพเจ้าประทับใจและชื่นชมมาก จนเมื่อข้าพเจ้าเดินทางกลับประเทศไทยเป็นการถาวร ข้าพเจ้าพบเห็นบัณฑิตฯในงานเสวนาต่างๆ แต่ไม่มีโอกาสได้สนทนากัน

ข้าพเจ้า ได้รับหนังสือเล่มนี้จากบัณฑิตฯ เนื่องจากข้าพเจ้าทราบเรื่องราวแสนโหดร้ายที่บัณฑิตฯได้ประสบพบเจอ จึงเอ่ยปากกับนายทุนผู้มีจิตใจเมตตากรุณาท่านหนึ่ง ขอเงินจำนวนหนึ่งจากเขาเพื่อนำไปช่วยบัณฑิตฯ นายทุนท่านนี้ก็ดีใจหาย มอบเงินให้และไม่ประสงค์ออกนามอีกด้วย เมื่อข้าพเจ้าจัดการโอนเงินให้บัณฑิตฯเรียบร้อย บัณฑิตฯก็จัดส่งหนังสือกลับมาให้ข้าพเจ้าเป็นจำนวนมาก เพราะบัณฑิตฯไม่ปรารถนารับเงินบริจาคเปล่าๆ แต่เขาต้องการขายหนังสือของเขาเลี้ยงชีพ นี่แสดงให้เห็นว่าบัณฑิตฯมีความหยิ่งทระนงในวิชาชีพนักเขียนของตนอันควรค่า แก่การคารวะอย่างยิ่ง

หนังสือเล่มนี้ประกอบไปด้วยข้อเขียนของบุคคล อื่นที่เกี่ยวกับมาตรา ๑๑๒ และข้อเขียนของบัณฑิตฯอีก ๑๒ ชิ้น หากท่านอ่านงานชิ้นนี้ของบัณฑิตฯเพียงผิวเผินไม่สอบทานต้นกำเนิด ท่านอาจคิดว่าเป็นงานที่บัณฑิตฯพึ่งเขียนเพื่อรับสถานการณ์ “ตาสว่างทั้งแผ่นดิน” ในห้วงเวลานี้ แต่เปล่าเลย บัณฑิตเขียนงานเหล่านี้มาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๔๑ นั่นแสดงว่าบัณฑิตฯมีความคิดก้าวหน้าและ “ตาสว่าง” มานานแล้ว

- ๕ -

การ ประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง และการได้รับ “อนุญาต” ให้จัดตั้งรัฐบาลพรรคเพื่อไทย โดยมีคุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตรเป็นนายกรัฐมนตรี ไม่ได้เป็นสัญญาณที่บ่งบอกว่าราชอาณาจักรไทยปราศจาก “มือที่มองไม่เห็น” เสียแล้ว ไม่ได้หมายความว่าไร้แล้วซึ่ง “ผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญ” ในราชอาณาจักรไทย ตรงกันข้าม ข้าพเจ้าเห็นว่า “มือที่มองไม่เห็น” มีอยู่จริง และ “ผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญ” มีตัวตนจริง เพียงแต่ว่ามือที่มองไม่เห็นยังไม่ขยับสั่งการและผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญ ยังซ่อนกายอยู่ต่างหาก

เหตุที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่า วันที่ ๓ กรกฎาคม ๒๕๕๔ “มือที่มองเห็น” ร่วมกันขยับชัดเจนและพร้อมเพรียงด้วยจำนวนมหาศาล ยิ่งใหญ่ไพศาลจน “มือที่มองไม่เห็น” แม้อยากขยับจนตัวสั่นแต่ก็ไม่กล้าขยับ

ดังนั้น ประชาชนผู้รักชาติรักประชาธิปไตยต้องร่วมกันรณรงค์อย่างเอาการเอางานต่อไป เพื่อเรียกร้องให้ดินแดนแห่งนี้ได้มีประชาธิปไตยอย่างสมบูรณ์ เช่นเดียวกัน รัฐบาลพรรคเพื่อไทยต้องเร่งดำเนินการ “ทำลาย” ผลผลิตที่เกิดจากรัฐประหาร ๑๙ กันยายน ยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับให้มีเนื้อหาสอดคล้องกับนิติรัฐ-ประชาธิปไตย เร่งขจัดกฎหมายที่คุกคามสิทธิและเสรีภาพของประชาชน และเยียวยาผู้เสียหายจากความขัดแย้งทางการเมือง ต้องไม่ลืมว่า รัฐบาลพรรคเพื่อไทยเข้าสู่อำนาจได้ ด้วยราคามหาศาลที่ต้องจ่ายไป คือ ชีวิตของคนเสื้อแดง

โปรดอย่าใส่ใจกับข้อกล่าวหาที่ว่า “ทำเพื่อคนคนเดียว” การไม่ยอมรับการกระทำใดๆที่เกิดจากรัฐประหาร ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ และการกระทำที่เป็นผลสืบเนื่องก็ดี การทำลายรัฐธรรมนูญ ๒๕๕๐ ก็ดี การยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับก็ดี เป็นการฟื้นฟู “นิติรัฐ-ประชาธิปไตย” ที่ถูกทำลายไปนับแต่ ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ ให้กลับมาดำรงอยู่ในสังคมไทยอย่างมั่นคงสถาพรต่อไป หากบังเอิญจะมีใครคนใดคนหนึ่งที่ได้ประโยชน์จากการนี้ นั่นก็เป็นความผิดของพวกท่านเองที่ลงทุนใช้ระบบกฎหมายทั้งหมดเพื่อฆ่าคนคน เดียว

แม้นหากว่า รัฐบาลพรรคเพื่อไทยนิ่งเฉยไม่ดำเนินการ หรือดำเนินการแบบไม่เต็มที่ด้วยเกรงว่าอายุของรัฐบาลจะสั้น แม้นหากว่ารัฐบาลพรรคเพื่อไทยจะสิ้นอายุขัยลงด้วยน้ำมือของ “มือที่มองไม่เห็น” อีก ข้าพเจ้าก็ไม่ได้สิ้นหวังเสียทีเดียวว่าอนาคตของประเทศไทยเรานั้นจะไม่มีวัน ประสบพบเจอกับประชาธิปไตยอันสมบูรณ์

เพราะข้าพเจ้าเชื่อในทฤษฎี วิวัฒนาการของชาร์ลส์ ดาร์วิน ที่ว่าสิ่งที่อยู่รอด ไม่ใช่สิ่งที่แข็งแรงที่สุด แต่เป็นสิ่งที่ปรับตัวได้ดีที่สุด

ข้าพเจ้าประเมินอย่างถ้วนถี่แล้วเห็นว่า จิตสำนึกของประชาชนเปลี่ยนไปแล้ว และประชาชนจะอยู่รอดปลอดภัยตามทฤษฎีวิวัฒนาการ

แต่อีกฝ่ายนั้นเล่า...

แข็งแรง...

แต่ได้ปรับตัวบ้างหรือยัง?

_______________________

เชิงอรรถ

ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมคนแรกในสมัยระบอบวิชี่ มีบทบาทสำคัญในการบริหารและกำหนดทิศทางการทำงานของศาลปกครอง

ศาสตราจารย์กฎหมาย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยปารีส ผู้เขียนตำรากฎหมายรัฐธรรมนูญหลายเล่ม ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมคนที่สองในสมัยระบอบวิชี่

ศาสตราจารย์กฎหมาย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยปารีส ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีการศึกษาและเยาวชน มีบทบาทสำคัญในการปลดศาสตราจารย์มหาวิทยาลัยที่มีเชื้อชาติยิว

ศาสตราจารย์กฎหมาย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบอร์กโดซ์ เขียนตำรากฎหมายปกครองหลายเล่ม แม้เขาจะไม่เข้าดำรงตำแหน่งใดๆในรัฐบาล แต่ได้ประกาศอย่างชัดเจนต่อสาธารณะว่าพร้อมปวารณาตัวรับใช้และสนับสนุนระบอบ วิชี่อย่างไม่มีเงื่อนไขและอย่างเต็มความสามารถ โดยมุ่งเน้นไปในงานทางวิชาการเพื่อรับรองความชอบธรรมของระบอบวิชี่และ สนับสนุนนักกฎหมายที่รับใช้ระบอบวิชี่ ผ่านบทความต่างๆที่เสนอในวารสาร Revue du Droit public (วารสารกฎหมายมหาชน) ที่เขาเป็นบรรณาธิการ

คำว่า “สาธารณรัฐ” ในบริบทของฝรั่งเศส ไม่ใช่หมายถึงเพียงรัฐที่มีประมุขของรัฐเป็นประธานาธิบดี ไม่ใช่ตำแหน่งที่สืบทอดทางสายโลหิตแบบกษัตริย์เท่านั้น แต่ยังหมายความถึงความเป็นนิติรัฐ ความเป็นประชาธิปไตยแบบเสรีนิยมและพหุนิยมด้วย จะสังเกตได้ว่า คำว่า République ที่ใช้ในบริบทของฝรั่งเศส จะเขียนด้วยตัวอักษร R ตัวใหญ่เสมอ นั่นหมายความว่า มีลักษณะเฉพาะและแตกต่างจาก république

คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ๑๔ มิถุนายน ๑๙๔๖, Ganascia คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ๔ มกราคม ๑๙๕๒, Epoux Giraud คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ๒๕ กรกฎาคม ๑๙๕๒, Delle Remise

คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ๑๒ เมษายาน ๒๐๐๒, Papon คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๐๐๙, Hoffman Glemane

โปรดดู ปิยบุตร แสงกนกกุล, “ปรีดี พนมยงค์ กับกฎหมายมหาชนไทย”, ประชาชาติธุรกิจ วันที่ ๘ พฤษภาคม ๒๕๕๑, เผยแพร่อีกครั้งใน “ในพระปรมาภิไธย ประชาธิปไตย และตุลาการ”, สำนักพิมพ์โอเพ่นบุ๊คส์, ๒๕๕๒, หน้า ๒๔๕-๒๕๓.