ส่งเสริมคนดีให้ได้ปกครองบ้านเมือง

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

Saturday, 10 September 2011

ยื่น 700 รายชื่อเสนอ “รมว.ศธ.” ยกเลิก “TQF” ชี้ทำให้อุดมศึกษาไทยล้าหลัง

ที่มา ประชาไท

วานนี้ (9 ก.ย.54) เวลา 16.30 น.ที่อิมแพ็ค เมืองทองธานี รศ.ดร.กฤตยา อาชวนิจกุล รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล และนักวิชาการ 10 คน ในฐานะตัวแทนคณาจารย์จากมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วประเทศ เข้าพบ นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมยื่นรายชื่อคณาจารย์ราว 700 คน ที่ร่วมลงชื่อแสดงความไม่เห็นด้วย และขอให้ยกเลิกประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่องกรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาแห่งชาติ (TQF) พ.ศ.2552 ต่อนายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) โดยมี ดร.สุเมธ แย้มนุ่น เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) รศ.นพ.กำจร ตติยกวี รองเลขาธิการ กกอ. ร่วมรับฟัง
ก่อนหน้านี้ รศ.ดร.กฤตยา และคณะตัวแทนฯ ส่งจดหมายขอเขาพบรมว.ศธ.โดยระบุถึงวัตถุประสงค์ในการเข้าพบครั้งนี้ว่า เพื่อชี้แจงเกี่ยวกับปัญหาการปฏิรูปอุดมศึกษาไทย และปัญหาจากการประกาศใช้TQF โดย กกอ.ที่จะนำมาซึ่งความล้าหลังในการจัดการอุดมศึกษาของไทย และก้าวไม่ทันกับการจัดการศึกษาแบบบูรณาการเพื่อเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ใน พ.ศ.2558 โดยต้องการให้รัฐมนตรีสั่งการให้ กกอ.และสกอ.ยกเลิกการใช้ TQF เนื่องจากเป็นการขัดกับการสร้างความเป็นเลิศทางวิชาการ บั่นทอนเจตจำนงและความรับผิดชอบต่อสังคมของอุดมศึกษาอีกทั้งยังคุกคาม เสรีภาพทางวิชาการของมหาวิทยาลัย
นายวรวัจน์กล่าวว่า จากการหารือตนรับข้อเสนอของคณาจารย์ไปพิจารณา เบื้องต้นคงไม่สามารถยกเลิกกรอบ TQF ทั้งหมดได้ เพราะยังมีความจำเป็นต้องมีกรอบมาตรฐานการศึกษาขั้นต่ำไว้ แต่สิ่งที่จะยกเลิกได้อย่างแรกคือ เรื่องวิธีการกรอกข้อมูลเอกสารการประเมินต่างๆ ที่ทางอาจารย์คิดว่าเป็นเรื่องซ้ำซ้อนและเป็นภาระงาน ซึ่งตนมอบให้ สกอ.ไปดูในรายละเอียดต่างๆ ว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป โดยจะต้องเป็นแนวทางที่ให้อิสระทางวิชาการแก่มหาวิทยาลัย
ด้าน รศ.นพ.กำจรกล่าวว่า หลังจากที่ได้พูดคุยกับกลุ่มคณาจารย์ที่มาคัดค้าน TQF และได้รับทราบถึงเหตุผลในการเข้ามายื่นหนังสือคัดค้านครั้งนี้ จึงได้อธิปรายต่อกลุ่มคณาจารย์ว่า ขณะนี้ สกอ.กำลังปรับบทบาทอยู่แล้ว และเห็นด้วยในบางประเด็นของการคัดค้าน TQF โดยเฉพาะในขั้นตอนการกรอกเอกสาร ซึ่งในส่วนนี้คงต้องหาช่องทางในการยกเลิก และจากนี้ สกอ.จะต้องนำเรื่องดังกล่าวเข้าหารือ กกอ.เพื่อดูว่าจะมีแนวทางในการปรับวิธีการในการดำเนินการอย่างไร จะได้ไม่ให้เกิดปัญหากับทุกฝ่าย
สำหรับข้อเสนอของคณาจารย์ทั่วประเทศ มีดังนี้ 1.ทิศทางการพัฒนาอุดมศึกษาต้องเน้นเป้าหมายเชิงคุณภาพและการรับใช้สังคม เพื่อให้การปฏิรูปอุดมศึกษา นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงคุณภาพอย่างแท้จริง ขอให้ สกอ.ทบทวนแนวทางการผลักดันมหาวิทยาลัยที่มุ่งแข่งขันไปสู่ World Class Universities มุ่งสู่ความเป็นเลิศ ด้วยมาตรฐานเชิงเดี่ยวของการจัดอันดับ และการยึดหลักเกณฑ์การประกันคุณภาพเชิงปริมาณเพียงอย่างเดียว
สกอ.ควรหันมาพัฒนาแนวทางความเป็นเลิศของอุดมศึกษาที่วางอยู่บนหลักการ ที่เคารพต่อความหลากหลายทางวิชาการ และความแตกต่างของมหาวิทยาลัย บูรณาการแนวทางเชิงคุณภาพเข้าเป็นส่วนหนึ่งการพิจารณาความเป็นเลิศ ให้ความสำคัญต่อการตอบสนองและรับผิดชอบต่อสังคม และตอบปัญหาต่อท้องถิ่นที่มหาวิทยาลัยตั้งอยู่ อันเป็นพันธะกิจสำคัญที่สถาบันอุดมศึกษาควรให้ความสำคัญ
2. การปฏิรูปอุดมศึกษาต้องวางอยู่บนหลักการของการเคารพเสรีภาพทางวิชาการ แนวทางการปฏิรูปอุดมศึกษาไทย ควรเปลี่ยนจากระบบการรวมศูนย์อำนาจที่เน้นการควบคุมบังคับ มาสู่การสนับสนุนและส่งเสริม ให้สถาบันอุดมศึกษา ตลอดจนสมาคมวิชาการต่างๆ ได้มีอิสระ และเสรีภาพ ตลอดจนมีส่วนในการพัฒนาและเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับคุณภาพทางวิชาการของ ตนเอง สนับสนุนทางเลือกอื่นๆ ในการพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอน โดยให้ความสำคัญกับความหลากหลาย และแตกต่างของลักษณะเฉพาะของสาขาวิชา
สกอ.ควรปรับบทบาทของตนเองไปสู่การสนับสนุนเสรีภาพ และการมีส่วนร่วมของสถาบันต่างๆ ในการพัฒนาคุณภาพทางวิชาการลดความซ้ำซ้อนและภาระงานทางเอกสารของระบบประกัน คุณภาพที่มีอยู่ และหันมาสนับสนุนให้เกิดเวทีการแลกเปลี่ยนทางวิชาการ เพื่อให้เกิดการพัฒนาระบบประกันคุณภาพทางวิชาการอย่างแท้จริง
3.ขอให้ยกเลิกประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง กรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2552 เนื่องจากซ้ำซ้อนกับระบบการประกันคุณภาพการเรียนการสอนที่มีอยู่แล้วของ สมศ.และการประกันคุณภาพภายใน (SAR) ที่ต้องจัดทำอยู่แล้วทุกปี ตลอดจนขัดกับอิสรภาพของมหาวิทยาลัย
สกอ.ควรจัดให้มีการประมวลและรวบรวมปัญหาระบบการประกันคุณภาพการเรียน การสอนของอุดมศึกษาไทย เปิดให้การประชุมเพื่อรับฟัง และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในเรื่องแนวทางการพัฒนาแนวทางการประกันคุณภาพที่มี ความยืดหยุ่น คำนึงถึงความแตกต่างและหลากหลายของมหาวิทยาลัยเป็นสำคัญ โดยการมีส่วนร่วมของคณาจารย์ สมาคม วิชาการ และสมาคมวิชาชีพ ตลอดจนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่างๆ
อนึ่ง การขอเข้าพบครั้งนี้ สืบเนื่องจากผลการจัดการประชุมวิชาการนานาชาติ เรื่อง “ความเป็นเลิศของอุดมศึกษาไทยกับการแข่งขันการจัดอันดับมหาวิทยาลัยตามเกณฑ์ มาตรฐานนานาชาติ: สิทธิ อำนาจ และความรับผิดชอบต่อสังคม” เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2554 ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น จัดโดย คณะกรรมการสภาวิจัยแห่งชาติ สาขาสังคมวิทยา และ มหาวิทยาลัยมหิดล (สถาบันวิจัยประชากรและสังคม และโครงการจัดตังสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา) ร่วมกับ สมาคมปรัชญาและศาสนาแห่งประเทศไทย และสมาคมนักสังคมวิทยาและนักมานุษยวิทยาสยาม โดยที่ประชุมมีมติให้จัดทำข้อเสนอต่อรัฐบาล และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งลงนามโดยคณาจารย์ทั่วประเทศ

เรียบเรียงบางส่วนจาก: ไทยโพสต์

AttachmentSize
ข้อเสนอของคณาจารย์และรายนามผู้ลงชื่อทั่วประเทศ (7กย.2554)209.61 KB