หาก "การเมือง" หมายถึงการแย่งชิง-จัดสรรทั้ง "ผลประโยชน์" และ "อำนาจ"
การติดตาม "เบื้องหลัง" เกมการเมืองแต่ละช็อต จึงต้องดูว่าความเคลื่อนไหวดังกล่าวมีใครได้ประโยชน์
เหมือนจู่ๆ ที่ "ฎีกาแดง-อภัยโทษ" ให้ "พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร" อดีตนายกรัฐมนตรี กลายเป็นประเด็น
ก่อนที่ข้อเสนอ "บันได 3 ขั้น" สู่การ "นิรโทษกรรม" ให้คนทุกสี-ทุกขั้ว ฉบับ ส.ส.พรรคเพื่อไทย (พท.) จะถูกเปิดออกมา
ไปจนถึงการชงให้มี "พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ล้างมลทิน" จากซีกฝ่ายค้านที่เข้ามาชิงพื้นที่ข่าวจนอีนุงตุงนังไปหมด
ทั้ง 3 กรณีต่างมีเบื้องลึก-เบื้องหลังที่น่าสนใจ เพราะเกี่ยวข้องกับคนที่ชื่อ "พ.ต.ท.ทักษิณ" อย่างไม่น่าเชื่อ?
1.กรณี ประชาชนเข้าชื่อเพื่อทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษให้ "พ.ต.ท.ทักษิณ" ที่จู่ๆ ก็เปรี้ยงปร้างมา จน "ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง" รองนายกรัฐมนตรี ต้องงัดตำรากฎหมายมาแก้ข่าวไม่เว้นวัน
แม้ "สารวัตรเฉลิม" จะตั้งข้อสังเกตว่าเรื่องนี้น่าจะถูกใคร "วางยา"
หลังตรวจพบว่า ทันทีที่ "หนังสือพิมพ์มหาประชาชน" ฉบับวันที่ 2-8 กันยายน พาดหัวข่าว "ทวงราชทัณฑ์ 3 ล้านฎีกาแดง"
อีก 1 วันถัดมา "ชาติชาย สุทธิกลม" อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ก็โยนฎีกาขออภัยโทษ "พี่ชายนายกฯ" แนบชื่อประชาชน 3.6 ล้านรายชื่อ ให้กับ "พล.ต.อ. ประชา พรหมนอก" รมว.ยุติธรรมคนใหม่ทันที
แต่เหตุที่รัฐบาลถูก "เผือกร้อน" นี้ "ลวกมือ" เป็นเพราะพฤติกรรมที่ไม่เคยปฏิเสธว่าจะไม่ช่วย "พ.ต.ท.ทักษิณ" แม้จะบอกว่าไม่ใช่เรื่องเร่งด่วนก็ตาม
ทั้งนี้หากลองสืบประวัติดีๆ จะพบว่า "ฎีกาแดง" ไม่มีเจตนาจะให้ "พ.ต.ท.ทักษิณ" ได้รับอภัยโทษมาแต่ต้น
แต่ ต้องการใช้ "จำนวน" อันมหึมาของประชาชนที่มาลงชื่อ ต่อรองบางอย่างในทางการเมือง เพราะเป็นการรวบรวมรายชื่อคนเสื้อแดง หลังถูกสลายการชุมนุมในเหตุการณ์ "สงกรานต์เลือด" เมื่อปี 2552
แม้เบื้องหน้า "ฎีกาแดง" จะถูกคนในรัฐบาล-พท. พูดไปในทางเดียวกันว่า เป็นการชงประเด็นจากฝ่ายตรงข้ามให้คนด่ารัฐบาล
แต่ โดยข้อเท็จจริงเมื่อข่าวนี้ถูกเปิดจาก "หนังสือพิมพ์มหาประชาชน" ที่มี "วีระกานต์ มุสิกพงศ์-ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ-จตุพร ใสยเกื้อ" เป็นคอลัมนิสต์ประจำอยู่
จึงเกิดข้อสังเกตว่า "เบื้องหลัง" เรื่องนี้ จะเป็นการจุดพลุเพื่อหยั่งกระแสล้างผิดให้กับ "พ.ต.ท.ทักษิณ" หรือไม่?
2.บันได 3 ขั้นสู่การปรองดองของ "วัฒนา เมืองสุข" ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พท. ที่ขอปวารณาตัวเป็น "โปรโมเตอร์ปรองดอง" ผลักดันขึ้นมา
ซึ่งถกมองว่าอาจเป็น "แผนสอง" หาก "แผนแรก" คือ "ฎีกาแดง" ไม่ได้รับการตอบรับจากสังคม
ด้วย ข้อเสนอที่มีความประนีประนอมสูงกว่า ทั้ง 1.ค้นหาความจริง 2.เยียวยาผู้เสียหาย และ 3.ยกเลิกความผิดนักโทษการเมืองทุกฝ่าย ทั้งสีเหลือง สีแดง ตำรวจ ทหาร ฯลฯ
คดีที่อัยการ-ให้อัยการไม่ฟ้อง คดีที่ศาลรับฟ้องแล้ว-ให้ประกันตัวผู้ต้องหา แช่แข็งคดี หรือยกฟ้อง ส่วนคดีที่ศาลตัดสินแล้ว-ให้ออกกฎหมายนิรโทษกรรม
แม้ "เสี่ยไก่" จะมีเจตนาดี แต่อย่าลืมด้วยสถานะ "อดีตมือดีล" กับรัฐบาล-กองทัพ ที่นำไปสู่การปล่อยตัว "แกนนำคนเสื้อแดง" ในปี 2553
รวมถึงเป็นผู้ส่งสารให้ "นายใหญ่" ไม่ว่าจะไปอยู่ที่ดูไบ-บรูไน-ฮ่องกง-มาเก๊า-รัสเซีย
หาก "บันได 3 ขั้น" สำเร็จ ไม่เพียงคนอื่นๆ จะได้ประโยชน์
คนชื่อ "พ.ต.ท.ทักษิณ" ก็ได้ประโยชน์ไปด้วย
3.ร่าง พ.ร.บ.ล้างมลทิน ที่จู่ๆ ส.ส.พรรคภูมิใจไทย (ภท.) ก็ผลักดันเข้าสภาผู้แทนราษฎร
แม้ "ศุภชัย ใจสมุทร" ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ และโฆษก ภท. จะปฏิเสธว่าไม่เกี่ยวข้องกับ "นายเก่า" เพราะจะมีผลกับคนที่รับโทษแล้ว ทั้งทางวินัย-อาญาเท่านั้น
แต่มีข้อสังเกตว่านอกจากทำเพื่อ "ข้าราชการสาย ภท." ที่อาจมีคดีติดตัว
และให้รวมถึง "คนเสื้อแดง" ที่ติดตะรางในเวลานี้ ด้วยแอบหวังลึกๆ ว่า จะเป็นไมตรีที่ทอดไปหา "นายใหญ่" ให้กลับมาเอ็นดูดังเดิม?
ขึ้นชื่อเป็น "นักการเมือง" ไม่มีทางทำอะไรโดยไม่หวังผล
จึงน่าสนใจว่าในภาวะที่การเมืองแหลมคมเช่นเวลานี้ จะมีกรณีใดได้เกิดก่อน หรือไม่มีเลย!!!
......................
เหมือน-ต่าง3กม.ล้างผิด
อุณหภูมิ การเมืองร้อนขึ้นมาทันที เมื่อ "รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" แตะเรื่องการช่วยเหลือ "พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร" อดีตนายกรัฐมนตรี ให้พ้นโทษที่ติดตัวอยู่
โดย "กระทรวงยุติธรรม" ได้รื้อเรื่อง "คนเสื้อแดง" ที่ลงชื่อถวายฎีกาขอ "พระราชทานอภัยโทษ" ให้ "พ.ต.ท.ทักษิณ" กลับมาพิจารณาอีกครั้ง
ทำให้มีการพูดถึงการออก "กฎหมายนิรโทษกรรม" ซึ่งจะเป็นหนึ่งในหนทางรอดของ "นายใหญ่"
ล่าสุด "พรรคภูมิใจไทย" ซึ่งเป็น "ฝ่ายค้าน" ก็ผสมโรงด้วยการเสนอ "พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ล้างมลทิน" เข้ามาอีก
ทำให้เกิดความสับสนว่า "อภัยโทษ-นิรโทษกรรม-ล้างมลทิน" นั้น มีความเหมือนหรือต่างกันอย่างไร และจะมีผลทางกฎหมายอย่างไร?
"การอภัยโทษ" นั้น ในรัฐธรรมนูญระบุชัดเจนว่า เป็น "พระราชอำนาจ" ที่จะปล่อยตัวหรือลดโทษให้ "ผู้ต้องขัง" โดยแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะคือ
1.การพระราชทานอภัยโทษให้แก่ "ผู้ต้องโทษ" เฉพาะราย ที่ได้ยื่นเรื่องราวทูลเกล้าฯถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษ
2.การ พระราชทานอภัยโทษเป็นการทั่วไป ในโอกาสสำคัญที่เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ ซึ่งจะต้องตรา "พระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) พระราชทานอภัยโทษ"
เช่น กรณีล่าสุดคือการออก พ.ร.ฎ.พระราชทานอภัยโทษ พ.ศ.2553 เนื่องในโอกาสพระราชพิธีบรมราชาภิเษกปีที่ 60 ในวันที่ 5 พฤษภาคม 2553 ซึ่งมีนักโทษกว่า 3 หมื่นคน ได้รับอานิสงส์ในครั้งนั้น
ส่วนการ "นิรโทษกรรม" นั้น ส่วนใหญ่จะออกเป็น "พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรม" แต่มีส่วนน้อยที่ตราเป็น "พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) โดยระบุถึงเหตุการณ์ กลุ่มบุคคล รูปแบบการกระทำความผิด และระยะเวลาในการกระทำความผิดไว้เสร็จสรรพ
ซึ่งจะมีผลในทางกฎหมายให้ "กลุ่มบุคคล" ที่ระบุอยู่ใน พ.ร.บ. หรือ พ.ร.ก.นิรโทษกรรมพ้นผิดทันที
โดย ถือว่าการกระทำใดๆ ที่เป็นการกระทำผิดตามกฎหมาย แต่เข้าลักษณะที่ระบุเอาไว้ใน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ไม่ถือเป็นความผิด-ไม่ต้องรับโทษ-ไม่ต้องรับผิดชอบใดๆ ทั้งสิ้น
จึงถือเป็นการออกกฎหมายให้มีผลย้อนหลังในทาง "เป็นคุณ" สำหรับกลุ่มบุคคลใดบุคคลหนึ่ง
ที่ ผ่านมาจะพบว่ามีการออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ให้ผู้ต้องโทษในคดีทางการเมือง และคณะปฏิวัติรัฐประหารหลายต่อหลายครั้ง รวมถึงรับรองการกระทำของคณะปฏิวัติว่าชอบด้วยกฎหมายด้วย
อาทิ "พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการยึดและควบคุมอำนาจการปกครองแผ่นดิน เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534" หรือ "พ.ร.ก.นิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำความผิด เนื่องในการชุมนุมกันระหว่างวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2535 ถึงวันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ.2535" ฯลฯ
สำหรับการ "ล้างมลทิน" นั้น จะออกเป็น "พ.ร.บ.ล้างมลทิน" ตามกระบวนการออกกฎหมายปกติ ซึ่งส่วนใหญ่จะเสนอโดย "ฝ่ายราชการ" ที่เกี่ยวข้อง และ "รัฐบาล" เพราะจะเป็นการเสนอให้ล้างมลทินในวาระพิเศษต่างๆ
โดยจะล้างมลทินให้กับผู้ที่กระทำผิดและถูกลงโทษ อยู่ระหว่างการถูกลงโทษ หรือรับโทษจนหมดแล้ว
แต่ "ต้องมลทิน" จากการกระทำความผิดและรับโทษ ทำให้ไม่สามารถเข้ารับราชการ เข้าทำงาน หรือสังคมไม่ยอมรับก็จะลบล้างให้
ทว่าการล้างมลทินเป็นการ "ล้างเฉพาะโทษ" ไม่ได้ "ล้างความผิด" โดยถือว่าบุคคลนั้นๆ ทำผิดจริง
เช่น "พ.ร.บ.ล้างมลทินในโอกาสที่พระบาทสมเด็จ พระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีพระชนมพรรษา 80 พรรษา พ.ศ.2550"
ทั้ง หมดนี้คือความเหมือน-ความต่างของกฎหมายทั้ง 3 ฉบับ ที่ "ฝ่ายการเมือง" จากขั้วต่างๆ ขยับเข้ามาปก-ปิด-ปัด-ป้องความผิดให้ "ใคร" บางคน-บางกลุ่ม!!!
(มติชนรายวัน ฉบับวันที่ 9 กันยายน 2554 หน้า 11)