ส่งเสริมคนดีให้ได้ปกครองบ้านเมือง

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

Saturday, 10 September 2011

การเมืองเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำ300

ที่มา Thai E-News

การเมืองเรื่อง300-นาย บุญสม ทาวิจิตร ประธานสหภาพแรงงานจังหวัดสระบุรี นำกลุ่มผู้ใช้แรงงานในจังหวัดสระบุรีรวมตัวกันเดินทางมาที่ศาลากลางจังหวัด ขอพบผู้ว่าฯเพื่อทวงสัญญาขึ้นค่าแรง 300 บาทต่อวันทั่วประเทศในทันทีต่อรัฐบาล สำหรับนายบุญสมเป็นเลขาธิการคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ซึ่งมีนายชาลี ลอยสูง อดีตกรรมการพรรคการเมืองใหม่เป็นประธาน

โดย เปลวเทียน ส่องทาง

รัฐบาล ต้องไม่ไหวเอนไปตามการคัดค้านของนายทุนและเครือข่ายอำมาตยาธิปไตย ทั้งหลาย และจงมุ่งมั่นทำตามนโยบายค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาททั่วประเทศ มิใช่เพียง 7 จังหวัดนำร่องเท่านั้น

การเลือกตั้งที่ผ่านมา พรรคเพื่อไทยได้รับคะแนนเสียงสูงสุดจำนวนกว่าเกือบ 16 ล้านเสียง จนนำสู่การจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งคะแนนเสียงที่ได้รับความไว้วางใจมากมายในครั้งนี้

ย่อมปฏิเสธไม่ได้ว่า ประชาชนทุกหมู่เหล่า รวมทั้งผู้ใช้แรงงานต้องการให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่ปกครองด้วยระบอบ ประชาธิปไตย โดยอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนอย่างแท้จริง

มิใช่ “อำนาจนอกระบบ” “มือที่มองไม่เห็น” แทรกแซงการเมืองเหมือนที่ผ่านมาและก็ยังเป็นปัญหาอยู่ถึงปัจจุบัน

ภารกิจรัฐบาล จึงต้องเป็นกลไกหลักในการสร้างประชาธิปไตยให้มั่นคง โดยหาความจริงเหตุการณ์อำมหิตเมษา-พฤษภา53 นำผู้รับผิดชอบและสั่งฆ่าสังหารประชาชนมาลงโทษ

ต้องมีการวางแผนปฏิรูปกองทัพมิแค่เพียงโยกย้ายผู้นำเหล่าทัพเท่านั้น ต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ 50ฉบับอำมาตย์ และอื่นๆ เพื่อขจัดเสี้ยมหนามประชาธิปไตย ไม่ยอมให้ฝ่ายอำมาตยาธิปไตยเป็นใหญ่ในแผ่นดินอีกต่อไป

อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่มีหาเสียงการเลือกตั้งที่ผ่านมา พรรคเพื่อไทยได้เสนอนโยบายค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท เป็นผลให้ผู้ใช้แรงงานส่วนใหญ่ได้สนับสนุนในการเลือกพรรคเพื่อไทย เนื่องเพราะนโยบายนี้จะทำให้ผู้ใช้แรงงานมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

ภายหลังจากที่นโยบายค่าจ้างขั้นต่ำของรัฐบาลหลายยุคหลายสมัยนับเป็นเวลาร่วม หลายสิบปีไม่ได้มีนโยบายที่มีจุดยืนเคียงข้างผู้ใช้แรงงานเช่นนี้ แต่กลับเอื้อประโยชน์ให้กับนายทุนเท่านั้น ทำให้ผู้ใช้แรงงานมีสภาพความเป็นอยู่อย่างอัตคัต มีหนี้สินล้นพ้นตัว จักมีชีวตอยู่รอดได้ต้องทำให้หนักขึ้น ต้องทำงานล่วงเวลา ต้องไม่มีวันหยุด เป็นการทำลายความเป็นมนุษย์ของผู้ใช้แรงงาน

นโยบายค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท จึงเป็นจุดเริ่มต้นในการคืน “ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์”ให้กับผู้ใช้แรงงาน และคืน “ความยุติธรรม” ให้กับผู้ใช้แรงงาน ในฐานะผู้ใช้แรงงานเป็นคนส่วนใหญ่ในสังคม เป็นผู้สร้างสรรค์ผลิตสรรพสิ่งให้กับสังคม ในฐานะผู้ใช้แรงงานมีส่วนสำคัญในการสร้างความเจริญ ความมั่งคั่งให้กับประเทศ

ท่ามกลางที่ผู้ใช้แรงงานส่วนใหญ่สนับสนุนนโยบายนี้ของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย กลับมีนายทุน องค์กรนายจ้าง เครือข่ายสื่อมวลชน นักวิชาการ ของฝ่ายอำมาตยาธิปไตย ที่ออกมาคัดค้านไม่เห็นด้วยกับนโยบายดังกล่าวด้วยเช่นกัน

ขณะเดียวกัน ในการแถลงนโยบายของรัฐบาลต่อรัฐสภา รัฐบาลได้ใช้คำว่า “รายได้” มิได้ใช้คำว่า “ค่าจ้างขั้นต่ำ” ทำให้เกิดคำถามว่า รายได้หมายถึงการทำงานมากกว่า 8 ชั่วโมงหรือไม่ ? รวมถึงสวัสดิการอื่นๆด้วยหรือไม่ ? ซึ่งทำให้พรรคประชาธิปัตย์ สื่อมวลชน นักวิชาการ ฝ่ายอำมาตยาธิปไตย ฉวยโอกาสวิพากษ์วิจารณ์ว่ารัฐบาลหลอกลวงประชาชน

แม้ว่า รัฐมนตรีกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม ได้แถลงข่าวยืนยันว่า “รายได้” เท่ากับ “ค่าจ้างขั้นต่ำ” เพียงแต่ใช้คำต่างกัน ซึ่งที่จริงแล้วผู้เขียนคิดว่า รัฐบาลควรใช้คำว่า “ค่าจ้างขั้นต่ำ” เพื่อมิให้เกิดความสับสนคลุมเคลือ และคงต้องพิสูจน์รูปธรรมกันต่อไปว่า “รายได้” เท่ากับ “ค่าจ้างขั้นต่ำ” ที่ทำงาน 8 ชั่วโมงและไม่รวมสวัสดิการอื่นๆ จริงหรือไม่ ?

นอกจากนี้แล้ว อดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ผู้มีส่วนสำคัญของนโยบาบพรรคเพื่อไทยได้สัมภาษณ์ voice tv เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ว่า ตอนที่ไปประเทศญี่ปุ่น เพื่อเยี่ยมเยียนผู้ประสบภัยสึนามึ ได้พูดคุยทำความเข้าใจกับนักธุกิจญี่ปุ่น ถึงความสำคัญและจำเป็นต้องมีนโยบายค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท เพื่อสร้างประสิทธิภาพ แรงจูงใจและให้ความยุติธรรมกับผู้ใช้แรงงาน จนนักธุรกิจญี่ปุ่นเข้าใจและสนับสนุนโยบายดังกล่าวด้วย

ผู้เขียนคิดว่า รัฐบาลต้องไม่ไหวเอนไปตามการคัดค้านของนายทุนและเครือข่ายอำมาตยาธิปไตย ทั้งหลาย และจงมุ่งมั่นทำตามนโยบายค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาททั่วประเทศ มิใช่เพียง 7 จังหวัดนำร่องเท่านั้น

ซึ่งนายทุนจำนวนมากล้วนแต่ได้รับผลกำไรจากการลงทุนจำนวนมหาศาลด้วยการขูดรีด แรงงานโดยค่าจ้างต่ำ สวัสดิการน้อย และรัฐบาลต้องมีนโยบายแก้ไขปัญหาสำหรับการลงทุนของธุรกิจรายย่อยที่ได้รับ ความเดือดร้อนตามความเหมาะสม

ขณะที่ฝ่ายผู้ใช้แรงงานผู้รักประชาธิปไตยก็ควรมีท่าทีการเคลื่อนไหวเพื่อหา ทางแก้ปัญหามากกว่าเพื่อโค่นล้มรัฐบาล เนื่องเพราะนายทุนโดยเฉพาะนายทุนฝ่ายอำมาตย์ ก็ฉวยโอกาสมีธงไม่ทำตามนโยบายของรัฐบาลอยู่แล้ว หรือฝ่ายอำมาตยาธิปไตยนำประเด็นนี้เพื่อหาสร้างแนวร่วมเป็นส่วนหนึ่งในขบวน การโค่นรัฐบาลก็เป็นไปได้เช่นกัน

ผู้ใช้แรงงานควรสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมผลักดันนโยบายนี้ให้เข้มข้นขึ้นใน รูปแบบต่างๆโดยมีมวลชนผู้ใช้แรงงานพื้นฐานมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวาง ยกระดับสร้างจิตสำนึกในการต่อสู้จากประด็นนี้สู่จิตสำนึกทางการเมือง และสามัคคีกับรัฐบาลเพื่อร่วมสร้าง “ดุลย์อำนาจต่อรองกับทุน โดยดึงรัฐมาเป็นเครื่องมือสนับสนุน”

นอกจากนี้แล้ว ผู้เขียนคิดว่า รัฐบาลต้องมีมาตรการเข้มในการควบคุมราคาสินค้าอุปโภคบริโภคพื้นฐานมิให้ฉวย โอกาสขึ้นราคาซึ่งจะสร้างความเดือนร้อนให้กับประชาชนและนโยบายค่าจ้างขั้น ต่ำก็จะไม่มีความหมายแต่อย่างใด

รัฐบาลต้องให้การรับรองสัตยาบัน ILO มาตราที่ 87 และ 98 เพื่อส่งเสริมสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของผู้ใช้แรงงานตามหลักการปกครองระบอบ ประชาธิปไตย และเพื่อมิให้นายทุนทำลายสหภาพแรงงาน

รัฐบาลต้องมีแผนจัดกระบวนการแก้ไขปัญหาด้านนโยบายและกฎหมายของผู้ใช้แรงงาน ในระยะยาวด้วย เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงและมีความยุติธรรมให้กับผู้ใช้แรงงาน เช่น การแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับแรงงานในปัจจุบันทุกฉบับที่ลิดรอนสิทธิ เสรีภาพผู้ใช้แรงงาน มีช่องโหว่และเอื้อประโยชน์ให้กับนายทุน โดยมีตัวแทนผู้ใช้แรงงานทั้งส่วนภูมิภาคและส่วนกลาง เข้ามีส่วนร่วมในกระบวนการแก้ไขปัญหาด้วย ตลอดทั้งการปฏิรูประบบค่าจ้างและระบบไตรภาคี

ท้ายสุด จงเชื่อมั่นเถิดว่าผู้ใช้แรงงานส่วนใหญ่สนับสนุนนโยบายที่มีจุดยืนเคียงข้าง ผู้ใช้แรงงาน เพื่อ คืน “ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์” และ”ความยุติธรรม”ให้กับผู้ใช้แรงงาน ขณะเดียวกันหากนโยบายค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทของรัฐบาลไม่เกิดเป็นรูปธรรมหรือทำไม่ได้จริง ก็จักเป็นผลทำให้รัฐบาลสูญเสียความนิยมฐานเสียงของผู้ใช้แรงงานซึ่งเป็นคน ส่วนใหญ่

และฝ่ายอำมาตยาธิปไตยก็จักใช้ประเด็นนี้โจมตีทำลายความชอบธรรมของรัฐบาลได้เช่นกัน