ส่งเสริมคนดีให้ได้ปกครองบ้านเมือง

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

Friday, 16 September 2011

ภารกิจลับคอ.นธ. สัมพันธ์รัก"อุกฤษ-ทักษิณ" กับ 2 มาตรฐานในใจ"แดง"

ที่มา มติชน


การเมือง มติชน 16 กันยายน 2554


พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ฉบับปี พ.ศ.2542 คำว่า "นิติธรรม" หมายถึง หลักพื้นฐานแห่งกฎหมาย

แต่พลันที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติตั้ง "คณะกรรมการอิสระว่าด้วยหลักนิติธรรมแห่งชาติ (คอ.นธ.)" ที่มี "อุกฤษ มงคลนาวิน" เป็นประธาน

พร้อมมอบ "หน้าที่" ให้ ครม. รัฐสภา ศาล องค์กรอิสระ และหน่วยงานของรัฐ ปฏิบัติหน้าที่ตาม "หลักนิติธรรม" หรือเรียกง่ายๆ ว่า ให้ปฏิบัติตามหลักพื้นฐานของกฎหมาย

ฝ่ายตรงข้ามรัฐบาล ก็ออกมาดาหน้าถล่มทันทีว่า "แทรกแซงองค์กรอิสระ-ปฏิวัติเงียบ-ตั้งองค์กรเถื่อนใหญ่กว่ารัฐธรรมนูญ-จ่อรื้อศาล"

ทั้งที่ "อำนาจ" ของ คอ.ยธ.ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยหลักนิติธรรมแห่งชาติ พ.ศ.2554 หลักๆ มีเพียงการกำหนดยุทธศาสตร์ แนวทาง มาตรการ ข้อเสนอแนะ และกระบวนการต่างๆ เกี่ยวกับการดำเนินการเพื่อหลักประกันการใช้กฎหมายด้วยความเป็นธรรม สุจริต ภายใต้ "มาตรฐานเดียวกัน" ตามหลักนิติธรรม

และเสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ เพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่ไปตามหลักนิติธรรม

แปลง่ายๆ คือ ทำรายงาน-ชงข้อเสนอต่อ "นายกรัฐมนตรี" ในฐานะผู้บังคับบัญชา หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ส่วนจะ "เดินหน้าต่อ" หรือ "โยนเข้าลิ้นชัก" เป็นอีกเรื่อง!

ในอดีตการตั้ง "คณะกรรมการอิสระ" ด้วยระเบียบสำนักนายกฯ มักมีเหตุผลหลัก 3 ประการ

1.ถ่วงเวลา-ดึงเรื่อง-เบี่ยงความรับผิดชอบ ซึ่งมักใช้เวลาเกิดปัญหาที่เกินกำลังรัฐบาลจะแก้ไข เช่น การตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.) ที่มี "อานันท์ ปันยารชุน" เป็นประธาน สมัยรัฐบาล "พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร"

2.ไกล่เกลี่ย-หาข้อสรุป มักใช้เวลาที่เกิดความขัดแย้งทางการเมือง อาทิ การตั้งคณะกรรมการศึกษาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่มี "สมบัติ ธำรงธัญวงศ์" เป็นประธาน สมัยรัฐบาล "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ"

และ 3.เสนอสิ่งที่รัฐบาลอยากทำ-แต่ยังขาดความชอบธรรม จึงต้องมี "คนกลาง" ขึ้นมาเสนอ ซึ่งการแต่งตั้ง "คอ.นธ." น่าจะเข้าข่ายกรณีนี้

ปัญหาที่ต้องพิจารณาตามมาคือ "คอ.นธ." จะเข้ามาทำอะไร?

"พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก" รมว.ยุติธรรม ผู้ชงเรื่องแต่งตั้งเข้า ครม. ปฏิเสธให้ข้อมูลกับนักข่าว โดยกล่าวสั้นๆ แค่ว่า "เข้ามาแก้ไขกระบวนการยุติธรรมที่ยังเป็น 2 มาตรฐาน"

ส.ส.พรรคเพื่อไทย (พท.)-แกนนำคนเสื้อแดง ต่างๆ อ้อมๆแอ้มๆ ไม่มีใครให้คำตอบเรื่อง"จุดประสงค์" ของ คอ.นธ.ได้

หากมองในแง่ดี "คอ.นธ." อาจจะเข้ามารับช่วงต่อคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการ ปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ที่มี "คณิต ณ นคร" เป็นประธาน

เพราะ "โมเดลแอฟริกาใต้" ที่ "คณิตและพวก" ยึดเป็น "บันได" ในการพาบ้านเมืองไปสู่ความปรองดอง มีด้วยกัน 3 ขั้นคือ 1.ค้นหาความจริง 2.เยียวยาผู้เสียหาย และ 3.ปรับปรุงกระบวนการยุติธรรม

หาก คอป.เป็นบันไดขั้นแรก คอ.นธ.ก็เป็นบันไดขั้นสุดท้าย

ส่วนบันไดขั้นที่ 2 แว่วว่าจะมีการตั้ง "คณะกรรมการเยียวผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ทางการเมือง" ไม่ว่าสีเสื้ออะไร โดยมอบหมายให้ "ยงยุทธ วิชัยดิษฐ" รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.มหาดไทย เป็นประธาน

แต่ถ้ามองโลกในแง่ร้าย "คอ.นธ." อาจเป็น "เครื่องมือใหม่" ที่ออกแบบเพื่อช่วย "นายใหญ่" แบบซ่อนรูป

เพราะแม้ประธาน คอ.นธ.จะออกแถลงการณ์ปฏิเสธล่วงหน้าว่า จะไม่แตะต้องการ "นิรโทษกรรม-รื้อคดี" ทีเกี่ยวข้องกับ "พ.ต.ท. ทักษิณ" เด็ดขาด

ทว่า หากไล่ดูสายสัมพันธ์ระหว่าง "อดีตประธานรัฐสภา 3 สมัย" กับ "อดีตนายกฯ 2 สมัย" คู่นี้ เป็นที่รู้จักกันดีว่าแนบแน่นในระดับไม่ธรรมดา

การันตีผ่านการใช้บริการมือกฎหมายจาก"สำนักกฎหมายอุกฤษ มงคลนาวิน" ตลอดช่วงอายุรัฐบาลทักษิณ 1 และ 2

หรือ "วัฒนา เมืองสุข" ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พท. มือดีลให้ปล่อยตัวเสื้อแดงในปี 2554 และ "คนส่งสาร-คนสำคัญ" ของ "ผู้นำผลัดถิ่น" ก็เป็นศิษย์เอกของผู้ก่อตั้งคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รายนี้

แถมยังมีข่าวไม่กรองว่าชายชื่อ "อุกฤษ" เคยถูกวางตัวเป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญ ระหว่างที่ "คดีซุกหุ้นภาคแรก" ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ

แม้จะแว่วว่า งานหลักของ คอ.นธ.คือการแก้รัฐธรรมนูญฉบับท็อปบูต พ่วงรื้อกฎหมายสีเขียวที่ออกหลัง 19 กันยายน 2549 เพื่อล้างภาพ "2 มาตรฐาน" ในสังคมไทย

แต่เชื่อว่าหลายคนยังน่าจะข้องใจว่า หากไม่เกี่ยวข้องกับ "พี่ชาย" แล้ว "รัฐบาลน้องสาว" จะเร่งรีบทำไปเพื่ออะไร?

-----------------------
2มาตรฐานในใจ"แดง"

"สองมาตรฐาน" กลายเป็น "วาทกรรมการเมือง" ที่ "กลุ่มคนเสื้อแดง" นำมาใช้อธิบายความรู้สึกของ "ผู้ถูกกระทำ" นับจากเหตุปฏิวัติ 19 กันยายน 2549

และกลายเป็นตัวจักรสำคัญในการเติบโตอย่างรวดเร็วของ "มวลชนคนเสื้อแดง"

ภายในระยะเวลา 1-2 ปี จาก "ม็อบพีทีวี" ที่เรียกร้องขอให้ "รัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์" อนุญาตให้เปิดช่องทางการสื่อสารให้ "สถานีโทรทัศน์ดาวเทียมพีเพิล แชนแนล (พีทีวี)" ได้ออกอากาศใน "มาตรฐานเดียวกัน" กับที่ "สถานีโทรทัศน์เอเอสทีวี" ของ "กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย" และทีวีดาวเทียมช่องอื่นๆ ได้รับ

กลายเป็น "ม็อบเสื้อแดง" ที่มีศักยภาพทั้งด้านมวลชน-ด้านการเมือง

"แกนนำเสื้อแดง" แสดงให้เห็น "การปฏิบัติ" และ "การบังคับใช้กฎหมาย" ที่เรียกว่า "สองมาตรฐาน" เพื่อปลุกใจ "มวลชน" อย่างได้ผลในหลายกรณี

ตั้งแต่การถือครองที่ดินในเขตป่าสงวนของ "อำมาตย์" โดยไม่มีการดำเนินคดีใดๆ

โดยเฉพาะกรณีการถือครองที่เดิน "เขายายเที่ยง" ของ "พล.อ.สุรยุทธ์" ที่สุดท้าย "อัยการ" สั่งไม่ฟ้อง โดยให้เหตุผลว่าไม่มีเจตนา

จนถูกนำมาเปรียบเทียบกับ "คดีที่ดินรัชดาภิเษก" ซึ่งศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษาจำคุก "พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร" อดีตนายกรัฐมนตรี

แต่ที่ได้ผลมากที่สุดในการปลุกอารมณ์ร่วมจาก "คนเสื้อแดง" คือการเรียกร้องไม่ให้ "ปฏิบัติสองมาตรฐาน" กับการชุมนุมของ "คนเสื้อแดง-คนเสื้อเหลือง"

โดย "คนเสื้อเหลือง" มักได้รับการอำนวยความสะดวกในการชุมนุมหลายครั้ง ขณะที่ "คนเสื้อแดง" ถูกสั่งสลายการชุมนุม

โดยครั้งแรกในปี 2550 มีการสลายการชุมนุมบริเวณถนนหน้าบ้านพักสี่เสาเทเวศร์

ครั้งที่ 2 ในปี 2552 สลายการชุมนุมที่ถนนพิษณุโลกหน้าทำเนียบรัฐบาล

และครั้งล่าสุด ในปี 2553 ขอคืนพื้นที่ถนนราชดำเนิน-กระชับพื้นที่ราชประสงค์

ทุกครั้งส่งผลให้แกนนำคนเสื้อแดงถูกดำเนินคดี-ควบคุมตัวอยู่ในเรือนจำ

ร้ายแรงที่สุดคือ ต้องกลายเป็น "ผู้ต้องหาคดีก่อการร้าย" ที่ทำให้หลายคนต้องถูกจองจำอยู่ในเรือนจำ โดยไม่ได้รับอนุญาตให้ประกันตัว

กลายเป็นเงื่อนไขสำคัญให้ "แกนนำ นปช." นำมาใช้ในการเปรียบเทียบกับกรณีของ "พธม." ที่เคยนำกำลังบุกเข้าทำเนียบรัฐบาล และสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ช่อง 11 รวมไปถึงการบุกยึดสนามบินดอนเมืองและสนามบินสุวรรณภูมิ ในปี 2551

แม้ "คนเสื้อเหลือง" จะถูกดำเนินคดีใน "ข้อหาก่อการร้าย" เช่นเดียวกับ "คนเสื้อแดง" แต่เป็น "คนละมาตรฐาน" เนื่องจาก "แกนนำ พธม." ได้รับการอนุญาตให้ประกันตัว ไม่มีใครต้องเดินเข้าสู่ประตู "ห้องขัง"

ล่าสุด "สมบัติ บุญงามอนงค์" หรือ บ.ก.ลายจุด ถูกพิพากษาให้จำคุก 6 เดือน ในความผิดฝ่าฝืนพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน เนื่องจากมีการระดมพลชุมนุมที่ห้างสรรพสินค้าอิมพีเรียล ลาดพร้าว ช่วงที่มีการประกาศ พ.ร.ก.ดังกล่าวในพื้นที่ กทม. ปี 2553

แต่ช่วงเดียวกัน "นพ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์" ระดมพล "เสื้อหลากสี" ร้องเพลงชาติที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย กลับไม่มีการจับกุมดำเนินคดีใดๆ

นอกจากนี้คดีที่สร้างคำถามคาใจ "คนเสื้อแดง" มากที่สุด หนีไม่พ้น "คดียุบพรรคไทยรักไทย" และ "คดียุบพรรคพลังประชาชน" ที่ผลลัพธ์แตกต่างกับ "คดียุบพรรคประชาธิปัตย์" อย่างสิ้นเชิง

เหล่านี้คือบางส่วนของคดีคาใจ "คนเสื้อแดง" ที่รอคณะกรรมการนิติธรรม ชุด "อุกฤษ มงคลนาวิน" สลายมาตรฐาน!!!