ส่งเสริมคนดีให้ได้ปกครองบ้านเมือง

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

Thursday, 25 August 2011

คณาจารย์แถลงจี้ยกเลิกระบบประเมินคุณภาพ TQF ด่วน เตรียมบุกยื่นหนังสือนายกฯ

ที่มา ประชาไท

คณาจารย์จากหลายมหาวิทยาลัยทั่วประเทศร่วมหารือปัญหา “TQF” ระบบประเมินคุณภาพการศึกษาใหม่ของ สกอ. เร่งบังคับใช้อย่างครอบคลุมตุลานี้ อาจารย์เดือดสร้างภาระงานโดยไร้ประโยชน์ ชี้ล้าหลัง ซ้ำซ้อน ละเมิดเสรีภาพวิชาการ เตรียมยื่นหนังสือค้านกับนายกฯ ใหม่ - องค์กรที่เกี่ยวข้องเร็วๆ นี้

24 ส.ค.54 ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ มีกาจัดประชุมนานาชาติเรื่องความเป็นเลิศของอุดมศึกษาไทยกับการแข่งขันการ จัดอันดับมหาวิทยาลัยตามมาตรฐานนานาชาติ: สิทธิ อำนาจ และความรับผิดชอบต่อสังคม โดยภายในการประชุมมีการยกตัวอย่างการจัดระบบการศึกษาและระบบการประกันคุณภาพ การศึกษาจากต่างประเทศ พร้อมวิพากษ์วิจารณ์แนวทางในประเทศไทย โดยเฉพาะเมื่อสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ได้กำหนดให้ใช้ “กรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษา” ( มคอ.) หรือ ทีคิวเอฟ (TQF:Thai Qualifications Framework for Higher Education) จนเกิดกระแสคัดค้านในหมู่คณาจารย์อย่างกว้างขวางในปี 2553 ที่ผ่านมา โดยเฉพาะการล่ารายชื่อคณาจารณ์พร้อมออกแถลงการณ์ต่อต้านระบบดังกล่าว
ภายหลังการประชุม กฤตยา อาชวนิจกุล อาจารย์จากมหาวิทยาลัยมหดิล ตัวแทนผู้จัดงาน ได้อ่านแถลงการณ์ร่วมของที่ประชุม ซึ่งระบุว่าจะทำเป็นจดหมายเสนอต่อยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และสำเนาถึง กกอ., สกอ., อธิการบดีทั่วประเทศ,ที่ประชุมอธิการบดี รวมถึงที่ประชุมสภาคณาจารย์ทั่วประเทศ และอาจจะมีการนัดหมายเพื่อขอเข้าพบนายกรัฐมนตรี
กฤตยา กล่าวถึงเนื้อหาของแถลงการณ์ว่า ประการแรก เราไม่ได้ปฏิเสธเรื่องการพัฒนาคุณภาพ ความรับผิดชอบต่อสังคม เราย้ำถึงสิ่งเหล่านั้นและยืนยันว่าสิ่งเหล่านั้นต้องมาพร้อมกับเสรีภาพทาง ปัญญา เราจึงปฏิเสธอำนาจครอบงำจาก สกอ. หรือจากรัฐบาลก็ตามแต่
“เราจะทำอะไร เราต้องเสนอ กกอ. ให้เขารับรอง แต่โดยกฎหมาย ถ้าสภามหาลัยอนุมัติแล้วไม่จำเป็นต้องไปขอการรับรองจะ กกอ.” กฤตยา กล่าวและว่า ดังกรณีของสภามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้ลงมติแล้วเมื่อเร็วๆ นี้ว่า จะไม่กรอกแบบฟอร์ม TQF
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังไม่เห็นด้วยมาตรฐานเชิงเดี่ยวในการจัดอันดับ และหลักประกันเชิงปริมาณเพียงอย่างเดียวของ สกอ.
ประการที่สอง สกอ.ควรปรับบทบาทการบริหารรวมศูนย์ และการควบคุมบังคับ กระทั่งลงโทษ เช่น หลักสูตรไม่ผ่านการอนุมัติ เปิดสอนไม่ได้ ทั้งที่หากสภามหาวิทยาลัยอนุมัติแล้ว สกอ.จะมาระงับการเปิดสอนไม่ได้ เป็นต้น ให้กลับมาที่การกระจายอำนาจ และควรสนับสนุนให้สถาบันอุดมศึกษา สมาคมวิชาการต่างๆ ได้มีอิสระ และมีส่วนในการพัฒนาคุณภาพ โดยเฉพาะต้องส่งเสริมให้กับการพัฒนาคุณภาพทางเลือกแบบอื่นๆ ด้วย ไม่ใช่มีกรอบแบบเดียว หวังว่า สกอ.จะให้ความสำคัญกับความหลากหลายของคุณภาพทางวิชาการ ตลอดจนเป้าหมายที่แตกต่าง
ประการที่สาม ขอให้มีการทบทวน ซึ่งมีการสอบถามที่ประชุมในภายหลังและปรับเป็น “การยกเลิก” ประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่องกรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษา หรือ TQF เพราะซ้ำซ้อนกับการประเมินของ สมศ.และการประกันคุณภาพภายในที่มีอยู่แล้ว และขอให้ประมวล รวบรวมปัญหาของระบบประกันคุณภาพของอุดมศึกษาไทย เปิดให้มีการระดมสมองเรื่องการประกันคุณภาพที่มีความแตกต่าง
ทั้งนี้ ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี อาจารย์จากคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ให้ข้อมูลว่า งานสัมมนาดังกล่าวจัดขึ้นเพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความรู้ ความคิดเห็นเกี่ยวกับมาตรฐานการศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อระบบ TQF บังคับให้คณาจารย์ต้องมีการกรอกแบบฟอร์มต่างๆ ให้แล้วเสร็จภายในเดือนตุลาคมนี้เพื่อเร่งเข้าสู่ตลาดอาเซียน ทั้งที่กำหนดบังคับใช้จริงๆ เป็นปีหน้า ทำให้หลักสูตรใหม่ การปรับปรุงหลักสูตรใดๆ ต้องกรอกเอกสารมากมายเป็นร้อยๆ หน้า โดยไม่เห็นประโยชน์อันใด ส่งผลกระทบกับอาจารย์เป็นรายบุคคล ก่อให้เกิดกระแสไม่พอใจขึ้น นอกจากนี้ช่วงปีที่ผ่านมามีการคัดค้านเรื่องนี้กันเยอะ และมีการให้เหตุผลต่างๆ มากมาย ซึ่ง สกอ.ไม่เคยตอบในประเด็นต่างๆ ได้ แต่กลับมีจดหมายออกมาว่า อาจารย์จำนวนมากยังไม่เข้าใจ
ส่วนยุกติ มุกดาวิจิตร อาจารย์จากคณะสังคมวิทยาและมนุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวในวงประชุมถึงปัญหาของ TQF ว่า ปัญหาใหญ่ คือ 1.ใช้มาตรฐานเชิงเดี่ยวโดยไม่เข้าใจความแตกต่างของแต่ละสาขาวิชา หรือจุดเน้นของแต่ละสำนัก ฯ 2.คุกคามเสรีภาพทางวิชาการ เนื่องจากระบุว่าจะติดตามอย่างต่อเนื่อง และการประเมินต้องเป็นไปตามแนวทางของ สกอ. 3.ล้าหลังทางวิชาการ ไม่ได้มาตรฐานสากลเช่น การกำหนดในผลลัพธ์ว่า นศ.มหาวิทยาลัยต้องซาบซึ่งในค่านิยมของไทยและระบบคุณธรรม จริยธรรม ฯ หรือการแยกการสื่อสารออกจากการวัดความรู้ ดังนั้นนักศึกษาตามเกณฑ์ของ TQF จะฉลาด คิดเลขเก่ง แต่เชื่อง ไม่รู้จักความซับซ้อนของโลก ดังนั้น จึงขอเสนอว่าให้แต่ละมหาวิทยาลัยสามารถมีดุลยพินิจในการประเมินแบบอื่น ที่ไม่ต้องเป็นไปตาม แบบกำหนดของ สกอ.เท่านั้น
ขณะที่ธงชัย วินิจจะกูล อาจารย์จากมหาวิทยาลัยวิสคอนซิล-เมดิสัน สหรัฐอเมริกา กล่าวในเวทีภาคภาษาอังกฤษ สรุปได้ว่า โลกาภิวัตน์ทำให้คนชั้นกลางเข้าถึงการศึกษาได้มากขึ้น โดยเฉพาะในระดับปริญญาตรี ประเทศอย่างสหรัฐอเมริกา อุดหนุนเงินแก่มหาวิทยาลัยน้อยมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ คือเพียง 20-30% เท่านั้น ที่เหลือมหาวิทยาลัยต้องหาเงินเอง มันจึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะเป็นธุรกิจ และเกิด Liberization, Privatization, Marketization, Reform of university ซึ่งมหาวิทยาลัยจะมีอำนาจในการบริหารจัดการตนเอง (autonomy) พร้อมกับมี accountability (ความรับผิดชอบ) หากไม่มีอย่างแรกมีแต่อย่างหลังดังที่ปรากฏในระบบการศึกษาไทย มันก็คือ การควบคุม (control) ทั้งนี้เป็นเพราะเรามักลอกเลียนระบบหรือเครื่งอมือมาจากคนอื่นเฉพาะบางส่วน โดยไม่ได้เข้าใจระบบนั้นจริงๆ ทำให้เกิดภาวะสมัยใหม่แต่ไม่พัฒนา (modernization without development)
นอกจากนี้ ธงชัย ยังเห็นว่า เราอาจไม่จำเป็นต้องเน้นหรือมุ่งสู่การจัดอันดับสากล เพราะเป็นไปไม่ได้ที่ทุกมหาวิทยาลัยจะไปสู่จุดนั้น แต่ละมหาวิทยาลัยก็มีพันธกิจที่แตกต่างกันไป มหาวิทยาลัยในต่างจังหวัดจำนวนมากก็มีพันธกิจที่จะรับใช้ท้องถิ่น อย่างไรก็ตาม มาตรฐานเป็นสิ่งที่ต้องมี แต่ที่ทำอยู่ไม่น่าจะเป็นทิศทางที่ถูก เพราะเน้นปริมาณมากกว่าประสิทธิภาพ เน้นการรวมศูนย์ และยังมีความไม่เหมาะกับบริบทไทย โดยเฉพาะกับประเทศที่ใช้ภาษาไทย ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่ในแง่หนึ่งอาจเป็นกำแพงเชื่อมต่อกับความคิดภายนอก และเสียเปรียบต่อประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษ เราจึงไม่ควรเน้นการแข่งขันเพื่อจัดอันดับสากลจนเกินไป และแทนที่เราจะเน้นการจัดอันดับอาจเปลี่ยนเป็นเน้นความร่วมมือระหว่างกันแทน
อย่างไรก็ตาม แม้อาจารย์จะประสบปัญหากับระบบ TQF อย่างมากแต่คาดว่าภายใน 2 ปีก็จะเลียนรู้ที่จะ copy and paste ได้
ธงชัยสรุปว่า หน้าที่หลักของ สกอ. ไม่ใช่การเข้าไปควบคุมมหาวิทยาลัย ส่วนการปฏิรูปอุดมศึกษาไทยนั้นเป็นเรื่องใหญ่มาก ระบบการประเมินคุณภาพเป็นเพียงปัจจัยส่วนเดียวเท่านั้น ยังมีเรื่องของการกระตุ้นการวิจัย การสร้างอาจารย์ที่มีคุณภาพ ซึ่งเป็นเรื่องระยะยาว และต้องมีการปรับเปลี่ยนกลไกภายในให้เหมาะสมกับบริบทของเราเอง
ทั้งนี้ งานดังกล่าวจัดโดย โครงการจัดตั้งสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา , สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล, คณะกรรมการสภาวิจัยแห่งชาติ สาขาสังคมวิทยา, สมาคมนักสังคมวิทยาและนักมานุษยวิทยาสยาม, สมาคมปรัชญาและศาสนาแห่งประเทศไทย โดยได้รับความสนใจจากคณาจารย์จากมหาวิทยาลัยแห่งต่างๆ ทั่วประเทศเข้าร่วมการประชุมกว่าร้อยคน