หากเราต้องการให้เกิด “การเปลี่ยนแปลงเชิงความคิด” ในสังคมไทย แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะไม่ถกเถียง ถอดรื้อวิธีคิดของชาวพุทธแบบไทยๆ ที่ถูกปลูกฝังมาภายใต้วัฒนธรรมทางความคิดของพุทธศาสนาแบบไทยๆ
ถามว่าทำไมคนไทยมักมีแนวโน้มที่จะไม่วิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบบุคคลที่มีภาพ ลักษณ์ ถูกยกย่องว่าเป็น “คนดี” เช่น เมื่อมีข้อกล่าวหาว่า “คนดี” หนีทหาร ตั้งรัฐบาลโดยการหนุนของอำนาจนอกระบบ สั่งฆ่าประชาชน ฯลฯ แทนที่สื่อ นักวิชาการ หรือกระแสสังคมจะสนใจตรวจสอบให้ชัดแจ้งว่า ข้อกล่าวหานั้นๆ จริงหรือไม่ หลายๆ ครั้งกระแสตีกลับไปที่ฝ่ายกล่าวหาทำนองว่าจ้องจับผิด หาเรื่อง ใส่ร้าย เป็นเกมการเมือง ฯลฯ แล้วสังคมนี้ก็ปล่อยให้ข้อกล่าวหานั้นๆ คลุมเครืออยู่ระยะหนึ่ง แล้วก็ลืมๆ กันไปในที่สุด
คำตอบกว้างๆ คือ เพราะคนไทยส่วนใหญ่เป็นชาวพุทธ และชาวพุทธถูกปลูกฝังให้เชื่อว่า “คนดี” คือผู้ปฏิบัติธรรม และ “ธรรม” หมายถึงอะไรบางอย่างที่เป็น “ของศักดิ์สิทธิ์” หรือธรรมนั้นมี “ธรรมานุภาพ” มหาศาล เช่น ธรรมย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม และดลบันดาลให้เกิดสิ่งดีๆ ในชีวิต ในการงาน การครอบครัว การเมือง การธรรม การโลก การจักรวาล สารพัดการ
เมื่อธรรมเป็นของศักดิ์สิทธิ์ มีมหิทธานุภาพสุดพรรณนา คนดี หรือผู้ปฏิบัติธรรมจึงกลายเป็น “บุคคลศักดิ์สิทธิ์” ไปด้วย ศักดิ์สิทธิ์น้อย-มากเป็นไปตามลำดับความต่ำ-สูงของธรรมที่ปฏิบัติ หรือธรรมที่บรรลุ
ฉะนั้น บุคคลที่สังคมนี้ยกย่องว่า “มีคุณธรรมสูงส่ง” จึงต้องเป็นบุคคลศักดิ์สิทธิ์ อยู่เหนือการตั้งคำถามวิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบอย่างสิ้นเชิง ดังที่เคยมีศิษย์วัดใหญ่แห่งหนึ่งเล่าผ่านรายการทีวีว่า ในสำนักแห่งนี้เราถูกสอนให้มีศรัทธาอย่างแน่วแน่ต่อท่านเจ้าอาวาส กระทั่งในยามที่ท่านเจ้าอาวาสอยู่ในห้องสองต่อสองกับสีกาที่ท่านเลือกแล้ว ว่า มีพื้นฐานทางจิตและปัญญาเหมาะแก่ “การถ่ายทอดธรรมขั้นพิเศษ” เหล่าบรรดาศิษยานุศิษย์ไม่กล้าแม้แต่จะคิดสงสัยใดๆ ใน “ความบริสุทธิ์” ของท่านเจ้าอาวาส เพราะการสงสัยต่อบุคคลศักดิ์สิทธิ์เช่นนั้นถือเป็น “บาปทางใจ” ที่พึงระวังไม่ให้เกิดขึ้นโดยเด็ดขาด
ในทำนองเดี่ยวกัน กษัตริย์ผู้ทรงทศพิธราชธรรมในระบอบสมบูรณาญาสิทธิ์ราชย์ ก็เป็นบุคคลศักดิ์สิทธิเหนือการตั้งข้อสงสัย เพราะการเกิดมาเป็นกษัตริย์เป็นผลของการบำเพ็ญบุญบารมีมามาก กษัตริย์จึงมีบุญญาธิการ มีอำนาจ มีความยิ่งใหญ่บนฐานของ “บุญบารมี” หรือคุณความดีอันศักดิ์สิทธิ์ทั้งที่เคยทำมาแล้วในอดีตชาติ และที่สั่งสมพระราชกุศลต่างๆ ในชาตินี้
คติความเชื่อที่ว่า “พระ” และ “เจ้า” ผู้ทรงธรรมคือบุคคลศักดิ์สิทธิ์ ถูกขยายมาถึงคนทั่วๆ ไปด้วยโดยปริยาย เช่นว่า เมื่อเราเข้าวัดปฏิบัติธรรม เรามักจะรู้สึกว่าเราได้ “บุญ” ซึ่งหมายถึงได้อะไรบางอย่างที่มีอานุภาพศักดิ์สิทธิ์ปกป้องคุ้มครองเรา ดลบันดาลให้เกิดสิริมงคล โชคลาภ ความสุขความเจริญแก่ตัวเรา หรือโดยรวมๆ แล้วการปฏิบัติธรรมจะทำให้เรารู้สึกว่า เราเป็นคนดีกว่าคนทั่วๆ ไป ที่ไม่ปฏิบัติธรรมเหมือนเรา ซึ่งหมายความว่าธรรมะหรือบุญที่ศักดิ์สิทธิ์นั้นๆ ทำให้เราเป็นบุคคลศักดิ์สิทธิ์เหนือคนอื่นๆ ขึ้นมาแล้ว (อย่างน้อยก็ในความรู้สึกของเราที่มักดูแคลนคนที่ไม่รู้ธรรม ไม่ปฏิบัติธรรมเหมือนเรา)
พึงตั้งของสังเกตไว้ว่า สิ่งที่เรียกว่าความดี หรือธรรม หรือบุญนั้น ไม่เกี่ยวอะไรกับเรื่องสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค ความเป็นธรรมทางสังคมเลย ฉะนั้น ชาวพุทธจึงไม่ใคร่ที่จะยกย่องการต่อสู้เพื่อสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค ความเป็นธรรม ว่าเป็นการทำความดี หรือเป็นการปฏิบัติธรรม นอกจากจะไม่ถือว่าเป็นการทำความดีหรือเป็นการปฏิบัติธรรมแล้ว ยังมองว่าหากการต่อสู้ในเรื่องดังกล่าวกระทบต่อสถานะอันศักดิ์สิทธิ์ของ “บุคคลศักดิ์สิทธิ์” (เช่น การรณรงค์ยกเลิก ม.112) ยิ่งเป็นเรื่อง “ผิดบาป” ไม่ควรกระทำอย่างยิ่ง
ฉะนั้น ธรรมที่ควรปกป้องจึงหมายถึงธรรมในทางศาสนาเท่านั้น ดังเช่นบรรดาชาวพุทธผู้เคร่งครัดพยายามรณรงค์ตลอดมาว่า การต่อต้านหวยบนดิน บ่อนถูกกฎหมาย กฎหมายอนุญาตการทำแท้ง หรือการปกป้องสถาบันชาติ ศาสน์ กษัตริย์ (แม้แต่ปกป้องจากการเรียกร้องให้แก้ไขกติกาเกี่ยวกับสถานะ อำนาจ บทบาทของกษัตริย์ให้สอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตยมากขึ้น) หรือการรณรงค์ให้งดเหล้าเข้าพรรษา ห้ามขายเหล้าวันพระ เป็นต้น เป็นการทำความดี เป็นการปฏิบัติธรรม เป็นเรื่องที่ได้บุญกุศลมหาศาล ขณะที่ไม่มองการต่อสู้เพื่อสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค ความเป็นธรรมว่าเป็นการ “ทำความดี” หรือการปฏิบัติธรรมที่ควรสนับสนุนยกย่อง
ผมคิดว่า สิ่งสำคัญยิ่งอย่างหนึ่งที่พระตถาคตศาสดาของชาวพุทธพยายามต่อสู้คือ การต่อสู้เพื่อเปลี่ยนนิยามของคำว่า “ธรรมะ” ในความหมายว่าเป็น “ของศักดิ์สิทธิ์” ที่ผูกโยงอยู่กับอำนาจเหนือธรรมชาติเช่นพระพรหมผู้สร้างโลก ให้ธรรมะมีความหมายเป็น “ของธรรมดา” ที่ผกโยงอยู่กับความเป็นจริงของธรรมชาติและของกฎธรรมชาติ การเข้าใจธรรมะคือการเข้าใจธรรมชาติหรือกฎเกณฑ์ของสิ่ง/ตัวเรา/เรื่องราว/ เหตุการณ์/สังคม ฯลฯ ซึ่งไม่เกี่ยวใดๆ กับการเป็นผู้วิเศษเหนือมนุษย์
เมื่อตถาคตสอนอริยสัจสี่ สาระคือการสอนให้เราทำความเข้าใจความจริง และให้แก้ปัญหาต่างๆ บนพื้นฐานของการเข้าใจความจริงในเรื่องนั้นๆ สิ่งที่เรียกว่า “ศีลธรรม” ก็คือสิ่งที่เอื้อต่อการมีชีวิตที่มีคุณค่าของเราในฐานะที่เป็นมนุษย์ และหากเป็นความจริงว่าในยุคสมัยของเรา สิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค และความเป็นธรรมคือสิ่งที่เอื้อต่อการมีชีวิตที่ดีในฐานะที่เป็นมนุษย์ ตถาคตคงแปลกใจเป็นอย่างยิ่งว่า เหตุใดชาวพุทธไทยจึงไม่รักที่จะต่อสู้เพื่อให้เกิดสิ่งที่ดีเหล่านี้ขึ้นใน สังคม
และคงแปลกใจว่า ทำไมชาวพุทธไทยปัจจุบันจึงใช้ข้ออ้างเรื่อง “ศีลธรรมส่วนตัว” (individual morality) มาเป็นเหตุผลให้ออก “กฎของสังคม” คือเป็นกฎหมายที่บังคับให้ทุกคนต้องปฏิบัติโดยไม่พิจารณาเหตุผล และความจำเป็นด้านอื่นๆ เช่น เรื่องดื่มเหล้าวันพระ ไม่วันพระ เรื่องการพนัน สิทธิในการทำแท้ง ฯลฯ แต่กลับไม่เห็นความสำคัญของการต่อสู้ที่อ้างอิง “ศีลธรรมเชิงสังคม” (social morality) เช่น สิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค ความยุติธรรม เพื่อออกกฎของสังคมให้ทุกคนปฏิบัติอย่างเท่าเทียม
นี่มันหมายความว่า ชาวพุทธไทยที่มักอ้างคำสอนตถาคต กลายเป็นเป็น “คนแปลกหน้า” สำหรับตถาคตไปแล้ว!