สมภาร พรมทา เคยกล่าวบนเวทีอภิปรายเดียวกันกับ พระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี (ว.วชิรเมธี) คราวหนึ่งว่า
ผมเคยอ่านบทสัมภาษณ์ของพระมหาวุฒิชัยครั้งหนึ่ง เมื่อมีผู้ถามว่าท่านเป็นพระหนุ่มท่านรู้สึกอย่างไรกับความรู้สึกทาง กามารมณ์ ดูเหมือนท่านจะตอบว่า “อย่าไปคิดถึงมัน ทุกอย่างก็จบ” ความรู้สึกทางกามารมณ์นั้นชีววิทยาถือว่าเป็นกลไกหนึ่งในการสืบเผ่าพันธุ์ ธรรมชาติสร้างสิ่งนี้ให้เราโดยไม่ได้ขอ นอกจากไม่ได้ขอแล้วยังปฏิเสธไม่ได้ด้วย มันฝังอยู่ในเราทุกคน เวลาที่คนคนนั้นไปสวมจีวรพระ สิ่งนี้ก็ยังฝังอยู่ ผมคิดว่าถ้าเราสนใจชีววิทยา เราจะทราบว่าไม่ง่ายที่จะเอาชนะมัน [1]
สัญชาตญาณทางกามารมณ์เป็นปัญหาใหญ่สำหรับพระสงฆ์สายเถรวาท (หรือนักบวชทุกศาสนาที่ห้ามเรื่องเพศสัมพันธ์) ที่มองกามารมณ์ด้วยทัศนะแบบประเมินค่าทางศีลธรรมว่า เป็นกิเลสตัณหา เป็นอกุศลธรรมที่พึงละหรือต้องเอาชนะให้ได้จึงจะเป็นผู้บริสุทธิ์หลุดพ้น กามารมณ์ที่ตรงข้ามกับ “ความบริสุทธิ์” จึงหมายถึง “ของสกปรก” ที่ไม่พึงแม้แต่จะคิดถึงมัน
แต่ในทางชีววิทยา สัญชาตญาณทางกามารมณ์ (การมีเซ็กซ์เป็นเพียงเสี้ยวหนึ่งของการแสดงออกของสัญชาตญาณนี้) เป็นข้อเท็จจริงทางธรรมชาติของสิ่งมีชีวิตที่ถูกโปรแกรมเอาไว้แล้วในยีนหรือ ดีเอ็นเอของเรา ข้อเท็จจริงทางธรรมชาตินี้ไม่มีค่าเป็นบวกหรือลบ หรือไม่ได้มีความหมายดี-ชั่วทางศีลธรรมในตัวของมันเอง การตอบสนองทางกามารมณ์ก็เป็นไปตามกลไกทางธรรมชาติของร่างกายไม่ต่างอะไรกับ การกินอาหาร การกินอาหารจะมีความหมายว่าไม่ดีในทางศีลธรรม ก็ต่อเมื่อคุณไปขโมยเขากิน หรือการกินของคุณไปสร้างความเดือดร้อนแก่คนอื่นเป็นต้น การตอบสนองทางกามารมณ์ก็เช่นกัน มันจะมีความหมายว่าไม่ดีทางศีลธรรม ก็ต่อเมื่อไปล่วงละเมิด หรือก่อปัญหาแก่ผู้อื่น เป็นต้น
ไม่ว่าเราจะคิดถึงมันหรือไม่ สัญชาตญาณทางกามารมณ์ในเนื้อตัวของเรามันก็ยังคงทำงานของมันอยู่อย่างเงียบ เชียบภายในจิตใต้สำนึกของเรา และมีพลังอำนาจเหนือชีวิตเรา ใครเคยอ่านงานของซิกมันด์ ฟรอยด์ คงจำกันได้ที่เขาบอกว่า ทารกดูดนม ดูดนิ้วมือ หรือเด็กเล่นอวัยวะเพศของตนเองก็เป็นอาการตอบสนองสัญชาตญาณทางเพศ ศิลปินที่สร้างงานศิลปะ หรือนักบวชที่เทศนาอุดมคติอันสูงส่งสวยงามทางศาสนาเป็นต้นนั้น ก็ล้วนแต่ถูกขับเคลื่อนด้วยแรงขับทางเพศทั้งสิ้น ในหนังสือ “ปมเขื่อง” ท่านพุทธทาสก็อธิบายว่าสัญชาตญาณดังกล่าวนี้ฝังลึกอยู่ในสัญชาตญาณพื้นฐาน ที่สุดของมนุษย์คือ “อหังการ” หรือความรู้สึกว่ามี “ตัวกู” ซึ่งมีอิทธิพลต่อพฤติกรรมต่างๆ ทั้งด้านบวกหรือลบของมนุษย์อย่างลึกซึ้ง
ในทางพุทธเถรวาท มีหลักฐานมากมายในวินัยปิฏกที่แสดงให้เห็นว่า ภิกษุพ่ายแพ้ต่อสัญชาตญาณทางกามารมณ์ เมื่อพระพุทธเจ้าห้ามภิกษุเสพเมถุน ภิกษุบางรูปก็หาทางออกด้วยการจับต้องกายหญิง เมื่อถูกห้ามจับต้องกายหญิง ภิกษุบางรูปก็ให้ภิกษุณีมายืนเปลือยกาย แล้วชักว่าว เมื่อมีวินัยห้ามทำเช่นนั้นอีก ภิกษุบางรูปก็บำบัดความต้องการทางเพศด้วยการข่มขืนศพ เสพเมถุนกับลิงตัวเมีย และยังมีเรื่องราวการบำบัดความต้องการทางกามารมณ์ของภิกษุทั้งทางปาก ทางช่องหู ซอกรักแร้ ทวารหนัก ฯลฯ ถูกบันทึกไว้อย่างวิจิตรพิสดารในอรรกถาวินัยปิฎก ซึ่งแสดงให้เห็นว่า พลังอำนาจของสัญชาตญาณทางกามารมณ์นั้นเอาชนะได้ยากเย็นแสนเข็ญเพียงใด
นอกจากนี้ในวินัยปิฎกยังมีข้อมูลบันทึกว่า “พระอรหันต์ถูกลักหลับ” เรื่องราวมีว่าพระอรหันต์รูปหนึ่งท่านนอนหลับอยู่ในกุฏิโดยเปิดประตูทิ้งไว้ ขณะหลับถูกลมรำเพยองคชาตของท่านจึงตึงตัว เมื่อสตรีสองสามคนเดินผ่านมาเห็นเข้า จึงจัดการลักหลับขึ้นคร่อมจนสำเร็จความใคร่ แถมก่อนจากยังชมว่า “หลวงพี่นี่สุดยอดจริงๆ” (คัมภีร์ว่าไว้ ได้ “ใจความ” ประมาณนี้จริงๆ) ท่านตื่นขึ้นมาเห็นคราบเปรอะอวัยวะเพศจึงไปถามพระพุทธเจ้าว่าต้องอาบัติหรือ ไม่ ได้รับคำตอบว่าบรรลุอรหันต์แล้วจิตไม่ยินดี ไม่ต้องอาบัติ และพระพุทธเจ้าก็เตือนให้ระมัดระวังว่าภิกษุจะนอนต้องปิดประตูลงกลอนให้ เรียบร้อย
ตัวอย่างนี้แสดงให้เห็นว่า แรงขับทางเพศเป็นกลไกตามธรรมชาติทางกายภาพ พระอรหันต์ที่จิตหลุดพ้นจากกิเลสก็มีธรรมชาติทางกายภาพเหมือนคนทั่วไป เช่นเมื่อหิวต้องกินอาหาร เมื่อเจ็บป่วยต้องกินยา พระพุทธเจ้าก็มีโรคประจำตัว คือโรคทางเดินอาหารอันเป็นผลจากการบำเพ็ญทุกกริกิริยามาอย่างหนัก ต้องให้หมอชีวกปรุงโอสถให้อยู่บ่อยๆ และเมื่อร่างกายหมดสภาพที่จะใช้งานได้ต่อไปก็ต้องตาย แต่พระอรหันต์ต่างจากปุถุชนตรงที่จิตท่านไม่ยินดี ยินร้าย ไม่เป็นทุกข์ไปตาม “อาการ” ของทุกข์ตามธรรมชาติทางกายภาพต่างๆ นั้น
ส่วนพุทธศาสนานิกายวัชรยาน และนิกายเซ็น มองสัญชาตญาณทางกามารมณ์เป็นเรื่องธรรมชาติไม่ได้มีความหมายดีชั้วในตัวมัน เอง ยอมรับว่ามันเป็นกลไกตามธรรมชาติของร่างกาย หากพระอรหันต์จะฝันเปียกก็ถือเป็นเรื่องปกติ ของที่เป็นธรรมชาติทางกายเราต้องเข้าใจมัน อยู่กับมันอย่างเป็นมิตร ในขณะเดียวกันก็เรียนรู้ที่จะแปรเปลี่ยนมันให้เป็นพลังสร้างสรรค์ เช่นเรียนรู้ความรักในสัญชาตญาณทางกามารมณ์ เรียนรู้ธรรมชาติความเป็นหญิงเป็นชาย ความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมผ่านกามารมณ์ แปรเปลี่ยนความรักแบบกามารมณ์ให้ประณีตงดงามเป็นสายใยความผูกพันระหว่างคู่ ชีวิต พ่อ แม่ ลูก ขยายออกไปเป็นความรักความเข้าใจในมิติที่ซับซ้อนของความเป็นมนุษย์ และมนุษยชาติ กระทั่งเรียนรู้การบรรลุนิพพานผ่านความเข้าใจกระจ่างแจ้งในสัญชาตญาณทาง กามารมณ์จนถึงจุดที่จิตหลุดพ้นจากอำนาจบงการของสัญชาตญาณดังกล่าวนั้น
หากมองตามทฤษฎีของฟรอยด์ การเก็บกดแรงขับทางเพศ มันเหมือนกับการบีบลูกโป่งพอเราบีบด้านหนึ่งมันจะโป่งอีกด้านหนึ่ง ส.ศิวรักษ์ เคยตั้งข้อสังเกตว่าพระสงฆ์เถรวาทไทยเก็บกดความต้องการทางเพศเอาไว้จึงทำให้ ไปโป่งด้านโลภะ และโทสะ หรือความต้องการอำนาจยศถาบรรดาศักดิ์ ตอนผมเป็นสามเณรผมสงสัยว่าทำไมห้องชั้นบนของกุฏิหลวงพ่อซึ่งเป็นพระผู้ใหญ่ จึงอัดแน่นไปด้วยเครื่องสังฆทาน กล่องมาม่า ปลากระป๋อง จีวร บริขารต่างๆ รกรุงรังเต็มไปหมด ทำไมท่านไม่ยอมแจกจ่ายสิ่งของส่วนเกินเหล่านี้แก่พระ เณร ศิษย์วัดที่ขาดแคลน ส่วนเรื่องเจ้ายศเจ้าอย่าง การวิ่งเต้นเรื่องสมณศักดิ์ จัดงานฉลองยศ แฮปปี้เบิร์ธเดย์ของพระผู้ใหญ่เป็นต้น ก็เป็นที่นิยมกันอย่างแพร่หลาย
เป็นไปได้ว่าความโป่งทางสัญชาตญาณต้องการอำนาจนี่เองที่เป็นแรงขับใน การเผยแพร่ “ศีลธรรมเชิงอำนาจ” คือภาษา วาทกรรมทางศีลธรรมแบบโบยตี ข่มขู่ กด ข่ม เพื่อเรียกร้องความเชื่อฟัง ศรัทธา สยบยอมเพื่อปกป้องความศักดิ์สิทธิ์ ความเป็นสัจธรรมของศาสนา และสถานะอันน่าศรัทธาหรือความเป็นผู้ทรงอำนาจในการตัดสินถูกผิดทางศีลธรรมใน นามของปราชญ์หรืออภิมนุษย์ก็ตาม เช่น ศีลธรรมที่ขู่ด้วยบุญ บาป นรก สวรรค์ การอวดศาสนาตนเองว่ามีสัจธรรมสูงส่งเหนือศาสนา และ/หรือองความรู้ ภูมิปัญญาใดๆ ในโลก การเรียกร้องการละกิเลสตรงๆ ทื่อๆ กระทั่งเรียกร้องให้ละตัวกูของกูในการต่อสู้ทางสังคมการเมือง ฉะนั้น ศีลธรรมเชิงอำนาจแบบโปรโมทความสูงส่งพร้อมสำทับด้วยการข่มขู่กลายๆ ไปด้วยเสมอ เช่นนี้จึงเป็นศีลธรรมที่แข็งทื่อ ไร้พลังดึงดูดความเชื่อถือของมนุษย์ในโลกเสรีที่คิดเป็น ต้องการเหตุผล และมีความนับถือตนเองสูง
โปรดสังเกตนะครับว่า เมื่อพระพุทธเจ้าพูดถึงเรื่อง “ศีลธรรมทางสังคมการเมือง” ท่านไม่ได้พูดเรื่องการละตัวกู ไม่ว่าจะเป็นทศพิธราชธรรม จักรวรรดิวัตร วัชชีธรรม หรืออปริหานิยธรรม ไม่มีข้อใดเรียกร้องให้ละตัวกูของกู มีแต่เรื่องของบทบาทหน้าที่และกติกาในการอยู่ร่วมกัน ทั้งนี้เพราะพระองค์เห็นว่า ธรรมชาติหรือความเป็นจริงของ “ชีวิตทางสังคมการเมือง” เป็นเรื่องของ “สมมติบัญญัติ” หรือเรื่องของข้อตกลงทางสังคมที่สมาชิกของสังคมจำเป็นต้องถูกนับว่ามี “ตัวตน” รองรับการมีสิทธิ อำนาจ บทบาท หน้าที่ ข้อผูกพันต่อกันและกัน และต่อรัฐ
ฉะนั้น ข้อเรียกร้องเรื่องการละตัวกู ของกูในทางสังคมการเมืองจึงเป็นเรื่องไร้เหตุผลรองรับ พระพุทธองค์จึงพูดถึงเรื่องการละตัวกูของกูเฉพาะเมื่อพูดถึงเรื่องที่เกี่ยว โดยตรงกับการตรัสรู้ของปัจเจกบุคคล เช่นในอริยสัจสี่เป็นต้น การละตัวกูของกูจึงเป็นจริยธรรมเชิงปัจเจกที่ปัจเจกแต่ละคนเท่านั้นควรจะ เรียกร้อง (Requirement) กับตนเอง (หากเขาต้องการพ้นทุกข์ทางจิตใจ)
แต่เมื่อเราอ่านงานทางวัชรยานและเซ็นที่แรงขับทางศีลธรรมไม่ได้เกิดจาก ความเก็บกดสัญชาตญาณทางกามารมณ์ เราจะไม่พบ “ศีลธรรมเชิงอำนาจ” หรือการโอ้อวดตนเอง แต่จะเห็นลักษณะเชิงวิพากษ์อย่างเสรี ทว่าเป็นมิตร เรียนรู้จากภูมิปัญญาที่หลากหลายถึงขนาดกล้าพูดว่า “พุทธธรรมคือทุกสิ่งที่ไม่ใช่พุทธธรรม” ในขณะที่เน้นไปสู่การเกิดปัญญาและกรุณา การตรัสรู้หรือมีสติรู้เท่าทันความจริงของโลกและชีวิตตามที่มันเป็น ฉะนั้น ศีลธรรมบนฐานของความเข้าใจ เป็นมิตร และแปรเลี่ยนพลังสัญชาตญาณทางกามารมณ์อย่างเหมาะสมและสร้างสรรค์ จึงมีชีวิตชีวามีพลังกระตุ้นความรู้สึก จินตนาการ และการเกิดปัญญาและกรุณาที่หมายถึงความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง และความอ่อนโยนต่อความเป็นไปโลกและชีวิต
ที่ว่ามาเสียยืดยาวนี้เพื่ออธิบายให้เห็นเหตุผลที่ซับซ้อน ที่ผมต้องการใช้อ้างอิงในการตั้งข้อสังเกตต่อ “แนวคิด” (concept) ของพระมหาวุฒิชัยที่เปิด “หลักสูตรอบรมความเป็นชายแก่สามเณร อายุระหว่าง 11-18 ปี” [2] เพื่อแก้ปัญหาที่ปัจจุบันมีสารเณรเบี่ยงเบนทางเพศเป็นกะเทยมากขึ้น และ “หลักสูตรอบรมสมบัติผู้ดีแก่สามเณร” [3] เพื่อให้สามเณรมีบุคลิกภาพดี มีกิริยามารยาทแบบ “สมบัติผู้ดี” สมกับเป็นผู้นำทางปัญญา ทางจิตใจ อันจะยังความศรัทธาเลื่อมใสแก่คนทั่วไป
ที่ไม่เห็นด้วยกับหลักสูตรแรก เพราะเห็นว่าแนวคิดดังกล่าวกำลังเข้าไปรุกล้ำแทรกแซงอำนาจของธรรมชาติทาง ชีวภาพ เพราะเมื่อสัญชาตญาณทางกามารมณ์มันเป็นข้อเท็จจริงทางชีววิทยาที่ฝังอยู่ใน ยีนหรือดีเอ็นเอของเรา “ความเป็นเพศ” ตามธรรมชาติทางกายภาพและความสำนึกรู้ของบุคคล ก็เป็นข้อเท็จจริงทางชีวภาพที่เราไม่ได้เลือกเช่นกัน เหมือนเราเกิดมาหน้าตาแบบนี้เราไม่ได้เลือก ธรรมชาติหรือกฎธรรมชาติเลือกให้เรา เพศก็เป็นสิ่งที่ธรรมชาติเลือกให้เรา สิ่งที่เราเลือกไม่ได้มันไม่ได้มีความหมายว่าดีหรือชั่ว ผิดหรือถูกในตัวของมันเอง เราจึงควรยอมรับ มีเสรีที่จะอยู่กับสิ่งที่เราเป็น และใช้สิ่งที่เราเป็นที่ธรรมชาติเลือกให้เราอย่างเต็มตามศักยภาพของสิ่งนั้น อย่างมีศักดิ์ศรี และอย่างเท่าเทียมในฐานะที่เป็นมนุษย์เหมือนกันไม่ว่าเราจะเป็นเพศไหนๆ ก็ตาม
ไม่ว่าคุณจะเป็นเพศหญิง ชาย เพศที่สามที่สี่ แต่ตามข้อเท็จจริงทางชีววิทยาเพศที่คุณเป็นก็คือสิ่งที่คุณไม่ได้เลือกเสมอ เหมือนกัน ความเป็นมนุษย์ของทุกเพศจึงมีอย่างเท่าเทียมกัน เราจึงควรจะมีสิทธิ เสรีภาพ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ในการมีชีวิตอยู่ในสังคมอย่างเท่าเทียมกัน ฉะนั้น การอบรมความเป็นชายแก่ผู้ที่มีธรรมชาติเป็นเพศที่สามจึงเป็นการใช้ศีลธรรม เชิงอำนาจ (ศีลธรรมที่อิงความเป็นใหญ่ของเพศชาย) เข้าไปแทรกแซงธรรมชาติที่มีอำนาจยิ่งใหญ่กว่ามนุษย์มาก ซึ่งในที่สุดแล้วอาจก่อผลเสียหายต่อสภาพจิตใจและบุคลิกภาพของผู้ที่ถูกอบรม โดยตรงด้วย และไปส่งเสริมค่านิยมผู้ชายเป็นใหญ่ ส่งเสริมความไม่เท่าเทียมทางเพศซึ่งลึกๆ หมายถึงความไม่เท่าเทียมในความเป็นมนุษย์
ส่วนที่ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดในการจัดหลักสูตรที่สอง เพราะฐานคิดเรื่อง “สมบัติผู้ดี” ไม่ใช่ฐานคิดเดียวกับที่พระพุทธเจ้าบัญญัติหลัก “เสขิยวัตร” พระมหาวุฒิชัยอ้างถึงการใช้หลักเสขิยวัตรตามที่พระพุทธเจ้าบัญญัติเป็นองค์ ความรู้สำหรับฝึกอบรมกิริยามารยาทของสามเณรนั้นถูกต้อง แต่อย่าลืมว่าพระพุทธเจ้าไม่ได้กำหนดหลักเสขิยวัตรขึ้นบนฐานคิดเรื่อง “สมบัติผู้ดี” ที่มีความหมายตรงข้ามกับ “สมบัติไพร่” ในวัฒนธรรมอำนาจนิยมของไทยนั้น เรารู้กิริยามารยาทของ “ผู้ดี” ได้เมื่อเปรียบเทียบเทียบกับกิริยาเยี่ยง “ไพร่” และผู้ดีในสังคมไทยนั้นก็ขึ้นกับชาติตระกูล หรือระบบชนชั้นแบบศักดินา ฉะนั้น ฐานคิดเรื่องสมบัติผู้ดีจึงเป็นฐานคิดของ “ศีลธรรมเชิงอำนาจ” ที่ปลูกฝังให้สยบยอมต่อคนชั้นสูง หรือชนชั้นปกครอง
แต่ฐานคิดของหลักเสขิยวัตร เป็นเรื่องกิริยามารยาทของสมณสารูปที่สงบเสงี่ยมเรียบร้อย เคารพตนเองและผู้อื่นโดยไม่ถือชั้นวรรณะ เมื่อจะอบรมเสขิยวัตรจึงไม่ควรใช้คำว่า “อบรมสมบัติผู้ดี” หรือสร้างกระบวนการอบรมบนฐานคิดของศีลธรรมเชิงอำนาจแบบ “สมบัติผู้ดี”
ผมเองไม่ได้สงสัยใน “เจตนาดี” ของผู้จัดหลักสูตรดังกล่าว แต่พุทธศาสนานั้นสอนเรื่องสัจจะหรือความจริง การดับทุกข์หรือแก้ปัญญาใดๆ จำเป็นต้องรู้ความจริงของทุกข์หรือปัญหานั้นๆ อย่างชัดแจ้ง ความรู้ทางวิทยาศาสตร์เช่นชีววิทยาเป็นต้น ถือว่าให้ความจริงที่ก้าวหน้าที่ชาวพุทธสามารถนำมาใช้ในการทำความเข้าใจ ธรรมชาติของชีวิตในมิติต่างๆ ได้ดี เพื่อแก้ปัญหาได้อย่างเหมาะสม ในขณะเดียวกันความจริงหรือคุณค่าทางสังคมการเมือง เช่น เสรีภาพ ความเท่าเทียม ความเป็นธรรม ก็เป็นสิ่งที่ชาวพุทธต้องทำความเข้าใจและคำนึงถึงอย่างยิ่งด้วยเช่นกันในการ แสดงท่าที ทัศนะ หรือบทบาททางสังคม และกิจกรรมทางศีลธรรมใดๆ ที่เป็นการพัฒนาความเป็นมนุษย์ในบริบทของโลกตามเป็นจริง
ฉะนั้น การอบรมสามเณรกะเทยให้เป็นชาย หรืออบรมสารเณรชายให้เป็นชายเพราะเกรงว่าจะเบี่ยงเบนไปเป็นกะเทย และการอบรม “สมบัติผู้ดี” แก่สามเณร (ซึ่งส่วนใหญ่มีรากเหง้ามาจาชนชั้นรากหญ้า รวมทั้งพระมหาวุฒิชัยด้วย) หากไม่คิดละเอียดรอบคอบเพียงพอ อาจเป็นการใช้ ศีลธรรมเชิงอำนาจเข้าไปแทรกแซง/กดทับข้อเท็จจริงทางชีวภาพ และแทรกแซง/กดทับ ความภาคภูมิใจในกำพืดตนเอง ในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่ทุกคนพึงมีอย่างเท่าเทียม ไม่ว่าเขาจะเกิดมาเป็นเพศไหน และ/หรือมีสถานะทางสังคมเช่นไร
[1] สมภาร พรมทา.รากเหง้าเราคือทุกข์.สำนักพิมพ์วารสารปัญญา.หน้า 230.(ดาวน์โหลดฟรีในวารสารปัญญา วารสารออนไลน์)
[2] ข่าวสดรายวัน 24 กรกฎาคม 2554 ปีที่ 21 ฉบับที่ 7542 หน้า 29
[3] ข่าวสดรายวัน 9 สิงหาคม 2552 ปีที่ 19 ฉบับที่ 6828 หน้า 29