รายงานพิเศษ
เรืองวิทย์ เกษสุวรรณ / ยุกติ มุกดาวิจิตร / สมชาย ปรีชาศิลปกุล |
ประเด็นสำคัญคือการขยายและสร้างฐานมวลชนเพื่อเตรียมพร้อมในการเลือกตั้งครั้งหน้า หลังจากแพ้พ่ายในการเลือกตั้งครั้งนี้
แนว คิดการตั้งโรงเรียนดังกล่าว จึงถูกจับตามอง มากกว่า จะคล้ายคลึงกับโรงเรียนเสื้อแดงที่ทำมาก่อน และจะส่งผลให้เกิดการแบ่งกลุ่มแย่งมวลชนกันมากขึ้นหรือไม่
เรืองวิทย์ เกษสุวรรณ
อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏชัยภูมิ
แนวคิดการจัดตั้งโรงเรียนการเมืองของพรรคประชาธิปัตย์ที่เสนอมานั้น จะเป็นเพียงการย่ำซ้ำรอยเดิมของโรงเรียนนปช. ที่เคยมีมาแล้ว
การ จัดตั้งโรงเรียนดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงการทำงานการเมืองแบบไม่จริงใจ หวัง เพียงการสร้างฐานเสียงของพรรคแบบเอามัน มีมวลชนมากเข้าไว้ แต่ไม่ได้คำนึงถึงประโยชน์ที่ประเทศชาติหรือประชาชนเองจะได้รับ หวังเพียง ให้พรรคและตัวเองได้ประโยชน์มากที่สุดเท่านั้น
สิ่งที่พรรคประชา ธิปัตย์ควรทำมากกว่าการตั้งโรงเรียน คือการแก้ไขจุดอ่อนที่ทำให้แพ้การเลือกตั้ง เนื่องจากพรรคประชาธิปัตย์ไม่เคยมีนโยบายหรือแนวคิดใดที่จะทำการเมืองเพื่อ คนจนที่เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศอย่างแท้จริง
อาจเป็นเพราะคนในพรรคมีอยู่ 2 ประเภทคือ 1.พวกนักเรียนนอก ที่ไม่เคยรับรู้ถึงความรู้สึกของคนจน 2.คนที่เคยจนเท่านั้น จึงไม่มีใครพูดถึงนโยบายเพื่อแก้ปัญหาให้คนจนอย่างจริงจัง เป็นผลให้ฐานเสียงของพรรคประชาธิปัตย์ในภาคอีสานและภาคเหนือมีไม่มาก เพราะนโยบายต่างๆ ที่ประชาธิปัตย์เสนอนั้นเข้าไม่ถึงประชาชนส่วนใหญ่ ซึ่งคนในภาคอีสาน ส่วนใหญ่เป็นคนจน ไม่เคยมีภาครัฐหรือใครสนใจเข้ามาดูแลปัญหา โดยเฉพาะความยากลำบาก การขาดแคลนน้ำ และที่ดินทำกิน
แต่ถ้าพรรคประชาธิปัตย์มีความ จริงใจหวังดีกับประชาชนจริง ต้องมีแนวทางแก้ปัญหาของประชาชนที่ชัดเจน เพราะคนที่ได้รับความเดือดร้อนแต่ไม่เคยได้รับการแก้ไข หรือการเหลียวแลจากรัฐ เขาต้องการแค่รัฐบาลที่จะมาช่วยแก้ปัญหาเฉพาะหน้าต่างๆ ทั้งเรื่องความแห้งแล้ง ที่ดินทำกิน หรือบริการต่างๆ จากภาครัฐ ไม่ใช่การเรียนรู้ประชาธิปไตย หรือการฝึกอาชีพ
หากพรรคประชาธิปัตย์ ต้องการได้คะแนนเสียงจากกลุ่มเหล่านี้ ต้องมีการจัดตั้งมูลนิธิต่างๆ เพื่อแก้ปัญหาความยากจนอย่างแท้จริง และต้องลงพื้นที่ดูว่าประชาชนมีความเดือดร้อนจากเรื่องอะไรบ้าง เช่น เป็นคนไทยแต่ทำไมไม่มีบัตรประชาชน ทำไมชาวบ้านจึงรุกที่ป่า ถ้าเข้าไปดูแล้วจะเข้าใจปัญหาต่างๆ และจะแก้ปัญหาได้อย่างถูกต้อง ส่งผลให้การเลือกตั้งครั้งหน้า พรรคประชาธิปัตย์จะกลับมาลุ้นจัดตั้งรัฐบาลได้
นอกจากนี้ สิ่งที่พรรคประชาธิปัตย์ควรทำ คือจะต้องมีนโยบายใหญ่ ที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยน แปลงประเทศ ถึงแม้นโยบายนั้นจะไม่ทำให้เกิดขึ้นในทันที แต่อาจจะค่อยๆ เปลี่ยนแปลงไปทีละน้อย ทั้งเรื่องความเสมอภาคของคน การผลักดันนโยบายใหม่ๆ ที่คนจนส่วนใหญ่ต้องการ แต่จะต้องเป็นนโยบายที่จับต้องได้ เกิดขึ้นได้จริง
ส่วนที่โรงเรียนการเมืองของพรรคประชาธิปัตย์ จะมุ่งเน้นสร้างมวลชนหรือการรวมกลุ่มกันของประชาชน ถือเป็นเรื่องที่ดีในระบอบประชาธิปไตย แต่ควรเป็นการรวมกลุ่มในรูปแบบจากข้างล่างขึ้นข้างบน ไม่ใช่ให้คนข้างบนเดินเกมสร้างมวลชนขึ้นมา เพื่อหวังประโยชน์ของตัวเอง เพราะนั่นเป็นการใช้กลยุทธ์ทางการเมืองมากกว่าการแก้ปัญหาความขัดแย้งของ กลุ่มต่างๆ
ดังนั้น การตั้งมวลชนจะต้องคำนึงถึงประโยชน์ ของคนหมู่มาก มากกว่าการจัดตั้งเพื่อให้มีการ แบ่งฝ่ายกันมากขึ้น ควรหาแนวทางสลายกลุ่ม และ พัฒนาประเทศไปด้วยกัน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
การ ที่พรรคประชาธิปัตย์จะตั้งโรงเรียนการ เมืองไม่ใช่สิ่งน่ากลัว เพราะกฎหมายก็มีอยู่ถ้าทำผิดก็ต้อง ว่ากันไปตามกฎหมาย ขนาดคนเสื้อแดงยังทำได้ ถ้าพรรคประชาธิปัตย์จะทำก็ไม่เห็นเป็นอะไร เป็นเรื่องดีด้วยซ้ำ คนจะได้เรียนรู้กันไปกับการเมือง
ทุกวันนี้ ในโรงเรียนก็มีการโฆษณาชวนเชื่อตลอดเวลาอยู่แล้ว ถ้าจะเพิ่มมาอีกสักกลุ่มก็ไม่เห็นจะเป็นอะไร ดีเสียอีกคนจะได้มีทางเลือกเยอะขึ้น ส่วนเขาจะเลือกหรือไม่นั้น ประชาชนทุกวันนี้ตัดสินได้เองอยู่แล้ว หรือถ้าจะมีทีวีประชาธิปัตย์ขึ้นมาอีกก็ยิ่งดี รัฐควรส่งเสริมด้วยซ้ำ ประชาชนจะได้มีทางเลือกที่หลากหลาย
ที่น่าสังเกตคือ ทำไมพรรคประชาธิปัตย์คิดแค่จะทำตามสิ่งที่ใครก็ทำกันมาแล้ว ถ้าคิดว่าทำแค่นี้แล้วจะประสบความสำเร็จ อาจจะง่ายเกินไป พรรคประชาธิปัตย์ต้องทำอะไรมากกว่านี้ ทำอะไรที่ตัวเองถนัดจริงๆ ดีกว่า
ที่ ผ่านมาโรงเรียนการเมืองของคนเสื้อแดงเกิดขึ้นมาได้ เพราะเขามีฐานมวลชนของเขาอยู่ แต่พรรคประชาธิปัตย์จะทำได้แค่ไหน จะทำได้ในขอบเขตที่กว้างขวางเท่ากันหรือไม่
พรรคประชาธิปัตย์ เข้าใจหรือไม่ว่าการเกิดขึ้นของสื่อทีวี สื่อออนไลน์ วิทยุชุมชน มีธรรมชาติอย่างไร ทำไมไม่คิดหาสื่อในรูปแบบของตัวเอง
อาจารย์สุดา รังกุพันธ์ เคยวิเคราะห์ไว้ว่า พรรคประชาธิปัตย์ใช้โซเชี่ยลเน็ตเวิร์กแล้วประสบผลสำเร็จ ถ้าจะขยายมวลชน พรรคประชาธิปัตย์ต้องศึกษามวลชนของตัวเองให้ดี ต้องรู้ว่าคนแบบไหนฟังสื่อแบบไหน ต้องเข้าใจว่าจะแทรกไปที่ไหนได้ ซึ่งก่อนหน้านี้ พรรคประชาธิปัตย์ก็มีวิธีของตัวเอง เช่น ยุวชนประชาธิปัตย์ ซึ่งพรรคอื่นไม่มี และสร้างคนขึ้นมาได้พอสมควร
แต่ตอนนี้ไม่เข้าใจว่าทำไมต้องมาคิดมุขเหมือนที่คนอื่นทำไปแล้วอีก
สมชาย ปรีชาศิลปกุล
คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
เข้าใจว่าพรรคประชาธิปัตย์คงจะเอารูปแบบของโรงเรียนเสื้อแดง หรือหมู่บ้านเสื้อแดงมา
ความล้มเหลวของพรรคประชาธิปัตย์ไม่ใช่การไม่มีโรงเรียนการเมือง แต่เป็นเพราะพรรคประชาธิปัตย์มองสังคมไทยผิดพลาด
พรรค ประชาธิปัตย์ไม่ได้ล้มเหลวในเชิงยุทธวิธี แต่ล้มเหลวในทางยุทธศาสตร์ พูดอีกอย่างคือ ไม่รู้จักสังคมไทยดีพอ เมื่อเป็นแบบนี้ ต่อให้ตั้งโรงเรียนการเมืองขึ้นมา ก็จะมีแต่คนภาคใต้ไปร่วมเป็นหลัก ภาคอื่นๆ จะไม่มีใครไปเข้า โดยเฉพาะภาคเหนือ ภาคอีสาน
ที่กลัวกัน ว่าจะยิ่งเพิ่มความแตกแยกในสังคมนั้น ผมมองว่าการตั้งโรงเรียนการเมือง เป็นสิทธิ์ที่ทำได้อย่างเสรี แต่ต้องอยู่ภายใต้กรอบของกฎหมาย
การ ตั้งโรงเรียนการเมืองคงไม่สามารถสอนให้คนของแต่ละโรงเรียนไปตีหัวอีกฝ่ายได้ ยิ่งตั้งกันเยอะยิ่งดี แต่ทั้งหมดต้องอยู่ภายใต้กรอบว่า การตั้งโรงเรียนการเมืองต้องไม่ ใช่การปลุกปั่น ไม่ใช่การยุยง ให้ไปทำร้ายกัน
ส่วนที่มีข่าวมาก่อนหน้านี้ว่าอาจมีช่องทีวีประชาธิ ปัตย์นั้น ที่ผ่านมาพรรคประชาธิปัตย์ทำอะไรที่เป็นช่องทางสื่อสารกับคนเยอะมาก ก่อนหน้านี้ก็มีเว็บไซต์ออกมา แต่สิ่งที่พรรคประชาธิปัตย์ทำ มันไม่เข้าหูคน
พรรค ประชาธิปัตย์อาจคิดว่าตัวเองมีเครื่องมือน้อยเกินไป แท้จริงแล้วไม่มีกึ๋นพอที่จะอ่านสังคมไทย ไม่มีกึ๋นพอที่จะเข้าใจความเปลี่ยนแปลงของสังคมไทย และสื่อกับคนในสังคมที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วต่างหาก
ฉะนั้น ต่อให้มีทีวี มีโรงเรียนการเมือง หรืออะไรก็ตาม ถ้าพรรคประชาธิปัตย์ยังไม่ปรับทิศทาง ทีวีก็คงเป็นทีวีที่ไม่ค่อยมีคนดู โรงเรียนการเมืองก็คงหงอย