โดย สุรศักดิ์ อมรรัตนศักดิ์
(ที่มา หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับประจำวันที่ 1 สิงหาคม 2554)
รู้สึกผิดหวังกับการทำหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ชุดนี้จริงๆ ที่อุตส่าห์ลากยาวไม่ยอมรับรองผลการเลือกตั้งมานานถึง 25 วัน
ใช้ เวลาเนิ่นนานขนาดนี้ ประชาชนต่างคาดหวังว่าจะได้เห็นการแจกใบเหลือง ใบแดงไม่น้อยกว่าการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว แต่ในที่สุดประชาชนก็ต้องผิดหวังอีกตามเคย ทั้งนี้ เพราะไม่มีใบแดงให้เห็นเลยแม้แต่ใบเดียว ส่วนใบเหลืองก็มีให้เห็นพอเป็นพิธีแค่ 2 ใบ
การประชุมรับรองผลการเลือกตั้งของ กกต. เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2554 ทำได้แต่เพียงแขวนเดี่ยวนายจตุพร พรหมพันธุ์ ผู้สมัครบัญชีรายชื่อของพรรคเพื่อไทย
ส่วนที่เหลือนอกนั้นก็ได้รับการรับรองครบถ้วน
ส่วน อีก 3 คนที่ยังไม่ได้ประกาศรับรองผลนั้นไม่ถือว่าถูกแขวน ทั้งนี้ เพราะ 1 คนที่ จ.ยะลา กกต.มีมติให้นับคะแนนใหม่ ส่วนอีก 2 คนที่ จ.หนองคาย และสุโขทัย กกต.ได้มีมติให้มีการเลือกตั้งใหม่ไปก่อนเป็นสัปดาห์แล้ว
กก ต.ใช้เวลานานถึง 25 วันแต่ทำได้เพียงเท่านี้ อย่างนี้สู้มิรับรองผลการเลือกตั้งว่าที่ ส.ส.ทุกคนไปตั้งแต่สัปดาห์แรกหลังการเลือกตั้งเลยจะมิดีกว่าหรือ ทำไมต้องปล่อยให้ประชาชนใจหายใจคว่ำมาร่วมเดือน อีกทั้งยังเสียค่าเบี้ยประชุม กกต.ไปอีกมิรู้เท่าไร
สิ่งที่ยังไม่ อาจเข้าใจได้อีกเรื่องหนึ่งก็คือ การแขวนเดี่ยวนายจตุพร ทั้งนี้ เพราะเท่าที่ฟังดูเหตุผลคร่าวๆ ที่สื่อมวลชนนำเสนอก็คือ นายจตุพรขาดคุณสมบัติกรณีการเป็นสมาชิกพรรค และนายจตุพรไม่ได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งเนื่องจากถูกจำคุก
หาก นายจตุพรขาดคุณสมบัติการเป็น ส.ส.จริง แล้วทำไมหลังจากปิดรับสมัครเลือกตั้งไปแล้ว 7 วัน กกต.จึงได้ประกาศรับรองคุณสมบัติของนายจตุพร ทั้งๆ ที่ กกต.ทุกคนก็รู้ว่านายจตุพรถูกคุมขังไม่สามารถไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้
หรือ กกต.จะอ้างว่าการรับรองคุณสมบัติของผู้สมัคร ส.ส.หลังปิดรับสมัครเลือกตั้ง 7 วันนั้นต้องกระทำอย่างเร่งรีบ เนื่องจากมีผู้สมัครเป็นจำนวนมาก อาจทำให้ขาดความรอบคอบไปบ้าง ก็เป็นเรื่องที่พอจะเข้าใจกันได้
แต่ทำไมกับกรณีของนายก่อแก้ว พิกุลทอง ที่เคยสมัครรับเลือกตั้งซ่อมในเขตบางกะปิ บึงกุ่ม แข่งกับนายพนิช วิกิตเศรษฐ์ กกต.จึงมีมติรับรองให้นายก่อแก้วมีคุณสมบัติลงสมัคร ส.ส.ได้ ทั้งๆ ที่มีผู้ร้องเกี่ยวกับคุณสมบัติของนายก่อแก้วกรณีถูกคุมขังเช่นเดียวกับที่ ร้องนายจตุพรในครั้งนี้ แต่ กกต.กลับพิจารณาเห็นว่านายก่อแก้วมีคุณสมบัติที่จะสมัครเป็น ส.ส.ได้ ซึ่งในครั้งนั้นจะอ้างว่าจะต้องเร่งรีบพิจารณาคุณสมบัติไม่ได้ เพราะมีผู้สมัครเพียงแค่ 2 คน
นายจตุพรมิได้มีคุณสมบัติอะไรแตกต่าง ไปจากนายก่อแก้วเลย ถูกคุมขังเหมือนกันไม่ได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งเหมือนกัน กกต.ที่พิจารณาคุณสมบัติก็ชุดเดียวกัน กฏหมายรัฐธรรมนูญก็ใช้ฉบับเดียวกัน แล้วทำไมในครั้งนั้น กกต.จึงพิจารณาว่านายก่อแก้วมีคุณสมบัติครบถ้วนที่จะสมัครเป็น ส.ส.ได้
หาก ผลการเลือกตั้งในวันนั้นออกมาว่านายก่อแก้วได้รับคะแนนสูงสุด นายก่อแก้วจะถูก กกต.แขวนฐานขาดคุณสมบัติหรือไม่ ซึ่งหาก กกต.ไม่ยอมรับรองผลการเลือกตั้งให้นายก่อแก้ว มิเท่ากับว่าในการเลือกตั้งครั้งนั้น กกต.หลอกให้นายก่อแก้วลงสมัครเล่นๆ และก็หลอกให้คนไทยออกไปเลือกตั้งกันเล่นๆ
หากเป็นเช่นนั้น จริง กกต.ก็จะต้องจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ซึ่งต้องเสียงบประมาณอีกไม่น้อยกว่า 30 ล้านบาท และทำให้ประชาชนต้องเสียเวลาทำมาหากินอีกรอบเพื่อออกมาเลือกตั้งใหม่ ในกรณีนี้ กกต.จะรับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้นอย่างไร
ทำงานกันแบบนี้จะถือว่า กกต.บกพร่องในการปฏิบัติหน้าที่ได้หรือไม่ แล้วท่านยังจะทนนั่งเป็น กกต.ต่อไปโดยไม่รู้สึกละอายใจบ้างเลยหรือ
ย้อน กลับมาดูกรณีของนายจตุพร หาก กกต.เห็นว่านายจตุพรขาดคุณสมบัติของการเป็น ส.ส.ก็ควรที่จะต้องแจ้งให้นายจตุพรทราบตั้งแต่ก่อนที่ผลการเลือกตั้งจะออกมา ทั้งนี้ เพื่อที่นายจตุพรจะได้มีสิทธิในการยื่นอุทธรณ์ต่อศาลเพื่อให้ศาลให้การคุ้ม ครองชั่วคราว
แต่ กกต.กลับปล่อยให้มีการเลือกตั้งไปจนเรียบร้อยแล้ว และนายจตุพรก็อยู่ในลำดับที่จะได้เป็น ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อของพรรคเพื่อไทย เหตุไฉน กกต.จึงเพิ่งจะเห็นว่านายจตุพรขาดคุณสมบัติการเป็น ส.ส.
ที่ พูดมานี้มิได้หมายความว่า กกต.ทั้ง 5 คนมีความเห็นเช่นนั้น อย่างน้อยก็มี กกต.กลุ่มหนึ่งที่เห็นว่านายจตุพรมีคุณสมบัติครบถ้วน สมควรที่จะรับรองการเป็น ส.ส.ให้นายจตุพร และหากจะยังมีคนสงสัยในเรื่องนี้ก็ให้ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาอีก ครั้ง
ผู้เขียนเห็นว่าความคิดเห็นของ กกต.เสียงข้างน้อยนี้น่ารับฟังเป็นอย่างยิ่ง เพราะไม่ส่งผลเสียหายต่อใครแต่ประการใด หากท้ายที่สุดศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่านายจตุพรขาดคุณสมบัติ ความเป็น ส.ส.ของนายจตุพรก็สิ้นสุดลงทันที โดยที่รัฐฯ ไม่จำเป็นต้องเสียงบประมาณเลือกตั้งใหม่เพราะจะเลื่อนผู้สมัครแบบบัญชีราย ชื่อพรรคเพื่อไทยในลำดับถัดไปขึ้นมาแทนที่นายจตุพร
เท่าที่เคยรับทราบมาในการพิจารณาตัดสินของผู้พิพากษานั้นมักจะยึดหลักการที่ว่า "ปล่อยคนผิดสิบคนดีกว่าลงโทษคนถูกเพียงคนเดียว" ทำไมกรณีของนายจตุพรจึงไม่นำหลักการนี้มาใช้บ้าง กกต.ชุดนี้ส่วนใหญ่ก็เคยเป็นผู้พิพากษามาเกือบทั้งสิ้น มียกเว้นเฉพาะนายวิสุทธิ์ โพธิแท่น เพียงคนเดียว
ดัง นั้น ในทรรศนะส่วนตัวจึงเห็นว่าควรจะต้องรับรองการเป็น ส.ส.ให้นายจตุพรไปก่อนเพราะนายจตุพรมิได้กระทำผิดในเรื่องการทุจริตซื้อ เสียง หรือการใส่ร้ายคู่แข่งให้เกิดความเข้าใจผิดในคะแนนเสียง เนื่องจากนายจตุพรอยู่ในคุก
นายจตุพรจึงไม่ควรถูกแขวนเพราะเหตุผลเนื่องมาจากการขาดคุณสมบัติ
กรณีการ ไม่ไปใช้สิทธิการเลือกตั้งของนายจตุพรก็มิได้เป็นเจตนาของนายจตุพรที่จะไม่ ไปเลือกตั้ง นายจตุพรมีความประสงค์ที่จะไปเลือกตั้ง เพียงแต่ศาลไม่อนุญาตให้ไปเท่านั้น
การไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งนั้น กฎหมายรัฐธรรมนูญก็มีข้อยกเว้นไว้ว่า ผู้ ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งจะไม่เสียสิทธิตามที่กฎหมายรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ หากการไม่ไปเลือกตั้งนั้นมีเหตุผลความจำเป็น เช่น เจ็บป่วย หรือไปต่างประเทศ
กรณีของนายจตุพรก็มีเหตุจำเป็นให้ไม่อาจ ไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้ เนื่องจากนายจตุพรถูกคุมขังโดยคำสั่งของศาล และหลังการเลือกตั้งนายจตุพรก็ได้ทำหนังสือแจ้งให้ กกต.ทราบแล้วถึงเหตุผลความจำเป็นที่ไม่อาจไปเลือกตั้งได้
ดังนั้น นายจตุพรจึงไม่สมควรอย่างยิ่งที่จะถูกแขวนในกรณีขาดคุณสมบัติ กกต.อย่าได้สร้างมาตรฐานเฉพาะบุคคลใดบุคคลหนึ่งขึ้นมาอีกเลย เพราะจะทำให้คนเข้าใจว่าที่มีการแขวนเดี่ยวนายจตุพรในครั้งนี้เป็นเพราะมีใบ สั่งมาจากใคร อำนาจนอกระบบหรือมือที่มองไม่เห็น ที่ผ่านมาประเทศเสียหายและบอบช้ำกับเรื่องนี้มามากแล้ว
ถึงเวลาแล้ว ที่ กกต.จะต้องทำให้ประชาชนเกิดความเชื่อมั่น และศรัทธาในองค์กรนี้ ในอดีต กกต.ก็เคยถูกตั้งคำถามถึงความเป็นกลางในหลายๆ เรื่อง ไม่ว่าจะเป็นการปล่อยให้คดียุบพรรคประชาธิปัตย์ขาดอายุความ ในขณะที่การยุบพรรคพลังประชาชน พรรคชาติไทย พรรคชาติพัฒนา กลับเร่งรีบดำเนินการไม่ปล่อยให้ขาดอายุความ
กกต.ควรต้องรีบทำในสิ่งที่ถูกต้อง เหมาะสมเถิดครับ ก่อนที่พวกท่านจะไม่มีโอกาสได้ทำอีกต่อไป