ส่งเสริมคนดีให้ได้ปกครองบ้านเมือง

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

Thursday, 25 August 2011

สุรพศ ทวีศักดิ์: เมื่อ ส.ศิวรักษ์ เป่ากระหม่อมให้พระ

ที่มา ประชาไท

ในบรรดาปัญญาชนชาวพุทธในบ้านเรา มีเพียง ส.ศิวรักษ์ เท่านั้นที่ยืนยันมิติทางสังคมของพุทธศาสนาอย่างหนักแน่น

“พระเสื้อแดง จำนวนมากมาหาผมครับ บอกอาจารย์เป่ากระหม่อมหน่อย เราจะไปสู้กับพวกอำมาตย์ ผมบอกโยมจะไปเป่ากระหม่อมพระได้ไง ท่านบอกไม่เป็นไร ส.ศิวรักษ์เป่า ศักดิ์สิทธิ์ ผมก็เป่ากระหม่อมพระ แต่ขอพระคุณเจ้าอย่าใช้ความรุนแรงนะ ถ้าเผื่อพระเสื้อแดงรวมตัวกันแล้วไม่ใช้ความรุนแรง เรียนจากพระพม่า เรียนจากพระลาว พระธิเบต โอ้โห.. เมืองไทยจะเปลี่ยนเลย นี่คือมิติทางการเมืองจากแต่ละปัจเจกบุคคล ทำความเข้าใจโครงสร้างทางสังคมอันอยุติธรรมและรุนแรง เมื่อมีความเชื่อมั่น มีความกล้าหาญทางจริยธรรม รวมกันเป็นพลัง นั่นจะเป็นการเมือง”

- ส.ศิวรักษ์ http://prachatai.com/journal/2011/01/32502

โปรดเข้าใจว่า “เป่ากระหม่อม” ในที่นี้เป็นคำอุปมาอุปไมย ผมสนใจประเด็นว่า “พระเสื้อแดง” ทำไมเปิดใจรับความคิดของ ส.ศิวรักษ์ ได้ โดยปกติพระสงฆ์ทั่วไป หรือแม้แต่นักวิชาการเปรียญลาพรตบางคนดูจะไม่ค่อยเป็นมิตรกับ “ความคิด” ของ ส.ศิวรักษ์ เท่าใดนัก เนื่องจากวัฒนธรรมพุทธเถรวาทไทยในยุคปัจจุบัน มักปลูกฝังให้มองคนที่วิจารณ์พุทธศาสนา และพระสงฆ์ตรงๆ แบบ ส.ศิวรักษ์ เป็น “มาร” มากกว่าเป็น “มิตร”

แต่เท่าที่ผมรู้ พระเสื้อแดงส่วนใหญ่มักเป็นพระแบบบ้านๆ คือพระที่เข้ากับชาวบ้านได้ดี พูดจาตรงๆ โผงผาง ออกแนวลูกทุ่งๆ อาจดูไม่สำรวม บุคลิกภาพเยี่ยม เปี่ยมสมบัติผู้ดี มีความสง่างามน่าเลื่อมใส สมดังเป็นผู้นำทางปัญญาและจิตวิญญาณเหมือนพระสงฆ์ใน “จินตนาการ” ของคนชั้นกลางในเมือง

โดยปกติพระแบบบ้านๆ จะไม่รังเกียจการถูกวิพากษ์วิจารณ์มากนัก อย่างน้อยก็ไม่ด่วนสรุปว่าคนวิจารณ์ตัวเองคือศัตรู เพราะพระแบบบ้านๆ รู้ตัวว่าตนเองไม่ได้วิเศษไปกว่าญาติโยม สมัยเป็นเณรอยู่ชนบทผมมักจะเห็นพระเกรงใจมรรคทายก พระรู้ตัวเองว่าเป็นลูกชาวบ้าน รู้ว่ามรรคทายกเคยบวชเรียนมาก่อน มีความรู้พุทธศาสนามากกว่า เวลาเทศน์งานบุญพระเวส พระรูปไหนอ่านใบลานตะกุกตะกัก ก็จะโดนโยมปาด้วยข้าวต้มมัด

นอกจากนี้ยังมีข้อมูลเชิงสถิติเล็กๆ จากประสบการณ์ที่เห็นมาคือ ผมบวชเณรอยู่บ้านตัวเอง 1 ปี เห็นชาวบ้านจับเจ้าอาวาสสึก ไป 1 รูป เพราะเมคเลิฟกับสีกา มาอยู่วัดในเมืองขอนแก่น 3 ปี ชาวบ้านจับผู้ช่วยเจ้าอาวาสสึกไปอีก 2 รูป เพราะเรื่องเมคเลิฟกับสีกาอีกนั่นแหละ

แต่เชื่อไหมครับว่า ผมมาอยู่วัดในกรุงเทพฯ ตั้ง 7 ปี ไม่เคยเห็นชาวบ้านจับพระสึกเลย (แต่เสียงซุบซิบเรื่องพระผู้ใหญ่ ผู้น้อยแอบเมคเลิฟกับสีกานี่ หนาหูกว่าต่างจังหวัดมาก) ทั้งที่สังคมเมืองพูดถึงเรื่องโปร่งใสๆ ตรวจสอบๆ มากกว่าสังคมชนบท

ปีที่แล้วตอนเก็บข้อมูลวิจัย มีโอกาสกลับไปที่ขอนแก่น ทราบข่าวเรื่องชาวบ้านล้อมกุฏิพระจับได้คาหนังคาเขากับสีกา ผมยังพูดกับพระที่นั่นว่า “บ้านเรายังรักษามาตรฐานการตรวจสอบพระเอาไว้อย่างมั่นคง”

พระบ้านๆ และชาวบ้านที่ใกล้วัดจะแยกแยะได้ดีว่า อะไรคือพุทธศาสนา อะไรคือพระ พระจะไม่สำคัญผิดว่าตนเป็นพุทธศาสนาเสียเอง จะไม่โวยวายว่าใครมาวิจารณ์ตรวจสอบพระแล้วจะเป็นการทำลายความมั่นคงของพุทธ ศาสนา ขณะที่ชาวบ้านจะรู้ว่า “พระเสื่อม ไม่ใช่พุทธศาสนาเสื่อม”

จะว่าไปแล้วการอยู่ร่วมกันแบบถ้อยทีถ้อยอาศัย วิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบกันและกัน เป็น “วิถีชาวพุทธ” ที่มีมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล มีข้อมูลมากมายในพระไตรปิฎกที่บอกว่า ชาวบ้านวิจารณ์พฤติกรรมไม่เหมาะสมของพระ ไปฟ้องเรื่องพฤติกรรมไม่เหมาะสมของพระต่อพระพุทธเจ้า

มีแม้กระทั่งเรื่องราวของพระ (ชาวเมืองโกสัมพี) ทะเลาะกันแบ่งออกเป็น 2 ก๊ก ก๊กละ 500 พระพุทธเจ้ามาไกล่เกลี่ยให้ปรองดองกันถึงสามครั้งสามครา แต่ภิกษุเหล่านั้นไม่เชื่อฟัง แถมยังบอกอีกว่า “พระองค์โปรดอย่ามายุ่ง เรื่องนี้พวกข้าฯ ขอจัดการกันเอง” ทำให้พระพุทธเจ้าต้องปลีกวิเวกไปอยู่ป่าตามลำพัง จนชาวบ้านต้องออกมาแสดงพลังสยบความแตกแยกของพระด้วยมาตรการ “คว่ำบาตร” คือประกาศเลิกใส่บาตรจนกว่าจะปรองดองกัน พระกลัวอดตายก็เลยหันมาปรองดองกัน

เห็นหรือยังครับว่า พลังอำนาจการตรวจสอบของชาวบ้านในบางกรณีมีประสิทธิภาพกว่า “บารมี” ของพระพุทธเจ้าเสียอีก ฉะนั้น พุทธศาสนาจึงเป็นของชาวบ้าน อยู่ภายใต้การกำกับตรวจสอบของชาวบ้านมาแล้วตั้งแต่สมัยพุทธกาล

แต่เมื่อพุทธศาสนาโดยองค์กรสงฆ์สนิทกับ “เจ้า” จนเกิดมีระบบ “พระราชาคณะ” และระบบการจัดการศึกษา การปกครอบแบบรวบอำนาจไว้ที่ส่วนกลาง ตั้งแต่สมัย ร.4 หรือ ร.5 เป็นต้นมานั้นดอก อำนาจการตรวจสอบของชาวบ้านจึงลดความสำคัญลง นึกถึง “ข่าวยันตระ” เมื่อหลายปีที่แล้วไหมครับ เมื่อมีการฟ้องร้อง (เรื่อง “ต้องอาบัติปาราชิก” เพราะมีความสัมพันธ์กับสีกาจนมีลูกโตเป็นเด็กหญิงแล้ว) ตามขั้นตอนของสายการปกครองสงฆ์ จนมาถึงมหาเถรสมาคม ปรากฏว่ามีการใช้เส้นสายช่วยเหลือกันจนทำอะไรไม่ได้

ฉะนั้น หากระบบของพระสงฆ์ไม่เป็นแบบระบบราชการ พระเป็นของประชาชนจริงๆ เหมือนในอดีต พระสงฆ์กับชาวบ้านอาจใกล้ชิดกัน มองกันและกันตามความเป็นจริงมากกว่านี้

การมองกันและกันตามความเป็นจริง จะทำให้มีถ้อยทีถ้อยอาศัยกันทั้งในเรื่องปัจจัยสี่ ความรู้ ภูมิปัญญา เรื่องบางเรื่องชาวบ้านอาศัยความรู้จากพระ บางเรื่องพระอาศัยความรู้จากชาวบ้าน พึ่งปัญญาของชาวบ้าน ดูเหมือน ส.ศิวรักษ์ จะเข้าใจวัฒนธรรมดั้งเดิมของชาวพุทธดังกล่าวนี้ดี เขาจึงทำหน้าที่วิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบพระ ให้คำแนะนำ ให้ความรู้พระในเรื่องต่างๆ มากมาย

โดยเฉพาะเตือนให้พระไม่ลืม “กำพืด” ตนเองว่า มาจากชนชั้นล่างของสังคม ต้องเรียนรู้เข้าใจ “ทุกขสัจจะของสังคม” อันมีสาเหตุมาจากโครงสร้างอันอยุติธรรมทางสังคมที่ทำให้เกิดความเลื่อมล้ำ ทางอำนาจต่อรองในทางการเมือง และความไม่เป็นธรรมทางเศรษฐกิจ พระสงฆ์ที่มาจากลูกชาวบ้านควรมองไปที่ชาวบ้าน ร่วมสุขร่วมทุกข์ เป็นที่พึ่งของชาวบ้านมากกว่าที่จะมองขึ้น “เบื้องบน” กระเสือกกระสนเพื่อลาภสักการะและสมณศักดิ์

ในขณะเดียวกัน ศ.ศิวรักษ์ ก็กระตุ้นเตือนให้พระสงฆ์เปิดใจเรียนรู้พุทธศาสนานิกายอื่น เช่นมหายาน วัชรยาน เซ็น เรียนรู้พุทธศาสนาในประเทศเพื่อนบ้าน เข้าใจมิติทางสังคมของพุทธที่มีมาในประวัติศาสตร์ โดยวิพากษ์ให้เห็นจุดอ่อน จุดแข็ง อย่างตรงไปตรงมา

และในอีกด้าน ถึงแม้เขาจะวิจารณ์พระสงฆ์หรือวงการพุทธแรงอย่างไรก็ตาม แต่เขาก็โปรโมทคำสอนของพุทธศาสนาอย่างยิ่ง ดังที่เขากล่าวว่า

“ศาสนาพุทธ หรือคำสอนของพระพุทธเจ้านั้น เป็นคำสั่งสอนที่ให้ประโยชน์แก่แต่ละบุคคลด้วย และให้ประโยชน์แก่สังคมด้วย และให้ประโยชน์แก่สิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติด้วย ครบทั้งองค์สาม สิกขาบทโดยเฉพาะศีลห้านั้น เป็นการช่วยแต่ละบุคคลให้มีบทบาทในสังคมที่ถูกต้อง ลดช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจน ไม่ให้มีเอารัดเอาเปรียบกัน และเอื้ออาทรต่อธรรมชาติ”

ไม่ว่าเราจะเห็นด้วยกับมิติทางสังคมของพุทธศาสนาตามทัศนะข้างบนนี้หรือ ไม่ก็ตาม แต่เป็นความจริงว่า ในบรรดาปัญญาชนชาวพุทธในบ้านเรา มีเพียง ส.ศิวรักษ์ เท่านั้นที่ยืนยันมิติทางสังคมของพุทธศาสนาอย่างอย่างหนักแน่น และพยายามนำเสนอมิติทางสังคมพุทธศาสนาทั้งในรูปของความคิด และผ่านกิจกรรมทางสังคมมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน

ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้พระแบบบ้านๆ คือพระเสื้อแดงบางส่วน ยินดีให้ ส.ศิวรักษ์ “เป่ากระหม่อม” เพื่อเปิดโลกทัศน์ทางปัญญามองเห็นปัญหาความไม่เป็นธรรมทางสังคม และเห็นว่าควรจะนำมิติทางสังคมของพุทธศาสนาส่วนไหนบ้างไปสนับสนุนความคิด และอุดมการณ์ในการต่อสู้เพื่อสังคมที่เป็นธรรม