ส่งเสริมคนดีให้ได้ปกครองบ้านเมือง

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

Wednesday, 3 August 2011

ศีลและธรรม ของรัฐบาลใหม่

ที่มา มติชน



โดย ฐากูร บุนปาน

(ที่มา คอลัมน์สถานีคิดเลขที่ 12 หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับประจำวันที่ 2 สิงหาคม 2554)

ด้วยความรู้ในวิชาศีลธรรมระดับมัธยมศึกษา คลับคล้ายคลับคลาถึงคำจำกัดความของศีลและธรรมที่ท่านให้ไว้กระชับได้ใจความว่า

ศีลคือข้อห้าม

ธรรมคือข้อปฏิบัติ

ถ้าศีลและธรรมเป็นพื้นฐานของมนุษย์ทุกหน้า

รัฐบาลชุดใหม่ที่กำลังจะเข้ามารับหน้าที่ในอีกไม่กี่วันต่อจากนี้ก็ไม่มีข้อยกเว้น

ศีลที่ต้องถือคืออะไร ธรรมข้อไหนที่ต้องปฏิบัติบ้าง?

สำคัญที่สุดก็คือ อะไรที่เคยพูดตำหนิติเตียนหรือวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลที่ผ่านมา

อย่าไปทำเป็นอันขาด

ประการหนึ่ง ทุจริตที่ฟาดกันมาตั้งแต่ร้อยละ 20-30 จนกระทั่งกลายเป็นร้อยละ 40-50 ในไม่กี่วันที่ผ่าน

มีไม่ได้และต้องไม่ให้มีเป็นอันขาด-นั่นเป็นศีล

แต่เท่านั้นยังไม่พอ ต้องมีธรรมกำกับเพื่อให้สังคมมั่นใจว่าไม่ใช่แต่ปัจจุบันเท่านั้นที่ทุจริตจะลดลง อนาคตก็ต้องดีขึ้นด้วย

ต้องช่วยคิดว่าทำอย่างไรจะให้ชาวบ้านเข้ามาตรวจสอบพฤติกรรมหรือการใช้อำนาจของฝ่ายการเมืองให้ได้มากที่สุด

ประการหนึ่ง ถ้าขบขันว่ารัฐบาลที่แล้วนั้นถูกตราหน้าว่า ′ดีแต่พูด′ อะไรก็ตามที่ตัวเองพูดออกมาแล้วก็ต้องทำให้ได้ ไม่เดินไปซ้ำรอยเดียวกัน-นั่นก็ศีล

แต่ จะให้สำเร็จได้จริง ไม่ใช่แรงของรัฐบาลพวกเดียวเท่านั้นจะผลักจะดันไหว ต้องให้ภาคราชการ ภาคเอกชน ให้ภาคชาวบ้านคล้อยตาม-ตรงนี้ต้องอาศัยธรรมมาช่วย

300 บาท/วัน หรือปริญญาตรี 15,000 บาท/เดือนนั้น ดูเหมือนจะไม่ยากอย่างที่คิดอีกต่อไป แต่อีกหลายข้อยังน่าสงสัย

จำนำข้าวตันละ 15,000 บาท หรือบัตรเครดิตชาวนา ในทางทฤษฎีฟังดูดี แต่ในทางปฏิบัติไม่ง่ายเลย

หรือค่าแรงพรวดไป ทำอย่างไรต้นทุนและราคาสินค้าจะไม่พรวดตาม นี่ก็ไม่ง่ายอีกเหมือนกัน

ประการหนึ่ง ยาเสพติดที่ระบาดหนักข้อขึ้นทุกวันต้องไม่มีหรือต้องเหลือน้อยที่สุด แต่ ′ฆ่าตัดตอน′ ก็ต้องไม่กลับมา

เป็นปัญหาทั้งศีลและธรรมไปพร้อมๆ กัน

ประการหนึ่ง สถานภาพที่ตกต่ำในสังคมโลกก็ต้องกู้กลับมา แต่ว่าไม่ใช่ด้วยการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์เข้าแลกแบบพ่อค้าไปเสียทุกเรื่อง

ข้อนี้จริงๆ คะแนนเป็นบวกตั้งแต่ยังไม่เริ่มทำงาน

ถ้าทำไม่ได้อีก หรือไปคิดทำแบบเดียวกับรัฐบาลที่แล้ว เพียงแต่กลับด้านกัน คือมุ่งจะให้ประโยชน์คนคนเดียว หรือคนไม่กี่คน

โอกาสเจ๊งก็มีอยู่พอกัน

ประการสุดท้าย
แต่คงไม่ใช่ท้ายสุด จะปรองดองกันอย่างไร-ที่ไม่ใช่แค่การเกี้ยเซี้ยแล้วเลิกๆ กันไป

เพื่อรอให้การฆ่ากันรอบใหม่กลับมาอีก

ทำอย่างไรจะให้ความจริงและความยุติธรรมปรากฏ เพื่อให้เป็นบทเรียนสอนใจสำหรับคนรุ่นนี้และรุ่นต่อไป

ทำอย่างไรการเยียวยาถ้วนหน้าและทั่วถึง

มีศีลหรือธรรมข้อไหนที่รู้สึกว่าฝืนใจปฏิบัติบ้างหรือเปล่า?