ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (P-move) แถลง 2 ฉบับต่อเนื่อง ชี้หยุดเขื่อนแก่งเสือเต้น หยุดทำลายประชาธิปไตย พร้อมหนุนคนใต้ค้านแผนพัฒนาภาคใต้ จี้หยุดการทำร้ายทรัพยากร-วิถีชีวิตชุมชน
วันนี้ (23 ส.ค.54 ) ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) หรือ P-move ออกแถลงการณ์ ฉบับที่ 29 “หยุดเขื่อนแก่งเสือเต้น หยุดทำลายประชาธิปไตยและความแตกแยก” ระบุถึงโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้นว่าเป็นกรณีความขัดแย้งระหว่างนักการเมือง ที่ผลักดันให้มีการสร้างเขื่อน โดยมีชาวบ้านที่ถูกน้ำท่วมช่วยสร้างความน่าเชื่อถือ กับชาวบ้านสะเอียบและนักวิชาการที่พยายามปกป้องป่าสักทอง ซึ่งมีการถกเถียงกันมานานกว่า 20 ปี ขณะที่ข้อเท็จจริงจากงานวิชาการจำนวนมากระบุว่าโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น ไม่คุ้มทุน และแก้ไขปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้งไม่ได้ อีกทั้งยังมีมติ ครม.หลายฉบับจากหลายรัฐบาลที่ให้ยุติการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น แต่นักการเมืองบางคนกลับไม่รับฟังข้อมูล จับจองแต่ผลประโยชน์จากไม้สักทอง และฉวยโอกาสสร้างกระแสตลอดมา
เพื่อปกป้องระบอบประชาธิปไตย และรักษาหลักการการมีส่วนร่วมของคนในสังคม P-Move ระบุข้อเรียกร้อง 2 ข้อ คือ 1.รัฐบาลในฐานะผู้กุมอำนาจบริหารต้องปกป้องระบอบประชาธิปไตย และยับยั้งบุคคล คณะบุคคล ที่กำลังทำลายระบอบประชาธิปไตยและสร้างความแตกแยกของคนในสังคม โดยเฉพาะคนจากพรรคร่วมรัฐบาล (พรรคชาติไทยพัฒนา) 2.รัฐบาลต้องยกเลิกการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น แล้วใช้แนวทางหนึ่งตำบลหนึ่งแหล่งกักเก็บน้ำ ในรูปแบบอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กที่ไม่มีผลกระทบแทนการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น
นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 22 ส.ค.ที่ผ่านมา P-Move ได้ออก แถลงการณ์ฉบับที่ 28 “หยุดแผนพัฒนาภาคใต้ หยุดการทำร้ายทรัพยากร และวิถีชีวิตชุมชน” ประณามแผนพัฒนาภาคใต้ ว่าโดยแท้จริงแล้วเป็นแผนการทำลายวิถีชีวิตชุมชน และแย่งชิงทรัพยากรไปจากท้องถิ่นอย่างไม่เคารพสิทธิของชุมชนดั้งเดิม และนี่คือแผนกำจัดคนจน
แถลงการณ์ระบุด้วยว่า ขณะนี้รัฐบาลในการนำของพรรคเพื่อไทย กำลังยัดเหยียดสิ่งที่อ้างว่าเป็นการพัฒนา ลงไปกดข่มประชาชนในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งหากแผนการพัฒนาภาคใต้ถูกนำไปปฏิบัติ ชะตากรรมคนภาคใต้ก็จะไม่ต่างจาก คนปากมูลที่เดือดร้อนมากว่า 20 ปี ไม่ต่างไปจากชาวบ้านที่ต้องทนสูดสารพิษจากเหมืองแร่ทองคำ ถ่านหิน แคดเมียม (cadmium) และถูกผลักให้เป็นคนชายขอบดังที่คนไทยพลัดถิ่นเป็นอยู่ในปัจจุบัน ที่สำคัญคือการสร้างโรงงานอุตสาหกรรมทับหลังคา ดังเช่น โรงไฟฟ้าชีวมวลคำสร้างไชย อีกทั้งยังมีการใช้กฎหมายเข้าควบคุมแย่งที่ดินไปจากชาวบ้านที่อยู่มาก่อนไป ให้นายทุนแล้วกล่าวหาว่าเป็นผู้บุกรุก เช่นชาวบ้านโป่ง เชียงใหม่ ชาวบ้านบ่อแก้วที่คอนสาร และอีกหลายพื้นที่ทั่วประเทศ
“แด่ ความทุกข์ยาก ที่ถูกยัดเหยียดจากการพัฒนาของรัฐ ที่ไม่ได้เคารพและเห็นหัวคนจน พวกเราขอประกาศว่า เราจะต่อสู้เคียงข้างพี่น้องภาคใต้ ตราบจนกว่าชัยชะนะจะเป็นของพวกเรา...ประชาชน” แถลงการณ์ระบุ
แถลงการณ์ฉบับที่ 28 หยุดแผนพัฒนาภาคใต้ หยุดการทำร้ายทรัพยากร และวิถีชีวิตชุมชน พวกเราขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (Pmove) ซึ่งเป็นเครือข่ายของเกษตรกรชนบทและคนจนเมืองที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม หรือได้รับผลกระทบอันเลวร้าย จากนโยบายการพัฒนาประเทศ ประกอบด้วยกลุ่มคนจน 4 เครือข่าย 3 กรณีปัญหา คือ เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย (คปท.) เครือข่ายสลัม 4 ภาค, สมัชชาคนจน กรณีเขื่อนปากมูล, เครือข่ายชุมชนเพื่อการปฏิรูปสังคมและการเมือง (คปสม.) กลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้พิบูลมังสาหาร อุบลราชธานี กลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากโรงไฟฟ้าชีวมวลและคัดค้านโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ อุบลราชธานี ซึ่งล้วนตกเป็นเหยื่อของการพัฒนา การพัฒนาของรัฐที่ยื้อแย่งทรัพย์ธรรมชาติไปจากพวกเรา การพัฒนาที่ไม่เคารพผู้อยู่มาก่อน การพัฒนาที่แย่งยื้อแผ่นดินที่ฝั่ง สายรก บรรพบุรุษของพวกเราไปจากเรา พวก เราได้รับรู้ว่า ขณะนี้รัฐบาลโดยการนำของพรรคเพื่อไทย กำลังยัดเหยียดสิ่งที่อ้างว่า “การพัฒนา” ลงไปกดข่มพี่น้องในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งพวกเรามั่นใจว่า หากแผนการพัฒนาภาคใต้ดังกล่าว ถูกนำไปปฏิบัติ ชะตากรรมของพี่น้องภาคใต้ก็คงไม่ต่างจากพวกเรา เขาจะทอดทิ้งอย่างไม่ใยดี เฉกเช่นพี่น้องปากมูลที่เดือดร้อนมากว่า 20 ปี ไม่ต่างไปจากพวกเราที่ต้องทนสูดสารพิษจากเหมืองแร่ทองคำ ถ่านหิน แคดเมียม และถูกผลักให้เป็นคนชายขอบ ดังที่ คนไทยพลัดถิ่นเป็นอยู่ในปัจจุบัน ที่สำคัญพวกเขาจะสร้างโรงงานอุตสาหกรรมทับหลังคาของเรา ดังเช่น โรงไฟฟ้าชีวมวลคำสร้างไชย พวกเขาจะใช้กฎหมายเข้าควบคุมแย่งที่ดินไปจากเราผู้อยู่มาก่อนไปให้นายทุน แล้วกล่าวหาว่าเราเป็นผู้บุกรุก เช่นชาวบ้านโป่ง เชียงใหม่ ชาวบ้านบ่อแก้ว ที่คอนสาร และอีกหลายพื้นที่ทั่วประเทศ พวกเราขอให้พี่น้องภาคใต้ อย่าได้หลงคำโอ้อวดว่าทันสมัยที่ไม่จริงของรัฐบาล แด่ พี่น้องภาคใต้ ผู้หาญกล้า พวกเราล้วนเป็นห่วงท้องทะเล สีครามที่คราคลั่งไปด้วยปู ปลา พะยูน และโลมา ทั้งพื้นดินที่อุดมสมบูรณ์ วิถีชีวิตที่เรียบง่ายอันเป็นอัตลักษณ์แห่งแดนใต้ ทั้งหมดนี้จะพินาศเมื่อแผนพัฒนาฉบับนี้ถูกปฏิบัติ พวกเราขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (Pmove) ขอประณามแผนพัฒนาภาคใต้ ซึ่งโดยแท้จริงแล้ว นี่คือแผนการทำลายวิถีชีวิตชุมชน และแย่งชิงทรัพยากรไปจากท้องถิ่น อย่างไม่เคารพสิทธิของชุมชนดั้งเดิม นี่คือแผนกำจัดคนจน อย่าง ไรก็ตาม เราขอวิงวอนผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหลาย ได้กรุณาตระหนักและให้ความสำคัญแก่ทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ และวิถีชีวิตดั้งเดิมของชุมชนท้องถิ่น และกระทำแก่พวกเขาเสมือนหนึ่งเป็นเพื่อนร่วมชาติคนหนึ่ง แด่ ความทุกข์ยาก ที่ถูกยัดเหยียดจากการพัฒนาของรัฐ ที่ไม่ได้เคารพและเห็นหัวคนจน พวกเราขอประกาศว่า เราจะต่อสู้เคียงข้างพี่น้องภาคใต้ ตราบจนกว่าชัยชะนะจะเป็นของพวกเรา...ประชาชน คนจนทั้งผองพี่น้องกัน ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม(ขปส.) 22 สิงหาคม 2554 |
แถลงการณ์ฉบับที่ 29
หยุดเขื่อนแก่งเสือเต้น หยุดทำลายประชาธิปไตยและความแตกแยก
เขื่อน แก่งเสือเต้น ได้กลายเป็นประเด็นทางสาธารณะอีกครั้ง ระหว่างนักการเมืองที่ผลักดันให้มีการสร้างเขื่อน โดยใช้ชาวบ้านที่ถูกน้ำท่วมเป็นตัวประกันสร้างน้ำหนักความน่าเชื่อถือ กับชาวบ้านสะเอียบและนักวิชาการที่พยายามปกป้องป่าสักทอง ข้อถกเถียงนี้ดำเนินการเป็นเวลากว่า 20 ปี ขณะที่ข้อเท็จจริงว่าเขื่อนแก่งเสือเต้นสมควรสร้างหรือไม่นั้น ก็มีข้อสรุปจากงานวิชาการจำนวนมากว่าไม่คุ้มทุนและแก้ไขปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้งไม่ได้ และยังมีมติ ครม.หลายฉบับจากหลายรัฐบาลที่ให้ยุติการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น ชัดเจนแล้ว มีเพียงนักการเมืองน้ำเน่าหน้าเก่าไม่กี่คนที่ดันทุรัง ไม่รับฟังข้อมูลใด ใด จับจองผลประโยชน์จากไม้สักทอง และฉวยโอกาสสร้างกระแสตลอดมา
ต่อสถานการณ์ดังกล่าว ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (P-MOVE) เห็นว่า
1) นักการ เมืองผู้ผลักดันให้สร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น ได้ทำลายหลักการการมีส่วนร่วมของประชาชนผู้มีส่วนได้เสียลงแล้ว ด้วยการใช้หลักกูเหนือหลักการ
2) นักการเมืองผู้ผลักดันให้สร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น ได้สร้างความแตกแยกในหมู่ประชาชนแล้ว
3) ชาว บ้านสะเอียบผู้ปกป้องป่าสักทอง ได้รับผลกระทบโดยตรงแล้ว เพราะตกเป็นเป้าหมายที่ต้องถูกกำจัด ของนักการเมืองที่ผลักดันให้มีการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น ซึ่งรวมถึงโครงการสาธารณูปโภคพื้นฐานของชุมชน ที่ถูกชะลอและยกเลิก เพราะไม่มั่นใจต่อทิศทางในอนาคต
สถานการณ์ดังกล่าวบ่งชี้ สัญญาณอันตราย กล่าวคือ
1) การปกครองในระบอบประชาธิปไตย กำลังถูกท้าทายและเริ่มสั่นคลอนโดยนักการเมืองน้ำเน่า
2) อำนาจนักการเมือง เหนือข้อเท็จจริงและเหตุผลทางวิชาการ ซึ่งจะนำไปสู่ความล้มเหลวซ้ำซาก
3) นักการเมือง กำลังฉีกรัฐธรรมนูญ ที่คุ้มครองสิทธิชุมชนท้องถิ่นในการเลือกถิ่นที่อยู่
ดัง นั้นสิ่งที่เกิดขึ้น จึงแสดงออกถึงวิสัยทัศน์ของนักการเมืองตกยุค ที่เข้ามามีอำนาจในการบริหารและกุมชะตากรรมประเทศ ที่กำลังแสดงความอหังการใช้อำนาจบาตรใหญ่ ความคิดคับแคบ กำลังลากจูงประเทศให้ถอยหลังลงคลอง ซึ่งเป็นการถ่วงความก้าวหน้าของสังคมไทย
เพื่อปกป้องระบอบประชาธิปไตย และรักษาหลักการการมีส่วนร่วมของคนในสังคม ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (P-MOVE) ข้อเรียกร้อง ดังนี้
1) รัฐบาล ในฐานะผู้กุมอำนาจบริหารต้องปกป้องระบอบประชาธิปไตย และยับยั้งบุคคล คณะบุคคล ที่กำลังทำลายระบอบประชาธิปไตยและสร้างความแตกแยกของคนในสังคม โดยเฉพาะคนจากพรรคร่วมรัฐบาล (พรรคชาติไทยพัฒนา)
2) รัฐบาลต้องยกเลิกการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น แล้วใช้แนวทางหนึ่งตำบลหนึ่งแหล่งกักเก็บน้ำ ในรูปแบบอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กที่ไม่มีผลกระทบแทนการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น
คนจนทั้งผองพี่น้องกัน
ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.)
23 สิงหาคม 2554