ส่งเสริมคนดีให้ได้ปกครองบ้านเมือง

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

Tuesday, 30 August 2011

ร้องระงับขึ้นทะเบียนเคมีกำจัดศัตรูพืชร้ายแรง 4 ชนิด

ที่มา ประชาไท

29 สิงหาคม 2554 เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก ลงนามท้ายจะหมายโดยนายอุบล อยู่หว้า ผู้ประสานงานเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก ทำจดหมายถึงนายธีระ วงศ์สมุทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรียกร้องให้ระงับการขึ้นทะเบียนสารเคมีกำจัดศัตรูพืชร้ายแรง 4 ชนิด

โดยจดหมายระบุว่า ตามที่กรมวิชาการเกษตร กำลังจะอนุญาตให้มีการขึ้นทะเบียนสารเคมีกำจัดศัตรูพืชร้ายแรงอย่างน้อย 3 ชนิด คือ คาร์โบฟูราน ไดโครโตฟอส และเมโทมิล (ส่วนอีพีเอ็นยังไม่พบรายงานการขอขึ้นทะเบียน) ซึ่งเป็นสารกำจัดศัตรูพืชที่มีพิษร้ายแรงและหลายประเทศทั่วโลกห้ามใช้ โดยขณะนี้ได้ผ่านพิจารณาแล้ว 2 ขั้นตอน คือ ขั้นตอนที่ 1 การทดลองเบื้องต้น ขั้นตอนที่ 2 การทดลองใช้ชั่วคราว และเหลือเพียงการพิจารณาขั้นสุดท้ายคือ ขั้นตอนที่ 3 การประเมินผลขั้นสุดท้าย เพื่อรับขึ้นทะเบียนวัตถุอันตราย โดยคาดว่าจะมีการอนุญาตให้มีการขึ้นทะเบียนในเร็วๆ นี้นั้น
เครือข่ายเกษตรทางเลือก และเครือข่ายผู้บริโภคเห็นว่าสารเคมีทั้ง 4 ชนิด คือ คาร์โบฟูราน เมโทมิล ไดโครโตฟอส และอีพีเอ็น นั้นจัดเป็นสารพิษร้ายแรงที่ทำให้เกิดพิษ มีผลต่อระบบประสาท การหายใจ ระบบสืบพันธุ์ และเป็นสารก่อมะเร็ง โดยหลายประเทศทั่วโลก เช่น สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และเพื่อนบ้านในทวีปเอเชียได้ห้ามใช้แล้ว อีกทั้งยังมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และมีผลต่อการส่งออกสินค้าผักและผลไม้ของไทยไปยังต่างประเทศ (ตามเอกสารแนบ) จึงขอเรียกร้องให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ดำเนินการสั่งการให้ ยุติการนำเข้าและการขึ้นทะเบียนสารเคมีกำจัดศัตรูพืชอย่างน้อย 4 ชนิดคือ คาร์โบฟูราน เมโทมิล ไดโครโตฟอส และอีพีเอ็น โดยทันที และให้กรมวิชาการเกษตรเปิดเผยข้อมูลเอกสารข้อมูลการยื่นขอทะเบียน ข้อมูลและผลการทดลองที่เกี่ยวกับประสิทธิภาพ การเกิดพิษทั้งระยะสั้นและระยะยาว ผลตกค้างและอื่นๆ และให้เปิดเผยรายชื่อของคณะกรรมการ อนุกรรมการ หรือคณะทำงานที่ที่เกี่ยวข้องกับการพิจารณา รวมทั้งผลการพิจารณาของคณะกรรมการ อนุกรรมการ หรือคณะทำงานต่อสาธารณชน เพื่อให้กระบวนการขึ้นทะเบียนเป็นไปอย่างโปร่งใสและการมีส่วนร่วมของประชาชน ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2552 ที่ระบุให้คณะกรรมการวัตถุอันตรายและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง “เผยแพร่ข้อมูลให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียให้ข้อคิดเห็น พร้อมแสดงข้อมูลและหลักฐานประกอบเพื่อสร้างความโปร่งใสและเปิดโอกาสให้ได้ รับข้อมูลอย่างรอบด้าน”
นอกจากนี้ยังเรียกร้องให้มีการควบคุมการโฆษณาและการส่งเสริมการขายของ บริษัทสารเคมีการเกษตรอย่างเข้มงวด โดยคณะกรรมการที่มีตัวแทนของเครือข่ายเกษตรกร เครือข่ายวิชาการเฝ้าระวังสารเคมีการเกษตร และองค์กรผู้บริโภคมีส่วนร่วม