ไม่ว่าค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท/คน/ วัน และเงินเดือนผู้จบปริญญาตรี 15,000 บาท ของพรรคเพื่อไทย จะเป็นจริงวันไหน
เงินเดือนของผู้บริหาร หรือ ซีอีโอ. ก็พุ่งห่างออกไป หลายเท่าตัว นักเศรษฐศาสตร์การเมืองเคยชี้ว่า ช่องว่างของรายได้ในสังคมไทย ห่างกันถึง 14-15 เท่าตัวหรือมากกว่านั้น ?
เอาเข้าจริง ซีอีโอ ค่าตอบแทนสูงลิบ เหล่านี้เองคือ ผู้กำหนด อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท/คน/วัน หรือเงินเดือน 15,000 บาท สำหรับคนจบปริญญาตรี
ลองมาดู เงินเดือนและค่าตอบแทนของผู้บริหาร ประเทศไทยดูบ้างว่า สูงเพียงใด
จากการผลสำรวจข้อมูลจากบริษัท จดทะเบียนในกลุ่มหุ้น SET 50 ใน ปี 2547 ระบุว่า นับเฉลี่ย/คน/ปี แยกรายอุตสาหกรรมพบว่า บริษัท จดทะเบียนทั้งตลาดจ่ายเงินค่าตอบแทนผู้บริหารเฉลี่ย/คน/ปีละ 3.05 ล้านบาท เป็นค่าตอบแทนที่อยู่ในรูปของเงินเดือน, เงินโบนัส และเงินสมทบสำรองเลี้ยงชีพ
โดยกลุ่มธุรกิจธนาคารพาณิชย์ เป็นอุตสาหกรรมที่จ่ายค่าตอบแทนให้แก่ ผู้บริหารสูงสุด เมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมทุกกลุ่มในตลาดหุ้น หรือคิดเป็นอัตรา ค่าจ้างเฉลี่ย/คน/ปีละ 7.68 ล้านบาท
ถัดมาเป็นกลุ่มธุรกิจในกลุ่มพาณิชย์ อาทิ ซีพี-7-11, บิ๊กซี, โฮมโปร, แม็คโคร และโรบินสัน ซึ่งถือเป็นอีกกลุ่มที่จ่ายค่าจ้างให้แก่ผู้บริหารระดับสูง เฉลี่ยคนละ 5.62 ล้านบาท
ขณะที่ส่วนของค่าตอบแทนในกลุ่มเงินทุนหลักทรัพย์ ถือเป็นกลุ่มที่มีช่วง ค่าจ้างกว้างที่สุด โดยมีค่าตอบแทนเฉลี่ยต่อคนต่ำสุดที่ 1.87 แสนบาท และสูงสุดอยู่ที่ 35.81 ล้านบาท
โดยในหมวดคลังสินค้า และไซโล มีการจ่ายค่าตอบแทนผู้บริหารโดยเฉลี่ย/คน/ปี น้อยที่สุด คือประมาณ 9.75 แสนบาท
แต่กระนั้น ถ้ามาโฟกัสเฉพาะกลุ่มธนาคารพาณิชย์ ในปี 2548 ปรากฏว่า กลุ่ม ผู้บริหารธนาคารพาณิชย์ รับค่าตอบแทนเฉลี่ยจากธนาคารพาณิชย์ทั้งหมด 14 แห่ง ประมาณคนละ 9.31 ล้านบาท/ปี เพิ่มขึ้นจากปี 2547 ที่ผลตอบแทนเฉลี่ยอยู่ที่ 7.68 ล้านบาท/คน/ปี
ธนาคารไทยพาณิชย์ มีค่าตอบแทนเฉลี่ยสูงสุด เพราะจ่ายผลตอบแทน ผู้บริหาร 6 ราย รวม 94.33 ล้านบาท คิดเฉลี่ยที่อัตรา 15.72 ล้านบาท/คน/ปี
ตามมาด้วย ธนาคารกสิกรไทย จ่ายค่าตอบแทนให้ผู้บริหาร 9 ราย คิดรวม 139.41 ล้านบาท คิดเฉลี่ยที่อัตรา 15.49 ล้านบาท/คน/ปี
ขณะที่ ธนาคารทิสโก้ จ่ายค่าตอบแทนให้ผู้บริหาร 11 ราย รวมทั้งสิ้น 169.67 ล้านบาท หรือเฉลี่ยประมาณ 15.42 ล้านบาท/คน/ปี
ส่วน ธนาคารกรุงไทย จ่ายค่าตอบแทนให้ผู้บริหาร 17 ราย รวมทั้งสิ้น 178.21 ล้านบาท หรือเฉลี่ยประมาณ 10.49 ล้านบาท/คน/ปี
นอกจากนั้นผลสำรวจของกองวิจัยตลาดแรงงาน กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ในปี 2552 ยังเปิดเผยถึง 8 อาชีพที่มีเงินเดือนเกิน 1 แสนบาทด้วย
โดยอาชีพที่มีรายได้เกิน 1 แสนบาท/เดือน ได้แก่ อาชีพ นักบิน 2.41 แสนบาท, วิศวกรเหมืองแร่ และนักโลหะการ 2.35 แสนบาท, ผู้จัดการฝ่ายโฆษณา และประชาสัมพันธ์ 1.53 แสนบาท, กรรมการ และผู้บริหารระดับสูง 1.38 แสนบาท, ผู้พิพากษา 1.21 แสนบาท, สถาปนิก 1.17 แสนบาท, ผู้บริหารองค์การนายจ้าง-ลูกจ้าง 1.06 แสนบาท และวิศวกรเคมี 1.05 แสนบาท
ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่าอาชีพผู้จัดการฝ่ายโฆษณา และประชาสัมพันธ์ กลับเป็นอาชีพที่มีรายได้สูงกว่ากรรมการ และผู้บริหารระดับสูง ทั้ง ๆ ที่ผู้จัดการฝ่ายโฆษณา และประชา สัมพันธ์มีกำลังคนประมาณ 3,700 คน ส่วนกรรมการ และผู้บริหารระดับสูงมีถึง 1.6 หมื่นคน
นอกจากนั้นผลสำรวจของกองวิจัยตลาดแรงงาน ยังแยกย่อยลงไปในรายละเอียดเกี่ยวกับรายได้ในช่วง 60,000-100,000 บาท มี 12 อาชีพ ในจำนวนนี้อาชีพผู้จัดการฝ่ายจัดหา และจำหน่ายสินค้ามีระดับรายได้สูงสุดในบรรดาอาชีพระดับผู้จัดการด้วยกัน และพบว่าอาชีพนักคณิตศาสตร์มีรายได้สูงกว่าแพทย์
โดยผู้จัดการฝ่ายจัดหา และจำหน่ายสินค้ามีรายได้ 8.5 หมื่นบาท,นักคณิตศาสตร์ 7.3 หมื่นบาท, ผู้จัดการฝ่ายผลิต และปฏิบัติการด้านการบริการทางธุรกิจ 7 หมื่นบาท, แพทย์ 6.9 หมื่นบาท, ผู้จัดการฝ่ายผลิต และปฏิบัติการด้านผลิต 6.7 หมื่นบาท, ผู้จัดการทั่วไปด้านการผลิต 6.4 หมื่นบาท
ผู้จัดการฝ่ายวิจัย และพัฒนา 6.4 หมื่นบาท, ผู้จัดการทั่วไปด้านการเกษตร 6.3 หมื่นบาท, ผู้จัดการทั่วไปด้านการก่อสร้าง 6.2 หมื่นบาท และข้าราชการอาวุโส 6.2 หมื่นบาท
ถามว่าตัวเลขเหล่านี้ส่งผลอย่างไร ต่อการบริหารประเทศของกระทรวงแรงงาน กระทรวงการคลัง หรือรัฐบาลใหม่ ?
คำตอบคืออาจไม่ส่งผลเท่าใดนัก
แต่ผลสำรวจตรงนี้ อาจเป็นคำถามที่ต้องการคำตอบที่ทำให้ทุกกระทรวงที่เกี่ยวข้อง คงต้องไปคิดว่า การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท/คน/วัน และการให้เงินเดือนปริญญาตรี 15,000 บาท ในสภาพค่าครองชีพปัจจุบัน
ไม่ได้มากหรือน้อยเกินไปเลย
ตรงข้ามอาจดูน้อยด้วยซ้ำ และดูยิ่งน้อยเข้าไปใหญ่เมื่อเทียบกับเงินเดือนของซีอีโอ และอีกหลายอาชีพท็อปฮิตที่ต่างรับเงินเดือนกันอู้ฟู่
แต่สำหรับชนชั้นแรงงาน และพนักงานใหม่ในบัญชีจ้างของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ทำไมผู้ประกอบการหลายราย จึงต่างโอดครวญว่าอาจทำให้ต้นทุนประกอบการเพิ่มมากขึ้น
จนทำให้เขาอาจจะต้องเลิกจ้างแรงงานไทย โดยหันไปจ้างแรงงานนอกระบบ
ซึ่งไม่เป็นธรรมเลยจริง ๆ !
( เรื่อง ประชาชาติธุรกิจ )