ส่งเสริมคนดีให้ได้ปกครองบ้านเมือง

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

Wednesday, 31 August 2011

'กิตติรัตน์' ไขข้อข้องใจ 'จำนำข้าว' มั่นใจว่าดีจริง (ตอนที่ 2)

ที่มา thaifreenews

โดย bozo



เชื่อว่าหลายๆคนคงยังมีความสับสนอยู่ระหว่าง
โครงการประกันราคาพืชผลทางการเกษตรของรัฐบาลชุดประชาธิปัตย์
และโครงการรับจำนำข้าว ของรัฐบาลยุคไทยรักไทยเรื่อยมาจนถึงรัฐบาลเพื่อไทย
มีข้อดีหรือข้อเสียต่างกันอย่างไร
และโครงการไหนที่เกษตรกรจะได้รับประโยชน์สูงสุด
รวมถึงงบประมาณในโครงการว่าจริงๆการทุจริตคอรัปชัน
กับการละลายแม่น้ำงบประมาณแผ่นดินที่หายไปโครงการไหนเยอะกว่ากัน

ล่าสุดมีประเด็นใหม่ที่สำคัญ คือ
การที่สำนักข่าวบลูมเบิร์กได้ออกรายงานว่า
ราคาข้าวโลกเตรียมจะพุ่งขึ้นอีก 22% เพื่อขานรับนโยบายรับจำนำข้าวของไทย
นักวิเคราะห์จากสำนักงานวิจัยเศรษฐกิจของสำนักงานอาหารและยาของสหรัฐ (ยูเอสดีเอ) ได้เตือนว่า
การส่งออกข้าวของไทยอาจจะลดต่ำลง 20% มาอยู่ที่ 8 ล้านตันในปี 2555
เนื่องจากนโยบายจำนำข้าวจะลดศักยภาพการแข่งขันของการส่งออกข้าวไทย



วันนี้ไทยรัฐออนไลน์ สัมภาษณ์พิเศษ (ตอนที่ 2 )
นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์
จะมาเคลียร์กันแบบหมดเปลือกและตอบทุกคำถามที่เป็นประเด็นร้อนเกี่ยวกับนโยบายนรับจำนำข้าว

จากข่าวที่นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี อดีตรองนายกฯด้านเศรษฐกิจรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์
ออกมาพูดเรื่องนโยบายรับจำนำข้าวที่รัฐบาลให้ราคาตันละ 15,000 บาท
ว่าเป็นการช่วยเกษตรกรทั้งโลก?



กิตติรัตน์ : ถ้าผมหาคำตอบอันสำคัญของโครงการประกันรายได้เจอ
ผมจะไม่ทำโครงการจำนำเลย
เพราะอะไรเพราะการประกันรายได้ทำง่ายมากคือ
ไม่ต้องเก็บข้าวไม่ต้องทำอะไรท้ังส้ิน การประกันรายได้คืออะไร
คือการที่รัฐบาลกำหนดราคากลางของข้าวไว้
โดยฤดูกาลแรกกำหนดที่ 10,000 บาท
ฤดูกาลที่ 2 กำหนด 11,000 บาท
ซึ่งเป็นราคาที่สูงกว่าตลาด อันนี้เราจะไม่พูดถึงความชื้น
สมมติคนที่เอาข้าวเปลือกมาขายมีความชื้นไม่เกิน 15% ก็จะต้องได้ราคาเต็มใช่หรือไม่
พอเกษตรกรเอาข้าวมาขายคุณที่เป็นโรงสี
เกษตรกรถามว่าขายได้เท่าไหร่โรงสีบอก 7,000 บาท เกษตรกรก็ตกลง
เพราะอะไรเพราะส่วนต่างที่เหลือเกษตรกรสามารถเอาจากรัฐบาลได้
โรงสีในฐานะนักธุรกิจรู้ว่าเกษตรกรไม่สนใจว่าจะได้เท่าไหร่ก็จะบอกเท่านั้น
แล้วด้วยธุรกิจซื้อมาถูกก็จะขายออกไปถูกไม่ต้องค้ากำไรเกินควร
เพราะจะได้ทำงานง่าย แล้วคนที่ได้ประโยชน์คือใคร คือ
คนที่ขายข้าว (เกษตรกร) เพราะจะขายถูกเท่าไหร่ก็ได้เงินเต็ม
โรงสีก็ได้ประโยชน์ เพราะซื้อได้ถูก ผ่านไปจนถึงมือผู้ส่งออก
ด้วยความที่ต้นทางถูกก็ถูกกันไปหมดก็ได้ประโยชน์
ผู้ส่งออกไปขายข้าวแข่งกับประเทศเพื่อนบ้านก็ได้ประโยชน์
เพราะไม่ต้องขายราคาสูงบวกนิดหน่อยก็ขายได้ ทุกคนได้ประโยชน์หมด



แล้วปัญหาของเรื่องนี้คืออะไร?

กิตติรัตน์ : งบประมาณที่นำมาใช้ เพราะราคาข้าวถูกเท่าไหร่ก็ไม่มีคนห่วง
มีคนเดียวที่ห่วงคือรัฐบาล
เพราะรัฐบาลเป็นคนจ่ายเงินชดเชยราคาส่วนต่าง
ซึ่ง 2 ฤดูกาลที่เป็นการประกันรายได้รัฐบาลตั้งงบประมาณเอาไว้ 85,000 ล้านบาท
ความที่ไม่มีใครสนใจว่าราคาจะถูกหรือแพง ใช้งบจนหมดก็ไม่พอ
ทำให้ปัจจุบันเป็นหนี้ ธ.ก.ส.
เพราะ ธ.ก.ส.จะเป็นคนจ่ายเงินออกไปให้เกษตกรก่อน
แล้วถึงมาเบิกงบประมาณกับรัฐ แต่พอจะเบิกรัฐบอกโทษทีเงินหมด
เบิกอีกเท่าไหร่รู้ไหม อีก 40,000 ล้านบาท
เพราะฉะนั้น 2 ฤดูกาลใช้เงินไป 125,000 ล้านบาท ในการช่วยให้เกษตรกรได้ประโยชน์คือ
ได้ราคาตามที่รัฐบาลประกาศ
ซึ่งโครงการนี้เป็นสิ่งที่พรรคประชาธิปัตย์ภูมิใจว่าทำให้เกษตรกรขายข้าวได้ราคา
ผมก็เข้าใจแต่ถ้ามองอีกทีด้วยความที่ถูกมาตั้งแต่ต้นทาง
ท่านก็ขายถูกต่อไปส่งออกต่อไป มีใครบ้างที่ได้กินข้าวถูกกัน คนไทยกินข้าวถูกก็ดี
แต่ข้าวอีก 11 ล้านตันที่ส่งออกก็ถูกด้วยเท่ากับคุณสนับสนุนคนทั้งโลกให้กินข้าวถูกใช่หรือไม่



ถ้าผมจะเถียงคุณไตรรงค์ แต่ผมก็ยอมรับนะ
ที่คุณไตรรงค์บอกการจำนำเหมือนการที่รัฐต้องเอาทรัพยากรเข้าไปทำงานกับโครงการดังกล่าว
เพื่อดันให้ราคาข้าวสูงขึ้น การดันราคาให้ข้าวสูงขึ้น
ถ้าข้าวไทยจะสูงขึ้นได้ ข้าวเวียดนามก็ต้องสูงด้วย
เพราะถ้าเวียดนามข้าวราคาต่ำอยู่ไทยก็สูงไม่ได้
อินเดียปลูกข้าวส่งออกล้านตันราคาข้าวก็สูงขึ้นด้วย
ผมก็ยอมรับว่าการทำอย่างนั้นเป็นการช่วยเกษตรกร
เวียดนามและอินเดียให้ได้ขายข้าวในราคาที่สูงขึ้นด้วย
แต่สิ่งที่ผมบอกคือถ้าทำสำเร็จก็อย่าไปอิจฉาเวียดนามกับอินเดีย
เพราะส่วนที่จะมาดูแลให้เกษตรกรได้รายได้ที่ดี คือ
ผู้บริโภคที่เป็นคนจ่าย ผมย้ำอีกทีนะถ้าทำสำเร็จ คือผู้บริโภคเป็นคนจ่ายไม่ใช่รัฐบาล

หมายความว่าโครงการรับจำนำจะเป็นโครงการที่ยั่งยืนกว่าการประกันรายได้
ที่รัฐบาลจะต้องมาอุ้มตลอดเวลา?

กิตติรัตน์ : ถ้าพูดเรื่องคงทน เราอย่าหวังว่าเราจะต้องประกันรายได้หรือจำนำราคาทุกปี
ยังมีเรื่องโครงการที่ต้องทำ
ผมเรียนว่าโครงการที่ต้องทำบางโครงการแทนที่จะทำกันอย่างจริงๆ จังๆ ก็ไปทำกันอย่างหน่อมแน้ม
เคยได้ยินเรื่อง 1 ไร่ 1 แสนของสภาหอการค้าหรือไม่
ที่มีหลักการว่า ชาวนาจะมีที่ดินเฉลี่ยประมาณ 25 ไร่
ก็คิดว่าการที่จะทำให้ชาวนาได้รายได้ที่ดีที่สุดคือใช้ที่ดิน 25 ไร่ ทั้งหมด
แต่ข้อเท็จจริงคือ การใช้ที่ดิน 25 ไร่ โดยเกษตรกรมีคนอยู่จำกัด
ก็เท่ากับที่ดิน 25 ไร่ทำงานอย่างถูกปล่อยปละละเลย
จำนวนต้นข้าวที่ควรจะอยู่ในพื้นที่ก็ไม่เป็นไปตามหลักวิชาการ
และการมีที่ดินมากเกินกำลังความสามารถตนเอง
ก็ต้องไปจ้างรถแทรกเตอร์มาไถ กลัวผลผลิตไม่ดีก็เอาปุ๋ยเคมีมาใส่ ทุกอย่างเป็นต้นทุน
ดังนั้นกำไรที่คุณจะได้ก็เหลือนิดเดียวต่อให้คุณคูณ 25 ไร่ก็เหลือนิดเดียว
ที่หอการค้าทำก็ได้เห็นผลแล้ว
และหอการค้าก็ได้ชวนเกษตรกรที่ดิน 25 ไร่ บอกว่าคุณอย่าไปปลูกเลย 25 ไร่
คุณปลูก 2 ไร่ก็พอที่เหลือขุดบ่อเลี้ยงปลาทำอะไรไปที่ไม่ต้องจ้างคน
แต่ที่นา 2 ไร่ที่ทำเอาใจใส่ให้ดีทำไร่นาสวนผสม ปุ๋ย
แทนที่จะเป็นปุ๋ยเคมีที่ราคาสูงคุณก็เลี้ยงปลาแล้วก็ใช้มูลปลาแทน



แต่การที่รัฐบาลบอกว่ารับจำนำข้าวขั้นต่ำที่ 15,000 บาท
กลัวจะเป็นแรงจูงใจให้คนหันไปปลูกข้าวเยอะจนเกินความต้องการหรือไม่?

กิตติรัตน์ : เป็นไปได้ แต่คนละทิศ วันนี้ถ้าคุณกังวลว่าจะเป็นอย่างนั้น
คุณกังวลดีกว่าว่าคนจะเลิกปลูกข้าว
ถ้าไปดูราคามันสำปะหลังตอนนี้ราคาสินค้าเกษตรชนิดอื่นๆ ราคาขึ้นทั้งนั้น ยกเว้นข้าว
ผมไม่ได้ปรักปรำโครงการประกันรายได้ว่าทำให้ข้าวไม่ขึ้น
แต่ผมถามแล้วว่าชาวนาขายถูกก็ไม่เดือดร้อน เพราะรัฐบาลจ่ายให้
ทุกคนก็ทำงานง่ายจะมีใครใส่ใจหรือไม่ว่าข้าวจะแพง
ราคาข้าวสาลีในรอบ 5 ปีขึ้นไปเกือบเท่าตัวทำให้คนที่กินขนมปัง กินบะหมี่แพง
แต่ว่าสิ่งที่มาจากข้าวเจ้าทำไมมันต้องถูกขนาดนั้น

ที่ผ่านมาโครงการรับจำนำข้าวมักจะเจอทุจริตเสมอ แล้วจะมีวิธีแก้ปัญหาอย่างไร?



กิตติรัตน์ : ขนาดที่ทุจริตกัน (รับจำนำข้าว) งบประมาณที่ใช้ยังน้อยกว่าไม่ทุจริต (ประกันราคาฯ) เลย
ค่าที่หายไปจากโครงการประกันรายได้เกษตรกร
เพราะไม่มีคนสนใจว่าราคาข้าวควรได้ราคามากกว่านี้หายไปเยอะ
แต่พูดครั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าจะปล่อยปละละเลยนะ
ก็ต้องดูว่าที่ผ่านมาทุจริตเพราะอะไรก็ไปอุดตรงนั้น

แล้วไม่ห่วงเรื่องราคาที่สูงแล้วขายไม่ได้หรือ?

กิตติรัตน์ : ก็ห่วงเหมือนกันถึงได้บอกไง
ถ้า 5 เสือส่งออกข้าวบอกว่าไม่เอา
ผมจะซื้อถูกขายถูกก็เท่ากับคุณปลดรองนายกฯเศรษฐกิจกับ รมว.พาณิชย์เรียบร้อย

ระยะเวลาการจ่ายเงิน เพราะก่อนหน้านี้การขายข้าวให้รัฐจะได้เงินช้ามาก?

กิตติรัตน์ : เข้าใจว่าในอดีตเงินออกช้า ก็ทำให้มันได้เร็วขึ้น



ตัวเลขกลมๆที่รัฐบาลตั้งไว้ใช้ในโครงการนี้?

กิตติรัตน์ : ผมเชื่อทฤษฎีนี้นะ ถ้าทำเหมือนเดิมผลลัพธ์ไม่ดีกว่าเดิม
เพราะฉะนั้นถ้ารับจำนำข้าวแล้วทำอย่างเดิมมันก็ต้องเป็นอย่างเดิม
ข้อสังเกตคือการทำอย่างเดิมมีคอรัปชันก็ต้องมีอย่างเดิม
ดังนั้นครั้งนี้ ก็ต้องรับจำนำอย่างใหม่ คือ
เริ่มต้นจากเจ้าหน้าที่ของรัฐ ธ.ก.ส. เจ้าหน้าที่สำรวจ ที่ทำงานร่วมกันมาหลายปี
ทำไปทำมาแทนที่จะถ่วงดุลกันกลายเป็นพวกเดียวกัน
ข้าวเข้ามาไม่ถึงก็ตีว่าถึงถ้าปล่อยให้ 3 คนทำอยู่อย่างเดิมก็เสร็จสิ
แล้วจะทำอย่างไร ก็เอากระทรวงมหาดไทยมาเกี่ยวข้อง
เอานายอำเภอมาเกี่ยวข้อง เอาผู้ว่าฯมาเกี่ยวข้อง อยู่ในเคพีไอท่าน
แล้วยังไงถ้าเกิดเอามาร่วมกันเดี๋ยวกลายเป็นว่า
มีคนที่ 4 มาแทนที่จะหาร 3 กลายเป็นหาร 4 คอรัปชันอะไรหนักเข้าไปอีก
ก็ไปชวนดีเอสไอมา บอกดีเอสไอไม่ต้องไปกระชับพื้นที่
โรงสีมี 800 โรงที่ร่วมโครงการนี้ ไปสุ่มตรวจเลย
รัฐมนตรีพาณิชย์มี 1 คน รัฐมนตรีช่วย อีก 2 คน
อธิบดีที่เกี่ยวข้องแบ่งเขตแบ่งโซนไปเซอร์ไพรส์ ดูสิจะกล้าโกงหรือไม่
แล้วเทคโนโลยีสมัยนี้ติดกล้องไปเลยของเข้ามาเป็นอย่างไร มันต้องพยายามทำ
แต่ถ้าถามว่าแน่นอนหรือเปล่าไม่แน่หรอก
แต่กล้าพูดนะว่าถ้ามันจะเกิดการคอรัปชันอย่างน้อยยังมีหลักฐาน เช่น
ข้าวหายไปจากที่รับมาแต่การประกันรายได้
ซึ่งดูเหมือนไม่คอรัปชันแต่มูลค่าที่รัฐบาลเกื้อหนุนให้มันหายไปในอากาศเลยนะ

ประกันรายได้ใช้เงินประมาณ 125,000 ล้านบาท แล้วรับจำนำจะใช้งบประมาณเท่าใด?

กิตติรัตน์ : รัฐบาลเดิมมีแนวทางไว้ว่า
ถ้าจะประกันรายได้ต่อไปจะใช้งบตั้งงบไว้ 5.5 หมื่นล้านบาท ใน 1 ฤดูกาล
ส่วนผมไม่บอก ขืนบอกก็ไม่สนุกสิ (หัวเราะ)

รับประกันได้หรือไม่ว่าตัวเลขงบประมาณจะน้อยกว่านโยบายประกันราคาฯ?

กิตติรัตน์ : มันก็ชัดเจน คำว่ารับประกัน มันก็เหมือนกับ 300 บาท
ถ้าคุณทำอันนี้ทุจริตกันสะบั้นหั่นแหลก พรรคประชาธิปัตย์ ก็ไม่ไว้หรอก
เขาก็มาแถลง หนหน้าก็ไม่มีใครกล้าเลือกรัฐบาลนี้อยู่แล้ว

รับจำนำข้าวถ้ารัฐบาลรับซื้อ 1.5 หมื่นบาท ถ้าขายรัฐบาลจะต้องขายมากกว่า
หรือ เท่ากับ 1.5 หมื่นบาทมองตลาดที่จะขายอย่างไร?



กิตติรัตน์ : ไม่จำเป็น ถ้าผมซื้อ 1.5 หมื่น ขาย 1.4 หมื่น
ใครจะว่าผม ขายขาดทุนอันนี้ก็ยังดีกว่าขาดทุน 3-4 พัน อันนี้ผมขาดทุน 1 พันบาท

แล้วยุทธวิธีที่จะนำข้าวที่รับจำนำไปขายคิดว่าจะต้องมียุทธวิธียังไง เพราะราคาสูง?

กิตติรัตน์ : ขายก่อน

คู่แข่งที่ขายข้าวมีเยอะ?

กิตติรัตน์ : ถ้าเกิดราคาข้าวเป็นแบบนี้ก็ไม่มีใครปลูกกันนักหนาหรอก
ดูราคาข้าวก่อนว่าน่าปลูกหรือไม่
ราคา 500 กว่าดอลลาร์สหรัฐฯ ไม่มีใครจะไปปลูก ไปทำมันสำปะหลังดีกว่า
เมืองจีนก็ปลูกมันสำปะหลังกันสะบั้นหั่นแหลกเลย
อีสานใครไปตอนนี้ใครปลูกมันสำปะหลังก็ยิ้มแย้มแจ่มใส
ใครปลูกข้าวก็หน้าเหี่ยว เพราะฉะนั้นต้องดูรอบตัวด้วยนะ
ผมเข้าใจคำถามนะว่ามันมีปัญหาเยอะ และบนภาพใหญ่ทั้งหมดมันมีความประทับใจ
แต่ถ้ามันไม่มีความประทับใจ
คนที่เป็นชาวนาต้องขายข้าวราคากระจอกเท่าเดิมไม่มีวันเคลื่อนไหว
ไม่สงสารบ้างเหรอ 4-5 ล้านครัวเรือน ดังนั้นเป็นหน้าที่ต้องทำ



ผมก็เห็นใจรัฐบาลที่แล้ว ที่เลือกที่จะทำประกันรายได้
เพราะคิดไม่ถึงว่าจะต้องใช้เงินขนาดนั้น จริงๆตั้งงบไว้เพียง 85,000 ล้านบาท
แต่ที่ต้องใช้อีก 40,000 ล้านบาท
เพราะเกินเป้าแสดงว่า 40,000 ล้านบาทที่หายไป
จากการที่ไม่มีใครมีกำลังใจในการช่วยดันราคาข้าว
ถือว่ารัฐบาลท่ีแล้วอ่านพลาดไป คือ
ผมไม่ได้ตำหนินะในทางทฤษฎีเรียกว่าถึงมือคนทุกคนจริงๆ
สมมติคุณขึ้นทะเบียน 20 กว่าไร่
แต่ปรากฏว่าปลูกไปกลางทางผลผลิตเสียหายชาวนาก็มาบอกว่าขอเอาส่วนต่าง
ซึ่งถ้าจะบอกว่าโกง ไม่ได้โกงคือชาวนาก็ยังได้ส่วนตรงนั้นไปชดเชยความเสียหาย
หรือแม้แต่ปลูกมากินเองก็ยังได้รับส่วนต่างก็ดี
เพราะผมเชื่อว่าในข้อดีเหล่านี้จะช่วยให้เกษตรกรมีรายได้ที่ดีขึ้น
เท่ากับเป็นการประกันความเสียหายจากภัยธรรมชาติโดยอัตโนมัติ
และผมก็ยอมรับว่ามีข้อดี แต่ที่ผมบอกว่ามันเป็นข้อเสีย
ที่ผมหาคำตอบไม่ได้ถ้าเกิดทำแบบเดิมแล้วมีคนมาช่วยกันทำให้ราคาไม่ต่ำกว่าขนาดนั้นได้
เราก็อยากทำนะประกันรายได้ เพราะค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการแทบไม่มี
การจำนำต้องมีค่าเช่าโกดังต้องมีกระบวนการในการทำงาน
เบ็ดเสร็จก็เกือบ 10,000 ล้านบาท เฉพาะค่าบริหารจัดการ
แต่ถ้าโครงการนี้ทำได้หมดจดจริงๆ 15, 000 บาทก็ขายได้ 15,000 บาท
ไม่ต้องถึงขนาดได้กำไรก็จะเสียหายเพียง 10,000 ล้านบาท

ดังนั้นในมุมของรัฐบาลก็มีสิทธิ์คิดใช่หรือไม่
ว่าถ้าเราทำงานเต็มที่ทั้งมีฝีมือ ทั้งไม่คอรัปชัน ทั้งโชคช่วยเราจะเสียแค่ 10,000 ล้านบาท
แต่ถ้าบอกว่าโชคก็ไม่ช่วยป่วยด้วยทุจริตอีก เสียหายมากกว่า 55,000 ล้านบาท
แต่หน้าที่ของคนทำงานก็มีสิทธิ์คิดใช่หรือไม่ ว่า
ถ้าเราทำงานอย่างดีน่าจะเป็นอย่างนั้นได้ คราวนี้
ถ้าบอกว่าเราจะทำให้มันดีกว่านั้นอีกได้หรือไม่ ผมว่าได้นะ เช่น
ข้าวหอมมะลิ ทั้งหมดมีแค่ 5 ล้านตัน ของบริษัท ไทยจัสมินไรซ์
แต่การที่เราตั้งราคาข้าวหอมมะลิแค่ 20,000 บาท เพราะว่าคุณภาพข้าวดีมาก
กับอีกข้อคือ คนที่ปลูกข้าวหอมมะลิ ซีซั่นนึงปลูกได้เพียงคร้ังเดียว
และถ้าเกิดคนไม่อยากปลูกเพราะที่ปลูกข้าวหอมมะลิ
ก็ปลูกมันสำปะหลังได้เหมือนกันเกิด บริษัท ไทยจัสมินไรซ์ เกิดไปไหนหมดทำไง

ข้าวหอมมะลิผมก็แบ่งสนามเป็น 2 สนามเหมือนการทำเรื่องฟุตบอล
ถ้าอยากชนะสักสนาม อยากเสมอสักสนาม อยากชนะแล้วกลายเป็นเสมอได้หรือไม่
ถามว่าอยากชนะคืออะไร
ถ้าเกิดข้าวเปลือกหอมมะลิที่ตั้งราคาจำนำไว้ 20,000 บาท
ถ้าราคาตลาดเลยไปเป็น 21,000-22,000 บาทล่ะ
แล้วถ้าถามว่าจะเป็นไปได้ยังไงก็ของมีน้อย และของมีคุณภาพดีด้วย
และทุกคนก็รู้ว่าไทยจัสมินไรซ์ ไม่มีอะไรมาเทียบเคียง
และถ้าเราทำกระบวนการตรงนี้ให้มันดีมันมีโอกาสหรือไม่
เพราะประเทศที่เป็นผู้บริโภคข้าวหอมมะลิมักจะเป็นประเทศที่กำลังซื้อดี กำลังซื้อดีราคาไม่อั้น
แล้วถ้าสูงไปตรงนั้นเราไม่ต้องจำนำได้หรือไม่ เราไม่ต้องขาดทุนได้หรือไม่
เพราะถ้าเป็นสนามนี้ถ้าเป็นฟุตบอลก็อยากชนะสนามนี้ ถ้าตรงนี้ทำสำเร็จ
ระหว่างของมีคุณภาพกับของมีคุณภาพรอง โอกาสตรงนี้ที่มันจะเป็น 15,000 บาท ก็มีนะ
ผมก็ไม่ได้เล็งผลเยอะขนาดว่าตรงนี้จาก 15,000 บาทจะเป็น 16,000 บาท
เพราะเรารู้ว่าตลาดมันใหญ่กว่าจำนวนมันหลาย 10 ล้านตัน
และกลุ่มคนที่เป็นประเทศผู้บริโภคก็อาจจะไม่ได้เป็นประเทศ
ที่มีกำลังซื้อชนิดที่จ่ายสบายๆ แบบเหมือนกลุ่มนึงใช่มั้ย.



ติดตามบทสัมภาษณ์พิเศษ
"กิตติรัตน์ ณ ระนอง" ตอนที่ 3 เรื่องงบประมาณและราคาสินค้า ได้ที่นี่เร็วๆนี้


http://www.thairath.co.th/content/eco/197970