ส่งเสริมคนดีให้ได้ปกครองบ้านเมือง

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

Friday, 19 August 2011

1ปี3เดือนฆ่าหมู่ราชประสงค์ ฮิวแมนไรต์ฯกดดันปูเอาผิดฆาตกร-ฟันหัวโจกพธม.หลังดองคดี3ปีลอยนวล

ที่มา Thai E-News



โดย ทีมข่าวไทยอีนิวส์
19 สิงหาคม 2554

1ปี3เดือนรำลึกนักสู้ธุลีดิน,ให้กำลังใจนักโทษการเมือง,ยื่นประกันทั่วประเทศ


ในวันนี้( 19 สิงหาคม ) ครบรอบ 1 ปี 3 เดือน การสลายการชุมนุม ณ ราชประสงค์ มีกิจกรรมหลายอย่าง คือกลุ่มญาติวีรชน นำโดยคุณพะเยาว์ อัคฮาด คุณแม่น้องเกด ร่วมกับ กลุ่มนักกิจกรรมเสื้อแดงอีกหลากหลายกลุ่ม ร่วมกันจัดกิจกรรมทำบุญ ที่วัดปทุมในเวลา 10 โมงเช้าที่บริเวณวัดปทุมวนาราม

นักกิจกรรมกลุ่มต่างๆร่วมกันจัดพิธี เผากงเต็กให้วีรชน หน้าป้ายราชประสงค์ ในเวลา 5 โมงเย็น และตั้งเวทีปราศัยรำลึกวีรชน พิธีจุดเทียนแดง ร่วมร้องเพลงนักสู้ธุลีดิน การปราศรัยของภาคพลเมืองโดยเวทีราษฎร

กิจกรรม"ของขวัญสีแดง แด่เพื่อนสีแดง"ครั้งที่ 2 แสดงพลังและแสดงน้ำใจเพื่อเพื่อนเราในเรือนจำทั่วประเทศ พร้อมๆกัน และจะมอบน้ำใจ เป็น ของใช้ที่จำเป็นแด่เพื่อนผู้ต้องขังในเรือนจำ

รวมไปถึงกิจกรรมส.ส.พรรคเพื่อไทยรวมพลังยื่นประกันนักโทษการเมืองทั่วประเทศที่ยังติดคุกอยูมากกว่า 100 รายทั่วประเทศ

เตรียมขุดศพที่ระยอง100กว่ารายตรวจพิสูจน์เป็นศพเสื้อแดงหรือไม่


สำนักข่าวไทย รายงาน ว่า เมื่อเวลา 16.30 น.วานนี้ พล.ต.ท.สัณฐาน ชยนนท์ ผู้บัญชาการสำนักกฎหมายและคดี สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พร้อมคณะ เดินทางลงพื้นที่ จ.ระยอง เพื่อตรวจสอบศพที่ฝังอยู่ตามวัดต่างๆ ในเขตอำเภอแกลง จ.ระยอง หลังได้รับการร้องเรียนจากนายระพินทร์ พรานนท์สถิต แกนนำคนเสื้อแดงระยอง ว่ามีการนำศพกว่า 100 ราย มาฝังตามวัดต่างๆ ในเขตอำเภอแกลง ซึ่งศพดังกล่าวอาจจะเป็นศพคนเสื้อแดงที่หายไป

จากการตรวจสอบวันนี้ พบว่าบริเวณป่าช้าของวัดต่างๆ ที่มีการฝังศพจำนวนมากดังกล่าวรวม 3 วัด แยกเป็นวัดคลองตากวา หมู่ 1 ต.ซากพง จำนวน 72 ศพ วัดสมอโพรง 32 ศพ และวัดห้วยยาง 61 ศพ ทั้งนี้ จากการสอบถามเจ้าอาวาสวัดต่างๆ ทราบว่าศพจำนวนมากดังกล่าวถูกนำมาฝากฝังไว้ตั้งแต่ต้นเดือนเมษายน 2553 ไม่มีหลักฐานการตายที่ชัดเจน โดยทางมูลนิธิพุทธศาสตร์สงเคราะห์ อ.แกลง นำมาจาก จ.ชุมพร มาฝากฝังไว้ และจะทำการขุดในปี 2555 เบื้องต้นได้สั่งอายัดศพทั้งหมดไว้เพื่อจะขุดขึ้นมาตรวจพิสูจน์ดีเอ็นเอและ ตรวจพิสูจน์เอกลักษณ์ว่าจะเป็นคนเสื้อแดงที่หายไปหรือไม่ คาดว่าจะเริ่มขุดในวันพรุ่งนี้

ฮิวแมนไรต์ว็อชต์ยื่นหนังสือนายกฯยิ่งลักษณ์ให้อำนาจคอป.เอาผิดผู้บงการสังหารหมู่-เร่งเอาผิดแกนนำเสื้อเหลือง



3 พฤษภาคม 2554 ฮิวแมนไรท์ว็อตช์แถลงยันทหารฆ่าเสื้อแดง แต่กลับไม่ถูกดำเนินคดี

เมื่อวันที่ 15 สิงหาคมที่ผ่านมา ฮิวแมนไรท์วอทช์ องค์กรสิทธิมนุษยชนชั้นนำของโลกที่เคยชี้ชัดว่า ทหารได้สังหารคนเสื้อแดงและเรียกร้องอย่าปล่อยคนผิดลอยนวล เพราะไม่เคยมีการดำเนินคดีกับทหารและรัฐบาล ได้ส่งข้อเสนอนโยบายสิทธิมนุษยชนถึงนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร (รายละเอียดของคำแปลภาษาไทยของจดหมายฉบับเต็มตามเอกสารแนบด้านท้ายข่าวนี้) โดยมีประเด็นสำคัญที่ขอให้รัฐบาลดำเนินการอย่างเร่งด่วนเพื่อแสดงเจตนารมณ์ ในการแก้ไขปัญหาสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย ดังต่อไปนี้ คือ

1.ให้ออกคำสั่งอย่างชัดเจน และเปิดเผยให้กองทัพ, ตำรวจ และหน่วยงานอื่นๆ ของรัฐบาลรวมมืออย่างเต็มที่กับการสอบสวนรายงานการละเมิดสิทธิมนุษยชน

2.ผ่านมติคณะรัฐมนตรีที่มอบอำนาจในการออกหมายเรียกพยานหลักฐานแก่ คอป. และมอบทรัพยากรที่จำเป็นต่อการที่ คอป. จะสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างเป็นอิสระ และมีประสิทธิภาพ

3.ประเมินสถานะของผู้ที่ถูกควบคุมตัวอยู่ในคดีที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุม ประท้วงของ นปช. และคดีที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์การก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อรับรองว่า บุคคลเหล่านั้นได้รับการปฏิบัติอย่างเหมาะสมตามหลักนิติรัฐ และมาตรฐานด้านสิทธิมนุษยชน ซึ่งรวมถึงสิทธิในการได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวด้วยประกันตัว

4.ยุติมาตรการปิดกั้นสื่อทั้งหมดที่มีลักษณะเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพในการ แสดงออกทันที และประกาศนโยบายที่เป็นรูปธรรมเกี่ยวกับการแก้ไขพระราชกำหนดการบริหาราชการ ในสถานการณ์ฉุกเฉิน,พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับ คอมพิวเตอร์ และกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับความผิดฐานหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์

โดยมีรายละเอียดของหนังสือที่ยื่นต่อนายกฯยิ่งลักษณ์ ดังต่อไปนี้


เรื่อง วาระด้านสิทธิมนุษยชนสำหรับรัฐบาล
เรียน ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี

ขอแสดงความยินดีต่อชัยชนะในการเลือกตั้งของท่าน และการที่ท่านรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของประเทศไทย อ

ฮิวแมนไรท์วอทช์ เป็นองค์การเอกชนที่ตรวจสอบ และรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนด้านต่างๆ ในกว่า 90 ประเทศทั่วโลก โดยเราได้รายงานสถานการณ์เกี่ยวกับประเทศไทย และภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาเกือบสามทศวรรษ

ในระหว่างที่ท่านกำลังเตรียมร่างคำแถลงนโยบายของรัฐบาลต่อรัฐสภานั้น เราขอเรียกร้องในท่านระบุแนวทางแก้ไขประเด็นปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนที่สำคัญๆ ในประเทศไทย ดังต่อไปนี้

การรับผิดต่อความรุนแรงทางการเมือง และการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องกันกับเหตุการณ์รุนแรงทางการเมือง
ระหว่างเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคม 2553 ประเทศไทยเผชิญกับความขัดแย้งทางการเมืองที่รุนแรงที่สุด นับตั้งแต่การชุมนุมประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตย และต่อต้านรัฐบาลทหารเมื่อปี 2535 โดยมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 90 คน และบาดเจ็บอีกมากกว่า 2,000 คน

การวิจัยของฮิวแมนไรท์วอทช์พบว่า ปัจจัยที่นำไปสู่การสูญเสียดังกล่าวประกอบด้วย การ ที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงของรัฐบาลใช้กำลังในระดับที่ทำให้ถึงแก่ชีวิต อย่างเกินกว่าเหตุ และปราศจากความจำเป็น, การโจมตีที่เกิดขึ้นจากกองกำลังติดอาวุธภายในแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้าน เผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หรือที่รู้จักกันในชื่อ “เสื้อแดง”, และการที่แกนนำบางคนของ นปช. ปลุกปั่นให้เกิดความรุนแรง (ดูรายละเอียดในรายงานของฮิวแมนไรท์วอทช์ “Descent into Chaos” (http://www.hrw.org/reports/2011/05/03/descent-chaos)

อย่างไรก็ตาม ขณะที่แกนนำผู้ชุมนุมประท้วง และสมาชิกระดับต่างๆ ของนปช. ถูกตั้งข้อหาว่ากระทำความผิดร้ายแรง กลับปรากฏว่า มีความคืบหน้าน้อยมากในการทำงานของกรมสอบสวนคดีพิเศษ และตำรวจในการดำเนินคดีกับทหาร และเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน

เราขอเรียกร้องให้ขั้วการเมืองฝ่ายต่างๆ ให้การสนับสนุน และมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันในกระบวนการสอบสวนที่มีความน่าเชื่อถือ, เป็นอิสระ และไม่เข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเกี่ยวกับเหตุการณ์รุนแรงทางการเมือง และการละเมิดสิทธิมนุษยชน
รัฐบาลไทยจำเป็นจะต้องนำตัวผู้ที่รับ ผิดชอบมาลงโทษเพื่อให้เกิดความยุติธรรมต่อผู้ที่ตกเป็นเหยื่อของความรุนแรง และการละเมิดสิทธิมนุษยชน รวมทั้งยังจะช่วยยุติวงจรของความรุนแรง และวัฒนธรรมการไม่รับผิดที่ดำรงอยู่อย่างต่อเนื่องในประเทศไทย

รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะตั้งคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อความปรองดองแห่ง ชาติ (คอป.) ขึ้นเพื่อทำหน้าที่สอบสวน และนำเสนอรายงานเกี่ยวกับเหตุการณ์รุนแรงที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2553

อย่างไรก็ตาม คอป. กลับไม่มีอำนาจในการออกหมายเรียกพยานหลักฐานต่างๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่มีความจำเป็นในการซักถามพยานที่ไม่เต็มใจที่จะร่วมมือด้วย โดยเฉพาะตำรวจ และทหาร นอกจากนี้ คอป. ยังไม่ได้รับข้อมูลที่ครบถ้วนเกี่ยวกับแผนการจัดกำลัง และปฏิบัติการ, รายงานการชันสูตรศพ, ปากคำของพยาน, ภาพถ่าย และวิดีโอจากกองทัพ และ ตำรวจ

เรายินดีที่ท่านกล่าวระหว่างการรณรงค์หาเสียง และภายหลังการเลือกตั้งว่า รัฐบาลของท่านจะให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ต่อการสอบสวนของ คอป. ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการปรองดอง

เราขอเรียกร้องให้รัฐบาลของท่านมอบอำนาจในการออกหมายเรียกพยานหลักฐานแก่ คอป. และจัดหาทรัพยากรที่จำเป็นต่อการปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นอิสระ และมีประสิทธิภาพของ คอป. พร้อมกันนั้น รัฐบาลของท่านควรรับรองว่า กองทัพบก และเหล่าทัพต่างๆ, ตำรวจ และหน่วยงานของรัฐอื่นๆ จะให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่กับ คอป. และกระบวนสอบสวนของคณะกรรมาธิการชุดต่างๆ ของรัฐสภา และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน

นอกจากนี้ เราขอเรียกร้องให้รัฐบาลของท่านอนุญาตให้ คอป. สามารถรับการ สนับสนุนด้านต่างๆ อย่างเต็มที่จากสำนักงานข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ และหน่วยงานอื่นๆ ของสหประชาชาติ, รัฐบาลต่างชาติ และองค์การสิทธิมนุษยชนต่างๆ ที่อยู่ในประเทศไทย และต่างประเทศ

การสอบสวนของ คอป. พบว่า มีคนนับร้อยที่ถูกควบคุมตัวเนื่องจากมีส่วนเกี่ยวข้องกับการชุมนุมประท้วง ทางการเมืองเมื่อปีที่แล้วนั้น โดยถูกตั้งข้อกล่าวหาร้ายแรงอย่างเหวี่ยงแห และปราศจากหลักฐานสนับสนุนที่เพียงพอ อันเป็นผลมาจากแรงกดดันทางการเมืองของรัฐบาลชุดที่แล้ว

บุคคลเหล่านั้นจำนวนไม่ได้รับการประกันตัว รัฐบาลของท่านควรเร่งดำเนิน การตรวจสอบสถานของบรรดาผู้ที่ถูกควบคุมตัวดังกล่าว และรับรองว่า พวกเขาจะได้รับการปฏิบัติตามหลักนิติธรรม และมาตรฐานด้านสิทธิมนุษยชน เช่น สิทธิในการมีที่ปรึกษาทางกฎหมาย และสิทธิในการได้รับการประกันให้ปล่อยตัวชั่วคราวในกรณีที่ไม่เหตุผลที่ เชื่อได้ว่า บุคคลเหล่านนั้นจะหลบหนี, แทรกแซงพยานหลักฐาน หรือก่ออันตรายต่างๆ

จนถึงขณะนี้ ยังไม่มีความสำเร็จในการสอบสวนอย่างจริงจังเกี่ยวกับการ ละเมิดสิทธิมนุษยชน และการกระทำความผิดทางอาญาของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) หรือที่รู้จักกันในชื่อ “เสื้อเหลือง” ซึ่งเกิดขึ้นระหว่างการชุมนุมประท้วงเมื่อปี 2551 การดำเนินคดีกับแกนนำ และสมาชิกของ พธม. มีความล่าช้า โดยหลายคดียังไม่มีการไต่สวนในศาล เช่นเดียวกันกับความล่าช้าในการชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการชุมนุมประท้วงของ พธม.

ขณะเดียวกันรัฐบาลที่ผ่านมาก็ไม่ได้มีความคืบหน้าในการเอาผิดกับนักการเมือง ที่ถูกระบุว่า เป็นผู้รับผิดชอบสั่งการให้ตำรวจใช้ความรุนแรงเกินกว่าเหตุในการสลายผู้ ชุมนุมประท้วง พธม. ที่บริเวณหน้ารัฐสภาเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2551

ดังนั้น เราจึงขอเรียกร้องให้ท่านจัดให้มีการสอบสวนอย่างเป็นอิสระ, โปร่งใส และไม่เข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเกี่ยวกับความรุนแรง และการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นระหว่างความขัดแย้งทางการเมืองเมื่อปี 2551 ด้วย

ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการส่งเสริมความยุติธรรม และความปรองดองทางการเมือง
รัฐบาล ไทยควรจัดให้มีการชดเชย และเยียวยาอย่างรวดเร็ว, เป็นธรรม และเพียงพอแก่เหยื่อ และครอบครัวของพวกเขาจากกรณีที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรง, การละเมิดสิทธิมนุษยชน และการกระทำความผิดอื่นๆ โดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ ขณะเดียวกันก็ควรจะต้องให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ที่เสียชีวิต, ได้รับบาดเจ็บ หรือสูญเสียทรัพย์สินเนื่องจากการชุมนุมประท้วงด้วย

ประการสุดท้าย เป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องมีการปฏิรูปหน่วยงานที่ทำหน้าที่บังคับใช้ กฏหมายอย่างจริงจังเพื่อให้เจ้าหน้าที่สามารถรับมือกับการชุมนุมประท้วงได้ อย่างสอดคล้องกับมาตรฐานระหว่างประเทศ ซึ่งรวมถึงหลักการพื้นฐานของสหประชาชาติว่าด้วยการใช้กำลัง และอาวุธปืนของเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย

ทั้งนี้ การปฏิรูปดังกล่าวควรจะต้องครอบคลุมถึงการจัดการฝึกอบรม และการฝึกทบทวนเป็นระยะๆ เพื่อให้ตำรวจสามารถรับผิดชอบสถานการณ์ความมั่นคงภายในประเทศ เช่น การควบคุมเหตุการณ์จลาจล และการชุมนุมประท้วงได้อย่างมีประสิทธิภาพ และในขณะเดียวกันก็จะต้องดำเนินการเอาผิดกับให้เจ้าหน้าที่คนใดก็ตามที่ ละเมิดสิทธิมนุษยชนระหว่างปฏิบัติการสลายการชุมนุมประท้วง

ความรุนแรง และการละเมิดสิทธิมนุษยชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้

นับตั้งแต่เดือนมกราคม 2547 จังหวัดปัตตานี, ยะลา และนราธิวาสที่ชายแดนภาคใต้ของประเทศไทยกลายเป็นฉากของความขัดแย้งที่มีการ ใช้กำลังอาวุธอย่างเหี้ยมโหด ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตไปแล้วมากกว่า 4,000 คน โดยประมาณร้อยละ 90 ของผู้เสียชีวิตเป็นพลเรือน ทั้งไทยพุทธ และมลายูมุสลิม กลุ่มนักรบเพื่อเอกราชปัตตานี (Pejuang Kemerdekaan Patani) ในเครือข่ายขบวนการแบ่งแยกดินแดนของแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติ (Barisan Revolusi Nasional-Coordinate) ก่อเหตุโจมตี และสังหารพลเรือนเป็นประจำ จนสร้างความหวาดกลัวแผ่ไปในวงกว้าง

รายงานของฮิวแมนไรท์วอทช์เรื่อง “No One Is Safe” (http://www.hrw.org/en/reports/2007/08/27/no-one-safe) ระบุว่า กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบใช้ความรุนแรงเป็นเครื่องมือขับไล่ชาวไทยพุทธ, ควบคุมชาวมลายูมุสลิม และบ่อนทำลายความน่าเชื่อถือของทางการไทย

ขณะเดียวกัน ปฏิบัติการของรัฐบาลในการต่อต้านกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบก็ส่งผลให้เกิดการ ละเมิดสิทธิมนุษยชนจำนวนมาก เช่น การสังหารนอกกระบวนการยุติธรรม, การบังคับให้สูญหาย, การคุมขังโดยพลการ และการทรมาน รวมทั้งการที่บุคลากรบางส่วนในกองกำลังฝ่ายความมั่นคง และหน่วยอาสาสมัครของรัฐบาลปฏิบัติการแบบตาต่อตา-ฟันต่อฟันเพื่อตอบโต้การ โจมตีของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ แต่กลับยังไม่มีนำตัวเจ้าหน้าที่ที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงใน จังหวัดชายแดนภาคใต้มาดำเนินคดีลงโทษได้สำเร็จแม้แต่รายเดียว จนถึงขณะนี้

รัฐบาลทุกชุดที่ผ่านมาล้มเหลวในการแก้ไขคดีเกี่ยวกับการบังคับบุคคลให้สูญ หายที่ฮิวแมนไรท์วอทช์ระบุไว้ในรายงานเรื่อง “It Was Like Suddenly My Son No Longer Existed” (http://www.hrw.org/reports/2007/03/19/it-was-suddenly-my-son-no-longer-existed)

พระราชกำหนดการบริหาราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งมีการบังคับใช้ในจังหวัดชายแดนภาคใต้มาตั้งแต่ปี 2548 ปกป้องเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่งคง และเจ้าหน้าที่อื่นๆ ของรัฐไม่ให้ถูกลงโทษจากการกระทำส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นจากการใช้อำนาจฉุกเฉิน ปัญหาที่การละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยเจ้าหน้าที่ขอรัฐยังคงดำเนินไปอย่างต่อ เนื่อง และปราศจากการรับผิดนั้นเป็นเงื่อนไขสำคัญที่กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบนำมาใช้ อ้างเพื่อสร้างความชอบธรรมในการก่อเหตุโจมตีต่างๆ และการรับสมาชิกใหม่เข้าร่วมขบวนการ

เพื่อตอบสนองต่อสถานการณ์ที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ รัฐบาลของท่านควรจัดทำยุทธศาสตร์ความมั่นคงอย่างรอบด้านที่สอดคล้องกับ กฏหมายระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน และด้านมนุษยธรรม ขณะเดียวกันก็จำเป็นที่รัฐบาลของท่านจะต้องสถาปนาอำนาจที่ชอบธรรมของฝ่าย พลเรือนในการกำกับดูแลการปฏิบัติหน้าที่ของกองทัพ และหน่วยงานด้านความมั่นคงอื่นๆ ซึ่งรวมถึงการต้องมีการสอบสวนอย่างรวดเร็ว, เป็นอิสระ และไม่เข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเกี่ยวกับข้อกล่าวหาว่า เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง และเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานอื่นๆ ของรัฐละเมิดสิทธิมนุษยชน

โดยเมื่อพบตัวผู้กระทำความผิดก็จะต้องดำเนินการลงโทษ ไม่ว่าบุคคลเหล่านั้นจะมียศ หรือตำแหน่งอะไรก็ตาม
เพื่อตอบสนองต่อข้อร้องเรียนจำนวนมากเกี่ยวการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิด ขึ้นระหว่างการควบคุมตัว รัฐบาลของท่านควรจะรับรองว่า บุคคลทั้งหมดที่ถูกควบคุมตัวโดยตำรวจ หรือเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงนั้นจะถูกนำตัวไปไว้ในสถานที่ควบคุมตัวอย่าง เป็นทางการ และจะต้องไม่ถูกซ้อมทรมาน หรือถูกปฏิบัติอย่างโหดร้ายปราศจากมนุษยธรรม หรือถูกดูหมิ่นศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ผู้ที่ถูกควบคุมตัวควรจะได้รับอนุญาตให้สามารถติดต่อกับครอบครัวอย่างสมํ่า เสมอ และสามารถติดต่อกับทนายความได้อย่างไม่มีอุปสรรคขัดขวางใดๆ นอกจากนี้

เราขอเรียกร้องให้รัฐบาลของท่านเร่งลงนาม และให้สัตยาบันอนุสัญญาว่าด้วยการป้องกันบุคคลจากการถูกบังคับให้สูญหาย และพิธีสารรับ เลือกของอนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมาน รวมทั้งควรจะต้องดำเนินการให้กฎหมาย และมาตรการปฏิบัติต่างๆ ของประเทศไทยมีความสอดคล้องกับกติการะหว่างประเทศดังกล่าวด้วย

ขณะที่ความรุนแรง และการละเมิดสิทธิมนุษยชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังคงดำเนินไปเช่นนี้ รัฐบาลของท่านควรจัดให้มีการเยียวยาอย่างรวดเร็ว, เป็นธรรม และเพียงพอแก่เหยื่อ และครอบครัวของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยเจ้า หน้าที่ฝ่ายความมั่นคง และเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานอื่นๆ ของรัฐ นอกจากนี้ รัฐบาลของท่านยังควรจะให้ความช่วยเหลือแก่เหยื่อของการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบด้วย

นโยบายปราบปรามสิทธิมนุษยชนที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน

เราเห็นด้วยว่า การเสพ และการค้ายาเสพติดเป็นปัญหาร้ายแรงในประเทศไทย แต่เราร้องขอให้ท่านอย่านำเอานโยบายที่ไร้มนุษยธรรมของรัฐบาลชุดก่อนๆ มาใช้ เราขอแนะนำให้ท่าน และรัฐบาลของท่านหลีกเลี่ยงที่จะกำหนดเป้าหมายในการ “กำจัด” ยาเสพติดให้หมดสิ้นไปภายในหนึ่งปี ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ว่าจะเป็นประเทศใดในโลกก็ไม่สามารถปฏิบัติได้จริง การกดดันเจ้าหน้าที่ผู้รักษากฎหมาย และเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองส่วนท้องถิ่นต้องตอบสนองต่อเส้นตายที่ไม่สมเหตุสม ผลดังกล่าวจะนำไปสู่การฆาตกรรม และการละเมิดสิทธิมนุษยชนอื่นๆ

ดังที่ฮิวแมนไรท์วอทช์บันทึกไว้ในรายงานเกี่ยวกับนโยบาย “สงครามต่อต้านยาเสพติด ปี 2546” เรื่อง “Not Enough Graves” (http://www.hrw.org/reports/2004/07/07/not-enough-graves)
ในชั้นต้น

รัฐบาลของท่านควรจะรับรองว่า นโยบายด้านการปราบปรามยาเสพติดจะต้องไม่ซํ้ารอยความผิดพลาดที่เคยเกิดขึ้นใน อดีต คณะกรรมการอิสระตรวจสอบศึกษาวิเคราะห์การกำหนดนโยบาย และปฏิบัติการปราบปรามยาเสพติด (คตน.) ที่ตั้งขึ้นเมื่อปี 2550 พบว่า การกำหนดนโยบาย และการประเมินผล “สงครามยาเสพติด” ถูกผลักดันจากเป้าหมายทางการเมืองมากกว่าที่จะยึดกรอบการเคารพสิทธิมนุษยชน และกระบวนการนิติรัฐ เราขอเรียกร้องให้รัฐบาลของท่านดำเนินการตามคำแนะนำของ คตน. ด้วยการจัดให้มีการสอบสวนเพิ่มเติมเกี่ยวกับการที่มีคนถูกฆาตกรรมไปมากถึง 2,819 คนในระหว่างการทำ “สงครามต่อต้านยาเสพติด” เมื่อปี 2546 เพื่อที่จะนำตัวคนผิดมาลงโทษ และยุติวงจรของการละเมิดสิทธิมนุษยชน และการไม่รับผิดที่ดำรงอยู่ในปฏิบัติการปราบปรามยาเสพติด นอกจากนี้ รัฐบาลของท่านยังควรที่จะมีนโยบายเกี่ยวกับการชดเชยอย่างรวดเร็ว, เป็นธรรม และเพียงพอแก่เหยื่อ และครอบครัวของผู้ที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนในบริบทของปฏิบัติการปราบปรามยา เสพติด

นอกจากนี้ เรายังมีความกังวลอย่างมากเกี่ยวกับนโยบายของรัฐบาลชุดที่แล้วเกี่ยวกับการ บังคับให้ผู้เสพยาเสพติดเข้ารับการบำบัดในศูนย์ที่ควบคุมโดยกองทัพ และกระทรวงมหาดไทย โดยแต่ละปีมีคนประมาณ 10,000 ถึง 15,000 คนถูกส่งตัวเข้าไปรับการบำบัดการเสพยาเสพติดในศูนย์ที่ใช้วิธีการออกกำลัง แบบการฝึกทหารเป็นหลัก

คนจำนวนมากที่มีอาการลงแดงระหว่างอยู่ที่ศูนย์บำบัดดังกล่าวไม่ได้รับการ รักษาพยาบาลอย่างเพียงพอ และคนจำนวนมากหวนกลับไปใช้ยาเสพติดอีกครั้งหนึ่งภายหลังจากที่ถูกปล่อยตัว ออกจากศูนย์บำบัด

เราขอแนะนำให้รัฐบาลของท่าน ดำเนินมาตรการที่เป็นรูปธรรมในการลดความหวาดกลัวของผู้ใช้ยาเสพติดในการที่ จะเข้ารับบริการสาธารณสุขด้วยการประกาศว่า ผู้ใช้ยาเสพติดที่ไปแสดงตัวขอรับบริการดังกล่าวจะไม่ถูกดำเนินคดีลงโทษ หรือบังคับให้เข้ารับการบำบัดโดยไม่สมัครใจ นอกจากนี้ รัฐบาลของท่านยังควรจะยกเลิกนโยบายใดๆ ที่มีผลในทางที่กระตุ้นให้เจ้าหน้าที่ผู้รักษากฎหมาย และเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองส่วนท้องถิ่นจับกุมผู้ที่ต้องสงสัยว่าใช้ยาเสพติด เพื่อตอบสนองต่อเป้าหมายจำนวนผู้เข้ารับการบำบัดที่กำหนดไว้ล่วงหน้า

การคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงออก

เสรีภาพในการแสดงเป็นสิ่งจำเป็นต่อกระบวนการส่งเสริมประชาธิปไตย และการปรองดองทางการเมืองในประเทศไทย อย่างไรก็ตาม ได้มีการปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์ และคัดค้านรัฐบาลมากขึ้นเรื่อยๆ นับตั้งแต่เหตุการณ์รัฐประหารเมื่อปี 2549 เป็นต้นมา และเพื่อตอบโต้ต่อการชุมนุมประท้วงต่อต้านรัฐบาลโดย นปช.

เมื่อปีที่แล้ว ทางการไทยได้ยังคับใช้อำนาจฉุกเฉินปิดเว็บไซต์มากกว่า 1,000 เว็บไซต์, สถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม, สถานีโทรทัศน์ออนไลน์, สิ่งพิมพ์ และสถานีวิทยุชุมชนมากกว่า 40 สถานี ถึงแม้จะมีการยกเลิกสถานการณ์ฉุกเฉินไปเมื่อเดือนธันวาคม 2553

รัฐบาลชุดที่แล้วก็ยังคงมุ่งปิดกั้นสื่อต่างๆ ของ นปช. ต่อไป ยกตัวอย่างเช่น เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2554 ตำรวจร่วมกับเจ้าหน้าที่จากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง และกิจการวิทยุโทรทัศน์ (กสทช.) บุกปิดสถานีวิทยุชุมชนในกรุงเทพฯ และจังหวัดใกล้เคียง 13 สถานี เนื่องจากกองทัพบกร้องเรียนว่า สถานวิทยุชุมชนเหล่านั้นเผยแพร่รายการที่มีเนื้อหาหมิ่นสถาบันพระมหา กษัตริย์

ทางการไทยใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับ คอมพิวเตอร์ และมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา (ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์) เป็นเครื่องมือเซ็นเซอร์อินเตอร์เน็ต และดำเนินคดีกับผู้ที่ต่อต้านรัฐบาล โดยเฉพาะกลุ่มที่มีความเชื่อมโยงกับ นปช. โดยกล่าวหาว่า บุคคลเหล่านั้นเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติประเมินว่า มีคดีที่เกี่ยวข้องกับความผิดฐานหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์มากกว่า 400 คดีในปี 2553 ซึ่งเป็นจำนวนที่เพิ่มสูงขึ้นกว่าปีก่อนหน้านั้นมากกว่าสามเท่า (164 คดี)

ส่วนใหญ่ผู้ที่ถูกตั้งข้อหาว่า กระทำความผิดเกี่ยวกับการหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์มักจะไม่ได้รับอนุญาตให้ ประกันตัว และจะถูกควบคุมตัวอยู่ในเรือนจำนานหลายเดือนระหว่างที่รอการพิจารณาคดี โดยมีหลายกรณีที่การพิจารณาคดีดำเนินไปอย่างปิดลับ และมีการพิพากษาลงโทษอย่างรุนแรงในหลายกรณี เช่น ดารณี ชาญเชิงศิลปะกุล ถูกตัดสินจำคุก 18 ปี และธันย์ฐวุฒิ ทวีวโรดมกุล ถูกตัดสินจำคุก 13 ปี

รัฐบาลของท่านควรยุติมาตรการปิดกั้นสื่อทั้งหมดที่มีลักษณะเป็นการละเมิด สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกทันที และดำเนินการแก้ไขพระราชกำหนดการบริหาราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน และพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ นอกจากนี้ เรายังขอเรียกร้องให้รัฐบาลของท่านแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับความผิดฐาน หมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ เพื่อกำหนดให้การฟ้องร้อง และการดำเนินคดีสามารถกระทำได้โดยภาครัฐเท่านั้น เพราะการปล่อยให้ประชาชนทั่วไปสามารถกล่าวหาบุคคลอื่นว่า กระทำความผิดฐานหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างที่เป็นอยู่ใน

ขณะนี้นั้นเปิดโอกาสให้มีการนำเอากฏหมายมาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง และยังเป็นเรื่องยากที่เจ้าหน้าที่จะปฏิเสธไม่รับดำเนินการ เนื่องจากกลัวว่า ตนเองจะกลายเป็นผู้ที่ถูกกล่าวหาไปเสียเองว่า ไม่จงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์
การคุ้มครองผู้พิทักษ์สิทธิมนุษยชน

การสังหารผู้พิทักษ์สิทธิมนุษยชน และนักกิจกรรมในภาคส่วนต่างๆ ของ ประชาสังคมเป็นปัญหาสิทธิมนุษยชนที่สำคัญของประเทศไทย โดยตั้งแต่ปี 2544 เป็นต้นมา มีผู้พิทักษ์สิทธิมนุษยชน และนักกิจกรรมถูกฆาตกรรมไปแล้วมากกว่า 20 คน

แต่การสอบสวนคดีส่วนใหญ่กลับเผชิญอุปสรรคจากการปฏิบัติหน้าที่อย่างไม่ต่อ เนื่อง และไม่มีประสิทธิภาพของตำรวจ, ความล้มเหลวในการคุ้มครองพยาน และความล้มเหลวในการเอาชนะอิทธิพลทางการเมืองที่เกี่ยวข้องกับคดีเหล่านี้

แม้แต่คดีร้ายแรงที่ถูกมอบหมายให้กรมสอบสวนคดีพิเศษก็ไม่มีความคืบหน้าในการ นำตัวคนร้ายมาดำเนินคดีลงโทษ เช่น คดีพระสุพจน์ สุวโจ นักอนุรักษ์ป่าที่ถูกแทงเสียชีวิตเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2548 และคดีทนายสมชาย นีละไพจิตรที่บังคับให้สูญหายโดยตำรวจกลุ่มหนึ่งเมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2547 ภายหลังจากที่เขาเปิดโปงการซ้อมทรมาน และการละเมิดสิทธิมนุษยชนอื่นๆ โดยตำรวจในปฏิบัติการต่อต้านกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้

รัฐบาลของท่านควรปฏิบัติตามปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยผู้พิทักษ์สิทธิมนุษยชน ด้วยการแสดงเจตจำนงที่ชัดเจนต่อสาธารณะว่า จะคุ้มครองประชาชนที่อุทิศตนในการปกป้องสิ่งแวดล้อม และส่งเสริมสิทธิมนุษยชน

การคุ้มครองสิทธิของผู้ลี้ภัย และการป้องกันไม่ให้มีการบังคับส่งกลับผู้ลี้ภัย

ประเทศไทยไม่ได้เป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัย ปี 2494 และพิธีสาร ปี 2510 รวมทั้งยังไม่มีกฏหมายภายในประเทศเกี่ยวผู้ลี้ภัย ทางการไทยละเมิดข้อห้ามระหว่างประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยมีการบังคับส่งกลับผู้ลี้ภัย และผู้ที่แสวงหาการคุ้มครองไปยังประเทศที่พวกเขาอาจจะเผชิญกับการถูกประหัต ประหาร ดังเช่นกรณีที่ฮิวแมนไรท์วอทช์ระบุไว้ในรายงานเรื่อง “Out of Sight, Out of Mind” (http://www.hrw.org/reports/2004/02/24/out-sight-out-mind)

ถึงแม้จะมีการประท้วงอย่างรุนแรงจากสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยสหประชา ชาติ และเลขาธิการสหประชาชาติ แต่เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2552 กองทัพบกก็บังคับส่งตัวชาวลาวม้ง 4,689 คน ซึ่งรวมถึงผู้ที่สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยสหประชาชาติกำหนดให้เป็น “บุคคลในความห่วงใย” จำนวน 158 คน กลับไปยังประเทศลาว นอกจากนี้ เมื่อเดือนพฤศจิกายน และธันวาคม 2553 ทางการไทยก็ส่งชาวพม่านับพันคนที่หลบหนีภัยจากการสู้รบที่บริเวณพื้นที่

ชายแดนกลับไปยังประเทศพม่าก่อนที่สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยสหประชาชาติ จะสามารถตรวจสอบ และประเมินว่า บุคคลเหล้านั้นต้องการเดินทางกลับอย่างสมัครใจหรือไม่

ในสมัยรัฐบาลของอภิสิทธิ์ ทางการไทยไม่ได้ปฏิบัติตามคำสัญญาที่จะจัดให้มีการสอบสวนอย่างเป็นอิสระ เกี่ยวกับเหตุการณ์เมื่อปี 2551, 2552 และ 2554 ซึ่งกองทัพเรือผลักดันเรือที่บรรทุกชาวโรฮิงญาจากประเทศพม่า และประเทศบังคลาเทศกลับออกไปยังน่านนํ้าสากล จนเกิดข้อกล่าวหาว่า ทำให้มีผู้เสียชีวิตหลายร้อยคน

ประเทศไทยไม่อนุญาตให้สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยสหประชาชาติสามารถดำเนิน การตรวจสอบสถานะของชาวโรฮิงญาที่ถูกควบคุมตัวอยู่ในศูนย์กักกันของตำรวจตรวจ คนเข้าเมืองว่า บุคคลเหล่านั้นควรจะได้รับความคุ้มครองในฐานะผู้ลี้ภัยหรือไม่ และในขณะเดียวกัน ชาวโรฮิงญาเหล่านี้ก็ถูกควบคุมตัวอย่างไม่มีกำหนด เนื่องจากรัฐบาลพม่าปฏิเสธไม่ยอมรับว่า พวกเขาเป็นพลเมืองของประเทศพม่า (ดังนั้น ทางการไทยจึงไม่สามารถส่งชาวโรฮิงญาตัวกลับไปยังประเทศพม่า)

เหตุการณ์ข้างต้นเหล่านั้นทำลายชื่อเสียงของประเทศไทย ซึ่งเคยเป็นที่รู้จักกันว่า เป็นประเทศที่คุ้มครองดูแลผู้ลี้ภัย เราขอเรียกร้องให้รัฐบาลของท่านเคารพพันธะระหว่างประเทศเกี่ยวกับการไม่ บังคับส่งกลับผู้ลี้ภัย โดยในเรื่องนี้ เรามีข้อเรียกร้องที่เฉพาะเจาะจงที่ขอให้รัฐบาลของท่านประกาศต่อสาธารณะว่า จะไม่บังคับผู้ลี้ภัยชาวพม่ามากกว่า 140,000 คนที่อยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยบริเวณชายแดนประเทศไทย-ประเทศพม่าให้ต้องเดิน ทางกลับไปยังประเทศพม่าอย่างไม่สมัครใจ นอกจากนี้

รัฐบาลของท่านยังควรที่จะรับรองว่า สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยสหประชาชาติจะสามารถดำเนินการตรวจสอบสถานะของ ผู้ที่ขอความคุ้มครอง ซึ่งรวมถึงบุคคลที่ถูกควบคุมตัวอยู่ในศูนย์กักกันของตำรวจตรวจคนเข้าเมือง ก่อนที่จะเนรเทศ หรือส่งตัวบุคคลเหล่านั้นกลับประเทศ นอกจากนี้ ในขณะที่ยังไม่มีกลไกของรัฐที่จะตรวจสอบประเมินคำขอลี้ภัยได้อย่างมี ประสิทธิภาพ รัฐบาลของท่านควรจะอนุญาตให้สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยสหประชาชาติกลับ เข้าทำหน้าที่ดังกล่าวตามอาณัติเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้ลี้ภัย

ท้ายที่สุด เราขอเรียกร้องให้รัฐบาลของท่านเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ ภัย ปี 2494 และพิธีสาร ปี 2510 ในทันที เพื่อให้เป็นการสอดรับกับภาระความรับผิดชอบที่ใหญ่หลวงของประเทศไทยในการ คุ้มครองผู้ลี้ภัย
การส่งเสริมสิทธิของแรงงานต่างด้าว

แรงงานต่างด้าวจากประเทศพม่า, ประเทศกัมพูชา และประเทศลาวยังคงถูกละเมิดสิทธิโดยนายจ้าง, ตำรวจ และ เจ้าหน้าที่ของรัฐอย่างต่อเนื่อง แต่กลับไม่มีการนำตัวคนผิดมาลงโทษ ดังที่ปรากฏในรายงานของฮิวแมนไรท์วอทช์เรื่อง “From the Tiger to the Crocodile” (http://www.hrw.org/en/reports/2010/02/23/tiger-crocodile) ส่วนระบบการพิสูจน์สัญชาติแรงงานต่างด้าวนั้นก็ถูกออกแบบมาไม่ดี และมีปัญหาในการนำไปปฏิบัติ จนทำให้แรงงานต่างด้านหลายแสนคนสูญเสียสถานะทางกฏหมาย นอกจากนี้ แรงงานต่างด้านที่เป็นผู้หญิงยังมีความเสี่ยงต่อความรุนแรงทางเพศ และการค้ามนุษย์ด้วย

เราขอเรียกร้องให้รัฐบาลของท่านจัดให้มีการสอบสวนอย่างโปร่งใส, เป็นอิสระ และไม่เข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งขึ้น เพื่อตรวจสอบเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนของแรงงานต่างด้าวโดยตำรวจ และเจ้าหน้าที่ของรัฐ คณะกรรมการที่ทำหน้าที่ดังกล่าวควรที่จะมีอำนาจในการเรียกพยานหลักฐาน และรายงานผลการสอบสวนต่อสาธารณะ รวมทั้งยังควรจะสามารถเสนอแนะให้มีการดำเนินคดีอาญากับผู้ที่กระทำความผิด และเสนอแนะให้มีการแก้ไขกฎหมาย, ระเบียบ และนโยบายต่างๆ ที่ลิดรอน และละเมิดสิทธิของแรงงานต่างด้าว

เราขอเรียกร้องรัฐบาลของท่านให้ดำเนินมาตรการทุกอย่างที่จำเป็นต่อการยุติ การซ้อมทรมาน และการเละมิดสิทธิมนุษยชนอื่นๆ ของแรงงานต่างด้านที่เกิดขึ้นระหว่างที่บุคคลเหล่านั้นถูกควบคุมตัว รวมทั้งรับรองว่าจะมีการสอบสวนข้อร้องเรียนเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน และนำตัวผู้กระทำผิดมาดำเนินคดีลงโทษ

รัฐบาลไทยควรแก้ไขมาตรา 88 และมาตรา 100 ของพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ ปี 2518 เพื่ออนุญาตให้บุคคลทุกสัญชาติสามารถจัดตั้งสหภาพแรงงาน และสามารถได้รับการยอมรับทางกฎหมายว่าพวกเขามีฐานะเป็นเจ้าหน้าที่ของสหภาพ แรงงาน นอกจากนี้ยังควรจะมีการรับรองว่า การแก้ไขพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์นั้นจะเป็นไปอย่างสอดคล้องกับมาตรฐาน ระหว่างประเทศตามที่ระบุไว้ในอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ หมายเลข 87 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคม

การสนับสนุนคณะกรรมการของสหประชาชาติที่จะทำหน้าที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศพม่า

สถานการณ์สิทธิมนุษยชนที่เลวร้ายในประเทศพม่าทำให้ผู้ลี้ภัย และแรงงานต่างด้าวจำนวนมากทะลักเข้ามาในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง ภายหลังจากที่รัฐบาลใหม่ของประเทศพม่าเข้าสู่ตำแหน่งเมื่อเดือนมีนาคมที่ ผ่านมา ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นในประเด็นสำคัญดังต่อไปนี้ คือ การเคารพเสรีภาพในการแสดงออก, เสรีภาพในการสมาคม และเสรีภาพในการชุมนุม, สถานการณ์เกี่ยวกับนักโทษการเมือง และการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยกองกำลังฝ่ายความมั่นคงของรัฐบาล และกองกำลังของชนกลุ่มชาติพันธุ์ในพื้นที่ที่มีการสู้รบ

รายงานของฮิวแมนไรท์วอทช์เรื่อง “Dead Men Walking” (http://www.hrw.org/news/2011/07/12/burma-war-crimes-against-convict-porters)

กองกำลังฝ่ายความมั่นคงของรัฐบาลพม่าบีบบังคับให้นักโทษคดีอาญาจำนวนหลาย ร้อยคนทำงานเป็นลูกหาบในหน่วยทหารในพื้นที่สู้รบในรัฐกะเหรี่ยง ซึ่งการกระทำดังกล่าวนั้นละเมิดกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศอย่างร้ายแรง นอกจากนี้ ยังมีการใช้ลูกหาบที่เป็นนักโทษเหล่านั้นให้ทำหน้าที่เป็น “โล่มนุษย์” ด้วยการบังคับให้เดินฝ่าเข้าไปบริเวณที่มีกับระเบิดฝังไว้อย่างหนาแน่น และเป็นเกราะป้องกันไม่ให้กองกำลังฝ่ายรัฐบาลพม่าถูกซุ่มโจมตี ลูกหาบเล่านี้ตกเป็นเหยื่อของการสังหารนอกเหนือกระบวนการยุติธรรม, การซ้อมทรมาน และการละเมิดสิทธิมนุษยชนอื่นๆ ในฐานะที่ที่ประเทศไทยเป็นเพื่อนบ้านใกล้ชิดของประเทศพม่า และร่วมเป็นสมาชิกของสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ซึ่งยึดหลักการส่งเสริม และคุ้มครองสิทธิมนุษยชน

ดังนั้น ประเทศไทยจึงไม่สามารถนิ่งเฉยต่อสถานการณ์ที่กำลังเลวร้ายลงในประเทศพม่าได้

เราขอเรียกร้องให้รัฐบาลของท่านแสดงท่าที่ที่แข็งขัน และชัดแจ้งในการสนับสนุนให้มีคณะกรรมการระหว่างประเทศที่ทำหน้าที่ตรวจสอบ ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศพม่า เพื่อให้เกิดการรับผิดขึ้นในที่สุด โดยคณะกรรมการดังกล่าวควรสอบสวนรายงานเกี่ยวกับการละเมิดกฏหมายระหว่าง ประเทศด้านสิทธิมนุษยชน และด้านมนุษยธรรมโดยทุกฝ่ายตั้งแต่ปี 2545 ซึ่งหลายกรณีเข้าข่ายเป็นอาชญากรรมสงคราม และอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ เราเชื่อว่า นอกจากการสอบสวนเช่นนี้จะช่วยสนับสนุน และคุ้มครองเหยื่อของการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง และยุติวงจรของการไม่รับผิดที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องในประเทศพม่าแล้ว ยังจะเป็นการส่งเสริมกระบวนการสร้างสันติภาพที่ยั่งยืน และการเคารพสิทธิมนุษยชนอย่างกว้างขวางในประเทศพม่าด้วย

จากประเด็นต่างๆ ทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้น รัฐบาลของท่านควรเร่งดำเนินการในเรื่องต่อไปนี้โดยด่วน เพื่อพิสูจน์ให้เห็นถึงเจตนารมณ์ที่ชัดเจนในการแก้ไขปัญหาสิทธิมนุษยชนใน ประเทศไทย

• ออกคำสั่งอย่างชัดเจน และเปิดเผยให้กองทัพ, ตำรวจ และหน่วยงานอื่นๆ ของรัฐบาลรวมมืออย่างเต็มที่กับการสอบสวนรายงานการละเมิดสิทธิมนุษยชน
• ผ่านมติคณะรัฐมนตรีที่มอบอำนาจในการออกหมายเรียกพยานหลักฐานแก่ คอป. และมอบทรัพยากรที่จำเป็นต่อการที่ คอป. จะสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างเป็นอิสระ และมีประสิทธิภาพ
• ประเมินสถานะของผู้ที่ถูกควบคุมตัวอยู่ในคดีที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุม ประท้วงของ นปช. และคดีที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์การก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อรับรองว่า บุคคลเหล่านั้นได้รับการปฏิบัติอย่างเหมาะสมตามหลักนิติรัฐ และมาตรฐานด้านสิทธิมนุษยชน ซึ่งรวมถึงสิทธิในการได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวด้วยประกันตัว
• ยุติมาตรการปิดกั้นสื่อทั้งหมดที่มีลักษณะเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพในการ แสดงออกทันที และประกาศนโยบายที่เป็นรูปธรรมเกี่ยวกับการแก้ไขพระราชกำหนดการบริหาราชการ ในสถานการณ์ฉุกเฉิน, พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ และกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับความผิดฐานหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์

เราเชื่อมั่นว่า ท่านจะพิจารณาข้อเสนอข้างต้น และให้ความสำคัญกับการส่งเสริม และคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายของรัฐบาล โดยเรายินดีที่จะหารือกับท่านโดยตรง รวมทั้งให้คำปรึกษา และความช่วยเหลือต่างๆ เท่าที่จะสามารถทำได้ เราขอขอบคุณที่ท่านให้ความสนใจพิจารณาความเห็นของเรา และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้รับการตอบสนองด้วยดีจากท่าน

ขอแสดงความนับถือ

แบรด อดัมส์

ผู้อำนวยการแผนกเอเชีย

ฮิวแมนไรท์วอทช์